[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 11 ตุลาคม 2562 16:28:10



หัวข้อ: หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 11 ตุลาคม 2562 16:28:10

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13270884959234_view_resizing_images_4_320x200.jpg)

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม
วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม (อ่านว่า ปะถะมะนามะ หรือ ปถมนาม) วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองนนท์ให้ความเลื่อมใสศรัทธาและรู้จักชื่อเสียงของท่านเป็นอย่างดี

เป็นพระเถราจารย์ร่วมสมัยกับพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย และหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เป็นต้น

เกิดในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีฉลู พ.ศ.2359 เป็นบุตรนายนาค นางจันทร์ โดยมีพี่น้องท้องเดียวกัน รวม 4 คน บ้านเกิดอยู่ที่ตำบลบานแหลมใหญ่ ฝั่งใต้ ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด ภายหลังอุปสมบท ประมาณ 1 เดือน ท่านย้ายจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี ซึ่งในขณะนั้น พระพิมลธรรมพร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งย้ายมาจากวัดราชบูรณะ พระนคร

สามเณรเอี่ยม ศึกษาพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบทอยู่ที่วัดนี้อยู่ได้ถึง 7 พรรษา ท่านจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาส

พ.ศ.2396 ญาติโยมพร้อมด้วยชาวบ้านภูมิลำเนาเดิมในคลองแหลมใหญ่ (ปัจจุบัน คือคลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อาราธนานิมนต์หลวงปู่เอี่ยมกลับไปปกครองวัดสว่างอารมณ์หรือวัดสะพานสูงในปัจจุบัน

สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์เดิม เป็นชื่อวัดสะพานสูง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสร็จไปตรวจการคณะสงฆ์ เสด็จขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองวัด (คลองพระอุดม) ชาวบ้านมักจะเรียกวัดสว่างอารมณ์นี้ ว่า วัดสะพานสูง จึงทำให้วัดนี้มีชื่อเรียกกัน 2 ชื่อ

ดังนั้น สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่า สะพานสูงนี้เป็นนิมิตดีประจำวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งชาวบ้าน นิยมเรียกกันติดปากว่าวัดสะพานสูง จึงประทานเปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์ เป็น "วัดสะพานสูง" จนตราบเท่าทุกวันนี้

ครั้นหลวงปู่เอี่ยม มาวัดสะพานสูงใหม่ๆ ที่วัดนี้มีพระประจำวันพรรษาอยู่เพียง 2 รูปเท่านั้น

ขณะที่หลวงปู่เอี่ยม ย้ายมาอยู่วัดสะพานสูง 8 เดือน ก่อนวันเข้าพรรษา หลวงพิบูลย์สมบัติ บ้านท่านอยู่ปากคลองบางลำพู พระนคร เดินทางมานมัสการหลวงปู่เอี่ยม

ท่านปรารภถึงความลำบาก ด้วยเรื่องการทำอุโบสถและสังฆกรรม เนื่องจากสถานที่เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก จึงอยากสร้างให้เป็นถาวรสถานแก่วัดให้เจริญรุ่งเรือง หลวง พิบูลยสมบัติ จึงบอกบุญเรี่ยไรหาเงิน เพื่อก่อสร้างโบสถ์ และถาวรสถาน

จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าหลวงปู่เอี่ยม เริ่มสร้างวัตถุมงคลพระปิดตาและตะกรุดเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถและถาวรสถาน

ต่อมาถึง พ.ศ.2431 สร้างศาลาการเปรียญ หลังจากนั้น หลวงปู่เอี่ยมสร้างพระเจดีย์ฐาน 3 ชั้นขึ้น ในปี พ.ศ.2439 ขณะที่หลวงปู่เอี่ยม อยู่วัดสะพานสูง ท่านธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร โดยมีลูกวัดติดตามไปด้วยเสมอ แต่ท่านจะให้ลูกวัดออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน 6-7 ชั่วโมง แล้วนัดพบที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

ในระหว่างที่หลวงปู่เอี่ยมออกท่องธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ มักจะเก็บพวกว่านและรากไม้ที่ทรงคุณค่า เพื่อใช้เป็นมวลสารเก็บสะสมไว้จำนวนมาก

มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า ในชุมชนพื้นที่ใกล้วัดสะพานสูง มีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตก พอตกกลางคืน มีใครเดินผ่าน ผีนางตะเคียนเจะออกมาหลอกหลอน จนจับไข้หัวโกร๋นไปตามกัน ต้องหามกันมาให้หลวงปู่เอี่ยมลดน้ำมนต์ ตอนแรกท่านยังวางเฉย แต่ตอนหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

หลวงปู่เอี่ยม เมื่อทำพิธีรดน้ำมนต์เสร็จ จึงเอ่ยปากว่า "อย่างนี้เห็นจะไม่ได้การ อย่างนี้คงอยู่ด้วยกันไม่ได้" ท่านจึงเดินไปที่ต้นตะเคียนนั้น นั่งภาวนาพระคาถา และเป่าไปที่ต้นตะเคียนนั้น ท่านทำอยู่นาน 3 วัน ต้นตะเคียนนั้นเฉาเหี่ยวแห้งตาย หลังจากนั้นไม่เคยปรากฏว่า มีผีนางตะเคียนมาหลอกหลอนคนอีกเลย

หลวงปู่เอี่ยม มีวิทยาคมเข้มขลัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ เป็นต้นแบบการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนคร มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ

มรณภาพอย่างสงบ ปีพ.ศ.2439 สิริอายุ 80 ปี พรรษา 59

ปัจจุบันรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริง ยังคงประดิษฐานหน้าอุโบสถ ซึ่งผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศแวะเวียนมากราบสักการะ ขอพรและบนบานอยู่มิได้ขาด นิยมนำกระทงใส่ดอกไม้เจ็ดสีมาถวายและแก้บนแทบทุกวัน โดยเฉพาะในวันพระ
ข่าวสดออนไลน์