[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 20 กรกฎาคม 2565 11:17:01



หัวข้อ: สะโพกสุดเสียงสังข์ หมายความว่าอะไร?
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 20 กรกฎาคม 2565 11:17:01
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/16419561538431_89_O_K_696x473_Copy_.jpg)
สะโพกอย่างนี้ จะสุดเสียงสังข์หรือเปล่า?

สะโพกสุดเสียงสังข์

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนมีนาคม 2542
ผู้เขียน - วีระพงศ์ มีสถาน
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2565


คำถาม “อันเนื่องด้วยภาษา” มีเข้ามาอยู่บ่อยๆ เช่นคำถามตามชื่อเรื่องที่ว่า สะโพกสุดเสียงสังข์ หมายความว่าอะไร และนี่ไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จแต่เป็นความพยายามที่จะตอบ

สิ่งต่างๆ ที่นับว่า ดี งาม เลิศ ประณีต ของชาวไทยยุคก่อนมักจะเป็นของในวัง ไม่ว่าเป็นเรื่องอาหาร เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย อาคาร ฯลฯ คตินิยมดังกล่าวยังเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน เช่น หญิงสาวสมสมัย คนหนึ่งจะเปิดร้านขายอาหารไทย เธอเอาเกียรติประวัติเจ้าคุณย่าทวดของตนซึ่งเคยเป็นวิเสท (คนทำอาหารหรือคนครัวในวัง) มาอ้าง เป็นทำนองว่า ตำรับอาหารเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากวัง หรือเรื่องของการปรุงยาหอม หากโฆษณาว่าได้ตำรับมาจากวัง ดูจะมีภาษีกว่าตำรับที่คนข้างบ้านคิด

นี่แสดงว่า การยอมรับนับถือของในวังว่าเป็นของสูงค่า ประณีต ยังสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากสิ่งของที่กล่าวมาแล้ว “สาวชาววัง” ก็เป็นที่ชื่นชมของหนุ่มๆ ด้วยว่าไม่ต้องตักน้ำตำข้าวให้ผิวคล้ำดำกร้านกรำแดดตากฝนอย่างชาวบ้านทั่วไป เวลาที่มีพระราชพิธีมงคลหรือการละเล่นที่เป็นของหลวง จึงเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้เห็น “สาวชาววัง” เวลามาร่วมในพิธี

แล้วเหตุใด “เสียงสังข์” ซึ่งไม่ใช่สายวัดตัดกระโปรง จึงเอามาเปรียบกับ “สะโพก” ได้

ประเด็นนี้อธิบายได้ตามเรื่องที่กล่าวมา คือเวลามีพระราชพิธีบางอย่างมักจะมีการเป่าสังข์หรือประโคมดนตรี มีสาวชาววังมาร่วมในขบวน ความงามของสตรีในวังทำให้หนุ่มตะลึงแล มองส่งจนสังข์ที่เป่าสุดเสียงลง (สุด = จบ, สิ้น) ก็ยังไม่วางตา การมองส่งขบวนแห่ที่ผ่านหน้าไป ทำได้อย่างเก่งก็เห็นแต่ด้านหลัง และอาณาบริเวณด้านหลังของสตรีที่เหล่าชายจึงมองนั้นมีไม่กี่แห่ง หากวิจัยหาตัวเลขว่าตำแหน่งที่คนเขามองหมาย น่าจะตกที่สะโพกเสียแหละมาก

ภาษาไทยมีสำนวนจำนวนมากที่ผูกติดกับวัฒนธรรม ถ้าไม่เข้าใจวัฒนธรรมก็ไม่ทราบความหมายของ สำนวน เช่น “ชั่วเคี้ยวหมากจืด” ท่านหมายเอาเรื่องเวลา หากต้องการรู้ว่านานเท่าไรก็โดยการเทียบจากการเคี้ยวหมากจนเซ็งหรือจืด หรือ “ชั่วเสียงวัวมอ” ท่านหมายเอาระยะทาง คืออยู่ในระยะที่ยังพอได้ยินเสียงวัวร้อง หากไกลมากเกินไปจะไม่ได้ยิน ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้ยินวัวร้องตามท้องทุ่ง สำนวนลักษณะนี้จึงพลอยเลิกใช้ไปด้วย

สะโพกสุดเสียงสังข์ เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า มาจากชาดกชื่อ สุสฺโสนฺที ตามฉบับของลังกา อันเป็นเรื่องกากี ซึ่งสุสฺโสนฺทีนั้น อาจเพี้ยนมาจากภาษาบาลี สุสฺโสณิ (สุ + โสณิ) แปลว่า สะโพกงาม นางเอกในเรื่องเธอมี สะโพกงาม ส่วนฉบับของไทยเรียกว่า สุสันธี แปลว่า เอวงาม ตบท้ายว่า “แม่สะโพกสุสโสณี หรือสุสฺโสนฺที ก็อาจเพี้ยนเป็น แม่สะโพกสุดเสียงสังข์ได้” ว่างั้น!

ชาดกดังที่อ้างนี้ หากนับหาตัวมนุษย์คนไทยที่ได้อ่านเรื่องคงหาตัวได้น้อยนัก ถ้าจะอ้างเหตุของความ เพี้ยนเสียงมาจากบาลีก็พอจะ “ฟังได้” แต่จะ “ฟังขึ้น” หรือเปล่านี้ เป็นอีกประเด็น

“สะโพกสุดเสียงสังข์” ซึ่งเป็นสำนวนไทยนี้ ผู้เขียนพิจารณาตามรูปการณ์ทางวัฒนธรรมไทยว่า น่าจะหมายถึงหญิงรูปงามจนติดตาต้องใจ งามระบือไปไกล ดุจเสียงสังข์ที่เชื่อว่าดังไปจนถึงสวรรค์ ดังที่นางสีดาได้รับคำชมว่าเป็นผู้มี “สะโพกสุดเสียงสังข์” ให้บังเอิญว่านางสีดาเธอเป็นแขก แล้วเรื่องการเป่าสังข์ก็เป็นเรื่องของพราหมณ์ ซึ่งก็ยังพัวพันอยู่กับแขกๆ เมื่อเรามองตามมุมคิดของคนไทยจึงช่วยไม่ได้ที่จะคิดว่าสะโพกสุดเสียงสังข์ของนางสีดาคงเป็นอย่างหญิงแขกหรือรูปร่างอย่างนางอัปสรตามเทวสถาน แต่เราลืมไปว่าเรื่องรามเกียรติเราเอาโครงเรื่องของเขามา ส่วนรายละเอียดนั้นเป็นวัฒนธรรมของไทย หรือเช่นเรื่องอิเหนา ไทยรับโครงเรื่องและชื่อตัวละครมา รายละเอียดไม่ว่าจะเป็นการพระบรมศพ การเข้าเฝ้า การชมความงาม ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องของไทยเรานี่เอง ไม่ได้เอาแบบอย่างการพระบรมศพ ฯลฯ ของอินโดนีเซียมาขยายความไว้ในวรรณคดี

อีกประการหนึ่ง สังคมไทย (พิจารณาจากโลกทัศน์ ที่แสดงออกทางวรรณคดี) นิยมผู้หญิงเอวบางร่างน้อย ผู้ชายก็สันทัดพอประมาณ คนที่ขี้เหร่อัปลักษณ์แต่รักจริงอย่างขุนช้าง ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นพระเอก นางแก้วหน้าม้าและเจ้าเงาะของรจนา ถ้าเขาทั้งสองลืมมนต์ถอดร่างก็คงจะไม่ต่างเจ้าตัวร้ายดีๆ นี่เอง

ความมุ่งหมายของกวีที่ชมสะโพกของนางสีดา เข้าหลักจิตวิทยาที่ว่า ชมแต่น้อย เหลือนั้นให้เป็นจินตนาการ คือแทนที่จะมาพรรณนาถึงเส้นผม ปาก คอ คิ้ว คาง หว่างทรวงของนางสีดาสวย ก็เลือกมาชมเพียงจุดสองจุด ที่เหลือก็ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังจินตนาการไปเองว่านางสีดานั้นเธองามทั้งร่าง หรือการจะชมสาวออฟฟิศนางหนึ่งก็เลือกเปรยให้ได้ยินสักหนึ่งอย่าง ขืนชมตั้งแต่หัวจดเท้าอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ สะโพกของนางสีดาของกวีไทยคงไม่ตีความว่า บึ่บบั่บอย่างไหซอง ต่ประการใด

จะเป็นเพราะหลักการเทียบความหมายผิด หรือแกล้งตีความให้ผิดๆ ก็สุดจะเดา ในปัจจุบันนี้ความหมายของ “สะโพกสุดเสียงสังข์” หมายไปที่สะโพกใหญ่เท่านั้น ไม่รวมทั้งร่าง ส่วนจะใหญ่แบบเทอะทะ หรือใหญ่อย่างน่าชื่นชมต้องหมั่นสังเกตน้ำเสียงผู้พูดว่า เขาต้องการให้เราเข้าใจไปในทํานองใด

ดังนั้น “สุดเสียงสังข์” ในสำนวนนี้จึงเป็นคำขยายความหมายโดยอิงความคิดแบบไทยๆ หากจะตอบคำถามที่ว่า สะโพกขนาดใดที่สมควรใช้สำนวนนี้ ประเด็นนี้…ขอให้เป็นวิจารณญาณของผู้ใช้ภาษาก็แล้วกัน