[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 17:06:12



หัวข้อ: รู้หรือไม่ “ปาท่องโก๋” จริงๆ ไม่ได้ชื่อนี้,หน้าตาแบบนี้ แล้วตัวจริงหน้าตายังไง?
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 17:06:12
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99401087189714_12055788265188280671.jpg)
ปาท่องโก๋ ภาพประกอบจาก มติชน อคาเดมี


รู้หรือไม่ “ปาท่องโก๋” จริงๆ ไม่ได้ชื่อนี้,หน้าตาแบบนี้ แล้วตัวจริงหน้าตายังไง?

ผู้เขียน   - คนไกล วงนอก
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


ในบรรดาอาหารจีน “ปาท่องโก๋” เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากรู้จัก และคุ้นเคยกับรสชาติของมันอย่างกว้างขวาง เราหลายคนกินปาท่องโก๋กับชา, กาแฟ, น้ำเต้าหู้ หรือกินกับโจ๊กเป็นอาหารเช้า กินกับนมข้นหวาน, สังขยาเป็นของว่าง กันมานาน

แม้ปาท่องโก๋เป็นอาหารจีน แต่คนจีนไม่ได้เรียกมันว่า “ปาท่องโก๋”

ก่อนจะไปดูว่า ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของมันคืออะไร มาดูคำอธิบายเกี่ยวกับปาท่องโก๋จากฝ่ายไทยก่อน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำอธิบาย “ปาท่องโก๋” ว่า

(1) น. ของกินชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งข้าวเจ้ากับนํ้าตาลทราย รูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู

(2) น. ของกินชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งสาลีตัดเป็นท่อนๆ แล้วจับเป็นคู่ติดกัน ทอดนํ้ามันให้พอง, คนจีนเรียกว่า อิ้วจาก๊วย.

เมื่อดูคำอธิบายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ข้างต้น ปาท่องโก๋ 2 ลักษณะ ปาท่องโก๋ตาม (1) ดูแปลกหน้า แต่ไม่มีชื่อ ขณะที่ (2) มีลักษณะคุ้นเคยใกล้เคียงกับปาท่องโก๋ที่กินกัน แต่ชื่อกลับแปลกหู

หาก (2) นั้นสอดคล้องกับงานเขียนจำนวนไม่น้อยของนักเขียน และนักวิชาการที่ต่างๆ ก็อธิบายไปในแนวทางเดียวกันว่า “ปาท่องโก๋” ที่กินในไทย ชื่อจริงในภาษาแต้จิ๋วว่า “อิ้วจาก๊วย” (ขนมทอดน้ำมัน) หรือที่ภาษาจีนกลางว่า “โหยวจ้ากว่อ”

ไม่เพียงเท่านั้น “ปาท่องโก๋” ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีนเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว 

วรศักดิ์ มหัทธโนบล นักวิชาการจีนศึกษา อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “…คำว่า อิ้วจาก๊วย นี้เพี้ยนมาจากคำว่า อิ้วจาไขว่ หรือที่จีนกลางออกเสียงว่า โหยวจ้าฮุ่ย อันเป็นตำนานที่มาของขนมชนิดนี้…ตำนานนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) เวลานั้นมีขุนนางผู้หนึ่งมีชื่อว่า ฉินฮุ่ย (ค.ศ.1090-1155) เป็นขุนนางกังฉิน ขึ้นชื่อในความโฉดชั่วที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน…เป็นคนขายชาติจีนให้แก่พวกชนชาติจิน (หรือ กิม ในคำจีนแต้จิ๋ว) ให้ร้ายป้ายสีขุนนางตงฉิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง…

ขุนนางที่ถูกความโฉดชั่วของฉินฮุ่ยกระทำจนถึงแก่ชีวิตก็คือ เยว่เฟย หรือที่คนไทยรู้จักในเสียงจีนแต้จิ๋วว่า งักฮุย ซึ่งเป็นขุนศึกผู้ซื่อสัตย์ต่อราชบัลลังก์และรักชาติ โดยเมื่อพวกจินยกทัพมารุกรานจีนนั้น เยว่เฟยและบุตรชายซึ่งเป็นนายกองก็กรีธาทัพเข้าโรมรันต่อกรจนได้รับชัยชนะ

แต่เนื่องจากฉินฮุ่ยได้รับผลประโยชน์จากการรุกรานของพวกจิน เขาจึงใส่ร้ายป้ายสีเยว่เฟยต่อองค์จักรพรรดิซึ่งพระองค์ทรงเชื่อตามนั้น จึงทรงเรียกตัวเยว่เฟยกลับมายังพระนครโดยไม่ต้องไปรบกับศัตรูอีก ครั้นพอกลับมาถึงก็ถูกฉินฮุ่ยจับกุมคุมขัง หลังจากนั้นจึงฆ่าทั้งสองพ่อลูกเสีย…

…สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ในราชวงศ์นี้มีการสร้างศาลเจ้าเยว่เฟยขึ้นที่เมืองหางโจว เพื่อให้ชาวจีนได้สักการะในฐานะขุนศึกผู้รักชาติและซื่อสัตย์สุจริต โดยเบื้องหน้ารูปเคารพของเยว่เฟยจะมีรูปของฉินฮุ่ยกับภรรยาที่หล่อด้วยเหล็กนั่งในท่าคุกเข่าเยี่ยงผู้กระทำผิด เมื่อชาวจีนมาเคารพเยว่เฟยเสร็จก็จะหันมาถ่มน้ำลายใส่ฉินฮุ่ยกับภรรยาด้วยความเคียดแค้นเหยียดหยาม

กล่าวกันว่า หลังจากนั้นจึงมีการทำขนมโหยวจ้าฮุ่ยขึ้น โดยคำว่าฮุ่ยก็คือฉินฮุ่ยนั่นเอง ขนมนี้ทำด้วยแป้งตัดเป็นแนวยาวแล้วนำมาประกบติดกัน เพื่อแทนสองสามีภรรยาในท่าที่ผูกติดกัน จากนั้นนำไปทอดจนออกมาเป็นขนมโหยวจ้าฮุ่ย หรือโหยวจ้ากั่ว หรืออิ้วจาก๊วย…” [สั่งเน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน]

ปัจจุบันที่ประเทศจีน คนส่วนใหญ่มักจะเรียกมัน [ปาท่องโก๋] อย่างย่อๆ ตามรูปทรงขนมที่เป็นเส้นทอดด้วยน้ำมันว่า “โหยวเถียว” ที่แปลตรงตัวว่า เส้นน้ำมัน ซึ่งปาท่องโก๋จีนมีความยาวกว่าปาท่องโก๋ที่ไทยประมาณ 1 เท่าตัว เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม ขณะที่ปาท่องโก๋ไทยจะกรอบนอกนุ่มใน

เมื่อ “ปาท่องโก๋” ที่กินกันทุกวันนี้ ไม่ได้มีชื่อเรียกว่า “ปาท่องโก๋” แล้ว “ปาท่องโก๋” ตัวจริงเป็นอย่างไร

วรศักดิ์ มหัทธโนบล อธิบายว่า “ปาท่องโก๋เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำจีนกวางตุ้งที่ออกว่า ปากถ่องโก๊ว จีนกลางออกว่า ไป๋ถังกาว (baitanggao) คำว่า ปา แปลว่า ขาว สีขาว คำว่า ท่อง แปลว่า น้ำตาล [น่าจะเป็นน้ำตาลทราย เพื่อขนมจะออกมาขาวสมชื่อ] และคำว่า โก๋ แปลว่า ขนมแป้งข้าวเจ้า เมื่อรวมกันเป็นคำว่า ปาท่องโก๋ ก็จะแปลตรงตัวได้ว่า ขนมน้ำตาลขาว กล่าวกันว่า ขนมชนิดนี้เป็นของคนจีนกวางตุ้ง มีหน้าตาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

สรุปได้ว่า “ปาท่องโก๋” ตัวจริง-ทำจากแป้งข้าวเจ้า, น้ำตาลทรายขาว, น้ำ และทำให้สุกด้วยการนึ่ง ส่วนตัวปลอม-ทำจากแป้งสาลี, เกลือปริมาณเล็กน้อย, น้ำ และทำให้สุกด้วยการทอด ทั้งสองจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่ทำไมเรียกสับสนกันนั้น ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้

อย่างไรก็ตามในไทย เรายังต้องเรียกมันว่า “ปาท่องโก๋” ต่อไป เพราะถ้าเรียกด้วยชื่อที่ถูกต้องอื่นๆ รับประกันไม่ได้ว่าจะได้อะไรมากินตอนเช้ากับน้ำเต้าหู้ ชา กาแฟ หรือโจ๊ก ที่นี้แหละเป็นเรื่อง