หัวข้อ: ความเป็นมาของการเล่น "ว่าวไทย" เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2561 14:20:37 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67906284704804_8.jpg) นายตำรวจกับเสมียนยืนถือว่าวจุฬาที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าวไทย คำว่า “ว่าว” ในภาษาไทย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Kite” มีความหมายคล้ายกันคือเป็นเครื่องเล่นรูปต่างๆ มีไม้เบาๆ เป็นโครงแล้วปิดด้วยกระดาษหรือผ้าบางๆ ปล่อยให้ลอยตามลมขึ้นไปในอากาศ โดยมีสายเชือกหรือป่านยึดไว้ ว่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมา เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงและอาจเพื่อประโยชน์อย่างอื่นมานานนับพันปีแล้ว โดยไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัดว่าเริ่มมีครั้งแรก ณ ที่แห่งใด เพราะเป็นการละเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ของคนทั่วไปเกือบทุกชาติ แต่นิยมเล่นกันมากในแถบเอเชีย การเล่นว่าวของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีมาแต่โบราณ และยังนิยมเล่นกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อความบันเทิงและสนุกสนานเป็นอันดับแรก ซึ่งในแต่ละชาติมีจุดมุ่งหมายในการเล่นว่าวแตกต่างกันไป โดยมากมักจะเป็นด้านของความเชื่อทางศาสนา ประเพณีหรือการใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย แต่ต่อมาการใช้ประโยชน์ด้านนี้ค่อยๆ หายไป ทำให้การเล่นว่าวในปัจจุบันเป็นเพียงการละเล่น หรือกีฬาเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แม้ว่าบางชาติยังมีเรื่องราวของความเชื่อเก่าๆ แอบแฝงอยู่บ้าง ก็ไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังเช่นในอดีต ในประเทศไทย ว่าวเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันดีมาแต่เด็ก เพราะเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วไป เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาไม่แพง และสามารถทำเองได้จากวัสดุพื้นบ้าน แม้คนที่ไม่เคยเล่นเองก็คงจะเคยเห็นผู้อื่นเล่นกัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบเรื่องราวความเป็นมาและความสำคัญของว่าวในด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ว่าการเล่นว่าวนับแต่โบราณมามิได้เป็นแต่เพียงการเล่นสนุกที่ปรากฏในวิถีชีวิตของคนไทยนับตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังเป็นพระราชพิธีในราชสำนักอีกด้วย รูปร่างลักษณะและวิธีการทำว่าว รวมทั้งการเล่นว่าวของไทยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการค้นคิด ประดิษฐ์รูปแบบของว่าว ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของว่าวไทย ที่แตกต่างไปจากรูปลักษณ์ว่าวของชนชาติอื่นๆ วิธีการทำว่าวและการเล่นว่าวของไทยนั้นต้องอาศัยความชำนาญและศิลปะที่เกิดจากประสบการณ์มาประกอบกับฝีมือที่ประณีตจึงจะทำให้ว่าวมีรูปร่างสวยงามและสามารถขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศได้ดี นอกจากรูปแบบและวิธีการทำว่าวที่ต่างไปจากว่าวของชาติอื่นแล้ว คนไทยยังมีวิธีการเล่นว่าวที่ไม่เหมือนชาติใดๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษไทยแต่โบราณ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษา ความเป็นมาของการเล่นว่าวไทย
ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ มีที่กล่าวถึงหน้าที่ของตำรวจสมัยกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่พระมหากษัตริย์เสด็จไปทรงว่าว ณ สวนกระต่าย (ปัจจุบันคือบริเวณหลังพระวิหารพระมงคลบพิตร) นอกจากมีหน้าที่ถวายอารักขาแล้ว ยังเป็นผู้วิ่งรอกและคอยค้ำสายป่านว่าว ถ้าพานว่าวปักเป้าติดเข้ามานั้น ได้เอาบัญชีกราบทูลพระกรุณาตามชื่อทุกครั้ง ว่าวที่ทรงคงเป็นว่าวจุฬา เพราะคอยคว้าว่าวปักเป้าอยู่ นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อ ว่าวปักเป้า ว่าวนอกจากจะเล่นเพื่อความสนุกแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีในราชสำนัก ดังในตำราพระราชพิธีเก่ากล่าวถึงไว้ดังนี้ “ให้ชีพ่อพราหมณ์เชิญพระอิศวร พระนารายณ์มาตั้งยังที่ แล้วให้เจ้าพนักงานเตรียมว่าวมาเตรียมไว้ในโรงราชพิธี ครั้นได้ฤกษ์ดีให้ประโคมปี่พาทย์ฆ้องไชย เชิญเสด็จออกทรงชักว่าว พราหมณ์ เจ้าพนักงานเอาว่าวถวายให้ทรงชักตามบุราณประเพณีเพื่อทรงพระเจริญแล” และในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีการกล่าวถึงว่า ในเดือนอ้ายมีพระราชพิธีคลิม (ในเอกสารบางเล่มเรียกพระราชพิธีแคลง) คือ พิธีชักว่าวเรียกลม ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมกันอยู่แพร่หลาย ในตำนานวังหน้ากล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราช ทรงโปรดการทรงว่าวมากดังมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “วังหลวงทรงจุฬาวังหน้าทรงปักเป้า” ซึ่งการเล่นว่าวจุฬาและปักเป้า ต่อมาในสมัยหลังๆ เป็นการเล่นว่าวพนันกัน คือ ฝ่ายจุฬาฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายปักเป้าฝ่ายหนึ่ง โดยต่างฝ่ายต่างโฉบกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตกตามกติกาที่ตั้งไว้ก็จะเป็นฝ่ายชนะ การเล่นว่าวและการเล่นว่าวพนัน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เล่นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดกีฬาว่าวเป็นอันมาก เพราะเป็นกีฬาที่สนุกสนานครึกครื้นถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เล่นว่าวถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง การเล่นว่าวพนันครั้งสำคัญของว่าวจุฬาและปักเป้าคือ การเล่นถวายหน้าพระที่นั่งใน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ณ สนามพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรางวัลเป็นพวงมาลัยเปียสะพายแล่งมีอุบะห้อย พวงมาลัยสรวมคอมีอุบะห้อยและพวงมาลัยสรวมคอไม่มีอุบะ สำหรับผู้ชนะที่หนึ่ง ที่สองและที่สามตามลำดับ ในการเล่นว่าวหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นดูจะครึกครื้นมากเป็นพิเศษ เพราะมีพิณพาทย์พระราชทานมาประกอบการเล่นว่าวถึง ๒ วง คือ ทางฝ่ายว่าวจุฬาวงหนึ่ง ฝ่ายว่าวปักเป้าวงหนึ่ง วงพิณพาทย์ทั้งสองวงนี้จะทำเพลงเชิดฉิ่ง เมื่อว่าวทั้งสองกำลังต่อสู้กันติดพันกัน และจะทำเพลงต่าง ๆ เพื่อเป็นการบอกอากัปกิริยาของว่าวที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ซึ่งนับว่าการเล่นว่าวพนันหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นยุคทองของการเล่นว่าวไทย หลังจากการเล่นว่าวหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นแล้ว พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จากนั้นทรงเห็นชอบให้มีการแข่งขันว่าวพนัน จุฬาและปักเป้า ในคราวฉลองสมโภชการตั้งกรมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล ในการแข่งขันครั้งนี้ได้มอบหมายให้พระยาอนุชิตชาญไชย เป็นนายสนามและโปรดเกล้าฯ ให้ตรากติกาสำหรับการเล่นว่าวขึ้น เรียกว่า กติกาเล่นว่าวที่สวนดุสิต ในการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล รัตนโกสินทร์ศก๓๘๑๒๔๑๓ ทั้งนี้เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนานยิ่งขึ้น (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29429348972108_20.jpg) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นองค์ประธานการแข่งขันว่าวพนัน ณ สนามพระราชวังดุสิต (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96949400380253_3.jpg) เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในการฉลองสมโภชการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล พ.ศ.๒๔๔๘ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75015837947527_29570434_367488663766820_76969.jpg) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตรากติกาการเล่นว่าวขึ้น ในคราวฉลองสมโภชการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล พ.ศ.๒๔๔๘ ในพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภถึงการแข่งขันว่าวเมื่อคราวสมโภชตั้งกรมว่า สนุกสนานครึกครื้นมาก จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดการแข่งขันว่าวพนันชิงถ้วยทองของหลวงขึ้น โดยมอบหมายให้พระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร) เป็นนายสนาม พระยาเวียงในนฤบาล (เจ็ก เกตุทัต) เป็นผู้ช่วยจัดการในสนามว่าวทั่วไป และมอบหมายให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพพิมพ์ข้อบังคับการเล่นว่าวขึ้นเป็นเล่ม แจกจ่ายแก่นักเล่นว่าว โปรดเกล้าฯ เรียกข้อบังคับนี้ว่า กติกาเล่นว่าว ที่สนามสวนดุสิต รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ ในการแข่งขันชิงถ้วยทองนี้ พระองค์เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพร้อมทอดพระเนตรการแข่งขัน และพระราชทานรางวัลในการแข่งขันด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้วยทองนี้จะพระราชทานแก่ฝ่ายว่าวจุฬาตัวชนะยอดเยี่ยม ๑ ถ้วย และว่าวปักเป้าตัวเก่งที่สุด ๑ ถ้วย แต่ต้องชนะติดกัน ๓ ปี ซ้อน จึงจะพระราชทานถ้วยทองนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ นอกจากรางวัลถ้วยทองแล้ว ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดรางวัลเป็นผ้าแพรห้อยปักดิ้นเลื่อม เป็นอักษรพระนาม จ.ป.ร. มี ๓ สี ๓ ชั้นรางวัล พระราชทานแก่ว่าวจุฬาตัวเก่ง และรางวัลเป็นผ้าแพรปักดิ้นเลื่อมเป็นอักษร จ.ป.ร. รูปกลมดอกจัน ๓ สี ๓ ชั้นรางวัล พระราชทานแก่ว่าวปักเป้า ติดตัวว่าวตามลำดับชั้น ซึ่งในการแข่งขันแต่ละครั้งมีผู้มาลงทะเบียนแข่งขันเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่มาเข้าชมล้นหลาม มีทั้งชาวกรุง ชาวชนบท และต่างเมือง หลังจากการเล่นว่าวในครั้งนี้แล้ว การเล่นว่าวก็มีเล่นกันเรื่อยมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าคนไทยได้รับความสนุกสนานจากการเล่นว่าว จนถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นทางการเสมอมา ส่วนสนามที่ใช้เล่นว่าวกันในกรุงเทพฯ แห่งแรก คือ หน้าโรงหวยแถวสามยอดในปัจจุบัน เมื่อเล่นไปนานๆ เข้ามีการสร้างบ้านเรือนในบริเวณนั้นมากขึ้น ไม่สะดวกจึงย้ายที่เล่นกันเรื่อยไป หลังจากนั้นจึงมาเล่นกันที่ท้องสนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ” โดยในพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงด้านเหนือของพระราชวังบวรออกให้หมด แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบๆ สนาม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เล่นว่าวที่สนามหลวงได้ตั้งแต่ปี ๒๔๔๒ และเล่นกันสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนในต่างจังหวัดนิยมเล่นกันตามที่โล่งกว้าง หรือตามท้องนาทั่วไป (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65198237035009_17.jpg) ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าว ปัจจุบัน สภาพในเมืองหลวงหรือตัวเมืองในจังหวัดอื่นๆ มีชุมชนแออัด สิ่งก่อสร้าง อาคารและสายไฟต่าง เป็นสิ่งกีดขวางการเล่นว่าวหรือแข่งขันว่าว จะหาสถานที่โล่งบริเวณกว้างที่จะชุมนุมเล่นว่าวนั้นหายาก เด็กๆ จึงไม่ค่อยได้เล่นว่าวเหมือนดังแต่ก่อน ส่วนว่าวพนันนั้นก็หาตัวผู้คว้าว่าวที่ชำนาญจริงๆ ยาก และสภาพเศรษฐกิจทำให้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่มีจิตใจที่จะคิดสนุกสนานไปชมการเล่นว่าวได้ดังแต่ก่อน จึงทำให้วงการกีฬาว่าวซบเซาไปทุกที แต่เป็นที่น่ายินดี ในพุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้น โดยจัดงาน “มหกรรมว่าวไทย” เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๖ บริเวณท้องสนามหลวง มีการประกวดว่าวชนิดต่างๆ ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ความคิด และตลกขบขัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ในงานนี้มีการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าด้วย ในพุทธศักราช ๒๕๒๗ กรุงเทพมหานคร ได้จัด “งานประเพณีว่าวไทย ๒๕๒๗” ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในงานนี้นอกจากมีการแสดงกีฬาไทยประเภทต่างๆ แล้ว จุดสำคัญคือการประกวดว่าวภาพ และการแข่งขันว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ตลอดจนมีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้ประชาชนชมด้วย ในพุทธศักราช ๒๕๒๙ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ว่าวไทย” ขึ้น ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปะการประดิษฐ์ว่าวและการเล่นว่าวของไทย ในปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าขึ้นเป็นประเพณีของกีฬาไทย โดยใช้ชื่อว่า “งานประเพณีกีฬาไทย” จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง จัดการแข่งขันกีฬาของไทย อาทิ ตะกร้อ หมากรุก กระบี่กระบอง และ การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า จัดโดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ ร่วมกัน การเล่นว่าวและการแข่งขันว่าวนี้ ถือเป็นกีฬาเก่าแก่ของไทยที่มีคุณค่าทั้งในด้านฝึกให้ผู้เล่นได้ใช้ความพยายาม ไหวพริบ การสังเกต การตัดสินใจ อยู่ตลอดเวลา ด้านสุขภาพคือเป็นการออกกำลังกายและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ทั้งการเล่นว่าวไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะพื้นบ้าน คือการเล่นว่าวและการทำว่าวให้คงอยู่ต่อไปอีก (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11649636882874_6.jpg) พระยาภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับว่าวปักเป้า ที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48900517655743_1.jpg) พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) บุตรของพระยาภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) ผู้เรียบเรียง หนังสือ ตำนานว่าวพนัน กับตำราทำและวิธีการชักว่าว (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34256667271256_13.jpg) เจ้าของว่าว นำว่าวเข้าร่วมแข่งขัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84076152948869_16.jpg) ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าวอย่างล้นหลามทั้งชาวพระนครในเมือง และต่างเมือง ที่สนามหน้าพระราชวังสวนดุสิต (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39243781442443_15.jpg) ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าวที่สนามหน้าพระราชวังสวนดุสิต (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97927400635348_10.jpg) การแข่งขันว่าว ณ สนามว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47949486763940_19.jpg) เจ้าของว่าวจุฬา เตรียมว่าวเข้าแข่งขัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84204753943615_12.jpg) เจ้าของว่าวปักเป้าเตรียมว่าวเข้าแข่งขัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/62836691778567_9.jpg) เจ้าของว่าวจุฬาที่ชนะการแข่งขัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45693254015511_5.jpg) เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69017116311523_4.jpg) เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นิตยสารศิลปากร • ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒ |