[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 16 กันยายน 2565 15:32:12



หัวข้อ: พระปรางค์วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร อนุสรณ์ความเศร้า พ่อต้องประหารลูก!!
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 16 กันยายน 2565 15:32:12
(https://lh5.googleusercontent.com/p/AF1QipM05kd4pN9YFj9AOTId6N3Fl5mj5t1k-w8dDlG7=w1080-k-no)
พระปรางค์วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

เบื้องหลังวัดงาม พระปรางค์ใหญ่สะดุดตา! อนุสรณ์ความเศร้าแฝงการเมือง พ่อต้องประหารลูก!!

โดย: โรม บุนนาค
เผยแพร่: ผู้การออนไลน์  16 ก.ย. 2565  
 

วัดงามวัดนี้ก็คือ วัดพิชัยญาติ ที่วงเวียนเล็ก ฝั่งธนบุรี ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้บูรณะขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๒ จากเดิมเป็นวัดร้าง เมื่อบูรณะเสร็จได้น้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” แต่คนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดพิชัยญาติ”

ขณะที่บูรณะวัดนี้ขึ้นนั้น ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ตำแหน่งจางวางพระคลัง มีหน้าที่ดูแลการเงิน การค้า และภาษีอากร มีเรือสำเภาไปค้าขายกับเมืองจีนเป็นประจำ จึงนำกระเบื้องสีและหินจากเมืองจีนมาประดับ ตามสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นที่นิยมแบบไทยผสมจีน ต่อมาวัดนี้ได้รับการบูรณะจากพระมหากษัตริย์ตลอดมา และเป็นไปตามพระราชนิยมของแต่ละยุคสมัย วัดนี้จึงเป็นที่ผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั้ง ไทย จีน และตะวันตก อย่างกลมกลืน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในขณะนี้

จุดเด่นของวัดนี้คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ วัดโดยรอบ ๖๗ เมตร ส่วนสูงถึงยอดนภศูล ๔๒.๗๕ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ องค์ หันพระพักตร์ไป ๔ ทิศ ขนาบด้วยพระปรางค์เล็กอีก ๒ องค์ วัดโดยรอบองค์ละ ๓๐ เมตร สูง ๒๒.๘๐ เมตร องค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอารย์ องค์ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลา ๔ รอย เป็นของโบราณไม่ปรากฏที่มา

ที่มาของวัดงามวัดนี้มีเบื้องหลังมาจากคดีพิศวาสโด่งดังในรัชกาลที่ ๓ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงค์ กล่าวว่า อ้ายพลาย กับ อีทรัพย์ ทาสของ พระสุริยภักดี บุตรชายคนเดียวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ อ้างว่าพระยาสุริยภักดีได้ใช้ให้อีทรัพย์กับอีหนูทาสอีกคนหนึ่ง ไปพูดจาแทะโลมและส่งของกำนัลให้เจ้าจอมอิ่ม พระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลัวว่าตัวจะมีความผิดไปด้วย จึงนำเรื่องราวไปร้องต่อเจ้าพระยาธรรมา เสนาบดีกระทรวงวัง จากการไต่สวนได้ความว่า พระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มยังไม่เคยพบปะพูดจากันเลย เป็นแต่ส่งเพลงยาวหรือจดหมายรักและของกำนัลให้กัน เจ้าจอมอิ่มได้สั่งความให้มาบอกพระสุริยภักดีว่า จะขอลาออกจากราชการมาอยู่บ้านพ่อแม่สักพักก่อน แล้วจึงให้ส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอ ทั้งยังระบุด้วยว่า พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) ซึ่งสังกัดกรมวังรู้เห็นเป็นใจรับจะสู่ขอเจ้าจอมอิ่มกับพระมหาเทพ ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมอิ่มให้ โดยมีหมอดู หมอเสน่ห์ของทั้งสองฝ่ายทราบเรื่องอีกรวม ๗ คน

พระสุริยภักดีนั้นมีอายุ ๒๗ ปี มีเมียมีลูกแล้ว นอกจากจะมีลูกกับภรรยาหลวง ๓ คนแล้วยังมีลูกกับภรรยาอื่นอีก ๑๑ คน

หนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าความต่อไว้ว่า เมื่อตระลาการนำคำไต่สวนขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษาเข้าเฝ้า มีพระราชกระแสรับสั่งว่า พระสุริยภักดียังเป็นหนุ่มรุ่นคะนอง ย่อมจะทำผิดพลาดไปโดยไม่ทันได้คิดถึงความผิดถูก อีกทั้งก็ยังมิได้พบปะพูดจากันเลย จึงมีพระกรุณาธิคุณจะยกโทษให้ แต่เมื่อมีเรื่องราวกล่าวโทษมีโจทก์ขึ้นมาเช่นนี้แล้ว จะทรงปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเลยก็ไม่ได้ ทรงพระมหากรุณารับสั่งให้พระยาพระคลังทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และขอทำทัณฑ์บนไว้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้

พระยาพระคลังกราบทูลว่า ท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงเช่นนี้ ยิ่งสมควรจะรักษากฎหมายของบ้านเมืองไว้ มิฉะนั้นจะเป็นการเสียหายต่อแผ่นดิน เสมือนเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมมีอภิสิทธิ์ทำอะไรก็ไม่มีความผิด ขอให้ลงพระราชอาญาตามแต่คณะลูกขุนจะพิจารณาเถิด

ในที่สุด คณะลูกขุนศาลาซึ่งก็มีพระยาพระคลังร่วมอยู่ในคณะด้วย ได้ดำเนินการพิจารณาโทษของพระสุริยภักดีไปตามพระกฤษฎีกาที่ได้กำหนดโทษไว้ว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายและหญิง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ พระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มกับผู้ที่รู้เห็นเป็นใจอีก ๗ คน จึงถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตทั้งหมดที่สำเหร่

ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้สร้างวัดพิชัยญาติขึ้น ส่วนท่านผู้หญิงน้อย ผู้เป็นมารดา ก็ได้สร้าง “วัดอนงคาราม” ในที่ดินซึ่งเป็นสวนกาแฟของท่าน อยู่ฝั่งตรงข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยากับวัดพิชัยญาติ อุทิศส่วนกุศลให้บุตรชาย

เรื่องนี้เป็นเรื่องโด่งดังในยุคนั้น และทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าน่าจะมีอะไรแอบแฝง เช่น ทาสที่ฟ้องนายของตัวเองต่อเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นเรื่องที่ทาสไม่น่าจะกล้าทำ ที่สำคัญยังยื่นฟ้องด้วยการเขียนหนังสือ ซึ่งทาสไม่น่าจะรู้หนังสือถึงขาดนั้น ต้องมีคนเขียนให้แน่ จึงตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะมีคนถือโอกาสนำเรื่องนี้มาสกัดกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง ด้วยขณะนั้นทั้งพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัต) และเจ้าพระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) พี่ชาย ซึ่งว่าการคลังมาก่อนจะว่ากลาโหม ต่างก็มีอำนาจในราชการอยู่มาก เนื่องจากเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธ์นวล พระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระอัครมเหสีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเป็นที่ไว้วางใจมาทุกรัชกาล อาจเป็นที่ขัดขวางความใฝ่ฝันในอำนาจของบางคนได้

แต่อย่างไรก็ตามต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทั้งสองท่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดของขุนนาง คือ สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ และ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ หรือที่เรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” กับ “สมเด็จเจ้าพระยาองศ์น้อย”

สิ่งต่างๆในบ้านเมืองทุกวันนี้ โดยเฉพาะที่มีมาแต่อดีตอันยาวนาน ย่อมมีที่มาและความเป็นไป หากสนใจใคร่รู้ ก็จะได้รู้ที่มาของสิ่งเหล่านั้นที่เป็นสมบัติของชาติในวันนี้