[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 กันยายน 2566 20:18:40



หัวข้อ: ความเชื่อเกี่ยวกับ "ครุฑ"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กันยายน 2566 20:18:40


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77584343858891_IMG_5478_Copy_.JPG)

หัตถกรรมเครื่องเงินรูป ครุฑ วัดศรีสุพรรณ ถ.วัวลาย  อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ความเชื่อเกี่ยวกับ "ครุฑ"


ครุฑ เป็นพญานกในจินตนาการของคนอินเดียโบราณ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อ และการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของคนไทย  

ครุฑ เป็นสัตว์ใหญ่ มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนก มีศีรษะ ปากและเล็บเหมือนนก แต่มีร่างกายแขนและขาเหมือนมนุษย์ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ

ครุฑในวรรรณคดีสันสกฤตมีเพียงตัวเดียว คือครุฑที่มีชื่อว่า “ไวนเตยะ” ในมหากาพย์ภารตะ  กล่าวว่าครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปพรหมฤๅษีประชาบดีกับนางวินตา โดยกำเนิดจากฟองไข่  เมื่อเวลาผ่านไป ๕,๐๐๐ ปี ไข่จึงแตกออกกลายเป็นนกตัวใหญ่มหึมา มีรัศมีพวยพุ่งออกจากกายสว่างรุ่งโรจน์ดังไฟไหม้ทั้งสี่ทิศ มีพละกำลังเกรียงไกร บินเร็ว เรียกกำลังได้ตามความต้องการ และสามารถเนรมิตกายได้ตามความปรารถนา

ส่วนครุฑในวรรณคดีบาลีมีจำนวนมากจนนับเป็นนกประเภทหนึ่ง เกิดจากอำนาจแห่งกุศลกรรมแต่ครั้งอดีตชาติ บุคคลสามารถกำเนิดเป็นครุฑได้ด้วยการทำบุญ  ครุฑมีผิวพรรณผุดผ่อง มีเครื่องอุปโภคบริโภคอันเป็นทิพย์ มีอายุยืน แต่ไม่ดำรงสภาพเป็นอมตะเช่นครุฑในวรรณคดีสันสกฤต  

ตามคติพุทธศาสนาได้จำแนกกำเนิดครุฑเป็น ๔ ประเภท คือ ครุฑที่มีกำเนิดในฟองไข่ เรียกว่าครุฑประเภทอันฑชะ  ครุฑพวกที่กำเนิดในครรภ์ เรียกว่าครุฑชลามพุชะ  ครุฑที่มีกำเนิดในเถ้าไคล เรียกว่าครุฑประเภทสังเสทชะ  และครุฑพวกที่เกิดขึ้นเองแบบเทวดา เรียกว่าครุฑประเภทอุปปาติกหรือโอปปาติก

ด้วยเหตุที่ครุฑมีจำนวนมาก มีความสามารถ และมีพละกำลังแข็งแรง จึงได้รับมอบหมายจากพระอินทร์ให้รักษาด่านสำคัญของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ครุฑที่ปรากฏในวรรณคดีบาลี เช่น ครุฑชื่อจิตรสุบรรณในพระสุตันตปิฎก  ลูกครุฑในกุลาวกชาดก  ครุฑในกากาติชาดก  ครุฑในสุสันธีชาดก  ครุฑในวรรณคดีบาลีมีบทบาทเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น ชอบมาดูมหรสพในโลกมนุษย์และเล่นสกากับกษัตริย์

ครุฑในวรรณคดีสันสกฤตอาศัยอยู่ที่ยอดเขาหิมวัต เขาไวกันกะ หิรัณมยวรรษ และต้นศาลมลี(งิ้ว)  ส่วนครุฑในวรรณคดีบาลีอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ต้นสิมพลี (งิ้ว) ริมมหาสมุทร และต้นสิมพลีในดินแดนที่มีทะเล แม่น้ำ มหาสมุทร และภูเขาคั่นอยู่ มักเรียกว่าสิมพลีรุกขพิมาน

ไทยได้รับความเชื่อเกี่ยวกับครุฑมาจากทั้งวรรณคดีสันสกฤตและบาลี ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าครุฑมีฤทธานุภาพมาก เป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์  ตามคติไทยโบราณถือว่าพระมหากษัตริย์ คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารลงมาเกิดเพื่อปราบทุกข์เข็ญ  ครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงถูกนำมาใช้เป็นตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์และตราประจำแผ่นดิน ส่วนรูปครุฑที่อยู่หน้าบริษัทเอกชน ห้างร้าน ธนาคารต่างๆ นั้น หมายความว่าดำเนินการโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ให้ประดับตราพระครุฑพ่าห์เป็นตราตั้งห้างไว้ที่ห้างร้านของตนได้ โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ในสิทธิที่จะเรียกคืนตราดังกล่าวได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33416032749745_SAM_5242_Copy_.JPG)
รูปครุฑที่อยู่หน้าบริษัทเอกชน โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ให้ประดับตราพระครุฑพ่าห์เป็นตราตั้งห้าง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59852940754757_SAM_5241_Copy_.JPG)
ภาพครุฑประกอบเนื้อหา ติดตั้งหน้าบริษัทเอกชน ถ่ายซูมจากอาคารฝั่งตรงข้าม
ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



โปรดติดตามตอนต่อไป