[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 08:10:45



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๓๓ การันทิยชาดก : ผู้ให้ศีลพร่ำเพรื่อ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 08:10:45


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๓๓ การันทิยชาดก
ผู้ให้ศีลพร่ำเพรื่อ

          เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ในครั้งนั้นได้มีหนุ่มคนหนึ่งชื่อ การันทิยะ ศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งสำนักศิลปศาสตร์ในเมืองตักสิลา
          อาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งสำนักศิลปศาสตร์ เป็นคนที่ชอบให้ศีลแก่คนทั้งหลาย ทั้งๆ ที่เพิ่งพบเห็นกันและทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ขอ บางทีให้ศีลแก่ชาวประมง คนเหล่านั้นเมื่อรับศีลไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม อาจารย์บ่นไม่พอใจกับลูกศิษย์อยู่เสมอๆ
          วันหนึ่งพวกลูกศิษย์ได้เสนอแนะอาจารย์ว่า “การที่ชาวบ้านรับศีลแล้วไม่ปฏิบัติตาม กลับละเมิดศีลเสียอีกด้วย ก็เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการจะรับศีล แต่อาจารย์ยัดเยียดให้เขาเอง ทางที่ดีอาจารย์ควรจะให้ศีลเฉพาะคนที่เขาต้องการ คือ เมื่อมีคนมาขอศีล จึงค่อยให้เขา อย่าให้แก่คนที่ไม่ได้ขอเลย”
          อาจารย์ฟังแล้วไม่พอใจ ไม่เชื่อคำแนะนำ ยังคงให้ศีลไม่เลือกหน้าเหมือนเดิม
          ต่อมามีชาวบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ส่งคนมาเชิญอาจารย์ไปทำพิธีสวดที่บ้าน แต่อาจารย์ไปไม่ได้ จึงสั่งให้นันทิยะศิษย์ที่เป็นพี่ใหญ่พาศิษย์น้องจำนวนหนึ่งไปแทน และสั่งด้วยว่าเมื่อสวดทำพิธีเสร็จแล้วให้รับเอาไทยธรรมที่ชาวบ้านเขาให้เรามาด้วย
          ฝ่ายการันทิยะ ก็ได้นำพราหมณ์หนุ่มจำนวนหนึ่งไปทำพิธีให้ชาวบ้านแทนอาจารย์ ขากลับได้แวะพักที่บริเวณช่องเขาแห่งหนึ่ง
          ระหว่างนั่งพักอยู่ การันทิยะคิดห่วงใยอาจารย์ว่าท่านอาจารย์ชอบให้ศีลพร่ำเพรื่อ แม้แต่คนที่ไม่ขอก็ให้ แล้วต้องมากลุ้มใจเปล่าๆ ทำอย่างไรหนอเราจะช่วยอาจารย์ในเรื่องนี้ได้ ขณะครุ่นคิดเขาก็ขว้างก้อนหินเข้าไปในซอกเขาข้างล่างตลอดเวลา ด้วยอาการของคนจมอยู่ในห้วงแห่งความคิด หรือจมอยู่ในภวังค์
          พวกพราหมณ์หนุ่มๆ สงสัยในการกระทำของพี่ใหญ่ จึงเข้าไปถามไถ่
          การันทิยะไม่ได้ตอบคำถามของน้องๆ เพราะกำลังอยู่ในภวังค์ เพียงว่าหยุดขว้างหยุดโยนก้อนหินเข้าไปในซอกเขา กลับถึงสำนัก พวกพราหมณ์หนุ่มๆ ได้เล่าเรื่องที่การันทิยะพี่ใหญ่ขว้างโยนก้อนหินเข้าไปในซอกเขาให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงถามการันทิยะว่า “เจ้าโยนก้อนหินเข้าไปในซอกเขาไปเพื่ออะไร?”
          การันทิยะถูกอาจารย์ถามเช่นนั้น ก็เกิดความคิดแว๊บขึ้นมาทันที ตอบอาจารย์ว่า “ที่ผมขว้างก้อนหินเข้าไปในซอกเขาลึกเบื้องล่าง ก็เพื่อจะทำให้พื้นแผ่นดินตรงนั้นสูงขึ้นจนราบเรียบเสมอกัน”
          อาจารย์ฟังแล้วก็หัวเราะออกมา พร้อมกับกล่าวสอนศิษย์อย่างมั่นใจว่า “การินทิยะ! ไม่มีใครจะทำให้แผ่นดินราบเรียบเสมอกันดังฝ่ามือได้หรอก เจ้าจะถมซอกเขาให้เต็มก็คงตายเสียก่อน เป็นการกระทำที่เสียเวลาเปล่า”
          การันทิยะได้โอกาสจึงเอ่ยขึ้น “ท่านอาจารย์! ถ้าไม่มีใครสักคนทำให้แผ่นดินราบเรียบเสมอกันได้ ฉันใด ท่านอาจารย์ก็คงไม่อาจทำให้ผู้คนซึ่งมีความคิดเห็นต่างกัน รับศีลไปรักษาได้เสมอเหมือนกันฉันนั้น ศิษย์อยากให้ท่านอาจารย์ให้ศีลแก่คนที่ต้องการศีลเท่านั้น ใครไม่ต้องการก็อย่าไปให้เขาเลย”
          อาจารย์ฟังเช่นนั้น สติก็มา ปัญญาก็เกิดขึ้นฉับพลัน แล้วกล่าวขึ้น “การันทิยะ! เจ้าได้บอกความจริงอย่างย่นย่อแก่เราแล้วเป็นจริงดังว่า ไม่มีใครสามารถทำให้แผ่นดินราบเรียบเสมอกันได้ ฉันใด เราก็ไม่อาจทำให้คนรับศีลเอาไปรักษาได้หมด ฉันนั้น”
          กล่าวจบ อาจารย์ก็รับปากการันทิยะว่าจะให้ศีลเฉพาะแก่คนที่ต้องการเท่านั้น พร้อมกับกล่าวชมเชยการันทะยิที่รู้จักใช้ปัญญาแนะนำอาจารย์ไม่ให้ปฏิบัติอย่างผิดๆ   
     

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การทำอะไรไปแบบหว่านดะ เหวี่ยงแห ไม่ได้ผลแท้จริง”
“การทำโดยไม่คิด ย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล”


พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
น เว อนตฺถกุสเลน อตฺถจริยา สุขาวหา
คนฉลาดไม่ถูกเรื่อง ถึงจะพยายามทำประโยชน์ ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลให้เกิดสุข (๒๗/๔๖)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม