หัวข้อ: คลังความรู้ เรื่อง "กงสุล" เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มิถุนายน 2566 15:59:16 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/90229120312465_685576_Copy_.jpg) กงสุล กงสุล คือ ชื่อตำแหน่งของบุคคลซึ่งรัฐบาลของประเทศหนึ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำอยู่ในเมืองต่างๆ ของอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในชาติของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลที่ไปอยู่ในเมืองต่างประเทศนั้นๆ และเพื่อดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพาณิชย์ ตำแหน่งกงสุลเกิดขึ้นจากมีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศที่อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนเพื่อความสะดวกในการติดต่อเจรจา รวมทั้งการพิจารณาพิพากษาคดีความที่เกิดขึ้น ประเทศไทยเริ่มมีสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศตะวันตกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๔-๒๐๗๒) โดยทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากับประเทศโปรตุเกสเป็นประเทศแรก ใน พ.ศ.๒๐๕๙ ต่อมาก็มีการติดต่อกับประเทศอื่นๆ คือ สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ในการติดต่อค้าขายนี้ ไทยยอมให้ชาวต่างชาติดังกล่าวมีเอกสิทธิ์เสรีภาพในการค้าขายและการประกอบพิธีทางศาสนาได้ แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งกงสุลจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ กงสุลต่างประเทศคนแรกในประเทศไทยเป็นชาวโปรตุเกส ชื่อ กาโลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา (Carlos Manuel da Silveira) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสโปรดให้อุปราชแห่งอินเดียที่เมืองกัว แต่งตั้งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขอพระราชทานที่ดินตั้งสถานกงสุลและโรงสินค้า มี กาโลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา เป็นกงสุลใหญ่และผู้อำนวยการโรงสินค้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินที่องเชียงสือเคยพำนักอยู่ให้เป็นที่ตั้งสถานกงสุล และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ กาโลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา เป็นหลวงอภัยพานิช ทำหน้าที่กงสุลใหญ่ เป็นผู้ดูแลส่งเสริมการค้าขายและรักษาผลประโยชน์ของพ่อค้าชาวโปรตุเกสในไทย และทำรายงานประจำปีเรื่องสภาพการค้าส่งให้อุปราชแห่งอินเดียที่เมืองกัว แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความ เนื่องจากยังไม่ได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องเสียอำนาจทางการศาลหรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ใน พ.ศ.๒๓๙๘ โดยลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ต่อมา ประเทศอื่นๆ ก็ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับไทยตามสนธิสัญญาดังกล่าว ไทยต้องยอมให้คนในบังคับของชาติต่างๆ ที่มีสถานกงสุลในประเทศไทยขึ้นกับอำนาจศาลกงสุลนั้นๆ โดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย มาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๑ จึงสามารถยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่างประเทศได้สำเร็จ และได้เอกราชทางการศาลคืนมาอย่างสมบูรณ์ ส่วนกงสุลไทยคนแรกในต่างประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เด เกรออง (dé Gréhan) เป็นพระสยามธุรานุรักษ์ กงสุลไทยประจำอยู่ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๖ ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการแต่งตั้งทูตไทยไปประจำในต่างประเทศครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๔๒๔ อำนาจหน้าที่ของกงสุลและทูตแตกต่างกัน คือ ทูตทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศ เป็นการติดต่อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และได้รับเอกสิทธิ์และการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่กงสุลทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ทางการค้าของคนชาติเดียวกันในต่างประเทศ เป็นการติดต่อระดับท้องถิ่นเฉพาะที่และไม่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต ปัจจุบัน กงสุลมี ๒ ประเภท คือ กงสุลกิตติมศักดิ์ และกงสุลประจำตำแหน่งหรือกงสุลอาชีพ กงสุลกิตติมศักดิ์อาจเป็นคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งหรือเป็นชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองที่ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในเมืองสำคัญหรือเมืองท่า ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลโดยไม่รับเงินเดือนและค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลที่แต่งตั้ง แต่ได้ผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงาน และหากรับเป็นกงสุลของประเทศใดแล้ว จะรับเป็นกงสุลของประเทศอื่นอีกไม่ได้ ส่วนกงสุลประจำตำแหน่งหรือกงสุลอาชีพ แต่งตั้งจากข้าราชการประจำของรัฐบาลออกไปทำหน้าที่โดยเฉพาะ ฐานะของกงสุลแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ กงสุลใหญ่ (Consul-General) กงสุล (Consul) รองกงสุล (Vice- Consul) และตัวแทนกงสุล (Consular-Agent) กงสุลใหญ่ ได้รับแต่งตั้งให้ประจำเมืองสำคัญ มีเขตควบคุมกว้างขวาง หรืออาจมีอำนาจควบคุมเขตกงสุลหลายเขต กงสุล ได้รับแต่งตั้งให้ประจำเมืองที่ไม่สำคัญมากนัก หรือมีเขตการปกครองแคบ รองกงสุล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยกงสุลใหญ่หรือผู้ช่วยกงสุล ตัวแทนกงสุล ในกรณีที่เกิดความจำเป็นจะต้องดูแลผลประโยชน์ในสถานที่บางแห่งที่ไม่มีความสำคัญมากพอ และไม่มีกงสุลหรือรองกงสุล กงสุลใหญ่หรือกงสุลที่มีอำนาจเหนือเขตนั้นมีสิทธิจะแต่งตั้งตัวแทนกงสุลไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ในการแต่งตั้งกงสุลนั้น เมื่อรัฐบาลใดดำริจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นกงสุลก็จะออกสัญญาบัตรตราตั้ง เป็นการแสดงฐานะ เขตอำนาจหน้าที่ของกงสุลนั้น จัดส่งไปยังทูต เพื่อดำเนินการขออนุมัติบัตรเป็นประกาศของรัฐ ออกคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตุลาการทั้งหลายให้ยอมรับอำนาจหน้าที่ของกงสุล และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่. ที่มา "กงสุล" สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน |