หัวข้อ: ไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน เป็นบรรพชนคนไท? เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 ธันวาคม 2565 18:24:03 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/94736410718825_IMG_1599_696x507_Copy_.jpg) ภาพเขียนไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน (ภาพจาก หนังสือ 百女圖 เขียนโดย 廬延光) ไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน เป็นบรรพชนคนไท? ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2554 ผู้เขียน - วิภา จิรภาไพศาล เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2565 “มอง เธอสาวเธอสวยฉันจึงได้มอง หากเธอไม่สวยฉันจะไม่มอง…พักตร์เธอสวยแจ่มดั่งจันทร์เพ็ญ ฉันแทบช็อคตายเพราะใจเต้น ถ้าหากไม่เห็นฉันคงไม่มอง ไม่มอง มองเธอ เธอสวยน่ารักฉันจึงได้มอง ต่อให้เทวีที่อยู่บนฟ้า ต่อให้สีดาก็ยังเป็นสอง ต่อให้ไซซีที่โลกยกย่อง หากเจอกันสองต่อสอง ฉันว่าพระอินทร์ยังต้องมองเธอ…” ไซซีเป็นใครเราหลายคนยังไม่รู้แน่ชัด แต่ฟังจากชื่อเธอน่าเป็นคนจีน ที่สำคัญเธอต้องสวยเอาเรื่อง เพราะในเนื้อเพลงข้างต้น เพลง “มอง” ของครูสรุพล สมบัติเจริญ กล่าวเอาใจสาวๆ ด้วยการเปรียบความงามของพวกเธอว่า ไซซีที่สวยระดับโลกยังชิดซ้าย หากเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาศรมสยาม-จีนวิทยาได้จัดการบรรยายเรื่อง “ยอดหญิงงามไซซีเป็นบรรพบุรุษของคนไท” โดยมี ผศ.ถาวร สิกขโกศล, ทองแถม นาถจำนง, น.นพรัตน์ เป็นวิทยากร ซึ่งในที่นี้ของสรุปประเด็นเนื้อหามาเพียงบางส่วน น.นพรัตน์ อธิบายว่า ไซซีเป็น 1 ใน 4 หญิงงามของประเทศจีนได้แก่ ไซซี, หวางเจาจิน, เตียวเสี้ยน และ หยางกุ้ยเฟย โดยไม่ได้จัดอันดับว่าใครงามที่สุด แต่ยอดหญิงงามที่คนแต้จิ๋วจัดลำดับไว้ 4 อันดับกลับแตกต่างออกไปคือ ไซซี, หงอกี, เตี้ยวเสี้ยน และถันกี อย่างไรก็ตาม ทั้งคนแต้จิ๋วและคนจีนทั้งประเทศต่างเห็นตรงกันว่า “ไซซี” เป็นหญิงงงาม ไซซีเป็นบุคคลจริงช่วงชุนชิวกับเลียดก๊ก เธอเป็นคนแคว้นเย่ว์ ในมณฑลเจ้อเจียง โกวเจี้ยนประมุขของแคว้นเย่ว์เลือกไซซีให้เป็นจารชนหญิง นักเขียนนิยายกำลังภายในอย่างกิมย้งเขียนถึงไซซีในเรื่องสั้นชื่อ “อ๊วกนึ่งเกี่ยม-กระบี่นางพญา” ผศ.ถาวรช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าในหนังสือ “กระบี่นางพญา” นั้นกิมย้งกล่าวถึงความงามของไซซี เมื่ออาชิง-สาวแคว้นเย่ว์ผู้ชำนาญกระบี่ เกิดอิจฉา และเคียดแค้นไซซีที่เป็นที่ชื่นชอบของฟ่านหลี เสนาบดีแคว้นเย่ว์ แต่ก็ต้องจำนนกลับความงามของเธอ จนต้องยั้งกระบี่ไม้ไผ่ในมือซึ่งเป็นที่มาของการ “กุมหัวใจ” ว่า “อาชิงจ้องมองดูรูปโฉมของไซซี แววปองร้ายหมายชีวิตในสีหน้านางค่ยๆ จางหายไป กลายเป็นผิดหวังสิ้นกำลังใจ แล้วกลับเปลี่ยนเป็นตื่นเต้นพิศวง ชื่นชม และแปรเป็นเทิดทูนไปในที่สุด ปากพูดพึมพำว่า ‘ใต้…ใต้ฟ้ามีหญิงาม งามเช่นนี้อยู่จริงๆ! ฟ่านหลี นาง…งาม…งามเลิศกว่าคำพรรณฯ ชมของท่ามากนัก!’ เอวอ้อนแอ้นเอี้ยวกลับ มีเสียงกู่กังวานพุ่งผ่านหน้าต่างออกไป… ดวงตาไซซีฉายประกายแห่งความอิ่มเอมใจสุดประมาณออกมา แต่ทันใดนั้น ก็ค่อยๆ ขมวดคิ้ว ยกมือขึ้นกุมหัวใจ ไม้ไผ่ของอาชิงแม้จะไม่แทงถูกนาง แต่พลังจากปลายไม้ได้พุ่งเข้ากระแทกหัวใจนางจนบาดเจ็บ สองพันกว่าปีที่ผ่านผู้คนต่างรู้ดีว่า ‘ไซซีกุมหัวใจ’ เป็นรูปลักษณ์อันงามที่สุดบนพื้นพิภพ” (จากสี่ยอดหญิงงาม ผู้ผลิกประวัติศาสตร์จีน, ถาวร สิกขโกศล) ส่วนนางไซซีเป็นคนไทหรือเปล่านั้น เวทีการบรรยายในครั้งนี้ได้นำเสนอเห็นว่า ทองแถมกล่าวว่า จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เช่น พื้นที่บริเวณเซียงไฮ้จนถึงเวียดนามตอนเหนือมีคนมีหลายเผ่าที่มีวัฒนธรรมรวมกัน คือ การตัดผมสั้น, อยู่เรือนเสาสูง, สักร่างกาย, เชี่ยวชาญทางน้ำ เรียกว่า “ไป่เย่ว์-เย่ว์ร้อยจำพวก” ที่กระจัดกระจายอยู่ในมณฆลเจ้อเจียง, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, กวางสี, ยูนาน ฯลฯ ไป่เย่ว์เป็นชื่อกลุ่มทางวัฒนธรรม ซึ่งคือกลุ่มชนหลากเผ่า หลายตระกูลภาษา แต่มีวัฒนธรรมร่วมกัน ส่วนเย่ว์ที่อยู่เจ้อเจียงอย่างนางไซซีเป็นไทหรือไม่นั้น ทองแถมกล่าวว่า ยังขาดหลักฐานครบถ้วนชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางภาษาจากบันทึกบทเพลงชาวเย่ว์ นักวิชาการจีนศึกษาว่าเสียงร้องนั้นเป็นภาษาอะไร พบว่ามีคำศัพท์และการเรียงประโยคแบบภาษาตระกูลไท-กระได ซึ่งเป็นภาษาไทอยู่ในตระกูลภาษานี้ด้วย จึงพอจะสรุปได้ว่า ชาวเย่ว์ในก๊กนางไซซีเป็นกลุ่มหนึ่งในเย่ว์หลายกลุ่ม และมีเย่ว์กลุ่มหนึ่งที่เป็นบรรพชนของคนไท ขณะที่ ผศ.ถาวร ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาทางพันธุกรรมศาสตร์แบ่งสายพันธุ์มนุษย์ตามโคโมโซมวาย และแบ่งโคโมโซมวายของมนุษย์ได้ตั้งแต่กรุ๊ป A-R แล้วมีกรุ๊ปย่อยอีก โดยมนุษย์ที่อยู่แถบเอเชียตะวันออกจะเป็นกรุ๊ป O การค้นคว้าของจีน O-1 เป็นมนุษย์ที่พูดภาษาออสโตรเนเชียน คือ ภาษาเย่ว์ ภาษาชวา-มลายู ภาษาเกาซ่านในไต้หวัน และภาษาไท-กระได, O-2 –ออสโตรเอเชียติก-ภาษามอญ-เขมร, O-3-ภาษาจีนทิเบต แต่เดิมภาษาไทอยู่ตระกูลเดียวกับจีน แต่ตอนหลังทฤษฎีออสโตรเนเชียนมาแรง เพราะข้อมูลทางดีเอ็นเอยืนยันว่ามีการร่วมกันทางพันธุกรรม ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ส่วนภาษาเกาซ่าน ภาษาชวา มาลายู เป็นคำติดต่อ และมีพยัญชนะต้นควบกล้ำ หากนักวิชาจีนพิสูจน์ว่า คำที่ภาษาไทเหมือนกันภาษาจีนนั้น ภาษาไทยืมภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่คำนับ 1-10, คำเรียกอวัยะทั้งหลาย ภาษาไทเอาภาษาจีนมาใช้ เช่น คำเรียกอวัยวะหัว มี 3 คำคือ หัว, กบาล, เกล้า หัว คือ โท่ว ในภาษาจีน เกล้าคือคำดั่งเดิมของไท กบาลยืมภาษาเขมร จากปรากฎการณ์ทางภาษาและดีเอ็นเอ ขอสรุปว่า ภาษาไท เย่ว์ เกาซ่าน เป็นกลุ่มร่วมกันมาแต่เดิม แต่ภาษาไทได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนจึงกลายไป อาจารย์หลี่ฮุย มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นที่ศึกษาภาษาเยว์ ที่ตำบลหม่าเฉียว ใกล้ๆ เมืองเซียงไฮ้ พบว่า มีความเชื่อมต่อกับภาษาเกาซ่านและภาษาไท-กระได ว่ามีการรวมตระกูลกันแต่ดั้งเดิม แล้วมาแยกกันภายหลัง เช่นเดียวกับภาษาญวนที่เป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร แต่ได้รับอิทธิพลภาษาจีนจึงมีเสียงวรรณยุกต์ นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์จีน คือ เจิ้งจางส่านฟาได้ศึกษาและอ่านเพลงเคลื่อนพลของโกวเจี้ยนด้วยภาษาไทสยาม ส่วนเหว่ยชิงเวิ้นอ่านบทเพลงชาวเย่ว์ที่บันทึกด้วยอักษรจีนโบราณด้วยภาษาจ้วง โดยใช้หลักการทางภาษาศาสตร์ที่เรียกว่า รูปสืบสร้าง (reconstruction form) รูปสืบสร้าง คือ พิจารณาเนื้อเพลงแต่ละตัวอักษร เช่น อักษร ม้า-马 เมื่อ 2,000 ปีก่อนไม่ได้อ่านออกเสียงว่า “หม่า” ออกเสียงว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเสียงม้าในปัจจุบันแน่นอน ในกรณีนี้เจิ้งจางส่านฟางเลือกภาษาไทสยาม ดังนั้น เมื่อเราเอาอักษรจีนโบราณไปเขียนเป็นภาษาเย่ว์จะอ่านตามเสียงภาษาจีนปัจจุบันไม่ได้ ต้องวิเคราะห์ว่าอักษรจีนนั้นๆ ในยุคสมัยดังกล่าวออกเสียงว่าอย่างไร คือรูปสืบสร้าง เอารูปสืบสร้างสร้างเสียงโบราณซะก่อน แล้วดูว่าอักษรจีนโบราณตัวนั้นที่ออกเสียงอย่างนี้ใกล้กับคำไทคำใด แล้วเอาเสียงไทโบราณคำนั้นมาเทียบ ก็คือเอาเสียงโบราณกับเสียงโบราณมาเทียบกัน เช่นนี้เพลงทั้งสองจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าภาษาเย่ว์เป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลไท-กระได ที่สืบค้นได้ไกลที่สุดในขณะนี้ |