[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2565 14:17:44



หัวข้อ: เห็ดโคน ที่มาของคำว่า “มากยังกับดอกเห็ด”
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2565 14:17:44

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87920854116479_4_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23577605725990_5_Copy_.jpg)

เห็ดโคน


เห็ดโคน เป็นเห็ดที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เพราะมีรสชาติอร่อยกว่าเห็ดทุกชนิด เห็ดโคนจะเริ่มออกในระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ฝนตกอากาศชื้นมาก และจะร้อนอบอ้าวอยู่ประมาณ 2-3 วัน ติดต่อกัน ลักษณะอากาศร้อนแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่า ร้อนเห็ด เมื่อมีฝนตกใหญ่อีกครั้งในราวสองวันต่อมาเห็ดโคนก็จะออก บางคนเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า เห็ดปลวก เพราะมักจะขึ้นตามจอมปลวกหรือบริเวณที่เคยมีปลวกอยู่ เป็นรังปลวกเก่า  เห็ดชนิดนี้พบมากแถบจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และนครราชสีมา บางท้องถิ่นอาจเรียกเห็ดโคนว่า เห็ดสารท เพราะเห็ดจะเริ่มขึ้นประมาณเดือน ๙ ถึงเดือน ๑๐ ซึ่งตรงกับเทศกาลสารทลาว สารทญวน และสารทไทย

ดอกเห็ดที่ยังอ่อนจะมีหมวกเห็ดสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ยอดหมวกแหลม และมีความแข็งแรงจนสามารถดินแทรกดินจอมปลวกซึ่งเหนียวกว่าดินธรรมดาขึ้นมาบนผิวดินได้ หมวกเห็ดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2-20 เซนติเมตร ลำต้นหรือก้านดอกตรงส่วนที่ติดกับหมวกจะพองอัดแน่น หลังจากหมวกเห็ดดันโผล่ผิวดินขึ้นมาร่มก็จะเริ่มบานออก ก้านดอกยืดยาวสูงขึ้นจนเป็นรูปทรงกระบอกโตเท่ากันตลอดทั้งก้านดอก โดยจะมีความยาวตั้งแต่ 5-15 เซนติเมตร เมื่อมีอายุมากขึ้น ดอกเห็ดจะบานจนดอกเละและตายไปในระยะเวลาไม่เกิน 2 วัน เมื่อสปอร์ของดอกเห็ดโคนแก่จะหลุดออกมาจากครีบดอกเห็ดและตกอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าบริเวณใดในปีต่อไปก็จะมีเห็ดโคนขึ้นในบริเวณนั้นอีก  ดังนั้น ผู้ที่พบแหล่งเห็ดโคนจึงพยายามปิดเป็นความลับไม่บอกให้ผู้ใดทราบ เพื่อที่ว่าในปีต่อไปจะได้ไปเก็บเห็ดอีกแต่เพียงผู้เดียว

ลักษณะของเห็ดโคนเมื่อโผล่พ้นดินจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นักหาเห็ดที่ชำนาญจะสามารถค้นพบกลุ่มเห็ดโคนได้โดยดมกลิ่น ยิ่งเป็นตอนเช้า ดอกตูมของเห็ดจะยิ่งหอมมาก ในช่วงที่เห็ดโคนเริ่มออกในราวเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปีนั้น บางที่ท้องของจังหวัดกาญจนบุรี เช่น บริเวณเขาตอง บ้านพุปะดู่ ไทรโยค ฯลฯ จะพบเห็ดโคนจำนวนมากจนเชื่อกันว่าการงอกของเห็ดโคนอาจเป็นที่มาของคำว่า “มากยังกับดอกเห็ด” จำนวนคนที่ออกไปหาเห็ดก็มากราวกับ “งานทอดกฐิน” เมื่อพบกลุ่มดอกเห็ดโคนที่เริ่มบานหรือบานแล้วก็จะรีบเก็บแล้วนำไปขายทันที แต่ถ้าดอกเห็ดยังมีขนาดเล็กก็จะยังไม่เก็บแต่จะรอไว้เก็บในวันรุ่งขึ้น ซึ่งบางทีถึงกับนอนเฝ้ากันเลยทีเดียว

เห็ดโคนที่ออกในช่วงแรกหมวกเห็ดจะมีสีเกือบดำ หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วจะมีเห็ดโคนออกอีกในช่วงต่อๆ มา แต่หมวกเห็ดจะเริ่มมีสีขาวมากขึ้น ถ้าหมวกเห็ดเป็นสีขาวก็แสดงว่าจะหมดฤดูเห็ดโคนแล้ว

เห็ดโคนใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิดและทำได้หลายวิธี แม้เพียงต้มใส่น้ำปลาอย่างเดียวก็อร่อยแล้ว การต้มเห็ดกับน้ำเกลืออัดขวดขายเป็นที่นิยมทำกันทั่วไป จัดเป็นการถนอมอาหารอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีเห็ดโคนบริโภคได้นอกฤดูกาล แต่ราคาจะแพงมาก  

การดองเปรี้ยวเห็ดโคนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ทำโดยการนำเห็ดโคนที่ล้างสะอาดแล้วเคล้ากับเกลือประมาณ 2 ส่วน ทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง แล้วเอามาต้ม จะมีกรดบางอย่างเกิดขึ้นทำให้เห็ดมีรสเปรี้ยว นอกจากนี้ยังใช้เห็ดโคนใส่ต้มยำ แกงเขียวหวาน หรือผัดกับผักก็ได้.


เอกสารอ้างอิง ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ. การเพาะเห็ดและเห็ดบางชนิดในประเทศไทย. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2522.