หัวข้อ: เรื่องพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระพิมพ์ และเมืองกำแพงเพชรเก่า เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 กันยายน 2564 16:59:59 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20540520962741_240887837_1102528883488148_766.jpg) ภาพ วัดพระสี่อิริยาบถ กําแพงเพชร เรื่องพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระพิมพ์ และเมืองกำแพงเพชรเก่า พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระพิมพ์ และเมืองกำแพงเพชรเก่า ความเป็นมาของลายพระหัตถ์ฉบับนี้มีว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระพาสหัวเมืองเหนือโดยเรือยนต์พระที่นั่งใช้จักรขึ้นไปจนถึงปากน้ำโพ ต่อจากนั้นทรงเรือแม่ปะ เป็นเรือพระที่นั่งถ่อขึ้นไปทางลำน้ำปิงจนถึงเมืองกำแพงเพชรเป็นที่สุด ในระหว่างเสด็จประพาสนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขา เป็นรายงานพระราชทานมายังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เริ่มทรงบันทึกแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๕ ถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๕ ความปรากฏตามเอกสารฉบับนี้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงส่งพระราชหัดถเลขา ที่ทรงเล่าถึงเมืองกำแพงเพชรไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังพระอิสรยยศที่กรมหมื่น พระองค์จึงได้มีลายพระห้ตถ์ฉบับนี้ทูลมายังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช “วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๑๖ กันยายน ร.ศ. ๑๒๕ ทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้วยได้รับประทานลายพระหัตถ์กับพระราชหัตถเลขา เรื่องเมืองกำแพงเพชร คัดจากฉบับของเสด็จพระอุปัชฌาย์ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) นานแล้ว แต่ก่อนหม่อมฉันอุปสมบท คัดถวายมาอีกต่อหนึ่งเพื่อทรงนำถวาย บางทีจะเป็นอุปการแก่การค้นหานั้นบ้าง ฯ สังเกตอาการของก่อสร้างที่ว่า มีพระเจดย์อย่างอินเดียหรือลังกาในวัดที่ตรัสเรียกในพระราชหัตถ์ว่า วัดพระแก้ว แลมีสระที่พระสรงน้ำขุดในแลงที่วัดพระยืน แต่วัดที่ทูลกระหม่อมเอง (รัชกาลที่ ๔) ทรงสันนิษฐานว่าวัดราชบุรณะ ดูคล้ายสระพระสรงน้ำเมืองอนุราธบุรีในลังกา อันก่อด้วยศิลาที่เห็นในรูป ฯ อาการเหล่านี้ประกอบกับความจารึกในหลักศิลาอักษรเขมรที่เมืองสุโขทัย ซึ่งนำมาไว้ที่วัดพระแก้วในทุกวันนี้ กับความจารึกในหลักศิลาที่เมืองกำแพงเพชรที่ถวายมา น่าจะเห็นว่าของเหล่านี้สร้างขึ้นครั้งพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช ผู้เป็นพระราชนัดดาหรือพระราชปนัดดาของพระร่วงเจ้า แต่จะเป็นครั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วหรือก่อน สอบศักราชแห่งคำจารึกหลักศิลาทั้งสองยังไม่ลงรอยกัน ฯ ในหลักศิลาที่สุโขทัย กล่าวว่าเมื่อศักราช ๑๒๖๙ ศกกุร (มหาศักราช) พระบาทกมรเตงอัตศรีธรรมราชเป็นพระอุปราชอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาไลย เป็นพระโอรสพระบาทกมรเตงอัตฤๅไทยไชยเชฐ เมืองสุโขทัย ฯ ได้เสวยราชสมบัดิฉลองพระองค์ พระชนกในสุโขทัย เมื่อศักราช ๑๒๗๖ ศกมะเมีย อภิเษกถวายพระนามว่าพระบาทกมรเตงอัตศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช ฯ ลุถึงศักราช ๑๒๘๓ ศกฉลู อัญเชิญพระมหาสามีสังฆราชผู้สถิตในลังกาทวีปมาแต่นครจันทร์ แลให้ปลูกกุฏิวิหาร ณ หว่างป่ามะม่วงอันมีในทิศปัศจิมแห่งเมืองสุโขทัย แลท้าวเธอทรงผนวชบรรพชาที่พระราชวังอุปสมบทที่พัทธสีมาไพรมะม่วง อย่าผนวชได้พระนามว่า พระบาท กมรเตงอัดศรี ตรีภพธรณีชิดสุริยโชติ มหาธรรมิกราชาธิราช ฯ ศักราชในคำจารึกที่สุโขทัย เข้าใจกันว่า มหาศักราช ซึ่งตั้งต้นปีเถาะ แลมากกว่าจุลศักราช ๕๖๐ ปี ฯ แต่ในหลักศิลาเมืองกำแพงเพชรกล่าวศักราช ๑๒๓๙ ศกระกา ล้ำเข้าไปก่อน พระศรีสุริยวงศ์รามมหาธรรมราชาธิราชเป็นอุปราชถึง ๓๐ ปี น่าจะเห็นว่าก่อนนั้นคงจะครองเมืองกำแพงเพชร ฯ แต่ศักราชในหลักศิลาเมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ปีระกาหาใช่ปีเถาะไม่ เหมือนศักราชบางอย่างในกฎหมายไทย ข้อนี้แย้งกันสำคัญ ฯ แต่ทั้งสองแห่งว่าเป็นพระโอรสพระบาทกรมเดงอัตเลไท หรือพระยาเลือไทยก็ลงรอยกัน บางทีศักราชในหลักศิลากำแพงเพชรจะอ่านมาผิดหรือเขียนผิต ก็อาจเป็นได้ แต่ปีระกาคงเป็นแน่ ฯ อีกข้อหนึ่งในพระราชหัตถ์ว่า ครั้งเก่าให้ทำถนนขุดคูเป็นที่ไปมาในรวางสวรรคโลก สุโขทัย กับกำแพงเพชรนั้น สนข้อความในหลักศิลาสุโขทัยนั้นว่า “ท่านจึงเสด็จไปปราบเมืองหนึ่งชื่อศรีจุฑามนราชมหานครอยู่ทิศพายัพ เมืองศรีสัชนาไลย เสด็จทอดพระเนตรตามระยะมรรคาไป เห็นว่าหนทางนั้นลำบากยากที่ราษฎรจะไปมา จึงทรงพระกรุณาให้ขุดคลองจองถนน ตั้งแต่เมืองสุโขทัยจนตลอดถึงเมืองศรีสัชนาไลย แลเมืองน้อยเมืองใหญ่อันแวะเวียนไปตามระหว่างทางนั้นด้วย ฯ” ถ้ามีความจริงในนี้ ก็ต้องเป็นเมื่อจุลศักราช ๖๗๙ หรือ ๗๐๙ ไปหา ๗๒๓ ซึ่งเกี่ยวมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ก็ไม่แย้งกันตามชินกาลมาลีว่า สมเด็จพระรามาธิบดียกขึ้นไปตี ข้างโน้นยอมอ่อนน้อม ฯ พระยาองค์นี้ จะเป็นพระราชนัดดาหรือราชปนัดดาของพระร่วงเจ้านั้น ในตำนานทั้งหลายแย้งกันอยู่ ฯ ข้อความเหล่านี้ได้กล่าวถึงแล้ว ในตำนานวินิจฉัย ที่หม่อมฉันเรียง ซึ่งกรมหลวงนริศรเอาไปอ่านยังไม่ส่งคืน ฯ ในเวลานี้ หยิบหนังสือไม่ได้ทัน ทูลมาพอเป็นเลาความ ฯ ถ้าได้ค้นเมืองสุโขทัยแลสวรรคโลกแล้วคงจะได้ความมากขึ้นไป เพราะมีข้อความกล่าวถึงละเอียดกว่า ฯ ความในพระราชหัตถเลขา เมื่อได้พิมพ์ขึ้น คงจะเป็นอุปการแก่การค้นหามาก ฯ หม่อมฉันมีความฉงนอยู่แห่งหนึ่งในตอนที่เล่าถึงวัดพระธาตุ (รายการวันที่ ๒๕ สิงหาคม) ข้อว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช (เจ้าเมืองสุโขทัย) สร้างพระเจดีย์ ๔๘,๐๐๐ (สี่หมื่นแปดพัน) นี้จะเป็นประมาณอย่างไร หรือผู้เรียนพระราชหัตถเลขาจะเขียนเลขกลับกันไป ๘๔,๐๐๐ (แปดหมื่นสี่พัน) จึงกลายเป็นสี่หมื่นแปดพันไป ฯ แปดหมื่นสี่พันได้แก่พระธรรมขันธ์ พระเจ้าอโศกอินเดียสร้างพระสถูปวิหารแปดหมื่นสี่พันเท่าพระธรรมขันธ์ มีหลักอยู่ฉะนี้ จึงทำให้ฉงน ฯ ก่อนแต่จะพิมพ์ ควรกราบทูลถามเสียก่อน ฯ” “ที่ ๒/๘๖๔ วันที่ ๒๐ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ถึง มกุฎราชกุมาร ข้อซึ่งกรมหมื่นวชิรญาณทรงทรงสงสัยเรื่องจำนวนพระเจดีย์ที่ว่าพระยาศรีธรรมาโศก สร้าง ๘๔,๐๐๐ นั้น นึกจะอธิบายแล้ว แต่ด้วยความตั้งใจว่าจะคัดหนังสือ ซึ่งเป็นทางรู้เรื่องมานั้นไปให้ดูด้วย คงจะอธิบายความอยู่ในตัว จึงได้ทอดธุระเสีย แท้จริงผู้ซึ่งเขียนพระราชหัตถ์ฟังคำว่า ๔๘,๐๐๐ นั้นเป็น ๘๔,๐๐๐ เขียนลงแล้ว ต้องกลับแก้เป็น ๔๘,๐๐๐ เสียอีก จำนวนที่ผิดเช่นนี้เห็นจะเป็นที่ผู้เรียบเรียงหนังสือมาให้เป็นเด็กหนุ่มไม่สันทัดพูด ๘๔,๐๐๐ เช่นเราพูดกัน จึงได้กลับไขว้กันไปเสีย ซึ่งไม่ได้คัด อนึ่งอ่านถึงเรื่องพรรณนารูปภาพนึกขึ้นได้ว่า จะต้องพระราชประสงค์อาการนุ่งผ้าอย่างโบราณที่กล่าวไว้ในพระวินัย จึงเขียนส่งถวายมาด้วย ขอทูลกระหม่อมโปรดนำถวายด้วย ฯ หม่อมฉันส่งคืนพระราชหัตถเลขาเล่าเรื่องเมืองกำแพงเพชรถวายคืนพร้อมกับจดหมายนี้ฯ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด (ลงพระนาม) กรมหมื่นวชิรญาณ” “หนังสือฉบับนั้นส่งมา เพระเวลาจอแจนัก – กำลังล่วง รีบจะให้หนังสือมาถึงเสียก่อนตัวฉันมาถึง เมื่อพบพูดกันจะได้เข้าใจทันที บัดนี้ได้คัดสำเนาเรื่องพระพิมพ์ซึ่งมีตลอดจนคาถาสำหรับบูชากับพระพิมพ์บางอย่างไม่ครบส่งมาให้พอเป็นตัวอย่าง กับสำเนาหนังสือพระครูปาโมกข์มุนี ซึ่งร่างขึ้นไว้จะถวายเธอ แต่ไม่ได้แวะ เมื่อไปถวายข้อความจะคิดใหม่ไม่ทัน จึงได้เอาฉบับเดิมนั้นมาให้ พร้อมทั้งตำราด้วย ฉันยังลืมที่จะกล่าวความเพิ่มเติมอีกข้อ ๑ ในข้อที่จะยืนยันว่า เมืองกำแพงเพชรโบราณไม่ได้อยู่ริมฝั่งน้ำซึ่งตั้งกำแพงเมืองกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้นั้น จะชี้ตัวอย่างให้เห็นในที่ใกล้ คือใคร ๆ ที่เป็นพวกเรียนพงศาวดารย่อมทราบอยู่ด้วยกันว่าวัดประดู่โรงธรรม วัดเดิมศรีอโยทธยา อยู่ในกำแพงพระนครศรีอโยทธยาโบราณเป็นวัดกลางเมือง แต่กรุงทวารวดีศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่เกาะตรงหน้าเมืองเก่าข้ามจนถึงทุกวันนี้ ฟากข้างเมืองเดิมยังมีวัดใหญ่ ๆ ซึ่งปรากฎชื่อเสียง ไม่ได้ตั้งอยู่ริมน้ำ ซึ่งจะควรเข้าใจว่าสร้างครั้งกรุงทวารวดี คือวัดมเหยงคณ์ วัดกุฎีดาว วัดใหญ่ไชยมงคล เป็นต้น บัดนี้ก็เป็นวัดตั้งอยู่กลางนาทั้งนั้น ไม่มีรอยกำแพงพระนครฝั่งฟากข้างตะวันออกเลย จะควรเข้าใจหรือว่า กรุงศรีอโยทธยาโบราณก็ตั้งอยู่ที่กรุงทวารวดีเดี๋ยวนี้ ฟากข้างตะวันออกเป็นที่คนอาศัยอยู่มาก จึงได้สร้างวัดในที่คนอยู่ เมืองทวารวดีสร้างกำแพงไว้แต่เฉพาะมีการทัพศึกจึงค่อยต้อนคนเข้าไป จะเข้าใจอย่างนี้ไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มตั้งแต่สร้างกรุง นามเดิมชื่อศรีอโยทธยา เมื่อที่สร้างใหม่มีน้ำล้อมรอบดุจเมืองทวารวดีแต่โบราณ จึงเติมนามเข้าว่า ทวารวดี เป็นทวารวดีศรีอยุธยา ดังนี้เป็นต้น จะพรรณนาไปอีกก็ป่วยการ จะควรเชื่อหรือไม่ว่ากรุงศรีอโยทธยาโบราณนั้นไม่มีกำแพง ถ้าหากว่ามีแล้วกำแพงจะไปไหนเสีย ข้อนี้จะเทียบได้ในเวลาใกล้ที่สุดว่าเมืองธนบุรีนี้ เมื่อตั้งขึ้นเป็นพระมหานครก่อกำแพง ๒ ฝั่งน้ำ ฟากตะวันตกตามแนวคลองนครบาลซึ่งยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ฟากตะวันออกตามแนวคลองหลอดซึ่งยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ครั้นเมื่อจะสร้างกรุงรัตนโกสินทรนี้ ก็โปรดให้รื้อกำแพงเสียทั้ง ๒ ฟากขุดคูใหม่ ข้างเหนือไปออกบางลำภู ข้างใต้ไปออกวัดเชิงเลน ก่อกำแพงตามแนวคลองซึ่งปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ธรรมดาจะสร้างเมืองใหม่ซึ่งจะถึงกำแพงเก่าไว้สำหรับให้ศัตรูมาถึงประชิดเมืองง่ายนั้นก็เป็นการไม่ควรจะทิ้งไว้อยู่เอง ใครจะเป็นผู้เถียงบ้างว่าวัดแจ้งวัดบางว้าไม่ได้อยู่ในกำแพงเมือง ข้อนี้ฉันใด เมืองทวารวดีกับอยุธยา กำแพงเพชรใหม่แลกำแพงเพชรเก่าก็เป็นอย่างเดียวกันฉันนั้น เมืองใหม่คงต้องเป็นชัยภูมิดีกว่าเมืองเก่าทั้ง ๓ แห่ง มีพยานอุดหนุนยืนยันความเห็นของฉันอยู่ อีกอย่างหนึ่งดังนี้ ถ้าจะลงพิมพ์ความเห็นแต่ก่อนขอให้เพิ่มเติมความข้อนี้ลงไว้ด้วย อนึ่งพระพุทธรูปเมืองกำแพงเพชรย่อมมีดวงพระพักตรแลรูปพรรณเป็น ๓ อย่าง ๆ หนึ่งเป็นรูปพระเขมรแปลง แต่ไม่เหมือนเขมรมากไม่แปลงถึงเมืองสรรค์ มีพวกนั่งบนขนดนาคเช่นพระลพบุรีเป็นอันมากนั้นพวกหนึ่ง พระเหล่านี้ย่อมจะได้จากในป่านอกเมืองทั้งนั้น ไม่มีในกำแพงเมืองเลย ตัวอย่างพระเช่นนี้มีอยู่ก่อนแล้วก็มีได้ใหม่ครั้งนี้ก็มี จะให้ดูได้ อีกอย่างหนึ่งนั้นเลียนจากพระเชียงแสน แต่พระพักตรแก้ให้ยาว พระนลาตผายหน่อยหนึ่ง พระปรางรัดหน่อยหนึ่ง พระเช่นนี้มีโดยมาก ทั้งในกำแพงแลนอกกำแพง อีกอย่างหนี่งเลียนพระชินราช แต่พระพักตรยาวลีบกว่า มีรัศมียอดแหลม พระทั้ง ๓ ทรงนี้ย่อมจะบอกเวลากาลที่เจริญรุ่งเรืองของเมืองกำแพงเพชร เห็นจะเป็น ๓ คราว แต่อย่างแรกคงจะเป็นเวลาที่มีอำนาจโดยลำาพังตัวมากกว่าอย่างหลัง ๆ ลงมา แต่เห็นจะถูกท่านชั้นหลัง ๆ แก้ให้เป็นอย่างที่ ๒ ที่ ๓ เสียโดยมาก เพราะพระชั้นที่ ๑ นั้นย่อมเป็นพระศิลามากกว่าพระหล่อ เมื่อเวลาปฏิสังขรณ์ก็โบกปูนแก้ให้เข้ารูปอย่างใหม่ไป แต่ใน ๒ อย่างชั้นหลังนั้นเอง อย่างที่ ๒ ยังมากกว่าอย่างที่ ๓ ซึ่งสำแดงให้เห็นว่าคงยังมีอำนาจมากอยู่ ชั้นที่ ๓ นี้เห็นจะริบหรี่ลงไปมาก จึงมีแต่พระหล่อไม่มีพระศิลาเลย ถึงเป็นพระหล่อก็องค์ย่อม ๆ โดยมาก ถ้าพระแก้วมรกตจะได้ไปอยู่เมืองกำแพงเพชร คงจะไปอยู่ตั้งแต่พระชั้นแรกที่เป็นพระเขมรนั้น ไม่ใช่ ๒ ชั้นข้างหลัง คงจะต้องไปอยู่ในเมืองซึ่งกลายเป็นป่าไปแล้วเดี๋ยวนี้นั้น แต่ควรจะเพิ่มเติมไว้เสียหน่อยหนึ่งว่า เมื่อเอาพระแก้วมรกตไปกล่าวปนกับพระเขมร หน่อยจะเข้าใจไปว่าพระเขมรกับพระแก้วมรกตมคล้ายคลึงกันหรือ ที่จริงไม่เหมือนกันเลย เป็นคนละฝีมือแท้ พระแก้วมรกตเป็นฝีมือโบราณอย่างประณีดสนิทเหลือเกิน ไม่ควรจะเทียบเทียมด้วยพระชั้นใหม่ ๆ ซึ่งสร้างในแถบประเทศข้างตะวันออก อินเดียตลอดจนเมืองจีนได้เลย อนึ่ง มีที่ผิดอยู่แห่งหนึ่งที่กล่าวว่า แลเห็นเขาบรรทัดจากเมืองกำแพงเพชร ข้อนี้มีผู้บอกเป็นเวลาจะเขียนหนังสือก็เขียนลงไปโดยด่วน ครั้นภายหลังนึกสงสัยไต่ถามดูอีก ได้ความว่าเขาแนวนั้นไม่ใช่เขาบรรทัด ๆ ยังอยู่นอกออกไปอีกไกลมาก (ลงพระนาม) สยามินทร์.” ขอขอบคุณที่มา พระพุทธศาสนา |