[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 06 มกราคม 2567 09:42:19



หัวข้อ: ข้าวเม่า ของกินที่มีมาแต่สมัยโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 มกราคม 2567 09:42:19
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51045042731695_ef772e477a31b3bdbab72b6f77baa3.jpg)
ข้าวเม่า

ข้าวเม่า เป็นของกินชนิดหนึ่ง ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เมล็ดข้าวยังไม่แก่จัดและเปลือกนอกเมล็ดข้าวยังไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง นำมาฟาดให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงตามปริมาณที่ต้องการ จึงเอาลงกระทะคั่วจนกระทั่งเมล็ดแห้ง ค่อนข้างกรอบ เปลือกแตกปริ แล้วนำเมล็ดข้าวไปใส่ในครกตำข้าว จนมีลักษณะเป็นเม็ดแบนๆ ปกติเมล็ดข้าวเม่ามีสีขาว ถ้าทำจากข้าวเหนียวดำมีสีคล้ำค่อนไปทางสีแดงหรือสีเขียวอ่อน ที่นิยมมากที่สุดคือข้าวเม่าข้าวเหนียว แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ ข้าวฮ่างหรือข้าวเม่าอ่อนทำจากเมล็ดข้าวสีเขียวจัด ข้าวเม่าแบบเขียวอ่อน ทำจากข้าวห่ามที่เปลือกเป็นสีเขียวเข้ม ขณะที่นำเมล็ดข้าวคั่วลงตำในครก จะใส่ใบข้าวอ่อนหั่นฝอยลงไปด้วย และตำไปกับเมล็ดข้าว สีเขียวจากใบข้าวก็จะไปย้อมเมล็ดข้าวให้เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนข้าวเม่าที่เป็นสีคล้ำค่อนไปทางสีแดงนั้นทำด้วยข้าวเหนียวดำ  ข้าวเม่าขาวนวล ทำจากข้าวเกือบแก่ เปลือกเขียวอมน้ำตาล

การตำข้าวเม่าเพื่อจะให้เมล็ดแบนสม่ำเสมอ และเมล็ดสวย ต้องตำเพียงคราวละ ๑ กำมือ หรืออาจใช้กะลาหรือถ้วยใบย่อมๆ ตวงข้าวเปลือกลงตำ  ในการตำข้าวเม่าแต่ละครั้งต้องใช้คนช่วยกันหลายคน ได้แก่ คนทำหน้าที่รางข้าว หรือคั่วข้าวเปลือกให้ร้อนโดยใช้ก้านกล้วยสดเป็นไม้คน คนตำข้าวเม่า 2 คน เพราะต้องตำข้าวที่กำลังร้อนจึงต้องใช้สากตำข้าว 2 ด้าม ตำข้าวไล่กัน และขณะตำข้าวจะต้องมีคนทำหน้าที่คอยกลับเมล็ดข้าวในครกโดยใช้พายหรือไม้ซีกกลับข้าวไปมาให้ถูกตำทั่วถึงกัน ส่วนอีกคนหนึ่งทำหน้าที่นำข้าวเม่าที่ตำได้ที่แล้วใส่กระด้งไปฝัดแยกรำ แกลบ และปลายข้าวออก

การบริโภคข้าวเม่าพบในประเทศที่ปลูกข้าว ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ภูฏาน อินเดีย ทิเบต ในภูฏานใช้เป็นอาหารว่างกินกับน้ำชา

ข้าวเม่า เป็นของกินที่นิยมกินมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ไม่เสียง่าย เก็บกินไว้ได้นานแรมปี และยังใช้ทำเป็นขนมหรือของหวานได้หลายรูปแบบ เป็นต้นว่า ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าบด ข้าวเม่าทอด กระยาสารท เป็นต้น



ข้อมูลอ้างอิง :
     - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 2 หน้า 620 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
     - เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
     - เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ที่มาภาพประกอบ : shopee.co.th