[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 03 สิงหาคม 2565 17:03:41



หัวข้อ: "ทำไมคนไทยเรียก ฌ เฌอ ว่า ฌ กะ เฌอ"
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 03 สิงหาคม 2565 17:03:41

"ทำไมคนไทยเรียก ฌ เฌอ ว่า ฌ กะ เฌอ"


       (:LOVE:)ความเป็นไปได้ ๑.
       หลายคนคงทราบว่าในยุคหลัง ๆ (รวมถึงปัจจุบัน) เวลาเรียกตัว ศ ศาลา และ ษ ฤๅษี หลายคนมักจะเรียกว่า ศ คอ ศาลา และ ษ บอ ฤๅษี ทั้งนี้เพราะ ศ มีลักษณะคล้ายกับ ค และ ษ ก็มีลักษณะคล้ายกับ บ เหตุผลเพื่อช่วยให้ไม่สับสน (ซึ่งการท่องจำลักษณะนี้เป็นวิธีการที่ไม่เป็นทางการ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกว่า ศ ศาลา และ ษ ฤๅษี ตามลำดับ)

       จากเหตุผลข้างต้น เชื่อว่าในอดีตนั้น ผู้แต่งตำราและบทท่องพยัญชนะไทย อาจต้องการหาเทคนิคช่วยให้เด็กนักเรียนจดจำ ฌ ให้ได้ ซึ่ง ฌ ก็มีลักษณะคล้ายกับ ก เช่นกัน โดยพบหลักฐานในตำราท่องพยัญชนะไทยบางเล่ม (ตามภาพนี้) พิมพ์ว่า ฌ ก เฌอ ซึ่งจากตรงนี้หลายคนคงคิดว่าก็ต้องท่องว่า ฌ กอ เฌอ เช่นเดียวกันกับ ศ คอ ศาลา และ ษ บอ ฤๅษี เหมือนในยุคหลัง ไม่น่าจะเป็นที่มาของ ฌ กะ เฌอ

       พระยาอุปกิตศิลปสาร กล่าวไว้ในหนังสือ "สยามไวยากรณ์ อักขระวิธี ภาคต้นและภาคสอง สำหรับประโยค ๓ ชั้น ๑ ร,ศ, ๑๒๐" มีใจความว่า ตัวอักษรไทยนั้นมีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต "วิธีอ่านพยัญชนะทั้ง ๒ ภาษานี้ เขาสมมตสระอะประสม อ่านเป็น กะ ขะ" (ซึ่งจะต่างจากยุคปัจจุบันที่อ่านพยัญชนะว่า กอ ขอ)

       ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถเชื่อได้ว่า การที่ตำราหรือบทท่องพยัญชนะไทยในอดีตเขียนว่า ฌ ก เฌอ นั้น จึงออกเสียงว่า ฌ กะ เฌอ ตามหลักวิธีอ่านพยัญชนะของบาลีและสันสกฤตด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตเรายังไม่เรียกพยัญชนะ ก ข ค ง ว่า กอ ขอ คอ งอ แต่จะเรียกว่า กะ ขะ คะ งะ นั่นเอง (หรืออาจเป็นการอ่านออกเสียงตามการลดรูปของสระอะก็ได้ คือ ก ออกเสียงว่า กะ) โดยการท่องพยัญชนะ ฌ ว่า ฌ กะ เฌอ นี้ ได้รับการท่องจนติดปากต่อ ๆ กันเรื่อยมา

------
       (:LOVE:)ความเป็นไปได้ ๒.
       เรามักจะได้ยินคำท่องพยัญชนะว่า ฌ กะ เฌอ คู่กัน หรือ ฌ กะ เฌอ ต้นไม้ (โดยมีภาพประกอบเป็นต้นไม้สองต้นเสมอ) ตรงนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งที่มาได้เช่นกัน โดยคำว่า เฌอ ในภาษาไทยนั้นหมายถึง ต้นไม้ หรือไม้ และมีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร (ข. เฌี = ไม้, เฎิมเฌี = ต้นไม้) ซึ่งคำที่เขียนด้วย ฌ ในภาษาไทยนั้นมีน้อยมาก การที่ให้ท่องว่า ฌ กะ เฌอ ก็อาจเพื่อต้องการให้เด็กจำว่า ถ้าจะเขียนคำว่า เฌอ จะต้องใช้ ฌ เท่านั้น คือ ฌ จะต้องคู่กับคำว่า เฌอ (ไม่ใช่ เชอ ที่เขียนด้วย ช) จึงน่าจะเป็นที่มาว่า ฌ กับ เฌอ หรือ ฌ กะ เฌอ นั่นเอง

.......
      จากความเป็นไปได้ทั้งสองข้อข้างต้นนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นที่มาของการเรียก ฌ ว่า ฌ กะ เฌอ จนติดปาก และครูก็ได้นำมาสอนนักเรียนท่องจำจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา  อย่างไรก็ดี สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้เรียก ฌ ว่า ฌ เฌอ (อ่านว่า ชอ-เชอ) เพราะคำว่า เฌอ นั้นมีรากศัพท์จากภาษาเขมรที่แปลว่าต้นไม้ ไม่ใช่ ชอ กระเชอ ที่เขียนด้วย ช ช้าง ที่หมายถึงภาชนะสานด้วยไม้ชนิดหนึ่ง ที่มักใช้ว่า กระเชอก้นรั่ว

       ดังนั้น เวลาที่เราต้องเรียกตัวอักษร ฌ อย่างเป็นทางการ จึงควรเรียกว่า ฌ เฌอ (ชอ-เชอ) จึงจะถูกต้อง (รวมทั้งต้องเรียก ศ และ ษ ว่า ศ ศาลา และ ษ ฤๅษี ด้วยตามลำดับ)


(https://scontent.fbkk10-1.fna.fbcdn.net/v/t1.6435-9/60250899_1307904192698700_7272306357221457920_n.jpg?_nc_cat=105&ccb=1-7&_nc_sid=973b4a&_nc_ohc=NmFheyIQiBIAX92WvJe&_nc_ht=scontent.fbkk10-1.fna&oh=00_AT8hOG6K_XVmcCHkGHoqhEO0rbnO2Wj6qYfz2I15p2cpxA&oe=630F6597)

       .......
       ผู้เขียน : ตะขบ
       Page : มานะ มานี ปิติ ชูใจ
       วันที่ : ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒

       ภาพประกอบ : คุณ Cinn Natthicha