[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 ธันวาคม 2565 14:14:24



หัวข้อ: บุหรี่ขี้โย : ลมหายใจแห่งวิถีชาวลานนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ธันวาคม 2565 14:14:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/94377709262900_318117529_1529746804207661_336.jpg)

ชาวล้านนานิยมสูบบุหรี่มานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด
มูลี หมายถึง บุหรี่ คือยาสูบที่ใช้ใบตองเป็นต้น พันให้เป็นมวนเพื่อใช้จุดไฟสูบรมควัน
มูลีที่มวนขึ้นมานั้นจะมีทั้งมวนขนาดย่อม มวนขนาดใหญ่  และมวนโต - ขนาดยาวพิเศษ
พบว่าบางคนมวนมูลีขี้โย ยาวถึง ๒๐ เซนติเมตร และส่วนหัวนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
ถึง ๔ เซนติเมตรก็มี มูลีซีโยนี้ เวลาสูบอาจมีลูกไฟตกลงมาด้วยก็ได้ กล่าวกันว่าหากพบ
คนที่เสื้อผ้ามีรอยไหม้เป็นรูเล็กๆ หลายๆ รู  ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าผู้นั้นเป็นนักสูบมูลีซีโย

บุหรี่ขี้โย
ลมหายใจแห่งวิถีชาวลานนา

มูลีซีโย

มูลี คือ บุหรี่

ซีโย  หมายถึง เครื่องปรุงของบุหรี่ที่ใช้โรยผสมกับยาเส้น เพื่อลดความฉุนของยาให้อ่อนลง

มูลีซีโย จึงเป็นยาเส้นผสมซีโย มวนใบตอง

ส่วนประกอบของมูลีหรือบุหรี่ มีสองส่วนคือ ยาสูบหรือยาเส้น และวัสดุที่ใช้มวนยาเส้น  วัสดุที่ใช้มวนส่วนใหญ่ใช้ใบตองกล้วยทั้งใบแห้งและใบอ่อน  ใบแห้งได้จากต้นโดยตรง ส่วนใบอ่อนต้องผ่านการรีดให้แห้งและเรียบร้อยก่อน  วัสดุอีกชนิดหนึ่งได้จากกาบหมาก

ในส่วนของยาเส้นมีทั้ง “ยาชื่น” คือ ยาชนิดฉุน และ “ยาจาง” เป็นยาชนิดจืด  ยาบางถิ่นมีชื่อเรียกตามที่มา เช่น
- ยาเมืองสอง คือ ยามาจากอำเภอสอง จังหวัดแพร่  
- ยาแพล่ เป็นยาจากจังหวัดแพร่  
- ยาช่อแล เป็นยามาจากตำบลช่อแล จังหวัดเชียงใหม่  
- ยาเมืองปง  เป็นยามาจากอำเภอปง จังหวัดพะเยา  เป็นต้น
* ยาสูบหรือยาเส้นจะถูกนำมาปูรายเป็นแถวบนใบตองแล้วมวน และส่วนใหญ่จะใช้ซีโยผสมลงไปด้วย

กล่าวถึง “ซีโย” ว่ากันว่ามาจากคำว่า “เซโย” ในภาษาพม่า  คนล้านนาออกเสียง “ซีโย” แต่เอาเข้าจริงๆ โดยทั่วไปเรียก ขี้โย

ซีโย หรือ ขี้โย ทั่วไปใช้เปลือกของฝักมะขามตำให้แหลก จนมีลักษณะคล้ายขี้เลื่อยหยาบ แต่ก็มีบางถิ่นใช้ไม้ข่อยฝานเป็นแว่นแล้วตำให้แหลก ลักษณะคล้ายขี้เลื่อยหยาบเช่นกัน จากนั้นนำไปผสมกับน้ำอ้อยคั่วไฟอ่อนพอมีกลิ่นหอม

การสูบบุหรี่ ในภาษาล้านนาไม่ใช้คำว่า “สูบ” แต่ใช้คำว่า “ดูด” และ “กิน” เป็น “ดูดมูลี” หรือ “กินมูลี” และนอกเหนือจากการดูดหรือกินเป็นปกติ ชาวล้านนายังมีวัฒนธรรมการเสพที่แฝงวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป เช่น เวลาจะไปถ่ายทุกข์นอกบ้านต้องเสพเพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการอยากขับถ่าย และเวลาขับถ่ายกลิ่นมูลีสามารถกลบกลิ่นของเสียได้  

ขณะไปทำงานในท้องนาซึ่งเต็มไปด้วยเหลือบริ้นไร ควันมูลีก็ช่วยขับไล่มิให้มารบกวนได้  

การไปไหนมาไหนในยามราตรี ถ้ามีมูลีเป็นเพื่อนทางจะทำให้อุ่นใจ เพราะมีแสงไฟวาบจากมูลีเป็นแสงส่องเป็นครั้งคราวไป

ในการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว บ่อยครั้งการขอต่อมูลีกันก็ถือเป็นการนำไปสู่ความคุ้นเคย และเกิดสัมพันธภาพอันดีในเวลาต่อมา  และการเกี้ยวพาราสีในบางครา หนุ่มบางรายจะร่ายคาถาแล้วพ่นควันใส่สาวเจ้า นัยว่าเป็นการใช้คาถาให้เกิดมนต์เสน่ห์ ให้สาวหลงรักตนได้ด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากชาวล้านนาโบราณมักเสพสูบมูลีมาแต่อายุยังน้อย รสและขนาดของมูลีมักมีความสัมพันธ์กับวัยไปด้วย  กล่าวคือ มูลีรสจืดมักเป็นมูลีของเด็ก ฉุนขึ้นมาหน่อยเป็นของหนุ่มสาว ฉุนมากขึ้นก็เป็นของผู้สูงวัยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนขนาดของมูลี ของเด็กจะเล็กแหลม ของหนุ่มสาวก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และยิ่งอายุมากก็เพิ่มเป็นมวนโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

มูลีซีโยอาจอ่อนกำลังลง คือความนิยมลดลง เพราะมีบุหรี่ประเภท “ของนอก” อาทิ “มูลีกำไก่” (บุหรี่ตราไก่) ก้นหวานๆ และ “มูลีตองกี” จากพม่า ตลอดจน “มูลีต๋องขาว” คือบุหรี่มวนด้วยกระดาษสีขาว หรือที่เรียก “มูลีกะแร็ต” ของฝรั่ง    ล่าสุด มี “มูลีติดแอร์” ได้แก่ บุหรี่ก้นกรองที่มีรสเมนทอลให้รสเย็นในคอมากมายหลายยี่ห้อ

กระนั้น ก็ยังพบว่าในตลาดมีใบตองมวน ยาเส้น และซีโย (บุหรี่มวนใบตอง) จำหน่ายไม่ห่างหายไปไหน  แสดงให้เห็นว่า ลมหายใจของ “มูลีซีโย” ยังมีอยู่ แม้จะเบาแผ่นไปมากแล้วก็ตาม.
...ที่มา “มูลีซีโย” | ล้านนาคำเมือง - ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/98259659359852_1_10_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92600340727302_b.JPG)

ชาวล้านนานิยมใช้ตองกล้วย (ใบกล้วย) พันใบยาสูบหั่นฝอย และกาบหมาก ทั้งนี้ นิยมใช้ใบแห้งของกล้วยตีบ
และกล้วยอ่อง (หรือกล้วยน้ำว้า)   โดยชาวบ้านจะเลือกฉีกเอาใบกล้วยที่มีสภาพดีนำไปตากแดดพอให้คลี่ออก
ได้ง่าย แล้วตัดให้เป็นแผ่นขนาดกว้างประมาณ ๑๐ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม.ใช้เตารีดร้อนนาบใบตองนั้นให้
แห้ง หรืออาจใช้ปีบคว่ำบนเตาอั้งโล่ แล้วเอาตองกล้วยอ่อนพันรอบๆ ภายนอกปีบไฟ จะช่วยให้ตองอ่อนแห้งได้
บางคนจะคั่วทรายให้ร้อน กรอกใส่ถุงผ้าขนาดส้มโอ  ผูกปากให้เรียบร้อย  เอาทาบตองอ่อน แล้วม้วนรวมเข้าไว้
หรือใช้กรรไกรตัดเจียนขอบให้เรียบร้อย เสร็จแล้วนำมาพันเข้าด้วยกันให้เป็นม้วน ใบตองชนิดนี้จะให้ความหอม
แก่บุหรี่ได้อีกด้วย
ภาพประกอบ : จิตรกรรมฝาผนัง "กระซิบรักบรรลือโลก" ปู่ม่าน - ย่าม่าน
วัดภูมินทร์ อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน