[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 08 กันยายน 2565 17:26:38



หัวข้อ: เงินฮาง-เงินฮ้อย เงินตราโบราณที่ใช้กันในภาคอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 08 กันยายน 2565 17:26:38
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41136545439561__Copy_.jpg)

เงินฮาง-เงินฮ้อย เงินตราโบราณที่ใช้กันในภาคอีสาน และลุ่มแม่น้ำโขง

ผู้เขียน - หนุ่มบางโพ
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพฤหัสที่ 8 กันยายน พ.ศ.2565


ในภาคอีสานและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงสมัยรัชกาลที่ 4-5 นั้น นอกจากจะใช้เงินเหรียญ (พดด้วง) ของรัฐบาลสยามแล้ว ในท้องถิ่นยังมีการใช้เงินตราของตัวเองกันอยู่บ้างสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า นั่นคือ เงินฮาง และเงินฮ้อย

เงินตราโบราณนี้จะใช้น้ำหนักของเนื้อเงินเป็นเกณฑ์ โดย เงินฮาง ผลิตจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ ภายหลังมีการผลิต เงินฮ้อย เข้ามาใช้เพิ่มอีกชนิดหนึ่ง โดยผสมโลหะเข้าไป ไม่ใช่เนื้อเงินบริสุทธิ์ จึงมีราคาค่างวดต่ำกว่าน้ำหนัก

ธวัช ปุณโณทก เขียนอธิบายเกี่ยวกับ เงินฮาง และเงินฮ้อย ไว้ในบทความ “เงินตราภาคอีสาน” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551 มีรายละเอียดดังนี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41136545439561__Copy_.jpg)
เงินฮาง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551)

เงินฮาง มีสัณฐานเหมือนรางข้าวหมู หรือรางหญ้าคอกม้า รูปทรงยาวรีหัวท้ายงอนเหมือนเรือไหหลำ โดยทั่วไปมีขอบเหมือนแคมเรือทั้งสี่มุม มีท้องเป็นร่องเหมือนท้องเรือแต่ไม่ลึก มีขนาดยาวประมาณ 6 นิ้วฟุต กว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต หนาครึ่งนิ้ว (น้ำหนัก 25 บาท 2 สลึง)

หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เขียน “เรื่องเงินของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือลัทธิธรรมเนียม (โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2504 หน้า 48-62) ได้ให้รายละเอียดเรื่องเงินฮางว่า “ที่มุมข้างหนึ่งมีดวงตราตอกประจำ ในดวงตรานั้นเป็นอักษรจีน 2 อักษร แต่ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ในท้องเงินข้างมุมที่ตอกดวงตรานั้นมีรอยขีดตีนกา 2 เส้น ดูเหมือนเลขจีนสำหรับนับนัมเบอร์ มีดังนี้เหมือนกันทุก ๆ ฮาง เงินฮางมีน้ำหนัก 6 ตําลึง 6 สลึง” โดยทั่วไปเงินฮางมี 2 แบบ คือ

1) เงินฮางรังไก่ คือเงินฮางที่กลางท้องแท่งเงินมีร่องแหลมกลมเหมือนก้นหอย ลึกประมาณกระเบียดหนึ่ง ส่วนอื่น ๆ เหมือนกับเงินฮางทั่วไป

2) เงินฮางศีรษะโป คือเงินฮางที่รูปร่างด้านหัวข้างหนึ่งเป็นปมโตกว่าอีกข้างหนึ่ง จึงเรียกว่า หัวโป หัวปมนี้ใช้เป็นที่ตอกตราประจำ และขีดเครื่องหมายตีนกา

เงินฮางนี้ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ได้ให้คำอธิบายว่า เป็นเงินที่ผลิตในประเทศญวน มีใช้ทั่วไปในประเทศญวน และประเทศเขมร ซึ่งดูเหมือนเป็นเงินตราสากลใช้ได้ทั่วไปในหลายประเทศ เงินฮางนี้บางแห่งเรียก เงินแท่ง ก็มี เงินแนน หรือเงินแน่น ก็มี

ค่าของเงินฮาง
เงินฮางเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ ฉะนั้นราคาค่างวดของเงินฮางก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก โดยทั่วไปเงินฮางแห่งหนึ่ง ๆ มีน้ำหนัก 6 ตำลึง 6 สลึง เท่ากับ 25 บาท 2 สลึง การใช้เงินฮางซื้อสินค้าจึงใช้ซื้อสินค้าที่มีค่ามาก ๆ หากซื้อสินค้ามีค่าไม่ถึง 25 บาท 2 สลึง จะต้องใช้เงินบาท เงินสลึง หรือเงินเฟื้องทอน (คือเหรียญรัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำไปใช้ในหัวเมืองภาคอีสาน)



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28401466459035__Copy_.jpg)
เงินฮ้อย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับฉันวาคม 2551)

หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เขียน “เรื่องเงินของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือลัทธิธรรมเนียม (โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ.2504 หน้า 48-62) ได้อธิบายรูปพรรณสัณฐานเงินฮ้อยไว้ว่า เงินฮ้อย เป็นเงินหล่อชนิดหนึ่ง รูปพรรณอย่างเดียวกับเงินฮาง แต่หัวเรียวเหมือนกระสวยที่เขาทอหูก ไม่มีตรายี่ห้อและเลขหมายนัมเบอร์เหมือนเงินฮาง เงินตู้ (เงินทั้งสองดังกล่าวมีดวงตราอักษรจีน) อนึ่งเงินฮ้อย หรือเงินฮ่อย มิใช่เป็นเงินที่หล่อด้วยเงินแท้ ๆ เป็นชนิดเงินปน คือเขาเอาทองสำริด หรือทองขาว (เนื้อเหมือนขันลงหิน) มาหลอมสูบในไฟไล่ขี้โลหะออกไปหลาย ๆ หน จนหมดตะกั่วและชินที่ปนอยู่ในเนื้อทองสำริด ผสมกับเนื้อเงินแท้ ๆ ในสัดส่วนเงินหนัก 10 สลึง ทองสำริดหนัก 7 บาท 2 สลึง (รวมน้ำหนัก 10 บาท) นำโลหะผสมใส่ในเบ้าหลอมไฟให้ร้อนจนหลอมละลาย นำไปเทลงในพิมพ์ จะได้เงินฮ้อย 1 แท่ง

สัณฐานของเงินฮ้อยที่หล่อแล้วเป็นทรงยาวรีเหมือนกระสวยทอผ้า ยาวประมาณ 5 นิ้วฟุต กว้างประมาณ 1 นิ้วฟุต หนาประมาณครึ่งนิ้ว ทำหัวท้ายเรียว ตรงกลางป่อง มีปุ่ม ๆ เป็นลายตลอดแท่งเงิน ตามปุ่ม ๆ นั้นจะเป็นเนื้อเงินแท้ ส่วนแท่งเงินเป็นเนื้อเงินประสมดังกล่าว การหล่อเงินฮ้อยนี้หล่อกันได้เสรี เหมือนเงินลาด ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ฉะนั้นช่างที่รู้วิธีหล่อโลหะก็สามารถหล่อเงินฮ้อยใช้ได้ เงินฮ้อยที่ใช้ในภาคอีสานนั้นไม่ปรากฏเครื่องหมายใด ๆ ที่จะบอกสถาน ที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่หล่อเงิน แต่กระนั้นก็ตามราษฎรอีสานก็ใช้เงินฮ้อยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทั่วไป ก่อนที่จะได้เงินเหรียญของรัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ไปใช้ในภาคอีสาน

เงินฮ้อย เป็นเงินประสม ไม่ได้เป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์เหมือนกับเงินตู้ และเงินฮาง ฉะนั้นค่าของเงินฮ้อยจึงไม่มีราคาตามน้ำหนักโลหะ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ได้เขียนถึงราคาเงินฮ้อยสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “เงินฮ้อยแม้จะมีน้ำหนักถึง 10 บาท แต่ใช้กันเป็นราคาเงินฮ้อยหนึ่งเพียง 5 บาทบ้าง 3 บาทบ้าง ไม่เป็นที่ยุติลงได้ เพราะบางคราวขึ้นราคา บางคราวก็ลงราคา เงินฮ้อยที่เรียกกันมาแต่โบราณว่า ‘ฮ้อยน้ำหก’ คือ ราคา 6 บาทนั่นเอง แต่ภายหลังมีผู้หล่อเงินฮ้อยขนาดเล็กลง มีน้ำหนัก เพียง 5 บาทบ้าง 10 สลึงบ้าง เงินฮ้อยขนาดเล็กก็เรียก ‘เงินฮ้อย’ เช่นเดียวกัน