[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 04 มีนาคม 2563 16:07:03



หัวข้อ: “อาพาธพินาศ”พระราชพิธีโบราณ ใช้บรรเทาทุกข์ใจประชาชนยามเกิดโรคระบา
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 มีนาคม 2563 16:07:03

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33667095502217_atanatiya_sutha_696x395_1_320x.jpg)
ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ
(ซ้าย) พระสงฆ์กำลังขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นัยว่าคงเตรียมขึ้นสวดอาฏานาฏิยปริตร
(บน) ตำหนักต่างๆ ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน จะเห็นนางในทำบุญตักบาตรพระสงฆ์
(ภาพจากหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา)



“อาพาธพินาศ”พระราชพิธีโบราณ ที่ในสมัย ร.2 ใช้บรรเทาทุกข์ใจประชาชนยามเกิดโรคระบาด

ชื่อว่า “โรคระบาด” เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีผู้ป่วยจำนวน แพร่กระจายในหลายพื้นที่ เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สูง ในการบันทึกความเสียหายในที่เกิดจากโรคระบาดนั้น พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ที่เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เกี่ยวกับการระบาดของอหิวาตกโรคทำให้ “เห็นภาพ” ความรุนแรงของโรคระบาดได้ดีมากสถิติตัวเลขในปัจจุบันนัก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้ดังนี้

“ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำเดือน 7 ไปถึงวันเพ็ญคนตายทั้งชายหญิง ศพที่ป่าช้าแลศาลาดินในวัดสะเกษ วัดบางลำพู [วัดสังเวชวิศยาราม] วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก แลที่ลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพะรสงฆ์ก็หนีออกจ่กวัด คฤหัสน์ก็หนีออกจาบ้าน น่าอเนจอนาถนัก ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้งกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้…”

ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้จัด “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ขึ้น ซึ่งตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 บันทึกไว้ว่า

“วันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้น 11 ค่ำ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนยันรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกตแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตทั้งทางบกทางเรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีล ทั้งพระราชวงศนุวงศ์ที่มีกรมหากรมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่านใน ก็โปรดสั่งมิให้เฝ้า ให้งดกิจราชการสียมิให้ว่ามิให้ทำ ให้ตั้งใจทำบุญสมดสนต์ให้ทาน

บรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำซองรักษาพระราชวังชั้นในและชั้นนอก ก็ให้เลิกปล่อยไปบ้านเรือน โดนทรงพระเมตตาว่า ประเพณีสัตว์ทั่วกัน ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกัน จะได้ไปรักษาพยาบาล…คนโทษที่ต้องเวรจำอยู่นั้นก็ปล่อยสิ้น เว้นแต่พม่าข้าศึก บรรดาประชาราษฎร์ทั้งปวง มีรับสั่งห้ามมิให้ไปเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต…”

พระราชพิธีอาพาธพินาศยังมีกล่าวใน “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  ได้กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีอาพาธพินาศในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจำนวนมากอย่าง ไข้ทรพิษ หรืออหิวาตกโรคว่า

“เมื่อจะคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่าเกิดขึ้น ด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ใยเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกามาแต่ก่อน ยาที่จะกินนั้นเล่าก็ต้องเปนยาเดาขึ้นใหม่ทั้งสิ้น กินยาก็ต้องเปนการลองไปในตัว คนจึงได้ตายมาก จนลงเห็นกันว่าเปนไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ ความคิดที่เชื่อพระผู้สร้างโลก เชื่อผีผู้ดีคือเทวดา เชื่อผีพี่คือปิศาจ ก็เข้าครอบงำความคิดคนทั้งปวงในเวลานั้นตามแต่ใครจะถนัดทางใด”

“อาพาธพินาศ” ซึ่งพระราชพิธีที่เคยมีมาแต่โบราณ และคนส่วนใหญ่เชื่อถือ อาจไม่มีผลทางการแพทย์ แต่ก็จึงช่วยระงับความกังวลใจให้แก่ประชาชนในยามทุกข์ได้บ้าง

พระราชพิธีสิบสองเดือน ยังอธิบายถึง “อาฏานาฏิยสูตร” ที่ใช้ในพระราชพิธีอาพาธพินาศว่า

“เมื่อภัยเกิดขึ้นเช่นนี้..ก็ไม่มีอะไรเหมาะยิ่งกว่าอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวมาว่าสำหรับปราบปรามพวกภูตปิศาจไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ จึ่งได้คิดตั้งพระราชพิธีให้มีการสวดอาฏานาฏิยปริต แต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ ให้เปนการที่เย็นใจของชนทั้งปวงซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา

แต่การพระราชพิธีนั้นเปนการคาดคเนทำขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภันเช่นนี้ จึ่งได้คิดขับไล่ผีเปนการผิดอิกขั้นหนึ่งด้วย เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศ แลความประพฤติที่อยู่กินของมนุษย์ ซึ่งเปนสิ่งที่ไม่มีวิญญาจะขับไล่ได้…”

การพระราชพิธีอาพาธพินาศพอจะสรุปได้ดังนี้  การเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งที่พระมณฑลพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในวันแรม 15 ค่ำ เวลาเช้า มีสรงพระมรุธาภิเศกที่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วแบ่งพระสงฆ์เป็นกลุ่ม มีกระบวนแห่พระพุทธรูปในฝั่งตะวันออก 3 กระบวนด้วยกัน คือ กระบวนพระแก้ว, กระบวนพระไชย, กระบวนพระห้ามสมุท ข้ามไปฝั่งตะวันตก ให้กรมพระราชวังหลังเป็นผู้จัดกระบวน แต่ละกระบวนมีแห่คล้ายๆ และพระราชาคณะประน้ำมนต์โปรยทราย รวมทั้งกระบวนใช้คน 1,143 คน, พระสงฆ์ 64 รูป

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกถึงคำบอกเล่าในการพระราชพิธีทีทำนี้ว่า “มีเรื่องราวอันเปนที่พฤกพึงกลัวเปนอันมาก เปนต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่แลหามพระพุมทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก แลตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น…คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได่ ผีมีกำลังกล้ากว่า  ตั้งแต่ทำพิธีอาพาธพนินาศในปีมะโรงโทศกนั้น ไม่ระงับโรคประจุบันได้ ก็เปนอันเลิกกันไม่ได้ทำอิกต่อไป”


ข้อมูลจาก
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 , คุรุสภา 2504
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 ทรงพระกรุณาโปดรเกล้าฯ ให้พิมพ์เปนของพระราชทานในงานพระศพ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ ปีวอก พ.ศ. 2463


ที่มา ศิลปวัฒนธรรม