[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 พฤศจิกายน 2567 13:40:15



หัวข้อ: การก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน บนเส้นรถไฟทางสายเหนือ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 พฤศจิกายน 2567 13:40:15
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55144757322139_Khun_Tan_Tunnel_I_Copy_.jpg)
อุโมงค์ขุนตาน ใต้เทือกเขาขุนตาล มีความยาว ๑,๓๖๒.๑๐ เมตร บนเส้นทางสายเหนือจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่
ระหว่างสถานีแม่ตาลน้อย เวียงตาล และสถานีขุนตาล อุโมงค์ทอดยาวใต้เขตแดน ระหว่างจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน

ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (ที่มาภาพ)

การก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน บนเส้นรถไฟทางสายเหนือ

ถ้ำขุนตาล หรืออุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์ทางรถไฟตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล บนเส้นทางรถไฟสายเหนือระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีความยาว ๑,๓๖๒.๑๐ เมตร กว้าง ๕.๒๐ เมตร สูง ๕.๕๐ เมตร เป็นอุโมงค์ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว อุโมงค์ด้านเหนือสูงกว่าด้านใต้ประมาณ ๑๔ เมตร ขุนตานเคยเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเป็นเวลา ๑๐๖ ปี ก่อนถูกทำลายสถิติโดยอุโมงค์ผาเสด็จ ตั้งอยู่ที่สถานีหินลับกับสถานีมวกเหล็ก ที่เปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๗

อุโมงค์รถไฟขุนตาล เป็นอุโมงค์หินแกรนิตที่ควบคุมการขุดเจาะโดย นายอิมีล ไอเซินโฮเฟอร์ (Emil Eisenhofer) วิศวกรชาวเยอรมัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ตอนต้นๆ รัชกาลที่ ๖

นายอีมีล ไอเซินโฮเฟอร์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ก่อนสำเร็จการศึกษาได้ทำงานเกี่ยวกับทางรถไฟในประเทศเยอรมนี ทั้งการสร้างอุโมงค์ในเวสปาเลีย กับสร้างประตูน้ำและทำนบในแม่น้ำออมเบอร้าด ใกล้แฟรงค์เฟิร์ส (Frankfurt) มาแล้ว

นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ เดินทางมาสยามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๖ และเข้าทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมรถไฟหลวงได้จ้างชาวเยอรมันทำงานเป็นช่างเทคนิค และงานในหน้าที่อื่นๆ เป็นจำนวนเกือบถึง ๒๕๐ คน

ในหนังสือเรื่อง German Railroad Man in Siam  เขียนโดย นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๕ ได้เล่าเรื่องการสร้างทางรถไฟสายเหนือและการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลว่า “…เนื่องจากทางสายนี้วางทอดไปตามป่าดงดิบ คนงานจึงเป็นไข้มาลาเรียและอหิวาต์ตายเป็นจำนวนพันคน ซึ่งร้อยละเก้าสิบที่ตายเป็นคนจีน แม้แต่ชาวเยอรมันโดยเฉพาะนายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ก็เป็นไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน  ใช้คนงานจีนทำงานดิน ส่วนขุดเจาะภูเขาใช้คนงานจากภาคอีสาน เนื่องจากคนจีนไม่ยอมเข้าไปทำงานในอุโมงค์ เพราะคนจีนเหล่านั้นเชื่อว่าในอุโมงค์มีภูตผีปีศาจสิงอยู่จึงมีความกลัว นอกจากอุปสรรคดังกล่าวแล้ว ยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีก เช่น เสือมาคาบเอาคนงานไปกินตลอด แม้กระทั่งม้าและล่อที่เอาไว้ขี่ใช้งาน ซึ่งเอาไปขังไว้ในคอก ในเวลากลางคืนก็ได้ถูกเสือมาขโมยเอาไปด้วย ถึงกับต้องขัดห้างบนต้นไม้ดักยิงเสือในเวลากลางคืน…

…ครั้งหนึ่ง วิศวกรเยอรมัน ๒ คน กับตำรวจไทยคนหนึ่ง ได้ยิงเสือแล้วตามรอยเลือดไป จู่ๆ เสือก็พรวดพลาดเข้ากัดและตะปบวิศวกรเยอรมัน ชื่อ เอชเชน เบรนเนอร์ ซึ่งเดินนำหน้า  เอชเชน เบรนเนอร์ จึงยิงด้วยปืนพกถึง ๖ นัดแต่ไม่สามารถจะสกัดหรือยับยั้งมันได้เลย เอชเชน เบรนเนอร์ถูกกัดที่แขนขวาและถูกตะบปที่ขาอาการสาหัส ห้องหามไปรักษาที่จังหวัดแพร่ แล้วต่อมาก็ได้ส่งมาทางรถไฟมาพักรักษาที่บางกอกเนิสซิ่งโฮม  ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชองค์รักษ์มาเยี่ยมและสอบถามอาการตลอดเวลาที่รักษาอยู่”

เรื่องเดือดร้อนอีกเรื่องหนึ่งก็คือทาก ส่วนอันตรายจากงูพิษ ปรากฏว่าคนงานไม่เคยถูกงูกัดเลย  สำหรับงูนี้ นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ได้จับงูที่หายากส่งไปพิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์ชั้นต้นที่เมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) เสมอ

ในระหว่างทำการเจาะถ้ำวางรางรถไฟอยู่นั้น นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ได้ปลูกบ้านจำนวน ๒๐ หลังอยู่ในป่า ซึ่งบ้านเหล่านี้ได้กลายเป็นบ้านรับรองของพระบรมวงศานุวงศ์ที่สนพระทัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และสนใจมาดูการขุดเจาะอุโมงค์หลายครั้งด้วยกัน เช่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทอดพระเนตรการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยความสนพระทัย  ในวโรกาสนั้น นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ได้ถวายคำอธิบายการคำนวณการเจาะอุโมงค์ทั้งสองด้านให้ทะลุถึง ณ จุดที่ต้องการ พร้อมกันนี้ก็ได้จุดชนวนไดนาไมท์ทำการระเบิดถวายให้ทอดพระเนตร ปรากฏว่าได้ระเบิดหินทะลุเป็นรัศมีกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นการเปิดทางชั้นต้น และในการขุดเจาะถ้ำขุนตาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ก็ใช้วิธีเจาะเข้าไปในภูเขาพร้อมกันทั้งสองด้านเหมือนกับถ้ำขนาดสั้นที่เคยเจาะมาแล้ว

วิธีการขุดเจาะในสมัยนั้น ใช้แรงคนเจาะภูเขาหิน ฝังระเบิดเป็นช่วงๆ ใช้เวลา ๘ ปี ในการเจาะและขนดินออกมา อุโมงค์ทั้ง ๒ ด้านก็ทะลุถึงกันตรงตามที่คำนวณไว้ และใช้เวลาอีก ๓ ปีสำหรับการผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง บุหลังคาถ้ำกันน้ำรั่วซึม ตัวอุโมงค์ที่เจาะแล้วมีความกว้าง ๕.๒๐ เมตร สูง ๕.๕๐ เมตร คนงานที่สมัครขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานนี้ ส่วนใหญ่เป็น พวก “ไม่มีที่ไป” เป็นพวกร่อนเร่เผชิญโชค พวกขี้เหล้าและขี้ยา ซึ่งขี้ยาในยุคนั้นก็คือพวกสูบฝิ่น ปรากฏว่าพวกที่ทำงานได้ดีที่สุดก็คือพวกขี้ยาสูบฝิ่น ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างมีร่างกายผอมแห้งแต่ขยันขนหิน ก็หวังจะได้เงินมาสูบฝิ่น ทั้งยังไม่มีความกลัวควันพิษต่างๆ ในอุโมงค์ที่เกิดจากฝุ่นหิน  ในการขุดเจาะนี้ ได้มีอุปสรรคและปัญหามาก เพราะคนงานไม่เคยทำงานสร้างทางรถไฟมาก่อน ตลอดจนไม่เคยเห็นอุโมงค์ แม้แต่การใช้ไดนาไมท์เจาะระเบิดเขาก็ไม่เป็น ตลอดจนเครื่องมือก็ใช้มีไม่พร้อม เช่น เครื่องอัดอากาศ ซึ่งนายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ต้องประดิษฐ์เครื่องระบายอากาศขึ้นเอง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54632986336946_558000014107603_Copy_.jpg)
นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ (ซ้าย) วิศวกรเยอรมันผู้คุมงานขุดอุโมงค์ (พ.ศ.๒๔๕๖)
ณ ทางเข้าอุโมงค์ขุนตานที่เพิ่งสร้างใหม่ และชาร์ลส เบอร์นาร์ด เอนสลี
(ผู้จัดการป่าไม้ของบริษัทบอร์เนียว)
 

หลังจากเริ่มเจาะถ้ำขุนตานมาได้ ๔ ปี ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นที่ในยุโรป ทำให้เหล็กสะพานที่สั่งซื้อจากประเทศเยอรมันไม่ส่งเข้ามาอีก นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ จึงใช้ไม้เนื้อแข็งทำสะพานแทน ส่วนสะพานสูงใกล้ๆ อุโมงค์ก็ได้วางรางเลาะลัดไปตามหุบเขา แล้วใช้ยกระดับรางให้สูง เพื่อสะดวกในการวางรางเข้าไปสู่อุโมงค์  เมื่อการสร้างทางรถไฟสองด้านที่เขาพลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่า อุโมงค์ยังสร้างไม่เสร็จ นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ จึงต้องทำการลำเลียงหัวรถจักร รถบรรทุก และวัสดุในการก่อสร้างข้ามภูเขาดังกล่าว

หลังจากทำการขุดเจาะอุโมงค์ได้ ๔ ปี ทางตอนลำปาง ขุนตาล และตอนขุนตาล-เชียงใหม่ ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย ส่วนอุโมงค์ขุนตานก็ทะลุถึงกัน เหลือแต่เพียงฉาบคอนกรีตเสริมเพดานเท่านั้น ซึ่งทำเสร็จไปได้ ๓ใน ๔ ส่วน ก็เกิดสงครามโลก ที่รบกันในยุโรป  เยอรมันคือตัวแสดงหลักในสงคราม ฝรั่งในยุโรปแบ่งข้างรบ  สยามประกาศวางตัวเป็นกลาง รอดูท่าทีอยู่ราว ๓ ปี จึงตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมัน วิศวกรชาวเยอรมัน ที่กำลังควบคุมการขุดอุโมงค์ขุนตานถูกจับเป็นเชลย ถูกถอดบรรดาศักดิ์ และถูกคุมตัวส่งลงมากรุงเทพฯ ตามกติกา  มีชาวเยอรมันที่อยู่ในกรมรถไฟและกรมไปรษณีย์รวมกันถึง ๑๗๘ คน ถูกจับทั้งหมด แต่ก็เป็นการปฏิบัติพอเป็นพิธี ชาวเยอรมันทั้งหมดรวมทั้งนายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทย ๖ เดือน แล้วถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดีย อยู่อินเดีย ๒ ปี จึงได้ถูกส่งกลับประเทศเยอรมันในปี พ.ศ.๒๔๖๓  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ นายอีมิลล์ ไอเซินโฮเฟอร์ ได้กลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งเพื่อขอมาทำงานต่อไป และจากนั้นก็ไม่ได้กลับประเทศเยอรมันอีกเลย จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ที่บ้าน ซอยแดงประเสริฐ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ  ปัจจุบันอัฐิของเขายังคงสถิตในอนุสาวรีย์อยู่ ณ ปากอุโมงค์ขุนตานทางด้านทิศเหนือ เขตแม่ทา จังหวัดลำพูน

การก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๖๑ รวมใช้เวลา ๑๑ ปี โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการ  และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ อีมีล ไอเซินโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด  รวมเวลาก่อสร้าง ๑๑ ปีใช้งบประมาณแผ่นดิน ๑,๓๖๒,๐๕๐ บาท ซึ่งก็นับว่ามหาศาลในยุคนั้น อุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้ขบวนรถไฟผ่านเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๗)



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29684205311867_558000014107604_Copy_.jpg)
กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินเข้าควบคุมงานหลังประกาศสงครามโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98085404477185_DSC_1657_696x1123_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42471853892008_DSCF1406_768x576_Copy_.jpg)