[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 มกราคม 2566 20:33:10



หัวข้อ: เเหม่มมะตูน ตั้งโรงเรียนการเรือนเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 มกราคม 2566 20:33:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77541813088787_1_Copy_.jpg)
ภาพวาด : ครูเหม เวชกร

เเหม่มมะตูนตั้งโรงเรียนการเรือน

งานของมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๓ มีหลายอย่าง ฝ่ายชายดำเนินงานแยกออกได้กว้างๆ เป็น ๓ ทาง คือ ทางศาสนา มีสอนศาสนาทางหนึ่ง ทางเพทย์ มีรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางหนึ่ง และทางเผยแผ่วัฒนธรรม มีตั้งโรงพิมพ์และนำของวิทยาศาสตร์แบบใหม่เข้ามา เช่น เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักรกลไกต่างๆ อีกทางหนึ่ง ฝ่ายหญิงดำเนินงานไปในทางการศึกษา คือสอนวิชาหนังสือเด็กชายหญิง

ว่าถึงการศึกษาของไทยสมัยนั้น ยังไม่มีสถานที่สอนที่เรียกว่า "โรงเรียน" อย่างในปัจจุบัน เท่าที่ปฏิบัติกันทั่วไป เด็กชายเรียนหนังสือกับพระภิกษุสงฆ์ตามวัด จนมีความรู้พอสมควรแล้วก็ทำงานตามสกุล ส่วนเด็กหญิงเรียนอยู่กับบ้าน แต่ไม่นิยมเรืยนมาก เรียนเพียงเล็กน้อยอย่างที่พูดกันว่า "เรียนพออ่านฉลากยาออก" ฉลากยาคือหนังสือที่หมอเขียนไว้ที่กระดาษห่อยารักษาโรคให้ใว้ในบ้าน เมื่อเจ็บป่วยก็หยิบมาใช้ได้ถูกต้อง ที่ไม่เรียนมากมักจะว่ากันว่ากลัวเล่นเพลงยาวกับผู้ชาย นอกจากวิชาหนังสือ เด็กหญิงส่วนมากก็ฝึกหัดวิชาช่าง เช่น เย็บปักถักร้อย และการช่าง การฝีมือต่างๆ ไปตามสกุลเหมือนกัน

มิชชันนารีหญิงที่ดำเนินงานทางการศึกษาเป็นคนแรก ก็คือ แหม่มดาเวนปอร์ต ภรรยาหมอดาเวนปอร์ต ที่เข้ามาเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๓ แหม่มดาเวนปอร์ตได้ตั้งสถานที่ศึกษาขึ้น สอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นแบบ School (โรงเรียน) สอนเด็กไทยเป็นครั้งแรก ต่อมาถึงปื พ.ศ.๒๓๘๓ มีมิชชันนารีหญิงสาวชื่อ เพียร์ส เข้ามา มิสเพียร์สได้ตั้งสถานที่ศึกษาเป็นแบบที่เรียกว่า Boarding School (โรงเรียนกินนอน) ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกคนหนึ่ง แต่สมัยนั้นไทยเรายังไม่นิยมการศึกษากันนัก ประจวบกับมิสเพียร์สถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.๒๓๘๗ และหมอดาเวนปอร์ตที่ย้ายไปจากเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๓๘๘ งานทางด้านศึกษาก็ชะงักไปถึงปี พ.ศ.๒๓๘๙ หมอมะตูน กับภรรยาเข้ามา แหม่มมะตูนได้จัดตั้งสถานที่สอนเด็กหญิงขึ้นในบ้าน พ.ศ.๒๓๙๑ อีกครั้งหนึ่ง ได้สอนมาจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๓

ขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๓๙๕ แหม่มมะตูนได้เริ่มตั้งสถานศึกษาขึ้นในหมู่บ้านมอญแห่งหนึ่ง สอนทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย กับตั้งที่ริมวัดแจ้งอีกแห่งหนึ่ง สอนเฉพาะเด็กชาย สถานศึกษาทั้งสองแห่งนี้จัดเข้ารูปอย่างที่เรียกว่า "โรงเรียน"

ปี พ.ศ.๒๓๙๙ แหม่มะตูนได้ตั้งสถานศึกษาแบบโรงเรียนการเรือนขึ้นสอนวิชาการเรือนแก่สตรีที่แต่งงานแล้วมีนักเรียนเข้าเรียน ๗ คน นับเป็นโรงเรียนการเรือนที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย วิชาการเรือนนั้นตามปรกติไทยเราก็มีกันอยู่แล้ว กล่าวคือสอนให้หญิงสาวรู้จักเย็บปักถักร้อยตลอดจนการครัว อย่างที่พูดกันว่า "ให้รู้จักหม้อข้าวหม้อแกง" คือทำอาหารคาวหวานเป็น สมัยก่อนการสู่ขอหญิงสาว ถ้าผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไม่เต็มใจหรืออยากจะให้รอไปก่อน ก็มักจะพูดเบี่ยงบ่ายว่า "ยังไม่รู้จักหม้อข้าวหม้อแกง" ไทยเรากันว่าผู้ที่จะเป็นแม่เรือนนั้น ถ้าไม่รู้จักวิชาปรุงกับข้าวของกิน แล้วก็ยังนับว่าเป็นแม่เรือนแท้ไม่ได้ การปรุงกับข้าวของกินจึงเป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิงที่จะเป็นเแม่เรือน แต่โรงเรียนการเรือนของแหม่มมะตูนจะสอนอะไรบ้างไม่ทราบ

สมัยก่อนแม่ค้าพายเรือขายขนม เคยร้องขายว่า "อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางคูวัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกะฎีจีนแม่เอ๊ย" ของที่ขายนั้นระบุชื่อที่กำเนิดอันเป็นตำบลมีชื่อเสียง คืออ้อยจีนต้องเป็นอ้อยที่บางใหญ่ อ้อยไทยต้องเป็นอ้อยที่บางคูวัด (สองแห่งอยู่ในคลองบางกอกน้อย) ข้าวหลามตัดต้องเป็นข้าวหลามตัดทำที่วัดระฆัง แล้วขนมฝรั่งก็ต้องเป็นขนมทำที่ตำบลกะฎีจีน แสดงว่าของที่มาจากตำบลดังกล่าวแล้ว ต้องเป็นของดีมีชื่อเสียง ตำบลกะฎีจีนเคยเป็นที่อยู่ของพวกฝรั่งมาตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา และเมื่อพวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาก็มาอยู่แถวกะฎีจีนกันมาก ขนมที่เรียกชื่อว่า "ขนมฝรั่ง" ก็บอกอยู่ในตัวว่าเป็นของฝรั่ง

อนึ่ง สมัยก่อนอาหารที่ได้ของฝรั่งปรุง ก็เคยมีชื่ออยู่หลายอย่าง เช่น พล่าไก่งวงแฮม ไก่งวงแฮมหลน พล่าปลาอันโชวี (ตำรับท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์) ดังนั้นโรงเรียนการเรือนของแหม่มมะตูนก็คงจะสอนวิชาปรุงอาหารและทำขนมแบบฝรั่งด้วยเหมือนกัน อาจสอนทั้งที่เป็นอาหารฝรั่งแท้ เช่น พวกสลัด สเต็ก สตู และขนมเค้ก และที่ดัดแปลงมาเป็นไทย เช่นพวกที่ปรุงด้วยหมูแฮม แอโชวี่ ฯลฯ และขนมที่เรียกว่า "ขนมฝรั่ง" (คล้ายเค้ก) ซึ่งกะฎีจีนเคยมีชื่อเสียง และปัจจุบันก็ยังทำกันหลายแห่ง


......................................

ที่มา - (ประวัติ เเละวรรณคดีไทย) ชัยพฤกษ์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๕ ออก ๑ สิงหาคม ๒๕๐๗ ต้นฉบับของครูวิน เลขะธรรม
เรื่อง - ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
มูลนิธิเหม เวชกร (เรื่อง/ภาพ)