[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 04 มีนาคม 2562 15:31:57



หัวข้อ: หลวงปู่จู (พระครูสีหราช) วัดบ้านแก่นท้าว ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 มีนาคม 2562 15:31:57
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38571620277232_view_resizing_images_8_320x200.jpg)

หลวงปู่จู (พระครูสีหราช)
วัดบ้านแก่นท้าว ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

[size=11pt]พระครูสีหราช หรือ หลวงปู่จู วัดบ้านแก่นท้าว ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมของภาคอีสาน

มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง วิทยาคมแก่กล้า ปฏิปทาอันงดงาม

เป็นบูรพาจารย์ต้นตำรับไสยเวทสายเขมร

อัตโนประวัติมีการบันทึกไว้น้อยมาก ทราบเพียงว่าเกิดที่บ้านหนองกก พ.ศ.2385 (ปัจจุบันอยู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ) มีพี่น้องรวม 12 คน เป็นบุตรคนที่ 3 ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

เมื่อช่วงวัยเยาว์ได้ช่วยงานในครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง แต่ด้วยความที่จิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรม พออายุกว่าสิบปีจึงขอให้บิดา-มารดาพาไปบวชเป็นสามเณรที่วัดในหมู่บ้าน

ครั้นอายุครบ 20 ปีได้เข้าพิธีอุปสมบท แต่ไม่ทราบชื่อพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความขยันขันแข็งอยู่วัดหนองกก ก่อนไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่สำนักวัดพระโต จ.ศรีสะเกษ ศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ไทยน้อย อักษรลาว

มุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปี มีความรู้แตกฉานสามารถพูดอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว

เป็นผู้มีอุปนิสัยชมชอบความสงบวิเวก ท่านมักจะออกธุดงควัตรไปแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาในภาคอีสาน โดยเฉพาะในป่าประเทศกัมพูชา พร้อมกับได้ศึกษาเล่าเรียนไสยเวทสายเขมร จากพระเกจิเขมรรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมากในด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี กันบ้านกันเมือง

ด้วยความที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีความรู้คงแก่เรียน บรรดาญาติโยมจึงทำพิธีรดน้ำเป็นญาครู ยกย่องท่านตามประเพณีอีสาน

ในเวลาต่อมาได้เกิดกลียุคโรคห่าระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก หลวงปู่จูจึงได้พาญาติโยมอพยพหนีโรคระบาดมาอาศัยอยู่ที่เมืองปะหลาน (ปัจจุบัน ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม)

ชื่นชอบความวิเวก ได้ออกธุดงค์มาถึงป่าขนวน ที่ตั้งของบ้านแก่นท้าว ท่านเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีน้ำท่าบริบูรณ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองพยัคฆภูมิพิสัยไม่ไกลนัก พ.ศ.2420 ท่านจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นที่นี่

พ่อใหญ่หนู ศิษย์ผู้ใกล้ชิด เล่าถึงประสบการณ์วัตถุมงคลของหลวงปู่จูว่า หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังลงไปถึงกรุงเทพฯ เรื่องมีอยู่ว่าลูกศิษย์ที่เป็นพลทหารชื่อหอย อยู่ที่เมืองโคราช ได้นำชานหมากของหลวงปู่จูติดตัวไป นายทหารผู้บังคับบัญชาได้ทดลองนำไปใช้ปืนกลยิงดู ปรากฏว่าลูกปืนยิงออกแต่ไปตกอยู่ใกล้ๆ ชานหมาก ทั้งที่ห่างเพียงไม่กี่เมตร

นายทหารท่านนั้นทึ่งในพุทธคุณมาก จึงสอบถามที่มาและรายงานไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พ่อใหญ่หนูยืนยันว่ารัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหลวงปู่จู ที่วัดแก่นท้าว ประมาณปีพ.ศ.2442 โดยเสด็จฯ ทางรถไฟมาลงที่จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นได้ทรงช้างมายังวัดบ้านแก่นท้าว และได้พระราชทานนามสมณศักดิ์ให้กับหลวงปู่จูว่า "พระครูสีหราช"

ภายหลังหลวงปู่จูได้รับพระราชทานนามเป็นพระครูสีหราช ท่านยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขจรไปไกลกว่าเดิม ทำให้มีพระภิกษุมาฝากตัวเป็นศิษย์สืบทอดสายธรรมหลายรูป ต่อมาปรากฏชื่อเสียงโด่งดังทั่วอีสาน เช่น หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (มรณภาพปี 2512 อายุ 93 ปี) หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม ต.แวงดง อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม (มรณภาพปี 2542 อายุ 100 ปีเศษ) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาคนำมาพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัด ไม่ว่าจะเป็นหอไตร พระอุโบสถ เป็นต้น

ทำให้วัดบ้านแก่นท้าวเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ช่วงบั้นปลายชีวิตอาพาธด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในปีพ.ศ.2481

สิริอายุ 96 ปี พรรษา 76 [/size]

อริยะโลกที่ 6 ข่าวสดออนไลน์