[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 15:20:54



หัวข้อ: พระสยามเทวาธิราช ทรงช้างเผือก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 15:20:54
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21010788323150_5_Copy_.jpg)
พระสยามเทวาธิราช ทรงช้างเผือก พระหัตถ์ซ้ายทรงรวงข้าว
พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ในลักษณะกำลังประหารศัตรู
ผลงานฝีพระหัตถ์การออกแบบในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89476635762386_4_Copy_.jpg)
พระสยามเทวาธิราช
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ปั้นและหล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สูงจากยอดมงกุฎจรดฐาน ๘ นิ้ว


พระสยามเทวาธิราช

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างเทวรูปขึ้นหลายองค์สำหรับประจำ ณ สถานที่สำคัญหรือรักษาราชูปโภคสำคัญ ด้วยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในคติความเชื่อเรื่องเทพยดาซึ่งปกป้องอารักขาสิ่งต่างๆ อันเป็นพื้นความเชื่อเดิมของคนไทยที่ถูกนำมาผนวกกับเทพยดาในพระพุทธศาสนาอย่างยากที่จะจำแนกออกได้ ในรัชกาลนั้นจึงพบเทวรูปและสัญลักษณ์แทนเทวรูปในพระราชมณเฑียรสถานอยู่หลายแห่ง เช่น พระราชบันฦาธารรักษาพระแสงขรรค์พิธี, พระราชมุทธาธรรักษาหีบพระราชลัญจกร, พระกำพูฉัตรรักษาพระมหาเศวตฉัตร, ธารพระกรเทวรูป, พระแสงดาบหัตถ์นารายณ์, พระเต้าเทวบิฐ ฯลฯ

พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นและหล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สูงจากยอดมงกุฎจรดฐาน ๘ นิ้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน บางแห่งสันนิษฐานว่าทรงสร้างขึ้นช่วงพุทธศักราช ๒๔๐๒-๒๔๐๓ แต่บางแห่งกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบหมายรับสั่งในรัชกาลนั้น ว่าในเดือนมีนาคม ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ (พุทธศักราช ๒๓๙๖) ภายหลังการฉลองพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระสยามเทวาธิราชให้เสร็จโดยเร็วพลัน และให้สมโภชเป็นการภายในด้วย ถึงอย่างไร การสร้างเทวรูปย่อมขึ้นก่อนพุทธศักราช ๒๔๐๒-๒๔๐๓ เป็นแน่ เนื่องจากพระนามของเทวรูปองค์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในประกาศเทวดาฉลองหอพระในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและมีการฉลองในช่วงเวลานั้น

ประติมานวิทยาของพระสยามเทวาธิราชนั้น เป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ พระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) และพระอนามิกา (นิ้วนาง) อยู่ในลักษณะจีบบรรจบกับพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ มีฐานหน้ากระดานรองรับเทวรูปชั้นหนึ่ง ประดิษฐานภายในพระวิมานยอดปราสาทไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกซึ่งประดิษฐานร่วมกับเทวรูปจำนวนหนึ่ง ปัจจุบัน พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานเหนือลับแลหลังพระทวารเทวราชมเหศวร (พระ-ทะ-วาน-เท-วะ-ราด-มะ-เหด) ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมหินทรพิมานในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

สถานะของเทพยดาองค์นี้ สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็น "อธิบดีแห่งเทพยดาทั้งหลายในสยามรัฐ" ดังปรากฏในประกาศเทวดาฉลองหอพระในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ราวพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งว่า

"...ขอประกาศเชิญเทพยเจ้าทั้งปวงผู้มีฤทธิอำนาจมเหศวรศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตย์ในถิ่นที่ทิพยสถานต่างๆ คือพระสยามเทวาธิราชซึ่งเปนอธิบดีในสยามรัฐิกเทพยดาทั้งปวง..."

แสดงให้เห็นว่า พระสยามเทวาธิราชนั้นเปรียบเสมือน 'รูปแทน' ของเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องอารักขาแผ่นดินสยาม เพื่อให้สามารถทำพลีกรรมหรือสังเวยแก่เทพยดาเหล่านั้นได้โดยง่าย ด้วยพระราชนิยมที่ทรงศรัทธาเชื่อถือเทพยดาดังกล่าวมาแล้ว

นอกจากจะเป็นเทวดาผู้อยู่เหนือเทวดาทั้งปวงในแผ่นดิน พระสยามเทวาธิราชยังมีสถานะเป็นเทพยดาผู้ "รักษาพระมหาเศวตฉัตร" อันเป็นสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระองค์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ ความตอนหนึ่งว่า

"...ฉันก็บนเทวดารักษาเสวตฉัตร ชื่อพระสยามเทวาธิราชกับพระรามเทพย พระบรมกฤษแลนางแปดกรสำหรับพระที่นั่งมาแต่ก่อน ตั้งสวงพลีเข้าเมียพระยาบำเรอภักดีเข้าไปปลอบถามบุตรก็ออกความจริงให้ในวันนั้นเอง ครั้นชำระต่อก็ได้ความต่อไปจนจะสิ้นที่จริงอยู่แล้ว มันติดต่อไปอีกก็หลายราย แต่เข้าถึงบ้างไม่ถึงบ้างเปนแต่เลกน้อยบุตรหญิงเจ้าพระยามหาสิริธรรม ก็ถูกด้วยคนหนึ่งต้องซัดแลสารภาพว่ารักอ้ายเขียนด้วยการชำระครั้งนี้ก็ได้โดยชื่นตาทั้งนั้น ไม่ได้เฆี่ยนตีตบต่อยผูกถือใครเลยทีเดียวเปนอัศจรรย์อยู่ จึ่งเหนว่าน้ำพระพุทธมนตของพระสงฆเจ้าความรู้วิชาเปนเทพยเปนหมอนั้น ถึงจะศักดิ์สิทธิ์เมื่อมาไหลทวนไหล สู้น้ำพระพิพัฒสัตยาของแผ่นดิน ยังสู้น้ำพระพิพัฒนสัตยาไม่ได้ ผีโหงสางพรายกุมารที่หมอไว้ใช้สอย เปนแต่ผีเล็กน้อย สู้พระสยามเทวาธิราชไม่ได้ เหมือนบุตรพระยาราชภักดี บุตรพระยาบำเรอภักดีสู้เจ้าแผ่นดินไม่ได้..."

โดย "เสวตฉัตร" ในที่นี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่ามิได้หมายความถึงพระมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระราชบัลลังก์เท่านั้น แต่คงหมายความถึงรัชสมัย และราชสมบัติอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยทรงมีลายพระหัตถ์ใน 'สาส์นสมเด็จ' ความตอนหนึ่งว่า "ธรรมเนียมไทยย่อมถือเอาฉัตรเป็นหลักอันใหญ่ แม้จะพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินก็อ้างเอาเศวตฉัตรเป็นที่ตั้ง หาได้อ้างเอามงกุฎไม่ ที่มาอ้างเอามงกุฎนั้นเป็นของใหม่เอาอย่างฝรั่ง"

ทั้งนี้ จากพระราชหัตถเลขาดังกล่าวยังปรากฏนามของ "...พระรามเทพย (พระรามหรือพระนารายณ์ - ผู้เขียน) พระบรมกฤษ (พระกฤษณะ หรือในวรรณกรรมมักเรียกว่า พระบรมจักรกฤษณ์ - ผู้เขียน) แลนางแปดกร..." ซึ่งเข้าใจว่าทรงหมายความถึงเทวรูปโลหะที่ประดิษฐานอยู่ร่วมกันกับพระสยามเทวาธิราชในพระวิมานปัจจุบัน อันประกอบด้วยเทวรูปพระอิศวรและพระอุมาประดิษฐานในพระวิมานองค์ตะวันออก พระนารายณ์ทรงครุฑในพระวิมานองค์ตะวันตก และ 'นางแปดกร' ในพระวิมานองค์กลางเบื้องหน้าพระสยามเทวาธิราชนั่นเอง

(เทวรูป นางแปดกร เมื่อพิจารณาประติมานวิทยาแล้วพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับพระวัชรตารา ซึ่งมีสี่พระพักตร์ แปดพระกร และทรงอาวุธกระทำมุทราในพระหัตถ์ทั้งแปดตรงกัน)

เมื่อเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ในสยามได้รับการพัฒนาตามอย่างชาติตะวันตกมากขึ้น รูปแทนเทพยดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้รักษาแผ่นดินอย่างพระสยามเทวาธิราช จึงปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็น "ปุคลาธิษฐานของรัฐ (National Personification)" ไปโดยปริยาย อาจกล่าวได้ว่า มีการยกระดับฐานะของพระสยามเทวาธิราชให้มีคุณสมบัติสื่อถึงรัฐหรือแผ่นดินสยามมากยิ่งขึ้น ประติมานวิทยาอย่างองค์ดั้งเดิมจึงปรับเปลี่ยนไปทีละน้อย ดังเห็นได้จากพระสยามเทวาธิราชที่ปรากฏด้านหลังเหรียญดุษฎีมาลา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในจุลศักราช ๑๒๔๔ (พุทธศักราช ๒๔๒๕) โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปคือ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพวงมาลัยคล้อง "ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญ" ซึ่งจารึกนามในช่องด้านขวา ทั้งยังปรากฏ 'โล่' ซึ่งนำมาจากตราประจำแผ่นดินที่ผูกขึ้นใหม่ตามอย่างระบบตราอาร์มของตะวันตก (Coat of arms) ในต้นรัชกาลนั่นเอง

เมื่อเข้าสู่ปี ๒๔๓๐ เป็นต้นมา นัยยะของพระสยามเทวาธิราชยิ่งเน้นย้ำความเป็นปุคลาธิษฐานของรัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนซึ่งเริ่มใช้ในจุลศักราช ๑๒๔๙ (พุทธศักราช ๒๔๓๐), เหรียญปราบฮ่อ อันเป็นเหรียญพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในการพระราชสงคราม ปราบกบฏฮ่อที่เกิดขึ้นถึงสามคราว หรือแม้กระทั่งปกหนังสือพิมพ์ยุทธโกษ จดหมายเหตุสำหรับเก็บข้อความอันเนื่องกับการทหารบกก็ปรากฏภาพพระสยามเทวาธิราชเช่นเดียวกัน หากแต่ปรากฏอาวุธที่ทรงถือที่ต่างออกไป กล่าวคือในเหรียญกษาปณ์และหนังสือพิมพ์ทรงธารพระกรเทวรูปในพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาในปกหนังสือยุทธโกษทรงปากกา เนื่องจากจุดมุ่งหมายของหนังสือ ต้องการเก็บ "ข้อเขียน" ด้านการทหาร ในอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างออกไป คือในเหรียญปราบฮ่อ พระสยามเทวาธิราชทรงถือพระแสงง้าว ประทับเหนือพาหนะคือช้างเผือก มีผ้าปกหลังช้างเป็นรูปโล่ในตราแผ่นดิน ซึ่งรูปสัญลักษณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเป็นสัญญะของพระสยามเทวาธิราชที่แทนประเทศสยามให้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53463657076160_6_Copy_.jpg)

หลังจากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี พระสยามเทวาธิราชในนัยยะของความเป็นชาติหรือประเทศดังกล่าวข้างต้นได้รับการนำกลับมาใช้อีกครั้ง หากแต่มีเทวลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงเวลานั้นตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี ๒๔๖๐ ทำให้กระแสความนิยมและความหวงแหนในชาติทวีขึ้นเป็นอย่างมาก สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดอย่างเทวรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นในนัยยะแทนความเป็นชาติไทย จึงทรงเขียนขึ้นไว้แบบหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า "พระสยามเทวราช ทรงสารเศวตวาห" กล่าวคือเป็นเทพยดาประทับเหนือคอช้างเผือก (สารเศวต) พระหัตถ์ซ้ายชี้พระดัชนี (นิ้วชี้) ไปเบื้องหน้า พระหัตถ์ขวาทรงมัดรวงข้าว มีพระแสงดาบเหน็บอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ แต่เครื่องทรงได้เปลี่ยนไปตามสมัยและพระราชนิยมในรัชกาลนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน คือมีพระเวฐนะ (ผ้าโพก) ประกอบกับดอกไม้รัดเป็นชั้นเกี้ยวรอบพระเศียร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21010788323150_5_Copy_.jpg)

นอกจากนี้ ยังพบผลงานฝีพระหัตถ์การออกแบบในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพระองค์นั้นอีกชิ้นหนึ่ง เป็นปกสมุดเงินดุนเป็นภาพเทพยดาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพที่กล่าวมาข้างต้น แตกต่างกันที่พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบในลักษณะกำลังประหารศัตรู พระหัตถ์ซ้ายทรงรวงข้าว ส่วนช้างเผือกที่มีกระพรวนห้อยคอนั้นกำลังเหยียบอยู่บนพญานก (สันนิษฐานว่าคือนกอินทรี) อันเป็นสัญญะแทนศัตรูคือประเทศคู่ขัดแย้งที่พ่ายแพ้ (ถูกเหยียบ) ในสงครามนั่นเอง

นับได้ว่า สถานะของพระสยามเทวาธิราชที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์นั้นเป็นทั้งเทพยดาผู้ปกป้องรักษาอาณาจักร เป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่เหนือเทวดาทั้งปวงในรัฐสีมามณฑลแห่งนี้ ทั้งยังพบการใช้เป็นปุคลาธิษฐานของชาติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กระทั่งในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ดี "พระสยามเทวาธิราช" หรือ "พระไทยเทวาธิราช" ก็ยังพบการใช้ในบทบาทดังกล่าวอยู่นั่นเอง

อนึ่ง การยกระดับพระสยามเทวาธิราชให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยนั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งใช้ภาพบุคคลที่มีช่วงชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติ, เทพเจ้า หรือปุคลาธิษฐานแทนชาติของตน อาทิ เทพีบริทานเนียของสหราชอาณาจักรผู้ทรงตรีศูล โล่ (ซึ่งใช้ลวดลายอย่างธงของสหราชอาณาจักร) และมีสิงโตเป็นพาหนะ, ภารตมาตาของอินเดีย หรืออิตาเลีย ตูร์ริตาของอิตาลี ผู้มี mural crown (มงกุฎซึ่งมีลักษณะเป็นรูปอาคารบ้านเรือนหรือกำแพงเมือง) เป็นมงกุฎ เป็นต้น



ขอขอบคุณที่มา : เพจบรมครู
อ้างอิง :
- ประกาศการพระราชพิธี เล่ม ๒ สำหรับพระราชพิธีจร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียง
- วิทยานิพนธ์เรื่อง "สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช : การวิเคราะห์และตีความหมายเชิงมานุษยวิทยา" โดยคุณวีระศักดิ์ จารุโณปถัมภ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย