[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 ตุลาคม 2560 17:38:45



หัวข้อ: วัดสุวรรณดารารามฯ พระนครศรีอยุธยา นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมจิตรกรรมฝาผนัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 ตุลาคม 2560 17:38:45
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31979698439439_4.jpg)
ภาพใหญ่เต็มฝาผนังพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม
ผลงานชิ้นเอกบอกเล่าเรื่องราวพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช แห่งพม่า

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/52638067512048_1.jpg)
พระวิหารวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
ภายในมีภาพเขียนด้วยสีน้ำมัน โดย พระมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
จิตรกรเอกและช่างภาพประจำพระองค์ ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  

นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมจิตรกรรมฝาผนัง
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเกาะเมืองเขตพระนคร ด้านทิศตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ ใกล้ป้อมเพชร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาขึ้นโดยพระสุนทรอักษร (ทองดี) พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณอันเป็นนิวาสถานเดิมของตระกูล วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดทอง

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองก็ถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง ๑๘ ปี

ปี พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๒๘ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดทองที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่กรุงแตกใหม่หมดทั้งอาราม ในการปฏิสังขรณ์และการก่อสร้างครั้งนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ด้วย เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง)ว่า “วัดสุวรรณดาราราม


พระวิหาร
พระวิหาร สร้างมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ  มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ หน้าบันและซุ้มประตูมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ว่า “มงกุฎ” ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ ๔ อยู่ในเครื่องเบญจราชกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้งสองข้าง

ลักษณะตัวอาคารก่อสร้างเลียนแบบจากพระอุโบสถ ไม่มีคันทวย ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรโลหะลงรักปิดทอง ประทับนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย บนฐานชุกชี ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วประดับลวดลายงดงาม คล้ายคลึงพระพุทธชินราช ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน) บรรจุพุทธสารีริกธาตุ "เจดีย์ประธาน" (The Principal Stupa) เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีมาลัยเถา ๓ ชั้นรองรับองค์ระฆัง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ รายล้อมด้วยเจดีย์ทรงเครื่ององค์ระฆังริ้ว ซึ่งเป็นการสร้างเลียนแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา

จิตรกรรมฝาผนังวิหารของวัดสุวรรณดาราม
ภายในฝาผนังพระวิหารมีภาพเขียนด้วยสีน้ำมัน เขียนโดยพระมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้มีฝีมือทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมและการถ่ายภาพ จนได้เป็นจิตรกรเอกและช่างภาพประจำพระองค์ ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  

จิตรกรรมในฝาผนังพระวิหาร เล่าเรื่องราวพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ผลงานชิ้นเอกที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คือ ภาพเขียนการสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวา  “พระมหาอุปราชา” แห่งพม่า  ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๓๕ เนื้อหาของภาพสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงฟันพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา จนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง และภาพเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเขียนตามช่องว่างระหว่างประตูและหน้าต่างช่องละตอน มีคำบรรยายประกอบอยู่ใต้ภาพ รวมทั้งสิ้น ๒๐ ตอน ลำดับภาพเริ่มจากทางด้านซ้ายมือของพระประธาน วนไปตามเข็มนาฬิกา เขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนพระอิศวรแบ่งภาคลงมาประสูติเป็นสมเด็จพระนเรศวร จนถึงเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต และอัญเชิญพระบรมศพกลับมาสู่พระนครศรีอยุธยา เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริง มีอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย

พระอุโบสถ
พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สังเกตได้จากที่ผนังด้านหน้ามีการเจาะช่องประตู ๓ ช่อง

อาคารหลังนี้มีฐานเป็นท้องสำเภา คือมีลักษณะโค้งแอ่นกลาง ซึ่งเป็นแบบอย่างของฐานรากอาคารที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายสืบเนื่องมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร สูง ๒ เมตร

ฝาผนังด้านในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม อายุมากกว่า ๒๐๐ ปี โดยฝีมือของช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๓๒๘  ต่อมาได้รับการบูรณะเขียนซ่อมแซมในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ราวปี พ.ศ.๒๓๙๓ โดยเค้าโครงของภาพยังคงไว้ในรูปแบบเดิม  

ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนบนเหนือของผนังหน้าต่างขึ้นไปจรดเพดาน เขียนภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าไปที่พระประธาน ส่วนด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างซึ่งมี ๘ ช่อง เขียนภาพเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติ หรือทศชาติชาดก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติที่ล่วงมาแล้วของพระพุทธเจ้า แต่เป็นชาติที่ใกล้จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะต่อจากสิบชาติแล้วก็มาป็นสิทธัตถกุมาร แล้วออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า  มี เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรณสามชาดก เนมีราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พรหมนารทชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก เวสสันดรชาดก (๑๓ กัณฑ์)  ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไตรภูมิ ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57254025091727_6.jpg)
พระพุทธปฏิมากรประธานในพระวิหาร ประทับนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย บนฐานชุกชี
มีซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยลวดลายประณีตอ่อนช้อยงดงาม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56425724426905_7.jpg)
พระวิหารวัดสุวรรณดารารามวรวิหาร ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69598909508850_5.jpg)
เจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน) ทรงระฆัง บรรจุพุทธสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11254011591275_IMG_0761.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71316480843557_1.jpg)
สืบมาแต่ครั้งพุทธกาล พระอานนท์กราบทูลขอต่อพระพุทธองค์ ในการนำต้นโพธิ์มาปลูกไว้ภายในวัดพระเชตวัน
วัดที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษานานที่สุด ณ กรุงสาวัตถี ประเทศอินเดีย    เพื่อให้ชาวเมืองสาวัตถีได้นำเครื่อง
สักการะบูชาน้อมจิตระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ ในระหว่างที่พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปในที่ห่างไกล พระพุทธองค์
ทรงตรัสว่า ดีแล้วอานนท์  พระเชตวันก็จักเสมือนตถาคตประทับอยู่เป็นนิตย์  ต้นโพธิ์เสมือนบริโภคเจดีย์ เป็น
ต้นไม้ตรัสรู้ของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ก็ควรค่าแก่การน้อมระลึกนึกถึงพระคุณอันหาประมาณมิได้ของ
พระพุทธองค์ เมื่อมหาชนยังความเลื่อมใสในพระคุณของพระพุทธองค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้า
ถึงสุคติโลกสวรรค์


สถาปัตยกรรมไทย
พระอุโบสถวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35765198080076_1.jpg)
สวยงามมากค่ะ คันทวย พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม
ลวดลายประดับอย่างไทยโบราณ เท่าที่สังเกต (เพราะอยู่สูงมาก ผู้โพสท์แหงนคอตั้งบ่า)
เห็นว่าเป็นแผ่นไม้สลักลาย หรือฉลุลายช่อกนก ลายก้านขดกนกเปลว ประดับเศียร
พญานาค ๓ เศียร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57555650754107_2.jpg)
คันทวย : คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือ หลังคาของสิ่งก่อสร้าง
ติดตั้งไว้ตอนบนของเสาให้เอนขึ้นไปรับน้ำหนักชายคา (เต้า) ศัพท์นี้ฟังมาว่าเพราะดูคล้ายคันของกระบวยตักน้ำ 
ต่อมาคงทั้งเรียกตัดคำและทั้งเสียงที่เคลื่อนคล้อย จากคันบวย มาเป็นคันทวย และกลายเป็น “ทวย” ในที่สุด 
แต่ก็มีบางคำบอกว่าทวยหมายถึง “ระทวย”  แปลว่า แอ่น งอน คันทวยมักแกะสลักหรือหล่อเป็นลวดลาย
สวยงาม คันทวย มีทั้งที่เป็นไม้ และปูนปั้น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/37180455360147_3.jpg)
บัวปลายเสา วัดสุวรรณดาราราม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60150619761811_4.jpg)
รูปกลีบบัวยาว เรียวโค้งปลาย เป็นเครื่องตกแต่งหัวเสาหรือปลายสุดของเสาอาคารทางพุทธศาสนา
เพราะบัวเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาพราหมณ์ หมายถึงความบริสุทธิ์ มีคติความเชื่อเกี่ยวเนื่อง
กับพุทธศาสนาหลายประการ เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติมีดอกบัวรองพระบาท หรือก่อนหน้าที่
จะตรัสรู้ ทรงพิจารณาบัว ๔ เหล่า เปรียบเทียบบุคคลที่พึงสอนได้ไว้ ๔ จำพวก สถาปัตยกรรมไทย
มีที่มาจากบัว มีประมาณ ๒๐ ชื่อ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวรวนหงาน บัวปากปลิง บัวพันยักษ์
บัวฝาละมี บัวถลา บัวปากฐาน เป็นต้น

สำหรับหัวเสาอาคารก่ออิฐที่ประดิษฐ์เป็นรูปกลีบบัวล้อมรอบ ไม่ว่ากลีบบัวนั้นจะเป็นบัวชนิดใดก็ตาม
เรียกกันโดยทั่วไปว่า บัวหัวเสาทั้งสิ้น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/59879982471466_5.jpg)





หัวข้อ: Re: วัดสุวรรณดารารามฯ พระนครศรีอยุธยา นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมจิตรกรรมฝาผนัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤศจิกายน 2560 16:30:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31979698439439_4.jpg)
การสงครามยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา แห่งพม่า
มหาวีรกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ธำรงรักษาอธิปไตยของชาติไทยไว้สืบเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน

ภาพเขียนโดยพระมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
จิตรกรเอกประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้รับการจารึกพระราชประวัติไว้ในประวัติศาสตร์สูงสุดพระองค์หนึ่ง

ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณดารามมีจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงกระทำการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า นักท่องเที่ยวจะได้ชมฝีมือการเขียนภาพสีฝุ่นของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ผู้เป็นจิตรกรเอกประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือการวาดภาพของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ปรากฎให้เห็นชัดถึงความประณีต ความพิถีพิถัน และภาพดูมีชีวิตชีวา ซึ่งความมีชีวิตชีวาของภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของจิตรกรวาดภาพ กล่าวกันว่า จิตรกรที่มีฝีมือต้องเขียนภาพที่คนดูแล้วเห็นว่า "ภาพนั้นกระดิกได้"

ผลงานชิ้นเอกของพระยาอนุศาสน์จิตรกรในวัดสุวรรณดารามที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คือ การสงครามยุทธหัตถี มหาวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ พระมหาอุปราชมังกะยอชวา พระมหาอุปราชา แห่งพม่า ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๓๕ ภาพเขียนนี้มีขนาดใหญ่เต็มฝาผนังด้านหนึ่งของพระอุโบสถ  นอกจากนี้ได้ชมภาพอันมีค่าสูงแล้ว เรายังได้เรียนรู้หรือได้ทบทวนความจำเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งผู้ขียนภาพได้จารึกเรื่องราวกำกับไว้ใต้ภาพอีกด้วย



พระราชประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลก ทรงเป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชา แห่งราชวงศ์สุโขทัย และพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี

ขณะประสูตินั้นพระราชบิดาครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ทรงมีพระพี่นาง ๑ องค์ คือ พระสุพรรณกัลยาหรือพระสุวรรณเทวี และมีพระอนุชา ๑ องค์ คือ พระเอกาทศรถ

ขณะทรงมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่เมืองพะโคหรือกรุงหงสาวดี เนื่องจากเวลานั้นพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้ และต้องการตัวประกัน  

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะราชบุตรบุญธรรมของพระเจ้ากรุงหงสาวดีเป็นเวลา ๗ ปี  จนถึงปี พ.ศ.๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าหงสาวดีสถาปนาพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงหงสาวดี และอนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรฯ กลับกรุงศรีอยุธยาได้ แต่ให้นำพระสุพรรณกัลยา หรือพระสุวรรณเทวีมาเป็นตัวประกันแทน

ขณะนั้น พ.ศ.๒๑๑๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา เมื่อเสด็จมากรุงศรีอยุธยาทรงประทับที่วังจันทรเกษม หรือวังหน้า (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จันทรเกษม)  ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปราช  ไปปกครองเมืองพิษณุโลก

ขณะประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงเริ่มรวบรวมและฝึกไพร่พลเพื่อจะกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ทำให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีเริ่มระแวงว่าไทย “จะเอาใจออกห่าง” จึงให้พระยาเกียรติ พระยาราม ขุนนางมอญ วางแผนกำจัดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะกำลังเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานพระบรมศพพระเจ้านันทบุเรง  แต่ขุนนางมอญทั้งสองซึ่งมีสมัครพรรคพวกมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน กลับนำความลับนี้มากราบทูลให้ทรงทราบ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ตัดสินพระทัยประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ซึ่งเป็นเมืองทางผ่านระหว่างเส้นทาง เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๗  ตัดขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี ไม่เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีดุจดังแต่ก่อนสืบไป

หลังประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้องทำศึกสงครามกับพม่าอีกหลายครั้งเพื่อป้องกันพระนครหลวง นอกจากนี้ยังทรงให้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นกำลังในการต่อต้านข้าศึก

พ.ศ.๒๑๓๓ ทรงมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๙ แห่งราชอาณาจักรอยุธยา ในราชวงศ์สุโขทัย ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ พระอนุชาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยขึ้นเป็นพระมหาอุปราช มีพระอิสริยยศยศสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดิน  

พระราชภารกิจหลักของพระองค์คือ การทำสงครามเพื่อป้องกันและขยายพระราชอาณาเขต ทรงขยายอาณาเขตสยามออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งแคว้นล้านนา ล้านช้าง ไทยใหญ่ และกัมพูชา และยังรุกรานไปในพม่า

การสงครามครั้งสำคัญที่สุดของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ สงครามยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชาแห่งพม่าในปี พ.ศ.๒๑๓๕ ณ บริเวณหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด พระมหาอุปราชาแห่งพม่าสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรฯ

ศึกยุทธหัตถีครั้งนี้ เป็นพระเกียรติยศสูงสุดของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การกระทำยุทธหัตถีถือเป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์ แม้กษัตริย์ที่ทรงพ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้

หลังจากสงครามครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากชาติใดเลยเป็นเวลายาวนานร่วม ๑๕๐ ปี  

สงครามครั้งสุดท้ายในช่วงพระชนม์ชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ การยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ ในปี พ.ศ.๒๑๔๘ แต่ระหว่างการเดินทัพนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประชวร พระอาการหนัก และเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พระชันษาได้ ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถจึงให้เชิญพระบรมศพกลับมายังพระนครศรีอยุธยา



ภาพเขียนพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภายในพระอุโบสถวัดสุวรณดารามฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

(ผู้โพสท์คัดตัวอักษรกำกับใต้ภาพโดยคงตัวสะกดและการันต์เดิม)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42407937058144__MG_3795.JPG)(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36966199717587__MG_3796.JPG)
พระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระนเรศวร คือพระอิศวร แบ่งภาคลงมาอุบัติในมนุสย์โลก๚ะ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53330432333879__MG_3799.JPG)
เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๘ พระองค์ดำ (พระนเรศวร) พระชันษา ๑๓ ปี เล่นกระบี่กระบอง
กับมังสามเกียดต่อหน้าพระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ณ เมืองหงสาวดี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84883483292327__MG_3801.JPG)
พระนเรศวร (Prince Naresuan) เสด็จมาจากพิษณุโลก ทรงทราบว่าพระยาจีนจันตุ
ลงสำเภาหนีจากพระนคร เสด็จลงเรือกราบไล่ตามไปถึงปากน้ำเจ้าพระยา แต่เรือสำเภา ออกน้ำลึกได้ลมจึงตามไม่ทัน พ.ศ.๒๑๑๖

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68404527256886__MG_3816.JPG)
พระนเรศวร ตีเมืองคัง เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๑ พระชันษา ๒๓ ปี พลกองใหญ่ของพระนเรศวร
ขึ้นทางด้านข้างตีเมืองแตก และจับตัวเจ้าฟ้าเงี้ยวเมืองคังได้

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98715175978011__MG_3820.JPG)
พระนเรศวร ประธมหลับสนิท ณ พลับพลาค่ายหลวง ตำบลป่าโมก ทรงพระสุบินนิมิตว่า ลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่
จะทำร้ายพระองค์ ทรงประหารจระเข้ตาย โหรทำนายว่าจะทรงชนะศึกหงสาวดี, พ.ศ.๒๑๓๘ พระชันษา ๓๗

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75266647752788__MG_3822.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีกัมพูชา ได้เมืองละแวก
จับนักพระสัตถาเจ้าเมืองกัมพูชาได้ ทรงทำปฐมกรรม แล้วให้ต้อนครัวเฉลย
กลับก่อน จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนสู่พระนครเมือง พ.ศ.๒๑๓๖  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38280718897779__MG_3824.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93705522186226__MG_3825.JPG)
พระยาตองอู พาพระเจ้าหงสาวดี หนีไปอยู่เมืองตองอู เผาเมืองหงสาวดีเสีย
พระนเรศวรได้เมืองหงสาวดีภายหลัง จึงเสด็จไปนมัสการพระมุตาว แล้วเสด็จ
พระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ ค่ายสวนหลวง พ.ศ.๒๑๔๒

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54331029165122__MG_3829.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรล้อมตีเมืองตองอู คูเมืองกว้างลึกมาก ให้ขุดคลองระบายน้ำออก
พม่าเรียกว่า “คลองสยาม” จนถึงทุกวันนี้ ทัพกรุงขาดเสบียงจึงอย่าทัพ พ.ศ.๒๑๔๒

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46999142525924__MG_3833.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41494002731309__MG_3831.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67583549395203__MG_3835.JPG)
พระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะ ตั้งตัวเป็นใหญ่ ขยายอำนาจรุกมาทางเมืองเงี้ยว
ที่มาขึ้นอยู่กับเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวร จึงเสด็จยกทัพขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่ หมายจะ
ไปตีเมืองอังวะ ไปประชวรสวรรคตที่เมืองหาง  สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเชิญพระบรมศพ
มาสู่พระนครศรีอยุธยา พระชันษา ๔๙ ปี พ.ศ.๒๑๔๗