[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 มีนาคม 2562 19:17:33



หัวข้อ: น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 มีนาคม 2562 19:17:33

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45367067265841_3_320x200_.jpg)

น้ำศักดิ์สิทธิ์
ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี

น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี อาทิ น้ำสรงมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก น้ำพระพุทธมนต์ ฯลฯ จะต้องพลีกรรมตักมาจากแหล่งน้ำสำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากนั้นจึงเสกด้วยพระพุทธมนต์ให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่อไป พิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์จะกระทำ ๒ ครั้ง  ครั้งแรก เสกทำ ณ พระอารามสำคัญในมณฑลสถานอันเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำ  ครั้งที่สอง เสกทำเมื่อจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธี

แหล่งน้ำสำคัญตามโบราณราชประเพณี
ตามตำราข้างพราหมณ์กล่าวว่า แหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำห้าสายในชมพูทวีป คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งรวมเรียกว่าปัญจมหานที เพราะเชื่อว่าแม่น้ำทั้งห้าสายที่ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร ส่วนแหล่งน้ำสำคัญและเป็นสิริมงคลตามโบราณราชประเพณีไทยนั้น จากหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช พุทธศักราช ๒๔๙๓ และจากหนังสือชุดราชประเพณีไทย เรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” เรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์ คณะอนุกรรมการจัดทำเอกสารภาษาไทย ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ ได้กล่าวถึงแหล่งน้ำสำคัญและสถานที่เสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน สำหรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีอื่น ยังสอบไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้จากหนังสือทั้งสองเล่มเกี่ยวกับแหล่งน้ำสำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสกันมาแต่โบราณกาล มีความโดยสังเขป ดังนี้

น้ำสรงมุรธาภิเษก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี แต่จะใช้น้ำในปัญจมหานทีในชมพูทวีปด้วยหรือไม่นั้นไม่ปรากฏหลักฐาน

ในสมัยกรุงธนบุรี มิได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ น้ำสรงมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๔ นอกจากจะใช้น้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีการใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก ๕ สาย คือ


แม่น้ำบางปะกง    ตักที่บึงพระอาจารย์          แขวงเมืองนครนายก      
แม่น้ำป่าสัก    ตักที่ตำบลท่าราบ    แขวงเมืองสระบุรี
แม่น้ำเจ้าพระยา            ตักที่ตำบลบางแก้ว    แขวงเมืองอ่างทอง
แม่น้ำราชบุรี    ตักที่ตำบลดาวดึงส์    แขวงเมืองสมุทรสงคราม
แม่น้ำเพชรบุรี    ตักที่ตำบลท่าไชย    แขวงเมืองเพชรบุรี


น้ำในแม่น้ำทั้ง ๕ สายนี้ มีชื่อเรียกว่า เบญจสุทธคงคา โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป น้ำแต่ละแห่งดังกล่าวเมื่อตักมาแล้ว จะตั้งพิธีเสก ณ เจดียสถานสำคัญแห่งแขวงนั้นๆ แล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีที่กรุงเทพมหานครต่อไป

ในรัชกาลที่ ๕ น้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ ก็ใช้น้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ ๔ สระ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ จนในปีพุทธศักราช ๒๔๑๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย ทรงได้น้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ดังนั้นน้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองหลังจากที่ทรงลาผนวชในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ จึงมีน้ำปัญจมหานทีเจือลงในน้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ ๔ สระ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรีด้วย

ในรัชกาลที่ ๖ น้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ ใช้น้ำเช่นเดียวกับครั้งรัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ได้มีการพลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญและเป็นสิริมงคล มาตั้งพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของพระมหานครโบราณ ๗ แห่ง คือ

๑. แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท ซีงเป็นพระมหาเจดียสถาน สถิตในมณฑลประเทศที่ตั้งมหานครละโว้และกรุงศรีอยุธยา (พระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน)
๒.ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก ทำพิธีเสกน้ำที่พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบัน)
๓. น้ำโซกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง เมืองสวรรคโลก ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระบรมธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีกรุงสุโขทัย (วัดพระบรมธาตุ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ในปัจจุบัน)
๔. แม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ทำพิธีเสกน้ำที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ ประเทศที่ตั้งนครศรีวิชัยราชธานี (วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ในปัจจุบัน)
๕. บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีศรีธรรมราช (วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน)
๖. บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่ (วัดพระธาตุหริภุญไชย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ในปัจจุบัน)
๗. บ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดร อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรณ์หลวง (วัดพระธาตุพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน)

นอกจากนั้น ยังได้พลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ


๑. มณฑลนครสวรรค์    ทำพิธีเสกน้ำ  ณ    วัดพระบรมธาตุเมืองชัยนาท
๒. มณฑลเพชรบูรณ์    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์
๓. มณฑลนครราชสีมา    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดกลางเมืองนครราชสีมา
๔. มณฑลอีสาน    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดศรีทองเมืองอุบลราชธานี
๕. มณฑลปราจีนบุรี    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดโสธรเมืองฉะเชิงเทรา
๖. มณฑลจันทบุรี    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดพลับเมืองจันทบุรี
๗. มณฑลปัตตานี    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดตานีนรสโมสรเมืองตานี
๘. มณฑลภูเก็ต    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดพระทองเมืองภูเก็ต   
๙. มณฑลชุมพร    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดพระบรมธาตุเมืองไชยา
๑๐. มณฑลราชบุรี    ทำพิธีเสกน้ำ ณ    วัดพระมหาธาตุเมืองเพชรบุรี


รวมเป็นสถานที่เสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพิ่มเติมจากครั้งรัชกาลที่ ๕ อีกจำนวน ๑๗ แห่ง

ในรัชกาลที่ ๗ น้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ ได้พลีกรรมตักน้ำและทำพิธีเสกน้ำ ณ สถานที่ต่างๆ เหมือนครั้งรัชกาลที่ ๖ แต่มีการเพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่ง คือ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ในรัชกาลที่ ๘ มิได้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช น้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ทำพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ ในราชอาณาจักร จำนวน ๑๘ แห่ง เท่าสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่ง คือ จากวัดพระมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑. จังหวัดสระบุรี ใช้น้ำจากน้ำท่าราบ และน้ำสรงรอยพระพุทธบาท ทำพิธีเสกน้ำ ณ พระมณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
๒. จังหวัดพิษณุโลก ใช้น้ำจากน้ำทะเลแก้ว น้ำสระแก้ว และน้ำสระสองห้อง ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
๓. จังหวัดสุโขทัย ใช้น้ำจากน้ำกระพังทอง น้ำกระพังเงิน น้ำกระพังช้างเผือก น้ำกระพังโพยสี น้ำโซกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว และน้ำบ่อทอง ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
๔. จังหวัดนครปฐม ใช้น้ำจากน้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ น้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี และน้ำสระพระปฐมเจดีย์ ทำพิธีเสกน้ำ ณ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
๕. จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้น้ำจากน้ำบ่อวัดหน้าพระลาน น้ำบ่อวัดเสมาไชย น้ำบ่อวัดเสมาเมือง น้ำบ่อวัดประตูขาว น้ำห้วยเขามหาชัย และน้ำปากนาคราช ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช
๖. จังหวัดลำพูน ใช้น้ำจากบ่อน้ำทิพย์ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน
๗. จังหวัดนครพนม ใช้น้ำจากน้ำบ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
๘. จังหวัดน่าน ใช้น้ำจากน้ำบ่อแก้ว ทำพิธีเสกน้ำ ณ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
๙. จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้น้ำจากน้ำสระแก้ว น้ำสระทอง และน้ำบึงพลานชัย ทำพิธีเสกน้ำ ณ บึงพลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
๑๐. จังหวัดเพชรบุรี ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่วัดท่าชัยศิริ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี
๑๑. จังหวัดชัยนาท ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่หน้าวัดพระบรมธาตุ และแม่น้ำเจ้าพระยาตักที่หน้าวัดธรรมามูล ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท
๑๒. จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้น้ำจากน้ำสระมหาชัย (สระลำมะชัย) และน้ำสระหินดาษ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
๑๓. จังหวัดนครราชสีมา ใช้น้ำจากน้ำสระแก้ว น้ำสระขวัญ น้ำธารปราสาท และน้ำสระปักธงชัย ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระนารายณ์มหาราช จังหวัดนครราชสีมา
๑๔. จังหวัดอุบลราชธานี ใช้น้ำจากน้ำท่าหอชัย น้ำกุดศรีมังคละ และน้ำกุดพระฤๅชัย ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี
๑๕. จังหวัดจันทบุรี ใช้น้ำจากน้ำสระแก้ว และน้ำธารนารายณ์ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพลับ จังหวัดจันทรบุรี
๑๖. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้น้ำจากน้ำคลองท่าเพชร น้ำบ่อวัดพระธาตุ น้ำบ่อวัดแก้ว น้ำบ่อเดชราชา (บ่อเขานางเอ) น้ำคลองไชยา น้ำคลองคงคาไชย น้ำคลองท่าชนะ น้ำห้วยเขาแก้ว น้ำคลองราม น้ำคลองไชยคราม น้ำห้วยรัตนโกสัย น้ำแม่น้ำตาปี น้ำคลองเทพา น้ำคลองบางสวัสดิ์ น้ำธารเสด็จ น้ำธารน้ำเมืองไชย น้ำคลองไกรษร น้ำคลองพระแสง น้ำคลองเบญจา น้ำคลองยันต์ น้ำคลองศรีสุข และน้ำคลองนารายณ์ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระธาตุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๑๗. จังหวัดปัตตานี ใช้น้ำจากน้ำสระวังพลายบัว น้ำบ่อทอง น้ำบ่อไชย น้ำบ่อฤๅษี และน้ำสระแก้วในถ้ำพระ ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี
๑๘. จังหวัดภูเก็ต ใช้น้ำจากน้ำเขาโต๊ะแซะ และน้ำเขาโตนไทร ทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดพระทอง จังหวัดภูเก็ต


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27245642410384_2_320x200_.jpg)
พระเต้าปทุมนิมิต ทอง นาก เงิน

โปรดติดตามตอนต่อไป

ที่มา : ประวัติน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
กระทรวงมหาดไทย จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ฯ
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย


หัวข้อ: Re: น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2562 14:58:52

แหล่งน้ำสำคัญที่ใช้เสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ
พุทธศักราช ๒๕๓๐

ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ในวันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ถวายเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้ถูกต้องตามราชประเพณี และสง่างามสมพระเกียรติยศ ในการนี้ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จออกมหาสมาคม ณ ที่พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ท้องสนามหลวง เพื่อทรงรับคำถวายชัยมงคล และน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เปรียบเสมือนอาณาประชาราษฎรทั่วทั้งประเทศได้ร่วมแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแก่ผู้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ดังเช่นการรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่หรือผู้มีพระคุณยิ่งเมื่อท่านมีอายุยืนครบ ๖๐ ปี ตามประเพณีไทย

คณะอนุกรรมการฝ่ายรัฐในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมดังกล่าว

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า การจัดเตรียมรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์และการแห่เชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เข้าร่วมในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เป็นงานใหญ่และมีความสำคัญยิ่ง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เพื่อให้การเตรียมงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามโบราณราชประเพณี จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และการแห่เชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เข้าร่วมในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ขึ้น เพื่อดำเนินงานดังกล่าว

สำหรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมแหล่งน้ำสำคัญที่เคยใช้กันมาตามโบราณราชประเพณีบ้างเป็นบางแห่ง ด้วยแหล่งน้ำสำคัญที่เคยนำทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้น บางแหล่งก็ได้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมจนขาดความเหมาะสมประการหนึ่ง กับเพื่อให้ทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักรได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกันในวโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้อีกประการหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ขอให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส หรือจากแหล่งน้ำเส้นชีพสำคัญของจังหวัด หรือจากแหล่งน้ำที่เคยใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ อย่างน้อยจังหวัดละ ๑ แห่ง ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอารามสำคัญของจังหวัดนั้นๆ แล้วนำมอบกระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป

พิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ประสานงานกับสำนักพระราชวัง ให้ประกอบพิธีพร้อมกันตามวันเวลาฤกษ์ที่โหรหลวงกำหนด คือ



พิธีพลีกรรมตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ให้ทุกจังหวัดประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำพร้อมกันในวันธงชัย คือ วันพุธที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา โดยจัดบัณฑิต (มหาเปรียญ) หรือผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ไปทำพิธีพลีกรรมตักน้ำโดยแต่งกายนุ่งห่มผ้าขาว มีดอกไม้ ธูป เทียน ไปจุดบูชาเทพารักษ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น และกล่าวคำสักการะบูชา ดังนี้

นโม ตสฺสฯ – ๓ จบ
(ไตรสรคมน์)
พุทฺธํ        สรณํ    คจฺฉามิ
ธมฺมํ      สรณํ        คจฺฉามิ
สงฺฆํ      สรณํ    คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ      พุทฺธํ    สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ      ธมฺมํ    สรณํ คจฺฉามิ
ทุติยมฺปิ      สงฺฆํ    สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ      พุทฺธํ    สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ      ธมฺมํ    สรณํ คจฺฉามิ
ตติยมฺปิ      สงฺฆํ    สรณํ คจฺฉามิ

(แล้วว่า)
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก       เทวธมฺมาติ วุจฺจเร
อายนฺตุ โภนโต เทวสงฺฆาโย

ขออัญเชิญเทพยดาเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายฉันทะจากผู้ว่าราชการจังหวัด........ มายังสถานที่นี้ ขออนุญาตอัญเชิญน้ำในสถานอันศักดิ์สิทธิ์ นี้ เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายสวัสดิมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงขออนุญาตเทพยดาเจ้าผู้พิทักษ์รักษาประสิทธิประสาทแด่ข้าพเจ้า

อนุญฺญาตงฺ เม อุทกัง วรงฺ อิทงฺฯ
(น้ำอันประเสริฐศักดิ์สิทธิ์นี้ เทพยเจ้าประสิทธิประสาทแล้ว)

จากนั้น จึงตักน้ำบรรจุลงในขวดหรือภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ปริมาณพอสมควร แล้วห่อผ้าขาวนำไปพักไว้ ณ พระอุโบสถวัดสำคัญของจังหวัด เพื่อรวมไว้ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่อไป


พิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์

เมื่อนำน้ำที่ตักจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รวมไว้ ณ พระอุโบสถ หรือพระวิหาร แห่งหนึ่งแล้ว ให้ทุกจังหวัดประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันในวันธงชัย คือวันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยจัดเตรียมงานตามลำดับ ดังนี้

ตั้งแต่งสถานที่ประกอบพิธี จัดดอกไม้ ธูป เทียน และจัดอาสนสงฆ์ยกพื้นสำหรับพระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรหรือขันสาคร รวมน้ำที่พลีกรรมตักมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทุกแห่งเข้าด้วยกัน วางไว้ใกล้กับประธานสงฆ์ โยงสายสิญจน์จากพระพุทธปฏิมากร มาวงที่บาตรหรือขันสาคร แล้วให้พระสงฆ์ถือเพื่อเจริญพระพุทธมนต์ ที่ปากบาตรหรือขันสาครติดเทียนทำน้ำมนต์ ๑ เล่ม

ก่อนเวลาฤกษ์ ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย รับศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

ครั้นเวลาฤกษ์ พระสงฆ์เจริญคาถาเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประธานในพิธีจุดเทียนที่ติดไว้ที่ปากบาตรหรือขันสาครแล้วประเคนแด่ประธานสงฆ์หยดเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์


คาถาเสกน้ำ
มีบท สัจจปานวิธยานุรูปคาถา และ สุขาภิยาจนคาถา ด้วย
ฯลฯ

สัจจปานวิธยานุรูปคาถา
สจฺจํ เว อมตา วาจา       เอส ธมฺโม สนนฺตโต
สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฐิตา
สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ
ปญฺญาชีวีชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ
สทฺทหาโน อรหตํ     ธมฺมํ นิพฺพานปตฺตยา
สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ อปฺปมตฺโต วิจกฺขโณ
ปฎิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
สจฺเจน กิตฺตึ ปปฺโปติ ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ
ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมาสุทฺธสฺส ฆรเมสิโน
สจฺจํ ธมฺโม ธิติ จาโค ส เว เปจฺจ น โสจติ
อิงฺฆ อญฺเญปิ ปุจฺฉสฺสุ       ปุถู สมณพฺราหฺมเณ
ยทิ สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตฺยา ภิยฺโยธ วิชฺชตีติ

สุขาภิยาจนคาถา
ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ มงฺคลตฺถาย ภาสิตํ
ตสฺส ตสฺสานุภาเวน โหตุ ราชกุเล สุขํ
เย เย อารกฺขกา เทวาตตฺถ ตตฺถาธิวาสิโน
อิมินา ธมฺมทาเนน สพฺเพ อเมฺหหิ ปูชิตา
สทา ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุสุขิตา โหนฺตุ นิพฺภยา
อปฺปมตฺตา จ อเมฺหสุ สพฺเพ รกฺขนฺตุ โน สทา
ยญฺจ โน ภาสมาเนหิ กุสลํ ปสุตํ พหุํ
ตนฺโน เทวานุโมทนฺตุ จิรํ ติฏฺฐนฺตุ สาตตํ
เย วา ชลาพุชณฺฑชาสํเสทโชปปาติกา
อเวรา โหนฺตุ สพฺเพ เต อนีฆา นิรุปทฺทวา
ปสฺสนฺตุ อนวชฺชานิมา จ สาวชฺชมาคมา
จิรํ ติฏฺฐตุ โลกสฺมี สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ
ทสฺเสนฺตํ โสตวนฺตูนํ มคฺคํ สตฺตวิสุทฺธิยา
ยาว พุทฺโธติ นามมฺปิ โลกเชฏฺฐสฺส สตฺถุโน
สมฺมาเทสิตธมฺมสฺสปวตฺตติ มเหสิโน
ปสนฺนา โหนฺตุ สพฺเพปิ 1ปาณิโน พุทฺธสาสเน
สมฺมา ธารํ ปเวจฺฉนฺโต         กาเล เทโว ปวสฺสตุ
วุฑฺฒิภาวาย สตฺตานํ สมิทฺธํ เนตุ เมทนึ
มาตา ปิตา จ อตฺรชํ นิจฺจํ รกฺขนฺติ ปุตฺตกํ
เอวํ ธมฺเมน ราชาโน ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา


ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ ประธานในพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ประธานในพิธีกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา

จากนั้น ประธานในพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์บรรจุในพระเต้าโลหะขนาดกลาง ปิดฝาผนึกให้แน่นกันน้ำไหลซึม ห่อหุ้มด้วยผ้าขาว ประทับตราเป็นสำคัญแล้วส่งถึงกระทรวงมหาดไทยในวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ เพื่อรวมประกอบรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ต่อไป

แหล่งน้ำสำคัญที่จังหวัดต่างๆ พิจารณาคัดเลือกเพื่อนำเข้าเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐๓ แห่ง ส่วนใหญ่เป็นน้ำที่ได้จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพนับถือกันมาแต่โบราณกาล น้ำจากแหล่งน้ำที่มีชื่อเป็นมงคล และน้ำจากแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนั้น บางจังหวัดยังคงใช้แหล่งน้ำที่เคยใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ยกเว้นบางแหล่งน้ำที่มีสภาพตื้นเขินหรือสกปรกจนใช้การไม่ได้แล้ว ประวัติความเป็นมาของแหล่งน้ำสำคัญที่ประกอบพิธีกรรมตักน้ำ และสถานที่ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายสรงอภิเษกในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ มีรายละเอียดดังนี้


โปรดติดตามตอนต่อไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27881618547770_4_320x200_.jpg)
พระเต้าทักษิโณทก ศิลปะอยุธยา  ทำจากทองคำ ฝาปิดทำเป็นรูปพรหมพักตร์
ส่วนลำตัวตกแต่งด้วยลายเครือเถา พญานาคสามหัวและลายเทวดานั่งขัดสมาธิ
มือทั้งสองถืออาวุธอยู่ภายในกรอบรูปทรงรีปลายแหลม  พบในกรุวัดราชบูรณะ
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
(ภาพจาก เว็บไซต์ virtualmuseum.finearts.go.th)


หัวข้อ: Re: น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2562 16:12:12

ประวัติแหล่งน้ำสำคัญที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ
และสถานทีประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ


(http://www.sac.or.th/databases/thaiarts/uploads/artwork/19/gallery/large-57b13dfe10b97.jpg)
หอศาสตราคม หรือ หอพระปริตร  ในพระบรมมหาราชวัง

๑. กรุงเทพมหานคร

แหล่งน้ำสำคัญ น้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีกรรมตักน้ำและเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์  เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง ได้โปรดให้มีหอสวดทำน้ำมนต์พุทธปริตร โดยนิมนต์พระสงฆ์วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม เป็นผู้ทำพิธี ตามแบบอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยา  ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีเหตุหวาดระแวงเรื่องภูตผีปีศาจ และการไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นในพระราชวังบ่อยครั้ง ได้มีการจัดหาพระสงฆ์เกจิอาจารย์มาสวดทำพิธีปัดเป่า ทำน้ำมนต์ประพรมเป็นการขับไล่ แต่ก็หาเสื่อมคลายไม่ จึงโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายสำนักวัดตองปุ ๕ รูป มาทำพิธีสวดพระปริตรเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ๓ วัน ๓ คืน เหตุการณ์ต่างๆ จึงสงบลง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดทำน้ำมนต์พุทธปริตรขึ้นใหม่ เรียกว่า หอศาสตราคม เพื่อใช้สวดทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับถวายสรงและนิมนต์พระสงฆ์เข้าประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียร และได้เพิ่มเติมพิธีการจากเดิมนอกเหนือจากพระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกาย วัดชนะสงคราม ซึ่งทำพิธีในเวลาบ่าย คือ ให้มีพระพิธีธรรม ๔ รูป ซึ่งนิมนต์จากวัดหลวงทั้งเก้าวัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดระฆังโฆษิตาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดอนงคาราม และวัดราชสิทธิราม  มาสวดพระพุทธปริตรในเวลากลางคืนเป็นประจำทุกวัน  ปัจจุบันทำพิธีสวดน้ำพระพุทธมนต์เฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น  น้ำพระพุทธมนต์นี้ เจ้าพนักงานจะตักบรรจุพระเต้าห่อผ้าขาวประทับตรา เชิญไปทอดถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับสรงทุกวัน โดยถือเป็นราชประเพณี และปฏิบัติสืบมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายสรงอภิเษกในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบครั้งนี้ เป็นการต่างจากของจังหวัดอื่นๆ กล่าวคือ ในวันพุธที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เจ้าพนักงานพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ตักน้ำพระพุทธมนต์จากหม้อทะนน ซึ่งพระสงฆ์ทำพิธีสวดพระพุทธปริตรเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะแล้วนั้น เชิญไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเข้าพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรจัดส่งมา



(http://www.thailovetrip.com/admin/photo/400.jpg)
น้ำตกห้วยโต้  จังหวัดกระบี่

๒. จังหวัดกระบี่

แหล่งน้ำสำคัญ น้ำตกห้วยโต้

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ น้ำตกห้วยโต้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพนมเบญจา ท้องที่บ้านห้วยโต้ หมู่ที่ ๔ ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๕ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งของน้ำตกนี้เดิมเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน และมีสัตว์ป่าชุกชุม ชาวบ้านเรียกน้ำตกนี้ว่า คลองโตน ซึ่งหมายถึง ลำห้วยหรือลำคลองที่มีน้ำตก เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นและคณะได้เดินทางมาสำรวจคลองโตนเพื่อสำรวจกำลังน้ำในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เนื่องจากมีกำลังผลิตไม่เพียงพอการนี้จึงระงับไป  คณะสำรวจได้เรียกชื่อน้ำตกนี้ว่า  น้ำตกห้วยโต้ ตามชื่อหมู่บ้าน จึงใช้เรียกกันเป็นทางการแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นธารน้ำไหลลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ บางชั้นเป็นชั้นน้ำตกเล็กๆ บางชั้นเป็นน้ำตกที่ไหลมาจากหน้าผาสูงกว่า ๕๐ เมตร แต่ละชั้นมีวังน้ำ ซึ่งมีชื่อต่างๆ กัน บางวังน้ำเรียกตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณวังน้ำนั้น เช่น วังชก วังหวายแดง วังปรง บางวังน้ำเรียกตามคำเล่าขานกันต่อๆ มา เช่น วังสามหาบ ซึ่งเล่ากันว่ามีชาวบ้านไปหาปลาที่วังน้ำนี้และใช้รากของว่านสาวดำเป็นยาเบื่อปลาได้ถึง ๓ หาบ  วังเทวดา ซึ่งเล่ากันว่ามีคนพบงูขาวตัวใหญ่มีหงอน เชื่อว่าเป็นเทวดาที่รักษาป่าแห่งนี้ หรือเป็นวังน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาผู้คุ้มครองป่าแห่งนี้ ผู้ใดมาที่วังน้ำนี้แล้วแสดงกิริยาวาจาที่ไม่ให้ความเคารพมักจะเกิดอาเพศให้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่สบาย ต้องทำพิธีบูชาเทวดาเพื่อขอขมาโทษ เป็นต้น  น้ำตกห้วยโต้นี้ชาวจังหวัดกระบี่ถือว่าเป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดกระบี่


ประวัติสถานที่ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ บริเวณน้ำตกห้วยโต้แล้ว จังหวัดกระบี่ได้นำน้ำดังกล่าวไปประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ ถนนอิศรา หมู่ที่ ๑ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร  วัดแห่งนี้สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ โดยพระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง ) ครั้งดำรงตำแหน่งพระแก้วโกรพ เจ้าเมืองกระบี่ ร่วมกับข้าราชการและประชาชน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ คณะสงฆ์และทางราชการได้สร้างพระอุโบสถขึ้น และทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดแก้วโกรวาราม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓


หัวข้อ: Re: น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 เมษายน 2562 16:03:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25699208925167_P_20190419_154216_320x200_.jpg)
ปากแม่น้ำสามประสบ

๓. จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งน้ำสำคัญ ปากแม่น้ำสามประสบ

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ ปากแม่น้ำสามประสบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ปากน้ำสามสบ” ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๔ บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๒.๙ กิโลเมตร บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำเป็นที่ตั้งของเจดีย์โบราณ คือ เจดีย์สามประสบ และเจดีย์พุทธคยา (จำลอง) ปากแม่น้ำสามประสบเป็นที่รวมของแม่น้ำ ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำซองกาเรีย และแม่น้ำรันตี ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาตะนาวศรี มาบรรจบเป็นแม่น้ำสายใหม่ เรียกว่า แม่น้ำแควน้อย หรือแม่น้ำไทรโยค อันเป็นสายหนึ่งของแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำทั้งสามสายนี้ เคยใช้เป็นเส้นทางการเดินทัพของไทยและพม่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ และบริเวณปากแม่น้ำสามประสบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิ “ศึกท่าดินแดง-สามสบ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปัจจุบันบริเวณบ้านท่าดินแดงนั้นได้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่บ้านสามสบไว้เป็นหลักฐานและอนุสรณ์แห่งการสงครามในครั้งกระนั้น และแหล่งน้ำนี้ยังมีความสำคัญยิ่งต่อการอุปโภคบริโภคของชาวไทย ชาวมอญ และชาวพม่า ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
  
ประวัติสถานที่ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อประกอบพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวแล้ว จังหวัดกาญจนบุรีได้นำไปประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๗ ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี วัดนี้เป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งไทยทำสงครามกับพม่า และการสร้างเมืองกาญจนบุรี สันนิษฐานว่า พระยาประสิทธิสงคราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระยาตาแดง” หรือ “เจ้าเมืองตาแดง” เจ้าเมืองกาญจนบุรีเป็นผู้สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๘ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงปางตรัสรู้ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยทวารวดี นอกจากนั้นยังมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ครั้งโบราณอยู่ภายในบริเวณวัดด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑  



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78895403237806_P_20190419_155209_320x200_.jpg)
กุดน้ำลัดเหนือ

๔. จังหวัดกาฬสินธุ์

แหล่งน้ำสำคัญ กุดน้ำลัดเหนือ

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ
เป็นลำน้ำซึ่งแยกออกจากลำน้ำปาว อยู่ห่างจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑ กิโลกเมตร มีบริเวณกว้างประมาณ ๑๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๒.๙ กิโลเมตร มีรูปลักษณะเป็นรูปถ้วย

มีเกาะขนาดพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ อยู่ตรงกลาง ปากของกุดเชื่อมกับลำน้ำปาว มีตำนานเล่าว่า ท้าวโสมพะมิตรมีเรื่องขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร ผู้ครองนครเวียงจันทน์ จึงพาไพร่พลข้ามลำน้ำโขงมาขึ้นตรงดินแดนที่เป็นอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ต่อมาถูกรุกรานอีกจึงได้อพยพข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน จากนั้นท้าวโสมพะมิตรได้ส่งท้าวตรัย ทหารคู่ใจพร้อมด้วยไพร่พลออกเสาะหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ และได้พบลำน้ำปาวช่วงแก่งสำโรงทะลุไปถึงบริเวณกุดน้ำลัดเหนือและชายดงสงเปลือยมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือน ณ บริเวณนี้ ขณะนั้นตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ซึ่งได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ท้าวโสมพะมิตรเห็นเป็นโอกาสดีจึงนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๔ และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๓๖ ท้าวโสมพะมิตรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาชัยสุนทร” พร้อมกับพระราชทานนามเมืองว่า “เมืองกาฬสินธุ์” กุดน้ำลัดเหนือนี้เป็นแหล่งน้ำที่ชาวเมืองกาฬสินธุ์ใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรกรรม ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อประกอบพลีกรรมตักน้ำจากกุดน้ำลัดเหนือแล้ว จังหวัดกาฬสินธุ์ได้นำไปประกอบพิธีเสกน้ำทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ โดยอยู่กึ่งกลางตัวเมืองระหว่างวัดใต้โพธิ์ค้ำกับวัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ) วัดกลางสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๘ ในสมัยพระชัยสุนทร (ท้าวหล้า) เป็นเจ้าเมือง สิ่งสำคัญซึ่งประดิษฐาน ณ วัดนี้คือ พระพุทธมงคล ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธสัมฤทธิ์นิโรคันตราย พระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสร้างด้วยหินสมัยโบราณอายุประมาณพันปีเศษ และรูปพระกัจจายน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดกลางเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑



(http://www.topicza.com/static/109_1502857410.jpg)
ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ topicza.com

๕. จังหวัดกำแพงเพชร

แหล่งน้ำสำคัญ ๑. บึงสาป  ๒.แม่น้ำปิง 

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ

๑. บึงสาป เป็นบ่อน้ำพุร้อน ตั้งอยู่ที่บ้านลานหิน หมู่ที่ ๕ ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นที่ลุ่มน้ำขังมีป่าโปร่งล้อมรอบ สลับด้วยเนินเตี้ยๆ พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่น้อยสลับกันไป มีตำนานว่า ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ้านลานหิน จึงเสด็จประทับ ณ บริเวณนี้ วันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรไก่ป่าตัวผู้ตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงามและมีเสียงขันที่ไพเราะมาก จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จต่อไก่ป่าตัวนั้น และได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์ โดยมีไก่ป่าตัวอื่นๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก  ในวันนั้นพระองค์และนายพรานไม่สามารถล่าสัตว์อื่นได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่นๆ ไปปรุงอาหารสำหรับเสวย แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่าไม่มีบ้านเรือนราษฎร จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร พระองค์จึงได้สาปน้ำที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ๆ ให้เป็นน้ำร้อน ด้วยวาจาสิทธิ์ของสมเด็จพระร่วงเจ้า จึงทำให้น้ำในบึงร้อนจนสามารถลวกไก่เป็นอาหารได้ บึงดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “บึงพระร่วงสาป” ต่อมาภายหลังเรียกกันสั้นลงว่า “บึงสาป” และเป็นที่โจษขานกันว่าน้ำในบึงสาปนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคปวดตามร่างกายและโรคผิวหนังได้ จึงมีประชาชนในท้องที่และจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบ ดื่ม กิน และบางรายนำน้ำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล ปัจจุบันประชาชนได้นำรูปปั้นพระร่วงไปประดิษฐาน ณ บริเวณบึงสาป เพื่อสักการบูชา

ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ทางจังหวัดกำแพงเพชรได้เข้าไปพัฒนาบริเวณบึงสาป จึงพบว่ามีน้ำพุร้อนอยู่ ๓ จุด และในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำครั้งนี้จะใช้บริเวณน้ำพุร้อนดังกล่าว

๒. แม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำเส้นชีพสายสำคัญ ซึ่งไหลพาดผ่านกลางพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ผ่านอำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอคลองขลุง และอำเภอขาณุวรลักษบุรี จากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ไปรวมเป็นแควหนึ่งในสี่ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางการไหลของแม่น้ำปิงนี้แบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็นสองส่วนเกือบเท่าๆ กัน ทางด้านทิศตะวันตกมีเทือกเขาที่สูงชันสลับซับซ้อนเป็นต้นน้ำลำธาร และมีพื้นที่ราบเชิงเขาเอียงลาดมาทางทิศตะวันออก สู่ที่ราบฝั่งตะวันออกอันเป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูกซึ่งนับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญของภาคเหนือ ระบบชลประทานของจังหวัดกำแพงเพชรได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำปิงทั้งสิ้น ทางจังหวัดได้กำหนดจุดกลางร่องน้ำเหนือสะพานกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ เมตร ใกล้ฝั่งแม่น้ำด้านตัวเมืองกำแพงเพชร บริเวณหน้าที่ทำการโครงการพัฒนาริมแม่น้ำปิงเดิม เป็นสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำในครั้งนี้

ประวัติสถานที่ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อได้ประกอบพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำทั้งสองแล้ว จังหวัดกำแพงเพชรได้นำน้ำดังกล่าวไปประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงแห่งเดียวของจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ตั้งตัวเมืองกำแพงเพชร มีระยะห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ ๑ องค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยจะจัดขบวนแห่มากระทำพิธีสักการบูชาเป็นประจำทุกปีในฤดูเทศกาลเดือน ๓ ดังปรากฏในตอนหนึ่งของศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๔ ที่ว่า “ครั้นพอถึงวันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดละยาง เทียนย่อมทองงา ขวาชื่อรูจาศรี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ”  ฉะนั้น วัดพระบรมธาตุวิหารจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร  



หัวข้อ: Re: น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธี ตามโบราณราชประเพณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 เมษายน 2562 16:25:44

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42782862898376_23_320x200_.jpg)
๑ สระโบราณสมัยขอม       ๒ แม่น้ำพองหน้าวัดอุทุมพร
๓ สระน้ำบนภูหัน๔ แม่น้ำชีหน้าวัดท่าราชชัยศรี


๖. จังหวัดขอนแก่น

แหล่งน้ำสำคัญ ๑. สระโบราณสมัยขอม
. ๒. แม่น้ำพองตักจากหน้าวัดอุทุมพร
. ๓. สระน้ำบนภูหัน
. ๔. แม่น้ำชีตักจากหน้าวัดท่าราชชัยศรี


ประวัติสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ
๑. สระโบราณสมัยขอม ตั้งอยู่ที่หน้าปราสาทหิน วัดกู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อย หมู่ที่ ๑ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๑๖ กิโลเมตร  กู่ประภาชัยเป็นกู่ศิลาแลง ตามหลักฐานในศิลาจารึกภาษาขอมโบราณขุดพบที่กู่แก้ว ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น  กล่าวว่า สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พุทธศักราช ๑๗๒๐-๑๗๘๐) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม เพื่อใช้เป็นธรรมศาลา ที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลที่พระองค์สร้างขึ้นภายในราชอาณาจักร บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกู่ประภาชัย มีสระน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้นๆ มีลักษณะเป็นบ่อน้ำซับมีน้ำจืดสนิทตลอดปี พระสงฆ์ได้ใช้น้ำในสระนี้สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์เนื่องในวันออกพรรษาติดต่อกันมาหลายสิบปีจนปัจจุบัน

๒. แม่น้ำพองตักจากหน้าวัดอุทุมพร วัดอุทุมพรตั้งอยู่ที่ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีแม่น้ำพองไหลผ่านด้านหน้าวัด แม่น้ำพองนี้มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอกระนวน และอำเภอเมืองขอนแก่น ลงสู่แม่น้ำชี  แม่น้ำพองเป็นแม่น้ำเส้นชีพสำคัญของจังหวัดขอนแก่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีคุณประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม การประมงของจังหวัด ตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนอุบลรัตน์

๓. สระน้ำบนภูหัน  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลวังแสง อำเภอชนบท ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๑๘ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นสระหินแกรนิตขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ อยู่บนยอดภูหัน มีป่าไม้ล้อมรอบ เป็นที่เกิดของลำห้วยวังแสง และอีกหลายห้วยของอำเภอชนบทและอำเภอมัญจาคีรี ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำชี เป็นสถานที่วิเวกสงบมาแต่โบราณกาล พระสงฆ์สุปฏิปันโนสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลายรูป อาทิ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  พระอาจารย์สิงห์  พระอาจารย์กงมา  พระอาจารย์ผาง จิตฺตคุตฺโต เคยมานั่งปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ติดต่อกันมา ปัจจุบันบริเวณภูหันเป็นที่ตั้งของวัดภูหันบรรพต

๔. แม่น้ำชีตักจากหน้าวัดท่าราชชัยศรี วัดท่าราชชัยศรีตั้งอยู่ในเขตบ้านดอนบม หมู่ที่ ๗ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๗ กิโลเมตร แม่น้ำชีนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซี” ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูล ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  จากนั้นจึงไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำชีเป็นแม่น้ำเส้นชีพสายสำคัญของจังหวัดขอนแก่นมาแต่สมัยโบราณ มีคุณประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมและการประมงของจังหวัดเช่นเดียวกับแม่น้ำพอง


ประวัติสถานที่ประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำทั้งสี่แห่งแล้ว จังหวัดขอนแก่นได้นำน้ำไปประกอบพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดธาตุ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๗ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น วัดธาตุนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดธาตุเมืองเก่า หรือวัดธาตุนครเดิม  ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ท้าวเมืองแพนหรือพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้ครองอาณาจักรจำปาศักดิ์ ได้อพยพผู้คนจากบ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิ มาตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านบึงบอนให้ชื่อว่าเมืองขอนแก่น จากนั้นได้เริ่มสร้างวัดขึ้น ๔ วัดตามประเพณีโบราณ คือ วัดเหนือ วัดกลาง วัดใต้ และวัดแขก  สำหรับวัดเหนือนั้นเป็นวัดสำหรับเจ้าเมืองขอนแก่น ต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดธาตุ เนื่องจากมีพระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งนับว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ คณะกรรมการวัดเห็นว่า พระธาตุเจดีย์ซึ่งมีอยู่หลายองค์นั้นชำรุดทรุดโทรมพังทลายเกือบหมดสิ้น จนไม่สามารถสังเกตได้ว่าองค์ไหนเป็นพระธาตุเจดีย์เดิม จึงได้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบองค์เดิมไว้ทั้งหมด เพื่อรักษาศรัทธาปสาทะและความศักดิ์สิทธิ์ไว้ และให้ชื่อว่าเจดีย์พระธาตุนครเดิม ตามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งนับเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น.