หัวข้อ: ประวัติความเป็นมาของการรำกลองยาว เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 กรกฎาคม 2564 20:07:07 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/92820058556066__MG_9792_Copy_.JPG) การแสดงรำกลองยาว นับวันจะหาชมได้ยาก ภาพโดย Mckaforce ประวัติความเป็นมาของการรำกลองยาว รำกลองยาว เป็นการแสดงที่ประยุกต์มาจากการเล่น “เทิ้งบ้องกลองยาว” ของชาวบ้านโดยนำเอาจังหวะต่างๆ ของกลองยาวมาเรียบเรียงใหม่ และประดิษฐ์ท่ารำประกอบจังหวะให้เป็นมาตรฐานและดัดแปลงเครื่องแต่งกายจากชาวบ้านธรรมดาให้มีความประณีตมากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มเครื่องประดับตกแต่งให้มีสีสันสวยงามยิ่งขึ้นอีกด้วย การแสดงชุดเถิดเทิงนี้มีประวัติความเป็นมา คือ ในสมัยนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้มีการอนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ติดต่อมายังกรมศิลปากรให้นำดนตรีและนาฏศิลป์ไทยไปแสดง ดังนั้นกรมศิลปากรจึงได้ปรับปรุงลักษณะการแสดงนาฏศิลป์ไทยมาตรฐานแบบเก่าที่มีรูปแบบประณีตงดงาม และค่อนข้างจะเชื่องช้า จึงปรับปรุงให้มีความรวดเร็ว คล่องตัว สนุกสนาน เร้าใจผู้ชม โดยจัดชุดเถิดเทิง ซัดชาตรี ไตรภาคี ตรีลีลา โขนชุด “หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา” และการแสดงกระบี่ กระบอง ด้วยเหตุนี้ จากเดิมที่กลองยาวเป็นการละเล่นของชาวบ้านที่มีรูปแบบการละเล่นเป็นอิสระเฉพาะตัว กรมศิลปากรจึงได้คิดประดิษฐ์ท่ารำและจังหวะการตีกลองยาวขึ้นใหม่ เช่น การรำของผู้ชายให้มีการกระโดดใช้เข่ากระทุ้งหน้ากลอง ส่วนนางรำจะใช้ศอกลงถองหน้ากลอง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นท่ารำที่แปลกใหม่และสวยงามจนเป็นบรรทัดฐานของการละเล่นจนถึงปัจจุบัน กลองยาว เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของชนชาติไทย การเล่นกลองยาวไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาก่อน ได้แต่กล่าวกันต่อๆ มาว่าเป็นกลองที่ได้รับแบบอย่างมาจากพม่าในสมัยธนบุรี หรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ไทยกับพม่าทำสงครามกัน โดยในระหว่างพักรบ ทหารพม่าจะนำกลองยาวมาเล่นกันด้วยความรื่นเริง คนไทยในสมัยนั้นได้เห็นการละเล่นกลองยาวดังกล่าว จึงได้จดจำแบบอย่างมาเล่นบ้าง บางท่านกล่าวว่ากลองยาวของพม่านี้มีชาวพม่าพวกหนึ่งเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงในงานเทศกาลตรุษสงกรานต์และงานรื่นเริงทั่วไป แต่เดิมใช้ผู้แสดง ๑๖ คน แต่ถ้ามีการต่อกลองก็ต้องใช้ผู้แสดงมากกว่านี้ พวกตีกลองยืนจะเป็นผู้ชาย ส่วนพวกรำมักจะใช้ผู้หญิงล้วน มีผู้ตีกลองยืน ๓ คน โดยใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กลับ โหม่ง ปี่ และกลองยาว สมัยก่อนเวลาจะเปลี่ยนท่าจะใช้นกหวีดเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่าทุกครั้ง จังหวะกลองที่ตีนั้นมีหลายจังหวะแล้วแต่ผู้ตี ผู้รำก็จะใส่ท่ารำให้เข้ากับจังหวะกลอง โดยให้ผู้รำสะพายกลองยาว มีท่ารำประกอบการตีกลองของผู้แสดง เช่น ท่ารำส่าย ท่าพรหมสี่หน้า ท่าสอดสร้อยมาลา ท่าผาลาเพียงไหล่ ฯลฯ ต่อมามีการดัดแปลงการเล่นและท่ารำให้แปลกกว่าของเดิมที่แห่กันแบบธรรมดา ให้มีลีลาการรำที่ตื่นเต้นเร้าใจ เช่น มีการต่อตัว ต่อกลอง โยนกลอง คาบกลองในขณะที่รำ เป็นต้น ผู้แสดงจะต้องฝึกหัดการต่อตัว ต่อกลอง ให้คล้องจองได้จังหวะ การต่อกลองก็จะต่อตั้งแต่กลอง ๑ ใบ ๒ ใบ ต่อขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงสุดเท่าที่คนรำและต่อตัวจะสามารถจับกลองได้ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66220548459225__MG_9784.jpg)
ท่ารำที่ใช้ในการแสดง ได้แก่ ท่าเท้าและท่ามือ ท่าเท้า ยำตามจังหวะ เท้าซ้ายก้าวไขว้หน้า เท้าขวาวางหลังเปิดส้นเท้า ย่ำธรรมดาตามจังหวะกลองโดยตลอด เป็นท่าย่ำเท้าพื้นฐาน บางท่ากระดกเท้า โย้ตัว แตะปลายเท้า ท่าขึ้นกลอง ๑ เอาหน้ากลองคว่ำกับพื้นแล้วขึ้นไปยืนรำบนปากกลอง ท่าขึ้นกลอง ๒ หงายหน้ากลองขึ้นแล้วนำกลองใบที่ ๒ มาวางซ้อน คนจับกลองจะต้องปักหลักให้ดีโดยเท้าหนึ่งเหยียบปากกลองใบล่างไว้ อีกเท้าหนึ่งปักหลักให้มั่น มือรวบเชือกลองทั้ง ๒ ใบ แล้วดึงกดให้ตึง อีกมือหนึ่งจับกลองให้แน่นโดยใช้ไหล่ช่วย คนขึ้นจะเหยียบหน้าขาปีนไหล่แล้วขึ้นไปยืนบนปากกลองใบที่ ๒ ทำท่ารำ ท่าขึ้นกลอง ๓ และท่าขึ้นกลอง ๔ ท่านี้ไม่เป็นที่นิยมแสดงเพราะต้องใช้คนถึง ๑๒ คน ผู้ที่ขึ้นไปยืนรำอยู่บนกลอง ๓ กลอง ๔ ต้องมีความกล้าและฝึกหัดจนชำนาญ ต้องมีการประสานกันให้ดีทั้งวง เชือกผูกกลองต้องแน่น หน้ากลองที่วางซ้อนกันทั้ง ๔ ใบต้องไม่เหลื่อมกัน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายกับผู้แสดงได้ ท่ามือ ท่าพื้นฐานคือมือซ้ายจังปากกลอง มือขวาแกว่งแขนแล้วตีหน้ากลอง ท่าปกติที่ใช้คือ ท่าพรหมที่หน้า ท่าสอดสร้อยมาลา ท่าชักแป้งผัดหน้า ท่าเฉิดฉิน ท่าจันทร์ทรงกลด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีท่าเหยียบเข่า นั่งไหล่ โยนกลอง คาบกลอง และท่าสะพานโค้งคาบเงิน ซึ่งเป็นท่าของการแสดงกลองยาว ที่มาข้อมูล : - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๑๒ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ - เว็บไซท์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หัวข้อ: Re: ประวัติกลองยาว เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 มิถุนายน 2566 15:54:47 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/88408805264366_SAM_3624_Copy_.JPG) ภาพสตรีชาวต่างชาติร่วมสนุกกับการรำประกอบการตีกลองยาวของคนไทย (ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ กลองยาว เป็นเครื่องดนตรี สำหรับตีด้วยมือ ตัวกลองทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมกลวง ขึงด้วยหนังมีหลายชนิด ถ้าทำด้วยหนังหน้าเดียว มีรูปยาวมากใช้สะพายในเวลาตี เรียกว่ากลองยาวหรือเถิดเทิง ประวัติกลองยาว เชื่อกันว่ากลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า ในสมัยกรุงธนบุรี หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน เวลาพักรบ ทหารพม่าก็เล่น "กลองยาว" กันสนุกสนาน พวกชาวไทยได้เห็นก็จำแบบอย่างมาเล่นบ้าง แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม มี ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "เถิดเทิง" หรือ "เทิงกลองยาว" ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่า เรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว...วิกิพีเดีย (ที่มาข้อมูล) |