[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 พฤษภาคม 2566 17:23:50



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๙๙ อนนุโสจิยชาดก : ชายผู้สูญเสียเมีย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤษภาคม 2566 17:23:50

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๙๙ อนนุโสจิยชาดก
ชายผู้สูญเสียเมีย

          เด็กหนุ่มรูปงามคนหนึ่งเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ถือพรหมจรรย์ ไม่อยากแต่งงานมีครอบครัว อยากออกบวชตลอดชีวิต แต่บิดามารดาไม่เห็นด้วย จึงคิดจะหาลูกสะใภ้มาให้ เขาจึงวาดรูปหญิงสาวสวยแล้วให้ช่างปั้นรูปทองคำขนาดเท่าตัวจริง แล้วบอกกับบิดามารดาว่า "ถ้าอยากให้เขาแต่งงาน ให้หาหญิงที่สวยเท่ารูปปั้นนี้มาให้ ไม่อย่างนั้นจะไม่แต่งงาน” จากนั้นบิดามารดาจึงให้บริวารเอารูปปั้นขึ้นรถเที่ยวตระเวนตามหาหญิงงาม จนพบหญิงสาวชื่อ สัมมิลลหาสินี อายุ ๑๖ ปี สวยราวกับเทพธิดา  จึงได้ทำการทาบทามกับพ่อแม่ของนาง พ่อแม่ฝ่ายหญิงยินยอม แต่นางไม่อยากแต่งงานเพราะตั้งใจจะออกบวชเช่นกัน แต่ไม่อยากขัดใจพ่อแม่จึงปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่  เมื่อทั้งสองแต่งงานกันแล้ว อยู่ด้วยกันเหมือนกับผู้ทรงศีล ไม่เคยร่วมประเวณีกันเลย  หลังจากบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต ทั้งสองสามีภรรยาก็ออกบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ พอเข้าฤดูฝนฤๅษีทั้งสองก็พากันเข้าไปอาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้ฉันอาหารเปรี้ยวหวานมันเค็มบ้าง
          อยู่มาไม่นาน ฤๅษีหญิงฉันอาหารไม่เหมาะแก่ร่างกาย และมรณภาพในเวลาต่อมา ชาวบ้านต่างพากันเศร้าโศกเสียใจ แต่ฤๅษีชายกลับวางเฉยได้ ชาวบ้านเห็นอย่างนั้นจึงถามว่า “ทำไมท่านไม่เสียใจเลย”
          ฤๅษีตอบว่า “เมื่อตอนนางมีชีวิตอยู่ นางเป็นอะไรกับเรา แต่ตอนนี้นางไม่อยู่แล้ว นางสมัครใจไปอยู่ปรโลก ไปอยู่ร่วมกับคนอื่น เราจะไปร้องไห้ทำไมเล่า ถ้าจะต้องเศร้ากับคนที่ไม่มีใจแก่เรา เศร้าถึงตนเองที่จะตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลาจะดีกว่า  สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง เมื่อถึงวัยก็เสื่อมไป ตัวตนเป็นหนทางอันตรายคือถูกผูกด้วยบ่วง เมื่อเป็นอย่างนั้นย่อมมีการพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย ที่ตายไปแล้วก็ไม่ควรเศร้าโศกถึง” ชาวบ้านได้ฟังแล้วก็เข้าใจถึงสัจธรรมในชีวิตมากขึ้น และเข้าใจในความไม่ยึดมั่นถือมั่นของฤๅษีชาย จึงช่วยกันทำฌาปนกิจศพของนางฤๅษี จากนั้นฤๅษีชายก็กลับเข้าป่าหิมพานต์ตามเดิม
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนเป็นกับคนตาย ต่างมีวิถีทางของตนเอง”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ยถาปิ ทารโก จนฺทํ คจฺฉนฺตํ อนโรทติ เอวํ สมฺปทเมเวตํ โย เปตมนุโสจติ
ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนที่ตายไปแล้ว ก็เหมือนเด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ที่โคจรไปในอากาศ (๒๗/๗๒๐)


ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม