[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 ธันวาคม 2566 16:17:08



หัวข้อ: การสอบพระปริยัติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 ธันวาคม 2566 16:17:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38617308934529_399005170_322431337068586_2435.jpg)

การสอบพระปริยัติธรรม

การศึกษาพระปริยัติธรรม และมีการสอบเพื่อวัดความรู้ในแต่ละชั้น เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนาสืบกันมาช้านาน อย่างต่ำสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้สอบผ่านความรู้ เรียกกันว่า มหาเปรียญ แปลว่ามีความรู้มาก ภายหลังกร่อนเหลือเพียง มหา นับเป็นคำนำหน้าสมณศักดิ์ชนิดหนึ่ง การสอบครั้งกรุงเก่า สืบความไม่ได้ แต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งต้นกรุงด้วยบ้านเมืองยังไม่สงบต้องมีศึกสงครามอยู่เนืองๆ การสอบจึงกำหนดไม่ตายตัว

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาของพระสงฆ์อย่างยิ่งยวด กำหนดสอบสามปีหนหนึ่ง การสอบพระปริยัติธรรมนั้นแต่เดิมสอบในวัดซึ่งเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เข้ามาสอบที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทบ้าง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามบ้าง และเสด็จทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้เข้ามาสอบที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทบ้างในบางปี ปีใดจะมีการสอบเมื่อเข้าพรรษากระทรวงธรรมการจะมีหมายบอกไปยังพระอารามต่างๆ ครั้นออกพรรษาแล้วจึงได้ทำการสอบ วิธีการสอบนั้นนักเรียนจะเข้าไปแปลปากเปล่าในที่ประชุมพระราชาคณะ กำหนดแปลประโยคหนึ่ง ๓ ลาน คือ ๓๐ บรรทัด เมื่อแปลจบถือว่าสอบผ่าน การสอบดำเนินไปเช่นนี้จนถึง พ.ศ.๒๔๗๑ จึงได้เปลี่ยนเป็นวิธีสอบข้อเขียน มีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นแม่กองบาลีสนามหลวงรูปแรก

มีเรื่องขำขันเล่าสืบกันว่า เมื่อมีการสอบคราวหนึ่ง ขณะนักเรียนกำลังทำการแปลอยู่นั้น มาถึงศัพท์ว่า อุคฺคนฺตฺวา (แปลว่าเหาะขึ้นไปแล้ว) นักเรียนติดอยู่นานสองนาน กรรมการท่านหนึ่งสงสารโยนผ้าซับน้ำหมากซึ่งมีสีแดงขึ้น ทำนองใบ้คำว่า เหาะขึ้นแล้ว นักเรียนเห็นดังนั้น ก็เข้าใจว่ากรรมท่านนี้ใบ้ให้จึงแปลว่า “แดงแล้ว”


#เผยแพร่เป็นวิทยาทานโดย พิกุลบรรณศาลา