[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 กรกฎาคม 2565 16:20:35



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๘๒ มาตุโปสกชาดก : พญาช้างเลี้ยงมารดา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 กรกฎาคม 2565 16:20:35

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๘๒ มาตุโปสกชาดก
พญาช้างเลี้ยงมารดา

          ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยพระราชสมบัติในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นช้างอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้เป็นสัตว์เผือกปลอด มีรูปงาม น่าชม น่าเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยลักษณะการกระทำความเจริญโดยลำดับ มีช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร
          ส่วนมารดาของท่านเป็นช้างตาบอด แต่ท่านได้ให้ผลไม้มีรสอร่อยแก่ช้างทั้งหลาย เพื่อฝากผลไม้เหล่านั้น แล้วส่งไปยังสำนักของมารดา ช้างทั้งหลายไม่ได้ให้แก่มารดาเลย เอาอาหารเคี้ยวกินด้วยตนเอง
          ท่านรู้เรื่องนั้น คิดว่าเราจักละโขลงแล้ว เลี้ยงแต่มารดาเท่านั้น ครั้นถึงส่วนแห่งราตรี เมื่อช้างเหล่าอื่นไม่อยู่ จึงพามารดาไปยังเชิงเขา ชื่อว่าจัณโฑรณะ แล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งภูเขา ซึ่งอยู่ติดแถบอีกข้างหนึ่งแล้วเลี้ยงดู 
          วันหนึ่งพรานไพรชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่งเป็นคนหลงทาง เมื่อไม่อาจกำหนดทิศได้ จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดังลั่น พญาช้างได้ยินเสียงของพรานไพรนั้น คิดว่าเป็นคนไร้ที่พึ่ง เห็นเขากำลังหนีไปด้วยความกลัว จึงถามว่า “ท่านไม่มีภัยเพราะอาศัยเรา ท่านอย่าหนีไปเลย เพราะเหตุไรท่านจึงเที่ยวร้องไห้ร่ำไรอยู่เล่า”
          เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าแต่นาย กระผมเป็นคนหลงทาง วันนี้เป็นวันที่ ๗ สำหรับผม”
          พญาช้างกล่าวว่า “เจ้าอย่ากลัวเลย เราจักวางท่านไว้ในถิ่นมนุษย์”
          ว่าแล้วก็ให้เขานั่งบนหลังตน นำออกจากป่าแล้วกลับไป 
          ฝ่ายเขาเป็นคนชั่วคิดว่า เราไปยังนครแล้วจักทูลแก่พระราชา จึงทำต้นไม้เป็นเครื่องหมาย ทำภูเขาเป็นเครื่องหมาย ได้ออกไปยังกรุงพาราณสี
          ในกาลนั้น ช้างมงคลของพระราชาได้ทำกาละไป พระราชาตรัสสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า “ถ้าใครๆ เห็นช้างตัวเหมาะ ที่ส่งเสียงร้องในที่ใดที่หนึ่งผู้นั้นจงบอก”
          บุรุษนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้ว ทูลว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์ได้เห็นพญาช้าง ตัวมีสีเผือกปลอด เหมาะเพื่อจะทำการฝึก ข้าพระองค์จักแสดงหนทาง ขอพระองค์จงส่งนายหัตถาจารย์ พร้อมกับข้าพระองค์ไปให้จับช้างนั้นเถิด”
          พระราชาตรัสรับคำแล้วจึงตรัสว่า “พวกเธอจงทำผู้นี้ให้เป็นผู้นำทางไปยังป่านำพญาช้างที่บุรุษนี้พูดไว้ มาพร้อมชายผู้นี้”
          พระองค์จึงส่งนายหัตถาจารย์พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก นายหัตถาจารย์ไปกับชายหนุ่ม เมื่อทั้งสองเห็นช้างกำลังเข้าไปยังที่ซ่อน กำลังถือเอาอาหาร
          ฝ่ายพญาช้างเห็นนายหัตถาจารย์แล้วอธิษฐานว่า “ภัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้อื่น มันเกิดขึ้นจากสำนักชายชั่วนี้นั้น ฝ่ายเราแลเป็นผู้มีกำลังมาก และสามารถจะกำจัดช้างได้ตั้ง ๑,๐๐๐ เชือก”
          ครั้นโกรธแล้วสามารถจะนำพาหนะของนายทัพ พร้อมทั้งแว่นแคว้นให้พินาศไปได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เขาเอาหอกตอกศีรษะเรา เราก็ไม่โกรธ ดังนี้แล้ว จึงน้อมศีรษะลงได้ยืนนิ่งเฉย นายหัตถาจารย์ลงสู่สระปทุม เห็นความสมบูรณ์แห่งลักษณะพญาช้าง จึงกล่าวว่า “มาเถอะพ่อ แล้วจับงวงอันเสมือนกับพวงเงิน จนถึงกรุงพาราณสี
ฝ่ายมารดาพญาช้าง เมื่อลูกยังไม่มาจึงคร่ำครวญว่า “พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา นำเอาบุตรของเราไป หมู่ป่าไม้นี้จักเจริญเพราะอยู่ปราศจากช้างนั้น”
          “ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย งอกงามขึ้นแล้วเพราะพญาช้างนั้นพลัดพรากไป  อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็เผล็ดดอกบาน
          พระราชาหรือพระราชกุมาร ประทับนั่งบนคอพญาช้างใด ซึ่งไม่มีความสะดุ้ง ย่อมกำจัดเสียซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย อิสรชนผู้ประดับด้วยอาภรณ์อันงดงามผู้หนึ่ง ย่อมเลี้ยงดูพญาช้างนั้นด้วยก้อนข้าว”
          ฝ่ายพระหัตถาจารย์ดำเนินไปในระหว่างทาง ส่งสาส์นไปถึงพระราชา พระราชาตรัสสั่งให้ตบแต่งพระนคร ฝ่ายนายหัตถาจารย์นำพญาช้างที่เขาประพรมด้วยของหอม ประดับตกแต่งเข้าไปยังโรงช้าง ให้ล้อมด้วยม่านที่สวยงาม ให้ผูกเพดานอันวิจิตรไว้ข้างบน แล้วให้กราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงนำอาหารมีรสอันเลิศต่างๆ มาให้แก่พญาช้าง
          พญาช้างก็คิดว่า เราเว้นมารดาเสีย จักไม่ยอมรับอาหาร 
          ดังนี้แล้วจึงไม่รับอาหาร ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงอ้อนวอนพญาช้าง จึงตรัสว่า “พญาช้างตัวประเสริฐ เชิญพ่อรับเอาคำข้าวเถิด อย่าได้ผ่ายผอมเลย ราชกิจมีเป็นอันมาก ท่านจักต้องทำราชกิจเหล่านั้น”
          พญาช้างได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า “นางช้างนั้นเป็นกำพร้า ตาบอด ไม่มีผู้นำทาง คงจะสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาจัณโฑรณะนั้น” 
          “เป็นอะไรกับท่านหรือ” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงจะสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาชื่อจัณโฑรณะ นั้นเป็นมารดาของข้าพระองค์”
          พระราชาทรงฟังแล้วก็คิดจะปล่อยพญาช้าง เมื่อจะให้ปล่อยไป จึงตรัสว่า “พญาช้างนี้ย่อมเลี้ยงดูมารดา ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างนั้นเสียเถิด พญาช้างตัวประเสริฐจงอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหลายเถิด”
          พญาช้างนั้นพ้นจากเครื่องผูก พักอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วแสดงธรรมแก่พระราชาด้วยทศพิธราชธรรม แล้วให้โอวาทว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์จงอย่าเป็นผู้ประมาทเลย อันมหาชนบูชาอยู่ด้วยเครื่องสักการะ มีของหอมและดอกไม้เป็นต้น  ออกจากพระนคร ถึงสระปทุมนั้นในขณะนั้นนั่นเอง คิดว่า เราไม่ให้มารดาของเรารับเอาอาหาร เราเองก็จักจักไม่รับ ดังนี้แล้ว จึงถือเอารากเหง้าบัวเป็นอันมาก จึงใช้งวงดูดน้ำจนเต็ม ออกจากที่เร้นในถ้ำไปยังสำนักมารดา ตัวนอนอยู่ที่ประตูถ้ำ รดน้ำบนศีรษะ เพื่อให้ร่างกายของมารดาได้สัมผัส เพราะอดอาหารมาตั้ง ๗ วัน
          นางช้างกล่าวว่า “ฝนอะไรนี้ ไม่ประเสริฐเลย ย่อมตกโดยกาลที่ไม่ควรตก บุตรเกิดในตนของเรา เป็นผู้บำรุงเราไปเสียแล้ว” 
          พญาช้างอยากไม่แม่สบายใจจึงทูลว่า “เชิญท่านลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ฉันเป็นลูกแม่มาแล้ว พระเจ้ากาสีผู้ทรงพระปรีชาญาณ มีบริวาร ยศใหญ่หลวง ทรงปล่อยมาแล้ว”
          นางช้างดีใจ เมื่อจะทำอนุโมทนาแด่พระราชาจึงกล่าวว่า “พระราชาพระองค์ใด ทรงปล่อยลูกของเรา ตัวประพฤติอ่อนน้อมแต่บุคคลผู้เจริญทุกเมื่อ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน ทรงบำรุงแคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรืองเถิด”
          ครั้งนั้นพระราชาทรงเลื่อมใสในพระคุณของพญาช้าง ทรงรับสั่งให้สร้างโรงช้างไม่ไกลแต่เมืองนิลินี จึงทรงเริ่มตั้งภัตตาหารไว้เนืองนิตย์เพื่อพญาช้างและมารดา
 

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
กตญฺญุโน ภวิสฺสาม กตเวทิโน
น จ โน อเมฺเหสุ อปฺปกมฺปิ กตํ วินสีสฺสติ

เราจักเป็นผู้กตัญญูและกตเวที
คุณผู้อื่นทำแล้วแก่เรา ย่อมไม่สูญสิ้นไปเปล่า (๑๖/๓๐๗)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม