หัวข้อ: พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัต) วัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 21 พฤศจิกายน 2561 14:55:27 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42530403534571_1_1024x768_.jpg) พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัต) วัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร และอดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร พระเถระที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม ครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะ ยึดมั่นในหลักธรรมตามรอยพระพุทธองค์อย่างมั่นคงทุกประการ มีนามเดิมว่า บุญชวน อินทรเศรณี เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ธ.ค.2450 ณ บ้านสะท้อน ต.ท่าทองอุแท อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี สอบไล่ได้ประโยคครูมูล แล้วเข้ารับราชการครูแห่งแรก ขณะอายุได้ 17 ปี ที่โรงเรียนประชาบาลวัดคูขุด ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร ต่อมาย้ายไปรับตำแหน่งครูใหญ่ใน จ.ชุมพร คือ โรงเรียนประชาบาลตำบลปากน้ำ อ.เมือง และโรงเรียนประชาบาลวัดยางค้อ อ.ท่าแซะ ตามลำดับ พ.ศ.2471 อุปสมบท และจำพรรษาที่วัดแหลมยาง สอบนักธรรมตรีได้ พร้อมกับลาออกจากราชการ แล้วเข้าศึกษากรรมฐานกับพระอธิการพัน (พระครูพัฒนศีลาจาร) วัดแหลมยาง หลังจากนั้น มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี จนสอบนักธรรมโทและเอกภายในเวลา 2 ปี ได้เป็นที่ 1 ของมณฑลภูเก็ต พร้อมกับท่องจำพระปาฏิโมกข์ ภายในเวลา 1 เดือน ณ วัดอุปนันทาราม ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง และได้พบกับสามเณรปั่น เสน่ห์เจริญ ต่อมาคือ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ คือ พ.ศ.2479 ได้อยู่จำพรรษาร่วมกับ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นที่มาของคำว่า "สามสหายธรรม" นับถือเป็นพี่น้องกัน ยอมให้พุทธทาสภิกขุ เป็นพี่ใหญ่ บ.ช.เขมาภิรัต เป็นพี่รอง และปัญญานันทภิกขุ เป็นน้องเล็ก ยึดปณิธานแห่งชีวิตตรงกัน แล้วแยกกันปฏิบัติศาสนกิจ พร้อมกับเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธองค์ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สามสหายธรรมต่างก็อุทิศกายใจ ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์จนตลอดชีวิต และได้ฝากผลงานการประกาศธรรมและค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งไว้ให้ลูกหลานได้กล่าวขวัญด้วยความชื่นชม กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพุทธทาสภิกขุ และปัญญานันทภิกขุ เป็นที่รู้จักแก่พุทธศาสนิกชนผู้สนใจธรรมะอยู่โดยทั่วไปเป็นอย่างดี เพราะท่านมีผลงานการเผยแผ่ธรรมะมากมาย ที่ได้ออกไปทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุที่พระราชญาณกวี เป็นที่รู้จักไม่กว้างขวางเหมือนกับสหายธรรมทั้ง 2 ก็เพราะท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระสงฆ์สายปกครองที่จะต้องดูแลพระสงฆ์ในเขตปกครอง ในด้านต่างๆ ให้เป็นไปด้วยดี และท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะตั้งสำนักเรียนบาลี อันเป็นการวางรากฐานการศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญให้กับพระภิกษุสามเณรที่ประสงค์จะเรียนภาษาบาลีให้แตกฉาน พระราชญาณกวีได้สร้างคุณูปการแก่วงการคณะสงฆ์ไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศนานัปการ โดยเฉพาะ พ.ศ.2483 เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนทรายแก้ว (รูปแรก) พ.ศ.2489 เป็นเผยแผ่อำเภอเมืองชุมพร พ.ศ.2496 เป็นเผยแผ่จังหวัดชุมพร พ.ศ.2496 เป็นเจ้าอาวาสวัดอานันทเมตยาราม ประเทศสิงคโปร์ (รวม 2 ครั้ง) และ พ.ศ.2501 เป็นผู้ปกครองสงฆ์วัดเชตวัน ประเทศมาเลเซีย พ.ศ.2507 เป็นเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร และเป็นพระอุปัชฌาย์ วิสามัญ พระราชญาณกวี เน้นเรื่องการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เอาใจใส่คอยสอบถามอยู่เสมอ ทำให้สำนักเรียนบาลีวัดขันเงินที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2508 เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีนักเรียนสอบบาลีสนามหลวงได้คิดเป็นร้อยละ 60 แทบทุกปี บางปีสอบได้สูงถึงร้อยละ 83 ดังนั้น จึงได้รับยกย่องให้เป็นสำนักเรียนตัวอย่าง และเป็นสำนักเรียนดีเด่น เพราะผลอันเกิดจากการเอาใจใส่อย่างจริงจังนั่นเอง วันที่ 15 ม.ค.2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดขันเงิน เป็น "พระอารามหลวงชั้นตรี" ชนิดสามัญ เป็นรางวัลในบั้นปลายชีวิตการทำงานของท่าน ถัดจากนั้นไม่นาน มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2531 ที่โรงพยาบาลชุมพร (ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) สิริอายุ 80 ปี 5 เดือน 11 วัน อริยะโลกที่ 6 |