[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 กรกฎาคม 2567 11:31:12



หัวข้อ: มโนราห์ หรือโนรา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 กรกฎาคม 2567 11:31:12
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28769099091490_451640052_883986347111764_7514.jpg)


เกร็ดความรู้เกี่ยวกับมโนราห์หรือโนรา

มโนราห์ หรือโนรา เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วภาคใต้ และเป็นการละเล่นประจำภาคที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วๆ ไป พอๆ กับหนังตะลุง

การแสดงโนราไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีขึ้นแต่เมื่อใด แต่ในบรรดาการแสดงฟ้อนรำของไทยประเภทละครที่มีมาแต่เดิม ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ ละครชาตรีหรือโนรา ละครนอก และละครใน นั้นถือกันว่าละครชาตรีหรือโนราเป็นแบบฉบับดั้งเดิมของละครไทย นับได้ว่าโนราเป็นการละเล่นที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยเฉพาะของภาคใต้


องค์ประกอบหลักในการแสดงโนรา คือ เครื่องแต่งกายและเครื่องดนตรี
- เครื่องแต่งกาย ประกอบด้วย เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง เครื่องลูกปัดร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ ปีกนกแอ่นหรือปีกเหน่ง ทับทรวงปีกหรือหางหงส์ ผ้านุ่ง สนับเพลา ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้างกำไลต้นแขน-ปลายแขน และเล็บ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแต่งกายของโนราใหญ่หรือโนรายืนเครื่อง ส่วนเครื่องแต่งกายของตัวนางหรือนางรำเรียกว่า “เครื่องนาง” ไม่มีกำไลต้นแขนทับทรวง และปีกนกแอ่น

- เครื่องดนตรีของโนรา ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตีให้จังหวะ ประกอบด้วย ทับ (โทนหรือทับโนรา) มี ๒ ใบ เป็นตัวคุมจังหวะและเดินทำนอง กลอง ๑ ใบ ทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ ปี่ ๑ เลา โหม่ง ๑ คู่ หรือฆ้องคู่ ฉิ่ง ๑ คู่ และแตระ

การเล่นโนรานั้นจะมีการเล่น ๒ ลักษณะ คือ เล่นเพื่อความบันเทิง โดยเล่นโรงเดียว หรือเล่นมากกว่า ๑ โรง หมายถึงเล่นประชันกันหรือเรียกว่าโนราแข่ง และเล่นเพื่อประกอบพิธีกรรม เรียกว่า “โนราโรงครู” เพื่อใช้ในพิธีแก้บน และพิธีผูกผ้าใหญ่

ด้วยเหตุที่ช่วงระยะเวลายาวนานและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งมีการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ ๆ เข้ามา การแสดงโนราจึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และวิธีการแสดงไปบ้าง อันเป็นการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในสภาพสังคมปัจจุบัน



กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร (ที่มา เรื่องและภาพประกอบ)