[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 มีนาคม 2560 08:56:36



หัวข้อ: เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มีนาคม 2560 08:56:36

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17264644387695_1..JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81562352553009_2..JPG)
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (ปรางค์แขก) อ.เมือง จ.ลพบุรี

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

จากอธิบายของ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ศาสนาพราหมณ์และคณะพราหมณ์เข้ามามีบทบาทในดินแดนประเทศไทยก่อนที่คนไทยจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ไทยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาหลายทาง ทางแรก ได้แก่ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลผ่านทางเขมรซึ่งขณะนั้นคืออาณาจักรฟูนัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยเขมรมีอิทธิพลและบทบาททั้งทางการเมืองและศิลปะอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานจากโบราณสถาน เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย

ทางที่ ๒ ได้แก่ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันตก ได้รับอิทธิพลผ่านอาณาจักรทวารวดีที่มีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลาง โดยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาจากอินเดียโดยตรง คือใน พ.ศ.๓๐๓ ครั้งพระโสณเถระกับพระอุตรเถระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรทวารวดี ในฐานะศาสนทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ครั้งนั้นมีคณะพราหมณ์ติดตามมาด้วย นักวิชาการ อาทิ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และกาญจนา สุวรรณวงศ์ จึงสันนิษฐานว่า ศาสนาพราหมณ์น่าจะได้ประดิษฐานตั้งมั่นในผืนแผ่นดินไทยนับจากสมัยนั้น ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดี อาทิ เทวสถาน เทวรูป พระเป็นเจ้าต่างๆ ในจังหวัดภาคตะวันตก เช่น ที่นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี

และทางที่ ๓ ภาคใต้ รับผ่านพราหมณ์ที่มากับพ่อค้าอินเดีย ซึ่งเดินทางมาค้าขายที่เมืองท่าในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพบ หลักฐานอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา พัทลุง

หลักฐานทางโบราณคดีที่รับอิทธิพลผ่าน ๓ อาณาจักรข้างต้นแสดงว่า ในระยะแรก ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ยอมรับพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ในขณะที่ประชาชนยังคงนับถือพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อดั้งเดิม และบางส่วนมีความเชื่อผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และผี

เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์พระร่วงทรงเอาพระทัยใส่การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเอาพระธุระในกิจการของศาสนาพราหมณ์ด้วย ในฐานะทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ดังปรากฏจากโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์หลายแห่ง เช่น วัดศรีสวาย วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง วัดเจ้าจันทร์ เทวสถานในอาณาจักรสุโขทัย รวมถึงหลักฐานในศิลาจารึกหลักต่างๆ เช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง โดยในจารึกวัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย (หลักที่ ๔) สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เป็นอักษรขอม ภาษาเขมร กล่าวถึงการสร้างเทวรูปไว้สำหรับบูชา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแปลได้ความดังนี้

"...แล้วทรงหล่อรูปพระศรีอาริย์พระองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ในพระวิหารคด ทิศใต้ในอาราม ครั้งหนึ่งตรัสสั่งนายศิลปินนายช่างให้หล่อรูปพระนเรศ พระมเหศวร พระวิษณุกรรม รูปพระสุเมธ วรดาบส พระศรีอาริย์ ทั้งห้ารูปนี้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน ไว้เป็นที่นิพัทธบูชา ณ ตำบลป่ามะม่วง..."

ถึงสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานร่องรอยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อย่างเด่นชัด และแพร่หลายมากในกลุ่มชนชั้นสูง คติความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับพิธีกรรมดั้งเดิมของคนไทยนับแต่นั้นมา สำคัญคือการรับเอาคติเทวราชา ซึ่งเป็นหลักการที่ยอมรับสถานะของพระเจ้าแผ่นดินว่าทรงเป็นเทวราช หรือผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเป็นเจ้า (พระนารายณ์ หรือพระอิศวร) คตินี้ได้นำมาใช้เป็นหลักการปกครองประเทศนับแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคติเทวราชาชัดเจน คือการเฉลิมพระนามของพระเจ้าแผ่นดินให้พ้องกับพระนามของพระ เป็นเจ้า อาทิ สมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระยาราม สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้การออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพงศาวดารก็มักเติมสร้อยพระนามให้มีพระนามของพระเป็นเจ้ารวมอยู่ด้วย ดังในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ออกพระนามสมเด็จพระเอกาทศรถว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวร และด้วยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเทวราชนี้เอง พราหมณ์จึงนำเอาพิธีต่างๆ เข้ามาใช้ในราชสำนักเพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน พราหมณ์ในสมัยนั้นจึงได้รับการยกย่องอย่างมาก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73383386226163_a2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22703839341799_a4.jpg)
ปราสาทหินพิมาย  อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ต้นแบบของปราสาทนครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อยู่ในประเทศกัมพูชา

ถึงยุครัตนโกสินทร์ ครั้งสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริว่า เหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ส่งผลให้ตำราต่างๆ ถูกทำลายและสูญหายไปจำนวนมาก ทั้งพราหมณ์ราชสำนักก็พลัดหายไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสืบหาตำราต่างๆ ที่หัวเมืองปักษ์ใต้มายังกรุงเทพฯ และให้นำพราหมณ์ภาคใต้ขึ้นมารับราชการเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก เพื่อรื้อฟื้นและวางหลักของพิธีการต่างๆ สำหรับพระนครให้เหมือนกับสมัยอยุธยา และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครขึ้น ตั้งอยู่เยื้องกับวัดสุทัศนเทพวราราม คณะพราหมณ์จึงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเทวสถาน เกิดเป็นชุมชนโบสถ์พราหมณ์มาจนถึงปัจจุบัน

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก อาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เทวสถานที่สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมักเป็นเทวสถานในสมัยโบราณจำพวกปราสาทหินต่างๆ เป็นเทวสถานร้าง ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ค่อนข้างทรุดโทรมและอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ส่วนกลุ่มที่ ๒ คือ เทวสถานในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังคงใช้การมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มแรก เทวสถานที่สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ในดินแดนประเทศไทย สร้างกันมาหลายยุคสมัย ทั้งในอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรขอม อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เป็นยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองในดินแดนประเทศไทยพร้อมๆ กับความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา จึงมีการสร้างเทวสถานประจำเมืองสำคัญๆ อาทิ กรุงศรีอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองลพบุรี เมืองเพชรบุรี เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในกิจการของพราหมณ์และพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน สร้างความชอบธรรมและอำนาจในฐานะที่ทรงมีสถานะเป็นสมมติเทพ ทั้งนี้ คติการสร้างเทวสถานในสมัยโบราณเป็นการสร้างเพื่อเป็นพระราชอุทิศถวายแด่พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ประหนึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้า หากเป็นพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย ก็อุทิศถวายพระอิศวร หากเป็นพราหมณ์ในลัทธิไวษณพนิกาย ก็อุทิศถวายพระวิษณุ

กลุ่มที่ ๒ เทวสถานในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่รู้จักกันดีคือเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร อยู่ใกล้กับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างเมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ.๒๓๒๗ มีหลักฐานปรากฏในหนังสือ "จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ ๕" ใจความว่า "วัดสุทัศนเทพวรารามนี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเทวสถานและ เสาชิงช้าลง ณ ที่นั้นตามโบราณราชประเพณีของการสร้างพระนคร" เทวสถานแห่งนี้ถือเป็นเทวสถานสำคัญ และเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ราชสำนัก

นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ยังมีเทวสถานอื่นๆ ส่วนมากสร้างโดยชาวอินเดีย และพราหมณ์ที่ดูแลเทวสถานก็มักเป็นพราหมณ์อินเดีย เทวสถานเหล่านี้ได้แก่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒ รัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อศาสนิกชนพราหมณ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงได้ไปสร้างวัดวิษณุ อีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่เขตยานนาวา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณวัดวิษณุมีโบสถ์ย่อย คือ โบสถ์พระแม่ทุรคา โบสถ์ศิวลึงค์ และโบสถ์พระศิวนาฏราช

ยังมีศาสนิกชนชาวปัญจาบ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือผู้นับถือศาสนาซิกข์ และผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ได้ใช้บ้านหลังหนึ่งบริเวณหลังวังบูรพาเป็นสถานที่ร่วมกันเมื่อประกอบศาสนกิจ เมื่อคนมีจำนวนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดูได้สร้าง สมาคมฮินดูสภา ที่บริเวณใกล้เสาชิงช้า มีเทวสถานชื่อว่า โบสถ์เทพมณเฑียร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63106697176893_1.png)
เทวสถานปรางค์แขก-PRANG KHEAK อ.เมือง จ.ลพบุรี
(ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์– ฮินดู)
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (พ.ศ.๑๔๒๕ - ๑๔๓๖)
ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านวิชาเยนทร์
ก่อนการบูรณะ ก่อสร้างด้วยอิฐ  ระหว่างอิฐแต่ละก้อนจะสอเชื่อมด้วยยางไม้

ที่มาข้อมูล : ข่าวสดออนไลน์