[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 มีนาคม 2564 19:31:58



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๖ มหาสีลวชาดก : สีลวกุมารผู้มีความเพียร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มีนาคม 2564 19:31:58

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๔๖ มหาสีลวชาดก
สีลวกุมารผู้มีความเพียร

          ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระมเหสีในพระเจ้าพรหมทัต ในวันเฉลิมพระนาม พระประยูรญาติทั้งหลายได้ทรงขนานนามว่า สีลวกุมาร พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ก็ทรงศึกษาศิลปะสำเร็จเสร็จทุกอย่าง ภายหลังพระราชบิดาสวรรคตก็ดำรงราชย์ได้รับเฉลิมพระนามว่า มหาสีลวราช ทรงประพฤติธรรม ทรงเป็นพระธรรมราชา พระองค์รับสั่งให้สร้างโรงทานไว้ ๖ โรง คือ ๔ โรงที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน ๑ โรงท่ามกลางพระนคร ๑ โรงที่ประตูพระราชวัง ทรงให้ทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทาง ทรงรักษาศีล ถืออุโบสถ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระขันติ พระเมตตาและพระกรุณา ทรงให้สรรพสัตว์แช่มชื่น ประดุจยังพระโอรสผู้ประทับนั่งเหนือพระเพลาให้แช่มชื่นฉะนั้น ทรงครองราชย์โดยธรรม
          มีอำมาตย์ของพระราชาผู้หนึ่งละลาบละล้วงเข้าไปในเขตพระราชฐาน ภายหลังความปรากฏขึ้น อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ทรงคอยจับ ก็ทรงทราบโดยประจักษ์ด้วยพระองค์เอง จึงรับสั่งให้อำมาตย์ผู้นั้นเข้ามาเฝ้าแล้วตรัสขับไล่ว่า “แน่ะคนอันธพาล เจ้าทำกรรมไม่สมควรเลย ไม่ควรอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงขนเงินทองและพาลูกเมียของตัวไปที่อื่น”
          อำมาตย์ผู้นั้นไปพ้นแคว้นกาสี ถึงแคว้นโกศล เข้ารัชราชการในพระเจ้าโกศล ได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสนิทของพระราชาโดยลำดับ
          วันหนึ่ง อำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลพระเจ้าโกศลว่า
          “ขอเดชะ อันราชสมบัติในกรุงพาราณสี เปรียบเหมือนรวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง พระราชาก็อ่อนแอ อาจยึดเอาได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น”
          พระราชาทรงสดับคำของเขาแล้ว ทรงพระดำริว่า “ราชสมบัติในกรุงพาราณสีใหญ่โต”
          อำมาตย์กล่าวว่า “อาจยึดได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น”
          อำมาตย์ผู้นี้ถ้าจะเป็นคนสอดแนมหรืออย่างไรน่าสงสัยนัก แล้วมีพระดำรัสว่า “ถ้าเจ้าจะเป็นคนสอดแนมละซี”
          อำมาตย์กราบทูลว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้ามิใช่เป็นคนสอดแนม ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเป็นความจริงทั้งนั้น แม้นพระองค์จะไม่ทรงเชื่อข้าพระพุทธเจ้า ก็โปรดส่งคนไปปล้นหมู่บ้านชายแดนดูเถิด พระเจ้าพาราณสีจับคนเหล่านั้นได้ ก็จักพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อย”
          พระเจ้าโกศลทรงพระดำริว่า “อำมาตย์ผู้นี้พูดจาองอาจยิ่งนัก เราจักทดลองดูให้รู้แน่นอน” แล้วก็ทรงส่งคนของพระองค์ไปให้ปล้นหมู่บ้านชายแดนของพระเจ้าพาราณสี  ราชบุรุษจับโจรเหล่านั้นได้ คุมตัวไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรคนเหล่านั้นแล้วรับสั่งถามว่า “พ่อเอ๋ย เหตุไรจึงพากันปล้นชาวบ้าน”
          พวกคนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่มีจะกินจึงปล้น”
          พระราชารับสั่งว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรจึงไม่พากันมาหาเราเล่า ต่อแต่นี้ไปเบื้องหน้าพวกเจ้าอย่ากระทำเช่นนี้เลยนะ” พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วปล่อยตัวไป
          คนเหล่านั้นพากันไปกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดแด่พระเจ้าโกศล แม้จะทรงทราบเรื่องถึงขนาดนี้ พระเจ้าโกศลก็มิอาจจะทรงยกกองทัพไป ทรงส่งคนไปให้วิ่งราวทรัพย์ในท้องถนนอีก แม้พระเจ้าพาราณสีทรงทราบก็คงยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อยตัวไปอยู่นั่นเอง
          บัดนี้พระเจ้าโกศลทรงทราบว่า พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดีเกินที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบ พระองค์ทรงยกพลพาหนะเสด็จออกไปด้วยหมายพระทัยว่าจักยึดราชสมบัติเมืองพาราณสี
          ในครั้งนั้นพระเจ้าพาราณสีมีนักรบผู้ยิ่งใหญ่อยู่ประมาณพันนาย ล้วนแต่กล้าหาญอย่างเยี่ยม ใครๆ ไม่อาจทำลายได้เลย แม้ถึงช้างที่ตกมันจะวิ่งมาตรงหน้า ทุกนายก็สู้ไม่ถอย ถึงแม้สายฟ้าจะฟาดลงมาที่ศีรษะ ทุกนายก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัว ล้วนแต่มีความสามารถที่จะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวายได้
          ในเมื่อพระเจ้าสีลวมหาราชทรงพอพระราชหฤทัย นับรบเหล่านั้นฟังข่าวว่า พระเจ้าโกศลยกทัพมาพากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า “ขอเดชะ ข่าวว่าพระเจ้าโกศลหมายพระทัยว่า จะยึดครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี ยกกองทัพมา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกไปจับองค์โกศลราชเฆี่ยนเสีย มิให้รุกล้ำล่วงรัฐสีมาของข้าพระพุทธเจ้าได้ทีเดียว”
          พระเจ้าพาราณสีทรงห้ามว่า “พ่อทั้งหลาย ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นลำบากเพราะฉันเลย เมื่อพระเจ้าโกศลยากได้ราชสมบัติก็เชิญมายึดครองเถิด พวกท่านทั้งหลายอย่าไปต่อสู้เลย”
          พระเจ้าโกศลกรีฑาพลล่วงรัฐสีมาเข้ามายังชนบทชั้นกลางพวกอำมาตย์สูรมหาโยธา ก็พากันเข้าเฝ้าพระราชา พร้อมกับกราบทูลเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง พระราชาก็ทรงห้ามไว้เหมือนครั้งแรก
          พระเจ้าโกศลยกพลมาตั้งประชิดภายนอกพระนครทีเดียว พลางส่งพระราชสาส์นมาถึงพระเจ้าสีลวมหาราชว่า “จอยอมยกราชสมบัติให้หรือจักรบ”
          พระเจ้าสีลวมหาราช ส่งพระราชสาส์นตอบไปว่า “เราไม่รบกับท่าน เชิญยึดครองราชสมบัติเถิด”
          พวกอำมาตย์พร้อมกันเข้าเฝ้าพระราชาอีกครั้งหนึ่ง กราบทูลว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยอมให้พระเจ้าโกศลเข้าเมืองได้ จะพร้อมกันจับเฆี่ยนเสียที่นอกพระนครนั่นแหละ”
          พระราชาก็ทรงตรัสห้ามเสียเหมือนครั้งก่อน มีพระกระแสรับสั่งให้เปิดประตูเมืองทุกด้านแล้ว ก็ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในท้องพระโรง พร้อมด้วยอำมาตย์พันนาย พระเจ้าโกศลเสด็จเข้าสู่กรุงพาราณสี พร้อมด้วยพลและพาหนะมากมาย มิได้ทอดพระเนตรเห็นผู้ที่จะเป็นศัตรูตอบโต้แม้สักคนเดียว ก็เสด็จสู่ประตูพระราชวัง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรงอันประดับตกแต่งแล้ว ในพระราชวังอันมีประตูเปิดไว้แล้ว มีพระกระแสรับสั่งให้จับพระเจ้าสีลวมหาราชผู้ปราศจากความผิด ซึ่งประทับนั่งอยู่นั้นพร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพัน พลางตรัสว่า
          พวกเจ้าจงไปมัดพระราชานี้กับพวกอำมาตย์ เอามือไพล่หลังมัดให้แน่น แล้วนำไปสู่ป่าช้าผีดิบ ขุดหลุมให้ลึกเพียงคอ เอาคนเหล่านี้ฝังลงไปแค่คอ กลับเสียไม่ให้ยกมือขึ้นได้สักคนเดียว ในเวลากลางคืนพวกหมาจิ้งจอกมันพากันมาแล้วจักช่วยกันกระทำกิจที่ควรทำแก่คนเหล่านี้เอง”
          พวกนักรบทั้งหลายฟังคำอาญาสิทธิ์ของโจรราชแล้ว ก็ช่วยกันมัดพระราชาและหมู่อำมาตย์ไพล่หลังอย่างแน่นหนา พาออกไป
          แม้ในกาลนั้น พระเจ้าสีลวมหาราชก็มิได้ทรงอาฆาตแก่โจรราชแม้แต่น้อย ถึงบรรดาอำมาตย์แม้เหล่านั้นที่ถูกจับมัดจูงไปทำนองเดียวกัน ก็มิได้มีสักคนเดียวที่จะชื่อว่าบังอาจทำลายพระดำรัสของเจ้านายตน ได้ยินว่าบริวารของพระเจ้าสีลวมหาราชนั้นมีวินัยดีอย่างนี้
          ครั้งนั้น ราชบุรุษของโจรราชพวกนั้น ครั้งพาพระเจ้าสีลวมหาราชพร้อมด้วยอำมาตย์ไปถึงป่าช้าผีดิบแล้ว ก็ช่วยกันขุดหลุมสองข้าง เอาดินร่วนๆ ใส่จนแน่น แล้วพากันมา พระเจ้าสีลวมหาราชตรัสเรียกพวกอำมาตย์ พระราชทานโอวาทว่า “พ่อคุณเอ๋ย พวกเจ้าทุกคนจงเจริญเมตตาอย่างเดียว อย่าทำความขุ่นเคืองในโจรราช”
          ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน ฝูงหมาจิ้งจอกต่างก็คิดมุ่งจะกัดกินเนื้อมนุษย์ พากันวิ่งมา พระราชาและหมู่อำมาตย์เห็นฝูงหมาจิ้งจอกนั้นแล้วก็เปล่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันทีเดียว  ฝูงหมาจิ้งจอกต่างกลัว พากันหนีไป ครั้งมันเหลียวกลับมาดูไม่เห็นมีใครตามหลังมา ก็พากันกลับมาใหม่ พระราชาและหมู่อำมาตย์ก็ตะเพิดมันด้วยวิธีนั้น พวกมันพากันหนีไปถึง ๓ ครั้ง
          สุนัขจิ้งจอกหันมาดูอีก รู้อาการของคนเหล่านั้นแม้แต่คนเดียวก็ตามมาไม่ได้ จึงพอสันนิษฐานว่าคนเหล่านี้จักต้องถูกฆ่าแล้ว จึงกล้าย้อนกลับไปหาคนเหล่านั้น ถ้าทำเสียงเอะอะอีก ก็ไม่หนีไป จิ้งจอกตัวจ่าฝูงเร่เข้าหาพระราชา ตัวที่เหลือก็พากันไปใกล้พวกอำมาตย์ พระราชาทรงฉลาดในอุบาย ทรงทราบอาการที่หมาจิ้งจอกนั้นมาใกล้พระองค์ ก็ทรงเงยพระศอขึ้น เหมือนกับให้ช่องที่มันจะกัดได้ พอมันจะงับพระศอ ก็ทรงกดไว้ด้วยพระหนุอย่างแน่นหนาประดุจทับไว้ด้วยหีบยนต์ หมาจิ้งจอกถูกพระราชาผู้ทรงพระกำลังดุจช้างสารกดที่คอด้วยพระหนุ (ขากรรไกร) อย่างแน่นหนา ไม่สามารถจะดิ้นหลุดได้ ก็กลัวตาย จึงร้องดังโหยหวน ฝูงหมาจิ้งจอกบริวารได้ยินเสียงนายของตนแล้ว พากันคิดว่าชะรอยจิ้งจอกผู้เป็นนายจักถูกชายผู้นั้นจับไว้ได้ จึงไม่อาจเข้าใกล้หมู่อำมาตย์ ต่างก็กลัวตายพากันหนีไปหมด เมื่อหมาจิ้งจอกถูกพระราชากดไว้แน่นหนาด้วยพระหนุ เหมือนกับไว้ด้วยหีบยนต์ ดิ้นรนไปมาทำให้ดินร่วนที่ทุบไว้แน่นๆ หลวมตัวได้ ทั้งมันเองก็กลัวตาย จึงเอาเท้าทั้ง ๔ ตะกุยดินที่กลบพระราชาไว้ พระองค์ทรงทราบอาการที่ดินหลวมตัวแล้วก็ทรงปล่อยหมาจิ้งจอกไป พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยกำลังกายดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยกำลังใจ โคลงพระองค์ไปมา ก็ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นมาได้ ทรงเหนี่ยวปากหลุมถอนพระองค์ขึ้นได้ เหมือนเมฆต้องกระจายด้วยแรงลมฉะนั้น ดำรงพระองค์ได้แล้ว ก็ทรงปลอบหมู่อำมาตย์ ทรงคุ้ยดินช่วยให้ขึ้นจากหลุมได้ทั่วกัน พระองค์มีหมู่อำมาตย์แวดล้อมประทับอยู่ในป่าช้าผีดิบนั่น
          สมัยนั้น พวกมนุษย์เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ แต่ทิ้งตรงที่คาบเกี่ยว แดนยักษ์ ๒ ตน ยักษ์ทั้ง ๒ ตนนั้นไม่อาจแบ่งมนุษย์ที่ตายแล้วนั้นได้ เกิดวิวาทกันแล้วพูดกันว่า “เราทั้งสองไม่สามารถแบ่งกันได้ พระเจ้าสีลวมหาราชพระองค์นี้เป็นผู้ทรงธรรม พระองค์นี้จักทรงแบ่งพระราชทานแก่เราได้ พวกเราจงไปสู่สำนักของพระองค์ แล้วก็จับมนุษย์ผู้ตายแล้วนั้นที่เท้าคนละข้าง ลากไปถึงสำนักของพระราชา แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพขอพระองค์จงทรงแบ่งร่างมนุษย์ผู้ตายนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งสองถ้วยเถิด”
          พระเจ้าสีลวมหาราชรับสั่งว่า “ยักษ์ผู้เจริญ เราจะช่วยแบ่งร่างมนุษย์นี้ให้ท่านทั้งสอง แต่เรายังมีร่างกายไม่สะอาด ต้องอาบน้ำก่อน”
          ยักษ์ทั้งสองก็ไปเอาน้ำที่อบไว้สำหรับโจรราชมาด้วยอานุภาพของตน ถวายให้พระเจ้าสีลวมหาราชสรงแล้วไปเอาผ้าสาฎกของโจรราชที่พับเก็บไว้เป็นผ้าทรงของท้าวเธอ มาถวายให้สรง แล้วไปเอาผอบพระสุคนธ์อันปรุงด้วยคนธชาต ๔ ชนิด มาถวายให้ทรงชโลมองค์ แล้วไปเอาดอกไม้ต่างๆ ที่เก็บไว้ในผอบทองและผอบแก้วมาถวายให้ทรงประดับ ครั้งพระเจ้าสีลวมหาราชทรงประดับดอกไม้แล้วประทับยืน ยักษ์ทั้งสองก็กราบทูลถามว่า “ข้าพระองค์ต้องทำอะไรอีกพระเจ้าข้า”
          พระเจ้าสีลวมหาราชทรงแสดงพระอาการว่า พระองค์หิว ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำโภชนาหารที่เลิศรสนานาชนิดที่เขาจัดเตรียมไว้สำหรับโจรราชมาถวาย
          พระเจ้าสีลวมหาราชทรงสนานพระกาย แต่งพระองค์ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็เสวยพระกระยาหาร ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำน้ำดื่มที่อบแล้ว กับพระเต้าทองพร้อมทั้งขันทองที่เขาจัดไว้สำหรับโจรราช มาถวายให้ทรงดื่ม  ครั้นทรงดื่มบ้วนพระโอษฐ์และชำระพระหัตถ์แล้ว ก็พากันไปนำพระศรี (ใบพลู) อันปรุงด้วยคันธชาต ๕ ประการที่จัดไว้สำหรับโจรราชมาถวายให้ทรงเคี้ยว เสร็จแล้วก็ทูลถามว่า “จะให้ข้าพระองค์ทั้งสองกระทำอะไรอีกพระเจ้าข้า”
          รับสั่งว่า “จงไปนำพระขรรค์อันเป็นมงคลที่เก็บไว้บนหัวนอนของโจรราชมา ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำมาถวายพระเจ้าสีลวมหาราช ทรงรับพระขรรค์ ทรงตั้งซากศพนั้นให้ตรง ทรงฟันกลางกระหม่อม ผ่าแบ่งเป็นสองซีก พระราชทานแก่ยักษ์ทั้งสองคนเท่าๆ กัน ครั้นแล้วทรงชำระพระขรรค์เหน็บไว้ที่พระองค์
          ฝ่ายยักษ์ทั้งสองกินเนื้อมนุษย์แล้วก็อิ่มเอิบดีใจ พากันทูลถามว่า “ข้าพระองค์ทั้งสองต้องทำอะไรถวายอีก”
          พระเจ้าสีลวมหาราช ทรงรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้นเจ้าทั้งสองจงแสดงอานุภาพพาเราไปไว้ในห้องสิริไสยาศน์ของโจรราช แลพาหมู่อำมาตย์เหล่านี้ไปไว้ที่เรือนของตนๆ เถิด”
          ยักษ์ทั้งสองรับกระแสพระดำรัส แล้วพากันปฏิบัติตามนั้น
          ครั้งนั้นโจรราชบรรทมหลับเหนือพระแท่นสิริไสยาศน์ในห้องอันทรงสิริงดงาม พระเจ้าสีลวมหาราชก็ทรงเอาแผ่นพระขรรค์ประหารพระอุทร (ท้อง) โจรราช ผู้กำลังหลับอย่างลืมตัว ท้าวเธอตกใจตื่นบรรทม ทรงจำพระเจ้าสีลวมหาราชได้ด้วยแสงประทีป เสด็จลุกจากพระยี่ภู่ (ที่นอน) ดำรงพระสติมั่น ตรัสกับพระเจ้าสีลวมหาราชว่า “มหาราชะ ยามราตรีเช่นนี้ ในวังปิดประตูมีผู้รักษากวดขันทุกแห่ง ไม่มีว่างเว้นจากเวรยาม พระองค์เสด็จมาถึงที่นอนนี้ได้อย่างไรกัน”
          พระเจ้าสีลวมหาราชเล่าถึงการเสด็จมาของพระองค์ให้ฟังทั้งหมดโดยพิสดาร โจรราชสดับเรื่องนั้นแล้วสลดพระทัยนัก ตรัสว่า “มหาราชะ ถึงหม่อมฉันจะเป็นมนุษย์ ก็มิได้ซาบซึ้งพระคุณสมบัติของพระองค์เลย แต่พวกยักษ์อันกินเลือดเนื้อของคนอื่น หยาบคายร้ายกาจ ยังรู้ถึงพระคุณสมบัติของพระองค์ ข้าแต่พระจอมคน คราวนี้หม่อมฉันจะไม่คิดประทุษร้ายในพระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเช่นนี้อีก พลางทรงจับพระขรรค์ทำการสบถ กราบทูลขอขมากับพระเจ้าสีลวมหาราช เชิญให้เสด็จบรรทมเหนือพระยี่ภู่ใหญ่ พระองค์เองบรรทมเหนือพระแท่นน้อย
          ครั้นสว่างดวงอาทิตย์อุทัยแล้วก็ให้คนนำกลองไปเที่ยวตีประกาศ ให้บรรดาเสนาทุกหมู่เหล่า และอำมาตย์ พราหมณ์ คฤหบดี ประชุมกัน ตรัสสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าสีลวะ เปรียบเหมือนทรงชูดวงจันทร์เพ็ญในอากาศขึ้นข้างหน้าของคนเหล่านั้น ทรงขอขมาพระเจ้าสีลวะท่ามกลางมหาชนนั้นอีกครั้งหนึ่ง ทรงเวนคืนราชสมบัติ ตรัสว่า “ตั้งแต่บัดนี้ไป อุปัทวันตรายที่เกิดแต่โจรผู้ร้ายอันจะบังเกิดแก่พระองค์ หม่อมฉันของรับภาระกำจัด ขอพระองค์ทรงเสวยราชย์โดยมีหม่อมฉันเป็นผู้อารักขาเถิด” แล้วทรงลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ส่อเสียด รวบรวมพลพาหนะเสด็จไปสู่แว่นแคว้นของพระองค์
          ฝ่ายพระเจ้าสีลวมหาราชทรงประดับด้วยราชอลังการประทับนั่งเหนือกาญจนบัลลังก์ มีเท้ารองด้วยหนังชะมด ภายใต้พระเศวตฉัตร ทอดพระเนตรดูราชสมบัติของพระองค์ ทรงพระดำริว่า “สมบัติอันโอฬารปานนี้ และการกลับได้คืนชีวิตของอำมาตย์ทั้งพันคน แม้นเราไม่กระทำความเพียรจักไม่มีเลยสักอย่างเดียว แต่ด้วยกำลังของความเพียร เราจึงได้คืนยศนี้ซึ่งเสื่อมไปแล้ว และได้ให้ชีวิตทานแก่อำมาตย์หนึ่งพัน บุคคลไม่ควรสิ้นหวังเสียเลย ควรกระทำความเพียรอย่างเดียว เพราะผู้ที่กระทำความเพียรแล้ว ย่อมสำเร็จผลอย่างนี้”
          แล้วตรัสคาถานี้ว่า “บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงหวังอยู่ร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราประจักษ์ด้วยตนเองว่าปรารถนาอย่างใดก็ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว”
ครั้นตรัสถาคานั้นแล้วก็ตรัสต่อไปว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาผลแห่งความเพียรของท่านย่อมสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ” ดังนี้ ทรงเปล่งอุทานด้วยคาถานี้ ทรงกระทำบุญทั้งหลายตลอดพระชนม์ แล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม ด้วยประการฉะนี้
 
 
ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนทำดี ย่อมได้สิ่งที่ดีตอบแทนกลับมาเสมอ”
“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”


พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
เป็นคนควรพยายามเรื่อยไป จนกว่าผลที่หมายจะสำเร็จ (๑๕/๘๙๑)