[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2566 18:52:47



หัวข้อ: คุกหลวง : "จดหมายเหตุกรุงศรีฯ"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2566 18:52:47
(https://go.ayutthaya.go.th/wp-content/uploads/2021/08/145743049_137554254871260_7211481179087950384_n.jpg)

จดหมายเหตุกรุงศรีฯ "คุกหลวง"

คุกหลวง            ในกฎมณเฑียรบาลได้แบ่งตัวพระนครออกเป็น ๔ แขวง โดยกำหนดให้ “หอกลอง” เป็นจุดกึ่งกลางของการแบ่งเขตการปกครองดูแล ซึ่งแต่ละแขวงมีขุนนางตำแหน่ง “ออกหลวง” หรือ “ออกขุนแขวง” ปกครองดูแลความเรียบร้อย เป็นนายกองตำรวจ คอยรับผิดชอบ  นายตำรวจเหล่านี้ถือดาบติดมือเสมอ มีพวกแขนลายเป็นนายขมังธนู เป็นบริวาร เมื่อมีคนทำความผิดตำรวจแขวงก็จะเป็นผู้จับคุมผู้ทำความผิดส่งเข้าไปกักขังในคุกหรือเรือนจำในแต่ละแขวง  ในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “นายคุกนั้นมีพัศดีเรือนจำโดยแท้ คุกแปลว่าเรือนจำและไม่มีเรือนจำที่ไหนจะร้ายกาจเท่าเรือนจำในประเทศสยามไปได้ เป็นคอกหรือกรงสร้างด้วยไม้ไผ่ถูกฝนถูกลมอยู่ตลอดเวลา

ในพระนครศรีอยุธยา คุกกลางของนครบาลตั้งอยู่ในเขตชุมชนใกล้เขตพระราชวังหลวง ตรงบริเวณสี่แยกที่เรียกว่า “ตะแลงแกง” ซึ่งบริเวณที่เป็นคุกหลวงจะมีสภาพเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่กลางบึง รวมทั้งมีวัดที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ด้วยนั้นคือ วัดเกษ

ด้วยเหตุดังกล่าว คุกหลวง แห่งนี้เป็นที่กักขังนักโทษการเมืองและนักโทษร้ายแรง ดังจะเห็นเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้กวาดต้อนจับพวกชาวฝรั่งเศสและพวกเข้ารีตมากักขังไว้ ตามจดหมายเหตุที่บาทหลวงบันทึกไว้

ในคุกหลวงนครบาล นอกจากจะใช้สำหรับเป็นที่กักขังนักโทษแล้ว ยังจะได้ใช้เป็นสถานที่พิพากษาคดีโดยเฉพาะการดำน้ำหรือลุยไฟพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของคู่กรณีเช่นเดียวกัน เพราะที่บนเกาะทางทิศใต้ของคุกหลวง ด้านหลังของเจดีย์ประธานวัดเกษ มีสระแปดเหลี่ยมใหญ่อยู่ ๑ สระ  เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ระหว่างทำการขุดลอกเพื่อบูรณะได้พบว่าที่กึ่งกลางของสระมีเสาไม้หลักอยู่คู่หนึ่ง ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า สระแห่งนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการดำน้ำพิสูจน์ความจริงของคู่กรณีก็เป็นได้

ในอธิบายภูมิสถานอยุธยาระบุว่า ย่านตะแลงแกง ขายของสดเช้าเย็น เรียกว่าตลาดหน้าคุก ๑  และที่ใกล้ๆ กันคือศาลพระกาฬ (ด้านใต้ตรงข้ามวัดเกษ) ย่านหน้าศาลพระกาฬมีร้านชำขายหัวไนโคลงไนปั่นฝ้าย ๑  จะเห็นได้ว่าบริเวณหน้าคุกหลวงมีผู้คนสัญจรไปมาและเป็นย่านพลุกพล่านแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

ปัจจุบันนี้ บริเวณที่เคยเป็นคุกนครบาล ได้เป็นที่ตั้งของเรือนไทยที่ชื่อว่า คุ้มขุนแผน โดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ซึ่งสร้างขึ้น พ.ศ.๒๔๓๗ จากวัดสะพานเกลือบริเวณเกาะลอย มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกนครบาลเก่าแห่งนี้ และใช้ชื่อบ้านทรงไทยนี้ว่า “คุ้มขุนแผน” สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า คุ้มขุนแผน เพราะในวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผนในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินพระพันวสา ซึ่งสืบเหตุการณ์ได้แล้ว เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นในราวแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงตั้งชื่อบ้านหลังนี้ที่มาสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นคุกนครบาล สอดคล้องกับการที่ขุนแผนมาติดคุกนครบาลแห่งนี้ดังบทประพันธ์ในเรื่องขุนช้างขุนแผน

"คุกหลวง" อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ที่มาเรือง/ภาพ)  


หัวข้อ: Re: ตำนานมวยอยุธยา : "จดหมายเหตุกรุงศรีฯ"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2566 19:14:34
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75758764271934__2560_Copy_.jpg)
วิกิพีเดีย - ที่มาภาพประกอบ

จดหมายเหตุกรุงศรีฯ  "ตำนานมวยอยุธยา"

ตำนานมวยอยุธยา              วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันมวยไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ  สันนิษฐานว่าทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทย และมีตำรับมวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ มีการคัดเลือกชายฉกรรจ์ชกมวยต่อสู้หน้าพระที่นั่งเพื่อคัดเลือกเป็นทหารคนสนิทของพระมหากษัตริย์

ก่อนหน้าในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเน้นให้ทหารใช้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าอย่างยอดเยี่ยมคือ มวย  ครั้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการพัฒนานำนักมวยแต่ละค่ายมาเปรียบมวยกัน ใครชนะจะได้รางวัลไป มวยไทยสมัยนั้นรุ่งเรืองมาก ไม่ว่าจะมีเทศกาลอะไรจะมีการแข่งมวยอยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังมีนักมวยไทยกลายเป็นตำนานอย่างนายขนมต้ม ที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และไปสร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือเมื่อนายขนมต้มชกนักมวยพม่าชนะ ๑๐ คนรวดโดยไม่ต้องมีการหยุดพัก ต่อพระพักตร์พระเจ้ากรุงอังวะ ในคราวสมโภชพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ทรงดำริว่าคนอยุธยามีพิษสงอยู่ทั่วตัว เป็นที่ครั่นคร้ามต่อกษัตริย์พม่าเป็นอย่างยิ่ง


ขอขอบคุณที่มา "ตำนานมวยอยุธยา" อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา - นายวุฒิพันธุ์ นวลสนิท เรียบเรียง