[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 ตุลาคม 2561 16:04:38



หัวข้อ: ฮาราคีรี พิธีชำระตนเองให้ปราศจากมลทิน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 ตุลาคม 2561 16:04:38
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65649075226651_2017120732842381_1_.jpg)

ฮาราคีรี

ฮาราคีรี หรือเซ็บปุกุ  แปลตรงๆ ว่าคว้านท้อง เป็นส่วนหนึ่งของบูชิโด แปลว่า “หนทางของนักรบ” หมายถึงความกล้าหาญเสียสละอย่างยิ่งของนักรบญี่ปุ่น ผู้มีความภักดีต่อครอบครัว ต่อสังคม ไปจนถึงพระเจ้าจักรพรรดิผู้ปกครองแผ่นดิน และพร้อมจะสละชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมืองของตนได้ทุกเมื่อ และความภักดีดังกล่าวมานี้เป็นหลักการใหญ่ของลัทธิชินโต ที่ให้ความสำคัญกับระเบียบประเพณีที่ยึดถือกันมากกว่า ๑,๕๐๐ ปี ก่อนพระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น  ในลัทธิชินโตนั้น ผู้ใดประพฤติผิดประเพณีไม่มีบาปบุญอย่างที่เราเข้าใจกันเหมือนในศาสนาพุทธ ผู้กระทำผิดระเบียบแบบแผนประเพณีแห่งสังคม ถือกันว่าเป็นการผิดผีบ้านผีเมือง ผู้ที่กระทำผิดจะเกิดความรู้สึกทางใจอันก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นได้อย่างหนัก  เมื่อสังคมมีอำนาจอันน่าเกรงขามเช่นนี้ ในหมู่นักรบญี่ปุ่นโบราณจึงต้องดำรงรักษาเกียรติไว้ให้มั่นคง และวิธีรักษาเกียรติของนักรบก็คือรักษาความภักดีมิให้บกพร่องได้

นักรบญี่ปุ่นในสมัยโบราณ หากกระทำผิดด้วยประการใดๆ ก็ดี ถือว่าเสียหายมาก ย่อมจะเสียเกียรติไปจนชั่วกัลปาวสาน ไม่มีทางจะทำให้ตนบริสุทธิ์จากความมัวหมองด้วยวิธีใดๆ  เกียรติยศที่เสียไปนั้นจะไม่มีวันกลับคืนมาได้ มีฮาราคีรีแต่อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ตนบริสุทธิ์ได้อีก  การกระทำให้ตัวตายโดยวิธีฮาราคีรี จึงย่อมทำให้ความผิดพลาดทั้งปวงได้รับการอภัย ชื่อเสียงเกียรติยศก็จะกลับคืนมาสู่ตนและวงศ์ตระกูล

ฮาราคีรีหรือเซ็ปปูกุ (切腹) มีมานานตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัยของไทย คือเมื่อ ๘๐๐ ปีมาแล้ว เป็นการชดใช้ต่อการกระทำที่ไร้เกียรติของเขา หรือทำเมื่อถูกลูกขุนลงโทษให้ทำฮาราคีรี หรือทำเพื่อหลบหนีการจับกุม หนีความอัปยศ หรือลงโทษตนเองที่ทำให้เจ้านายผิดหวัง  แต่แรกดูเหมือนจะไม่จำกัดผู้ที่ทำฮาราคีรี ต่อมาจึงจำกัดลงมาให้ทำแต่ผู้ที่เป็นนักรบ และสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตและความยินยอมจากเจ้านาย (ยกเว้นกรณีที่ทำเพื่อหนีจากการจับกุมระหว่างที่มีศึกสงคราม)

การทำฮาราคีรีเป็นพิธีการอันเปิดเผย กระทำต่อหน้าญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง  ผู้ทำพิธีต้องชำระตนเองให้ปราศจากมลทิน นุ่งขาวห่มขาว รับประทานอาหารที่โปรดปรานเป็นมื้อสุดท้าย จากนั้นเขานั่งบนจุดที่ถูกกำหนดเอาไว้ในท่าที่เรียกว่า เซย์ซา สถานที่ทำพิธีคือในห้องภายในบ้าน  รอบข้างเรียงรายไปด้วยผู้ที่มาร่วมงานซึ่งแต่งตัวเต็มที่เหมือนกับไปงานแต่งงาน   ในจำนวนนี้มีคนถือดาบคอยทีอยู่ เรียกว่า ไคชะคุนิน (Kaishakunin) หรือไกซากุ (แปลว่า ผู้ช่วย) บุคคลนี้อาจเพื่อนสนิทของผู้ทำฮาราคีรี หรืออาจเป็นคนที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ทำหน้าที่ตัดศีรษะของผู้กระทำฮาราคีรีให้พ้นจากความทรมาน

เมื่อถึงเวลา ผู้ทำฮาราคีรีเอามีดดาบขนาดสั้นห่อไว้ในผ้า (ทำให้ใบมีดไม่หลุดและบาดมือผู้กระทำ) แทงที่ท้องน้อยของตนทางด้านซ้าย โดยกดมีดไว้ในท้องเฉยๆ ก่อน  ขั้นต่อไปก็คือลากมีดผ่าหน้าท้องให้เปิดออก ไส้อาจไหลออกมาตอนนี้ หนังสือบางเล่มเล่าว่าเคยมีนักรบโบราณทีทำฮาราคีรีสาวไส้ตนเองออกมาอีกด้วย เมื่อดึงมีดมาทางขวาแล้วเป็นอันเสร็จพิธี ถ้าตายตอนนี้ก็แล้วไป แต่ส่วนมากนั้นไม่ตาย ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของไคชะชุนิน จะต้องใช้ดาบตัดศีรษะของผู้กระทำฮาราคีรีให้ตายเสีย แต่เหลือผิวหนังบางส่วนให้ติดกับส่วนของผิวหนังบริเวณลำคอ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระเด็นกระดอนของศีรษะ

ในปัจจุบันนี้ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทำฮาราคีรี  

พิธีฮาราคีรีมีครั้งสุดท้ายในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ (พระเจ้าจักรพรรดิเมจิ) เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ พลเอกโนงิ ผู้เป็นข้าหลวงของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ทำ  เมื่อได้คว้านท้องตนเองแล้ว นายพลผู้นี้ยังได้ใช้มีดดาบนั้นเชือดคอตนเองอีกด้วย ส่วนภรรยาท่านนายพลผู้นั้นก็ได้เชือดคอตายพร้อมกันในห้องอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ติดกันนั้นเอง  ในที่นี้ก็ควรทราบไว้ด้วยว่าผู้หญิงไม่ทำฮาราคีรีเป็นอันขาด แต่มีการกระทำหน้าที่ตรงกันคือเชือดคอตาย