[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 03 ธันวาคม 2561 15:25:51



หัวข้อ: หุ่นหลวง ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 ธันวาคม 2561 15:25:51
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66409561907251_a6_1024x768_.jpg)

หุ่นหลวง
ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มีความสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะ ทรงตระหนักถึงคุณค่าในงานศิลปะของไทยจึงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูงานศิลปะของไทยหลายแขนงที่เกือบสูญหายให้กลับฟื้นคืนสู่สังคมไทย สมดังพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษ์ศิลปิน” (Pre-eminent Protector of Art and Crafts) อันมีความหมายว่า “ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ” ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔พรรษา กรมศิลปากรจึงได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่และสำนักการสังคีต ร่วมกันศึกษารวบรวมข้อมูลสำหรับจัดสร้างหุ่นหลวงขึ้นอีกครั้งเพื่อฟื้นฟู เผยแพร่และสืบสานกระบวนการงานหุ่นหลวงอันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปจากสังคมไทย ตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทย การดำเนินงานครั้งนี้สำนักช่างสิบหมู่รับผิดชอบในเรื่องของโครงสร้างและงานประณีตศิลป์ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้าง กลไกบังคับ และเครื่องประดับ สำนักงานสังคีตรับผิดชอบดำเนินการเรื่องเครื่องแต่งกายและการแสดงของหุ่นหลวง โดยจัดสร้างหุ่นจำนวน ๕ แบบ ประกอบด้วย หุ่นตัวพระ หุ่นตัวนาง หุ่นยักษ์ หุ่นลิง และลิงป่า

หุ่นหลวง เป็นการละเล่นโบราณของไทยที่จัดแสดงในงานมหรสพเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ งานพระบรมศพ งานพระศพ นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าและแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างวิจิตรทั้งในด้านศิลปกรรมและนาฏยศิลป์ หุ่นหลวงมีประวัติความเป็นมายาวนานนับแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ตามข้อมูลที่สืบค้นได้จากหนังสือสมุดไทยและบันทึกของนายซิมอน เดอ ลาลูแบร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการละเล่นโดยอธิบายลักษณะและรูปแบบของการละเล่นนี้ในงานมหรสพสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบันทึกอื่นในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดทองธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่๓ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพจิตรกรรมบางส่วนแสดงรูปแบบการจัดแสดงมหรสพ ซึ่งปรากฏเวที การแสดงหุ่นหลวงให้ได้เห็นในงานสมโภชนั้นด้วย

หุ่นหลวง เป็นผลงานศิลปกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อความบันเทิง ลักษณะเป็นหุ่นโครงสร้างไม้ที่มีรูปร่างเหมือนคนย่อส่วน แต่งกายอย่างผู้แสดงโขนละคร การเคลื่อนไหวเกิดจากการบังคับเชือกหลายเส้น ที่ร้อยโยงชิ้นส่วนต่างๆ และซ่อนไว้ภายในโครงสร้างของหุ่น เชือกเหล่านี้จะร้อยโยงมายังแป้นด้านล่าง ผูกปลายเชือกแต่ละเส้นด้วยห่วงที่ใหญ่กว่าเส้นรอบนิ้วเล็กน้อยสำหรับเกี่ยวชักบังคับ เชือกแต่ละเส้นกำหนดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างมีหลายท่าทาง ซึ่งต้องอาศัยเชือกหลายเส้นในการควบคุม การละเล่นนี้ ได้รับการสืบทอดและยังคงเล่นเรื่อยมาจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหุ่นหลวงในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นหุ่นหลวงชุดสุดท้ายที่ปรากฏการแสดง หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตแล้ว ก็ไม่ปรากฏการแสดงอีก ปัจจุบันหุ่นชุดดังกล่าวได้จัดเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หุ่นหลวงที่จัดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีความชำรุดลงตามกาลเวลา ทั้งในด้านโครงสร้างและกลไกบังคับ กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๒๙ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ซ่อมแซมในส่วนโครงสร้างหุ่นหลวง จำนวน ๕ หุ่น ประกอบด้วย หุ่นพระ หุ่นนาง หุ่นยักษ์ หุ่นลิง และโครงหุ่นอีก ๑ ตัว การซ่อมแซมครั้งนี้จัดทำเพียงทางกายวิภาคและเครื่องแต่งกายของหุ่นให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยมิได้ร้อยเชือกบังคับหุ่น เนื่องจากเชือกได้ชำรุดลงตามเวลาจนไม่สามารถสืบความรู้เดิมจากหุ่นหลวงที่จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ รวมไปถึงไม่ปรากฏผู้สืบทอดตำราหรือบันทึกการสร้างที่ชัดเจนด้วย


ส่วนประกอบของหุ่นหลวงที่คงหลงเหลืออยู่นั้น นอกจากหุ่นจำนวน ๕ ตัว ที่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังมีชิ้นส่วนของมือ แขน ขา และเศษชิ้นส่วนอื่นๆ ให้ศึกษาเป็นแนวทางจัดสร้างได้เพียงบางส่วน คณะทำงานจึงได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมประกอบคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่านก่อนลงมือปฏิบัติ โดยลองผิดลองถูกหลายครั้ง ส่วนที่ยากที่สุดคือเรื่องของกลไกการบังคับ หุ่นหลวงมีวิธีการบังคับเคลื่อนไหวด้วยการโยงเส้นเชือกจากส่วนต่างๆ ของหุ่นเริ่มจากนิ้ว ข้อมือ แขนท่อนล่าง แขนท่อนบน ผ่านช่องอก ลำตัว สะโพก ซ่อนเชือกไว้ภายในโครงสร้างโดยให้สายเชือกบังคับมารวมอยู่ที่แผ่นบังคับด้านล่างใต้เท้าหุ่น ดังนั้น เวลาแสดงผู้บังคับจึงต้องอยู่ต่ำกว่าหุ่น โรงเชิดหุ่นจึงต้องสร้างให้มีพื้นสูงช่วยอำพรางไม่ให้มองเห็นผู้เชิด จึงดูคล้ายว่าหุ่นนั้นขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41661958437826_a1_1024x768_.jpg)
จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ กรุงเทพมหานคร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56568268645140_a2_1024x768_.jpg)
หุ่นหลวงที่รับการซ่อมแซมโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ปัจจุบันแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

หุ่นหลวงมีความสูงเมื่อสวมศิราภรณ์แล้วประมาณ ๑ เมตร จัดเป็นหุ่นประเภทร้อยสาย ท่าทางการเคลื่อนไหวนั้นเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของมุมเหลี่ยมของข้อต่อประกอบกับกลไกการร้อยเส้นเชือกบังคับ การออกแบบโครงสร้างมีความแตกต่างตามบุคลิกภาพและลักษณะท่ารำของหุ่นแต่ละตัว การสร้างจึงมีรายละเอียดมากและต้องทำอย่างพิถีพิถันและให้ความสำคัญเรื่องน้ำหนักที่ต้องมีความเบา เพื่อให้สะดวกแก่ผู้บังคับที่จะต้องคล้องหุ่นไว้กับตัวเวลาแสดง และเน้นแสดงกิริยาอาการต่างๆ ตามแบบนาฏยศิลป์เป็นสำคัญ เช่น อาการดีใจ เสียใจ เศร้า และโกรธ ด้วยลีลาการร่ายรำ การรำประกอบบทร้อง บทพากย์ และการรำประกอบทำนอง หุ่นหลวงนั้นมีข้อจำกัดในการขยับส่วน กล่าวคือ หุ่นหลวงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและโลดโผนได้อย่างการแสดงหุ่นประเภทอื่นๆ การจัดสร้างหุ่นหลวงจึงเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของช่างศิลปกรรมว่าจะสามารถวางกลไกเชือกบังคับให้หุ่นไม้ขยับเคลื่อนไหวอย่างคนที่ร่ายรำได้สมจริง และสวยงามเพียงใด

นอกจากโครงสร้างที่สวยงามสมส่วนแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หุ่นหลวงแสดงท่วงท่าได้ดุจดังมีชีวิต คือ ศาสตร์ของการแสดง กล่าวได้ว่าผู้เชิดหุ่นต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องนาฏยศิลป์ คีตศิลป์ เป็นอย่างดี ประกอบกับความชำนาญในการแสดงสามารถเคลื่อนไหวไปพร้อมกับหุ่น และจดจำเส้นสายที่ร้อยโยงบังคับส่วนต่างๆ ของหุ่นได้แม่นยำโดยบังคับเชือกที่แบ่งออกเป็นซีกซ้ายและขวา บางท่าจะต้องดึงเชือกหลายเส้นประกอบกันเป็นลำดับเพื่อให้เกิดเป็นท่วงท่าที่สวยงามถูกต้อง สามารถสื่ออารมณ์ให้สอดคล้องไปตามจังหวะดนตรี บทเจรจา และบทร้องตามท้องเรื่องที่แสดงได้อย่างสวยงาม

โครงสร้างของหุ่นหลวง สามารถแบ่งออกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ๗ ส่วน ดังนี้
- ส่วนศีรษะ (ส่วนของเกี้ยวประดับศีรษะลงมาถึงคอ)
- ส่วนช่วงอก
- ส่วนสะโพก
- ส่วนแขนทั้ง ๒ ข้าง (ท่อนแขนส่วนบนและล่าง)
- ส่วนขาและเท้าทั้ง ๒ ข้าง (ท่อนขาส่วนบนและล่าง)
- ส่วนมือ
- แกนและแป้นบังคับ

ขั้นตอนการสร้างส่วนต่างๆ ของหุ่นอยู่บนพื้นฐานของงานไม้เป็นหลัก ได้แก่ การโกรก โกลน กลึง และแกะไม้ นอกจากนี้ยังมีการคว้านเซาะเนื้อไม้ภายในออกเพื่อลดทอนน้ำหนักของหุ่น ศีรษะหรือหัวหุ่นภายหลังจากการขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออกจะนำแผ่นไม้ลักษณะเดิมมาปิดและขัดแต่งให้มีลักษณะกลมกลืนไปกับพื้นผิวให้เหมือนเดิม แล้วจึงปั้นเสริม ส่วนรายละเอียดด้วยรักสมุก ปิดกระดาษสาและเขียนสีเช่นเดียวกับหัวโขน ส่วนลำตัวของหุ่นหลวงแบ่งออกเป็นส่วนอกและสะโพก ทำด้วยไม้โดยคว้านเนื้อไม้ด้านในจนกลวงและมีน้ำหนักเบา ส่วนเอวทำด้วยเส้นหวายนำมาขดเป็นวงซ้อนกันเพื่อให้หุ่นสามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนแขนหุ่นหลวงจะแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ ส่วนต้นแขนถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง ส่วนท่อนแขนถึงข้อมือส่วนหนึ่ง ส่วนข้อต่อข้อมือส่วนหนึ่ง โดยในแต่ละส่วนกลึงให้ได้รูปทรง จากนั้นขุดกลวงให้มีน้ำหนักเบา และมีพื้นที่สำหรับร้อยสายเชือกกลไกในการบังคับท่าทาง ส่วนของนิ้วมือที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้มีแค่ ๓ นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ส่วนของนิ้วโป้งและนิ้วก้อยจะเป็นไม้ท่อนเดียวกับช่วงฝ่ามือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนขาหุ่นหลวงแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ จากต้นขาถึงเข่าส่วนหนึ่ง และจากหัวเข่าถึงเท้าส่วนหนึ่ง ในส่วนของหุ่นตัวพระจะแกะส่วนของปลายเท้าในลักษณะสวมรองเท้า ปลายงอน โดยคว้านเนื้อไม้ให้กลวงเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนและวิธีการสร้างหุ่นหลวง
๑. ร่างแบบและเขียนแบบ
การร่างแบบและเขียนแบบตามขนาดเท่าจริงเพื่อกำหนดสัดส่วนและโครงสร้างที่ชัดเจน โดยสร้างทั้งแบบด้านหน้า ตรง และมุมมองแบบด้านข้างด้วย แล้วจึงคัดลอกแบบเฉพาะส่วนเพื่อนำไปใช้งานจริงในขั้นตอนการโกลนไม้

๒. การโกรกไม้
การโกรกในเชิงช่างไม้ หมายถึงการเลื่อยไม้ออกไปตามแนวตรงให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เป็นการสร้างรูปทรงโดยรวมไม่เน้นรายละเอียดของงานทั่วไป นิยมโกรกเอาเนื้อไม้ออกในแนวตรง เป็นการตัดทอนเนื้อไม้อย่างหยาบ แต่ในส่วนที่มีความโค้ง ช่างจะใช้เทคนิคซอยไม้ โดยการเลื่อยตัด เป็นเส้นตรงเว้นระยะห่างกันเล็กน้อยเพื่อลดระยะที่ใบเลื่อยจะเข้าตัด แล้วจึงตัดตามเส้นโค้งที่กำหนดไว้

๓. การโกลนหุ่น
หลังจากโกรกไม้ให้ได้รูปทรงโดยรวมแล้ว นำไปโกลนเพื่อให้ได้รูปร่างที่ใกล้เคียงกับแบบ การโกลนไม้ คือ การเอาเนื้อไม้ออกเพื่อให้ได้รูปทรงด้วยเครื่องมือประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้สิ่วที่มีหน้าตัดลักษณะต่างๆ เพื่อโกลนไม้ให้ได้รูปทรงที่ชัดเจนขึ้นตามแบบที่ร่างไว้ โดยช่างจะใช้เครื่องมือวัดขนาดที่ต้นแบบ หรือแบบที่ร่างไว้ แล้วนำมาวัดลงบนชิ้นงาน จากนั้นใช้สิ่วและค้อนตอกไล่ไปตามเนื้อไม้ เพื่อนำเนื้อไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกจนได้รูปทรง และเริ่มปรากฏรายละเอียดให้เห็นมากกว่าขั้นตอนการโกรกไม้

๔. การแกะเก็บรายละเอียด ขุดคว้านเนื้อไม้และขัดแต่งผิว  
ชิ้นส่วนหุ่นเมื่อโกลนหุ่นเสร็จแล้วช่างจะแกะเพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ส่วนคิ้ว ตา จมูก และปาก การแกะใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็กสำหรับเก็บรายละเอียดให้ได้รูปร่างสวยงามตามแบบพร้อมกับการขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออก วัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวหุ่นหรือชิ้นส่วนของหุ่นมีความกลวงและมีน้ำหนักเบา แล้วจึงขัดแต่งผิวให้เรียบเนียน โดยส่วนของศีรษะและเครื่องประดับศีรษะ (ศิราภรณ์) จะเขียนสีและประดับลวดลายภายหลังการเก็บรายละเอียดแล้วเสร็จ แล้วจึงประกอบโครงหุ่นเพื่อติดตั้งสายเชือกที่เป็นกลไกด้านใน

ส่วนอกและสะโพกที่ขัดแต่งผิวแล้วเสร็จ ปิดด้วยแผ่นไม้ที่เจาะช่องไว้สำหรับร้อยเส้นเชือก ส่วนอกจะปิดแผ่นไม้ที่บริเวณใต้อก ส่วนสะโพกจะปิดแผ่นไม้ที่บริเวณด้านบนสะโพก ในส่วนของข้อต่อต่างๆ ที่ต้องร้อยเส้นเชือก จะติดด้วยแผ่นกะลาที่นำมาขัดเจียรเป็นแผ่นบางให้ขนาดพอดีกับส่วนข้อต่อแล้วเจาะรู ส่วนข้อต่อที่สำคัญคือข้อต่อส่วนมือ ข้อมือ และแขน เพราะเป็นส่วนที่หุ่นต้องเคลื่อนไหวแสดงท่าร่ายรำต่างๆ ช่างจึงต้องปรับแต่งอาศาบริเวณข้อต่อให้เหมาะสมก่อนที่จะติดด้วยแผ่นกะลา กะลาที่นำมาใช้ต้องเป็นกะลาเน่า สาเหตุที่เรียก “กะลาเน่า” เพราะช่างจะคัดเลือกผลมะพร้าวที่แก่จัดร่วงจากต้นและผ่านการแช่น้ำมานานจนมีความอิ่มตัว และมีน้ำมันอยู่ในเนื้อกะลา ความมันในเนื้อกะลาจะช่วยลดการเกิดแรงเสียดสีระหว่างรูกับเส้นเชือก ทำให้เชือกไม่ขาดง่ายและคล่องแคล่วขึ้นเวลาแสดง

ส่วนลำตัวช่วงบน (ส่วนอก) ปิดพื้นด้วยแผ่นไม้ โดยเจาะช่องสำหรับร้อยเชือกจำนวน ๓ ช่อง ที่พื้นด้านในของแผ่นไม้จะติดเขาควายที่เหลาเป็นแท่ง จำนวน ๒ แท่ง เรียกว่า “คันแร้ว” สำหรับผูกมัดเชือกเพื่อรับน้ำหนักส่วนต้นแขนเอาไว้ คันแร้วจะมีความยืดหยุ่นสามารถโน้มไปมาได้ตามแรงน้ำหนัก จึงทำให้ท่าทางส่วนแขนของหุ่นดูอ่อนช้อยไม่แข็งกระด้าง จากนั้นติดประกอบแท่งไม้สำหรับเป็นคานพาดเชือก กลไกของตัวหุ่นระหว่างบริเวณอกด้านหน้าไปยังด้านหลังตัวหุ่นทั้งด้านซ้ายและขวาในตำแหน่งเดียวกัน จำนวนทั้งหมด ๖ จุด ด้านซ้ายขวาด้านละ ๓ จุด คานไม้ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายน้ำหนักของเชือกเวลาที่ผู้เชิดดึงรั้งเส้นเชือกในขณะบังคับท่าทางของหุ่น

๕. การสร้างและประกอบส่วนมือ และนิ้ว
ลักษณะของมือและนิ้วในหุ่นพระอยู่ในลักษณะของการรำเป็นหลัก อาจมีการจับถืออาวุธในบางท่าทาง ส่วนประกอบสำคัญประกอบด้วย ส่วนข้อมือ อุ้งมือ และนิ้วทั้ง ๕ ที่ปลายนิ้วของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย โดยมีเล็บรูปกรวยแหลมขนาดพอดีปลายนิ้วแต่ละนิ้ว และยาวดัดให้มีความโค้งอ่อนติดไว้ที่ปลายนิ้วทั้งสี่ข้างต้น

แกนตัวหุ่นทำจากไม้หลาวชะโอน ไม้หลาวชะโอนมีลักษณะและลวดลายคล้ายไม้ตาล แต่มีความเหนียวมากกว่าและมีเสี้ยนมากกว่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดให้โค้งงอได้และคืนตัวกลับมาอยู่ในลักษณะตั้งตรงได้โดยไม่หัก จึงเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นแกนของตัวหุ่นหลวง

ส่วนของด้ามจับใช้ไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะตัดเป็นท่อนขนาดประมาณ ๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน นำปลายท่อนไม้ไผ่ทั้ง ๒ ท่อน มาผูกติดกันโดยให้อยู่ในลักษณะปลายซ้อนกันอยู่ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร บากช่วงด้านปลายของไม้ไผ่ทั้ง ๒ ท่อน ให้มีร่องสำหรับผูกเชือก ไม้ไผ่ท่อนล่างมีไว้สำหรับใส่แกนไม้หลาวชะโอนส่วนแกนตัวหุ่น จากนั้นมัดให้ติดกับแกนไม้หลาวชะโอนด้วยหวาย หรือเชือกให้แน่นเพื่อไม่ให้หลุดออกจากกัน นำแป้นร้อยเชือกที่เจาะรูแล้วมาติดกับท่อนไม้ไผ่ท่อนบนโดยให้ช่องที่เจาะเสมอกับหน้าตัดของไม้ไผ่ยึดติดด้วยอิพ็อกซี่ให้แข็งแรง รูไม้ไผ่ท่อนนี้มีไว้สำหรับใส่แกนไม้ที่ยึดติดกับส่วนศีรษะของหุ่นสามารถบังคับให้ศีรษะหุ่นหันหน้าไปมาได้อย่างอิสระโดยทำแกนสำหรับบังคับไว้ตรงปลายไม้ส่วนนี้

การติดตั้งกลไกภายในตัวหุ่น
กลไกการบังคับหุ่นคือการร้อยโยงเส้นเชือกจากส่วนประกอบย่อยเริ่มตั้งแต่นิ้วมือ ข้อมือ แขน ลำตัว สะโพก สิ้นสุดที่แป้นบังคับด้านล่างโดยใช้ห่วงโลหะที่มีขนาดพอเหมาะให้นิ้วสอดเข้าได้สะดวก ผูกรั้งไว้ เชือกเปรียบเสมือนเส้นเอ็นของหุ่น จำนวนของเส้นเชือกจะมีมากขึ้นเมื่อร้อยโยงผ่านส่วนต่างๆ คณะทำงานจึงใช้การย้อมสีเส้นเชือกให้มีความแตกต่างกันในการศึกษาและช่วยจำวิธีการดึงเชิดเส้นเชือกแต่ละเส้นได้ดีขึ้น

การเคลื่อนไหวของหุ่นหลวงนี้ ศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวของหุ่นเปรียบเทียบกับท่ารำตามตำราการรำของกรมศิลปากร ในส่วนงานช่างจะต้องทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างรูร้อยเชือก องศาของข้อต่อ เมื่อดึงเชือก เส้นเชือกสำหรับบังคับหุ่นนี้จะโยงจากส่วนมือ แขน และลำตัวมารวมกันไว้ที่แป้นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่บริเวณด้านล่างของแกนหุ่น ห่างจากบริเวณปลายเท้าหุ่นพอประมาณ เพื่อความสวยงามในมุมมองของการแสดงหุ่น เมื่อร้อยเชือกผ่านแป้นแล้วจะผูกปลายเชือกไว้กับห่วงทองเหลืองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ ๓ เซนติเมตร ให้ใหญ่พอสะดวกต่อการสอดนิ้วมือเข้าไปสำหรับดึงเชือกบังคับท่าทางหุ่น แป้นนี้จะเจาะรูไว้จำนวน ๒๐ รู แต่ละเส้นจะเป็นกลไกบังคับหุ่นให้เคลื่อนไหว หลายท่าทางที่ต้องบังคับด้วยเชือกพร้อมกันหลายเส้น

การประดับตกแต่งลวดลาย (ศิราภรณ์)
และการเขียนสี

ศิราภรณ์ในหุ่นหลวงมีกระบวนการสร้างแบบเดียวกับการสร้างศิราภรณ์หัวโขน หัวหุ่นหลวงที่เก็บรายละเอียดดีแล้วจะถูกนำไปขัดลบเสี้ยนไม้ หุ่นจะถูกปรับพื้นผิวให้สมบูรณ์ด้วยการโป๊วส่วนที่บกพร่องได้แก่ ร่อง หลุมต่างๆ ให้มีผิวเสมอกันด้วยการใช้ขี้เลื่อยผสมดินสอพองและกาวแป้งเปียก ทิ้งไว้จนแห้งแล้วจึงขัดให้เรียบเสมอกัน ปิดผิวพื้นด้วยกระดาษสาทากาวทับซ้อนกันประมาณ๒ ชั้น เมื่อแห้งจึงใช้ไม้กวดให้เรียบอีกครั้ง

การประดับลวดลาย
การประดับลวดลายบนศิราภรณ์นั้นใช้วิธีการกระแหนะรักสมุกลงบนพิมพ์หินสบู่ที่แกะลวดลายเตรียมไว้ แล้วจึงนำมาประดับให้เกิดลวดลายต่างๆ ตามแบบที่ได้เขียนไว้ในเบื้องต้น โบราณนั้นนิยมใช้รักสมุกใบตอง มากระแหนะเป็นลวดลายหัวโขนหรือหุ่นหลวง จากนั้นจึงนำมากดลงบนพิมพ์หินสบู่และใช้ไม้หรือโลหะปลายแหลมดึงลวดลายขึ้นมาเพื่อนำไปประดับลงบนส่วนที่ต้องการประดับ โดยใช้ยางรักเป็นวัสดุ ยึดติดลวดลาย หากปัจจุบันใช้วัสดุทดแทนจำพวกสีโป๊วแทนการใช้รักสมุก

การปิดทองและประดับกระจก
การปิดทองประดับกระจกเป็นกระบวนการตกแต่งศิราภรณ์ให้สวยงามสำหรับส่วนศีรษะหุ่น เริ่มจากการทาน้ำมันมะเกลือเพื่อเตรียมพื้นผิวให้มีความอิ่มตัว เมื่อแห้งแล้วทาซ้ำอีกครั้งก่อนการทาด้วยยางรักสำหรับการปิดทอง

การประดับตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่ศิราภรณ์ ด้วยการประดับเพชรหรือพลอย และการประดับกระจก การประดับกระจกเป็นการตกแต่งส่วนละเอียดในลวดลายของตัวกระจังไส้ลายต่างๆ ให้เกิดเป็นประกาย เมื่อแสงตกกระทบจะทำให้ดูแวววาวคล้ายประดับด้วยอัญมณี

การเขียนสี
การเขียนสีเมื่อช่างปิดทองและประดับกระจกแล้วเสร็จ ช่างจะเขียนสีเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้หุ่นเกิดความสวยงามและสมบูรณ์ การเขียนสีของหุ่นหลวงตัวพระ ใช้สีขาวเป็นสีพื้นตัว โดยเขียนแค่ส่วนที่ปรากฏให้เห็น คือใบหน้า มือ และขา เพราะส่วนอื่นจะถูกปกปิดด้วยเครื่องแต่งกาย

การเขียนสีเริ่มจากการขัดเตรียมพื้นผิวให้เรียบเสมอกันด้วยกระดาษทราย ทารองพื้นประมาณ ๒-๓ ครั้ง แล้วจึงลงสีอะคิลิคสีขาวในชั้นสุดท้าย ส่วนของใบหน้า เตรียมพื้นเช่นเดียวกับหัวโขนแล้วจึงสามารถทาสีและเขียนส่วนรายละเอียดต่างๆ บนใบหน้า กำหนดสัดส่วนของรายละเอียด ร่างเค้าโครงของเส้นด้วยดินสอสี เช่น เส้นขอบดวงตา เส้นคิ้ว เส้นจมูก เส้นฮ่อ เส้นพราย และใบหู ลักษณะเดียวกับการเขียนหน้าหัวโขน

เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ)
เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับร่างกายของหุ่นหลวง สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดสร้างจากโลหะชุบทองประดับเพชรเทียม ประกอบด้วย
- ทับทรวง
- จี้นาง
- ตาบทิศ
- ตาบหลัง
- สังวาล
- กำไลแผง มีลักษณะเหมือนการสวมกำไลกลมต่อเรียงกัน สวมที่ปลายข้อมือพอดีกับชายเสื้อ
- เข็มขัดและหัวเข็มขัด
- กำไลหัวบัว (กำไลข้อเท้า) กำไลกลมมีปุ่มที่ปลายทำเป็นรูปหยดน้ำ คล้ายดอกบัวทั้งสองข้าง สำหรับใส่ประดับข้อเท้าทั้งสองข้าง ใส่ได้ทั้งกับตัวพระและตัวนาง

ชุดหุ่นหลวงที่จัดสร้างขึ้นใหม่นี้ได้รับโอกาสให้เผยแพร่และจัดแสดงแก่สาธารณชนหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ โดยการจัดเสวนาองค์ความรู้เรื่องหุ่นหลวง ณ ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ การจัดเสวนาเรื่อง หุ่นหลวง : นาฏยลักษณ์วิจิตรอันทรงคุณค่า ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) โดยสำนักการสังคีต และร่วมเผยแพร่ในการจัดนิทรรศการของกรมศิลปากรอีกหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากรจัดแสดงหุ่นหลวงในงานมหรสพสมโภชออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องรามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41167966441975_a3_1024x768_.jpg)
ยอดศิราภรณ์     ศีรษะ    ช่วงอก
สะโพก    ส่วนประกอบแขน     ส่วนประกอบขา      แกนและแป้นบังคับ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99073881655931_a4_1024x768_.jpg)
๑ การขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออก๒ ส่วนข้อต่อที่ติดด้วยแผ่นกะลาเจาะรูสำหรับร้อยเส้นเชือก
๓ การสร้างส่วนมือของหุ่น๔ การร้อยเชือกบังคับหุ่น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/32928636918465_a5_1024x768_.jpg)
การเขียนสีใบหน้าหุ่นพระ

ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : หุ่นหลวง  ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย, นิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม