[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 ตุลาคม 2566 15:59:16



หัวข้อ: ประวัติวัดช้าง (ช้างให้) ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 ตุลาคม 2566 15:59:16

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26116816865073_1_Copy_.jpg)
เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวิหารเก่า ทางวัดติดป้ายไว้ว่า "เจดีย์บรรจุอัฐิ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี พระราชมนู (หลวงพ่อเพ็ชร)"


ประวัติวัดช้าง (ช้างให้)
ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

วัดช้าง (ช้างให้) วัดโบราณประเภทวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง  

วัดแห่งนี้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๔๕  เดิมสถานที่ตั้งวัดนี้มีฝูงช้างป่าอาศัยและลงเล่นน้ำ พระฝ่ายอรัญวาสี แวะมาพักผ่อนประจำ ชาวบ้านจึงพากันสร้างที่พักถวายพระ  ช้างจึงให้ที่ หลีกไป  จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดช้างให้”  

ต่อมาสมัยอยุธยา พ.ศ.๒๑๒๘ มีการรบที่ทุ่งบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรโปรดเกล้าฯ ให้พระราชมนู เป็นแม่ทัพหน้า ซึ่งพระราชมนูได้ใช้วัดช้างให้เป็นที่ตั้งทัพทหารจำนวน ๑๐,๐๐๐ นาย ออกลาดตระเวนดูกองกำลังของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาหรือเป็นวัดร้าง  การรบครั้งนี้ เป็นการรบแบบกองโจร ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทย  สมเด็จพระนเรศวรกองทัพไทยได้รับชัยชนะ  หลังจากมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่าสมเด็จพระนเรศวรก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ทรงโปรดให้นำพระราชทรัพย์มาปฏิสังขรณ์วัด พระราชมนูให้พ่อครูดาบพลอยใช้เรือกระแชงไปขนทองคำและพัสดุที่จำเป็นจากกรุงศรีอยุธยา มีช่างสิบหมู่มาช่วยบูรณะอุโบสถ หลังสิ้นแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชมนูซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี ที่สมุหพระกลาโหมได้ลาออกจากราชการและออกบวชที่วัดช้างให้ และได้บวชไม่สึกจนสิ้นอายุขัย ศิษย์และชาวบ้านจึงสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิทรงกลม (ระฆังคว่ำ) บรรจุอัฐิขึ้น หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานอีก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทิ้งเป็นวัดร้าง

สำหรับพระราชมนู หรือ ต่อมาคือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี เป็นขุนศึกและสมุหพระกลาโหมคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชมนู เกิดเมื่อไรและมีชื่อใดไม่ปรากฏ แต่ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคราวประกาศอิสรภาพ จึงสันนิษฐานว่าครอบครัวของพระราชมนูอาจถูกกวาดต้อนคราวเสียกรุงฯครั้งที่ ๑ ได้มีการกล่าวไว้ในพงศาวดารว่าพระราชมนูเป็นทหารที่เก่งกล้าและมีความสามารถ นอกจากนั้นยังเป็นทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรอีกด้วย ซึ่งพระราชมนูมักออกศึกเคียงคู่พระนเรศวรในการตีเมืองต่างๆ เสมอ และสามารถชนะกลับมาได้เกือบทุกครั้ง รวมถึงศึกยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่ายอีกด้วย  ภายหลังพระราชมนูได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นออกญาพระสมุหกลาโหม แต่ประวัติของพระราชมนูมีอยู่น้อยมาก เพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารไม่กี่เล่ม

พระราชมนูนั้น เคยรับพระราชบัญชาให้ไปตีเมืองๆหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า) ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ ในครั้งยังมียศเป็นคุณพระ ตอนนั้นองค์ดำเกรงว่าทัพน้อยของพระราชมนูจะไม่อาจเอาชัย จึงส่งทัพหลวงออกตามไปช่วย ปรากฏว่าเมื่อทัพหลวงไปถึง เมืองนี้ก็แตกเสียแล้ว ทัพหลวงไม่ต้องเข้าช่วยแต่อย่างใด นอกจากนี้ พระราชมนูยังมีความบ้าบิ่นอย่างที่ใครๆ ในยุคนั้นไม่กล้า คือการขัดรับสั่งของพระนเรศวรในคราวตามเสด็จศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งพระราชมนูขัดรับสั่งถอนทัพโดยกล่าวว่า "การรบกำลังติดพัน กลัวว่าถอยแล้วจะเป็นเหตุให้ข้าศึกตามตี"  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระองค์จึงได้ปูนบำเหน็จให้พระราชมนูขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี ที่สมุหพระกลาโหม พระราชทานพานทอง น้ำเต้าทอง เจียดทองซ้ายขวา กระบี่ ฝวักทองและเครื่องอุปโภคต่างๆ

ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ นายแรม นางใย ขำพักตร์ ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่  ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ “วัดช้าง” จนถึงปัจจุบัน

วัดช้างได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ ได้หนังสือรับรองสภาพวัดใหม่ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอ่างทอง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88530831163128_3_Copy_.jpg)
ที่ข้างเจดีย์มีป้ายเขียนไว้ว่า "...อุบาสิกามณีจัน...เจ้านางปิ่นทิพย์..."

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24564539310004_2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33672542083594_4_Copy_.jpg)

ขอขอบคุณที่มา (ข้อมูล)
       - วัดช้าง (ช้างให้) ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง
       - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
       - ไทยรัฐออนไลน์

850