หัวข้อ: ลอมพอก เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มีนาคม 2565 15:42:49 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74323529832892_277463127_691342758883341_2236.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97149742063548_277449334_691342812216669_4271.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15447487682104_277434272_691342862216664_5691.jpg) ภาพประกอบ : จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดใหม่เทพนิมิตร กทม. ลอมพอก ลอมพอกเป็นเครื่องสวมศีรษะของไทย ลักษณะรูปยาว บ้างมียอดแหลม บ้างมียอดมนไม่แหลมมากนัก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการโพกผ้าของมุสลิมเปอร์เซีย ใช้เป็นเครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นเครื่องแบบขุนนางยุคกรุงศรีอยุธยา ลักษณะของลอมพอกสามารถบ่งถึงตำแหน่งสูงต่ำของผู้สวมได้ และมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะรับมาตั้งแต่ก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยา ลอมพอกมักสวมใส่พร้อมกับเสื้อเยียรบับและสวมเสื้อครุยทับอีกที ลอมพอกของราชทูตประดับด้วยแถบทองคำกว้างสองถึงสามนิ้วทำเป็นเสวียนรอบหมวก มีดอกไม้ทำด้วยทองคำบางๆ กลางดอกไม้เป็นเกสรที่ทำจากทับทิมสองถึงสามเม็ดติดประดับ แต่เนื่องจากแผ่นทองคำที่ใช้ทำดอกไม้นั้นมีน้ำหนักเบามาก จึงไหวติงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ลอมพอกของตรีทูตมีแต่แถบทองคำสลักประดับ ไม่มีดอกไม้ตกแต่ง และลอมพอกของผู้ติดตามไม่มีแถบทองคำประดับอยู่เลย มงซีเออร์ เดอ วีเซ (Monsieurde Visé)ได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับการแต่งกายของคณะทูตสยามที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๙ ความว่า "....สิ่งที่สำคัญซึ่งทำให้ดูราชทูตไทยผิดกว่าราชทูตเมืองอื่นมากนั้นก็คือหมวก หมวกไทยนั้นเป็นหมวกมียอดแหลมซึ่งเขาเรียกว่า ลอมพอก สูงกว่าหมวกเราเป็นไหนๆ เรียวขึ้นไปเป็นชั้นๆ สัณฐานคล้ายกับมงกุฎ แต่ละชั้นล้วนประดับด้วยเครื่องเงินทองเพชรพลอยและนิลจินดาเป็นอย่างหนึ่งๆ และชั้นต่อๆ ไปก็ประดับด้วยวิธีอื่นอีก ดูแปลกเข้าที..." ส่วน ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้กล่าวถึงลอมพอกในจดหมายเหตุ ความว่า "...พระลอมพอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประดับขอบหรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์..." และกล่าวถึงลอมพอกขุนนางว่า "ของพวกขุนนางนั้นประดับเสวียนทองคำ, เงิน, หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ ลางคนก็ไม่มีเสวียนเลย พวกขุนนางจะใช้ลอมพอกนี้ชั่วเวลาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ หรือเพลาประชุมคณะขุนศาลตุลาการ หรือในพิธีลางอย่างเท่านั้น เขาใช้แถบผูกโยงยึดไว้ใต้คาง และเมื่อแสดงการเคารพก็มิได้ถอดออก..." และลอมพอกได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นชฎาและมงกุฎสำหรับเจ้านายและนักแสดงโขนในยุคหลัง . ขอขอบคุณ - เพจบรรณาลัย (ที่มาภาพประกอบ) - เพจบรรณาลัย/วิกิพีเดีย (ที่มาเรื่อง) |