หัวข้อ: เรื่อง รำฉุยฉาย เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 พฤศจิกายน 2567 19:59:24 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87193892109725_464692918_943510941145755_1225.jpg) เรื่อง รำฉุยฉาย คำว่า “ฉุยฉาย” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นคำนาม มีความหมายว่า ชื่อเพลงไทยประเภทเพลงร้อง หากเป็นคำวิเศษณ์จะมีความหมายว่า กรีดกราย เมื่อนำมาใช้ในการแสดงนาฏศิลป์ จากรูปแบบของการแสดงที่ปรากฏในปัจจุบันจึงสามารถสรุปความหมายของคำว่าฉุยฉายได้ว่า เป็นเพลงไทยประเภทร้องที่ใช้ประกอบการแสดงลีลาท่าทางในการเยื้องย่างกรีดกรายอย่างสง่างามของตัวละคร รำฉุยฉาย เป็นการรำอวดฝีมือประเภทหนึ่ง ปรากฏในตอนที่ตัวละครต้องการชื่นชมความงามของตน แสดงความภาคภูมิใจที่สามารถแต่งตัวได้อย่างงดงาม หรือแสดงความพึงพอใจที่สามารถแปลงกายให้เปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากยักษ์เป็นมนุษย์ เปลี่ยนจากลิงเป็นยักษ์ หรือเปลี่ยนเพศจากหญิงเป็นชาย ดังนั้นผู้ที่จะสามารถรำฉุยฉายได้จึงต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการรำขั้นสูง อีกทั้งยังต้องมีความเชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนพื้นฐานทางนาฏศิลป์มาเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์ทางนาฏศิลป์มามากพอสมควร เนื่องจากเพลงรำฉุยฉายจะต้องมีการใช้ท่วงทีและลีลาทางนาฏศิลป์ที่งดงามตามเอกลักษณ์ในแต่ละตัวละคร รวมถึงต้องสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเข้าไปในลีลาท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้า จึงจะเป็นการแสดงรำฉุยฉายที่งดงามสมบูรณ์ จากการศึกษาหลักฐานที่ค้นพบ คำว่าฉุยฉายปรากฏอยู่ในท่ารำแม่บทใหญ่ ชื่อว่า “ฉุยฉายเข้าวัง” ในสมุดภาพตำรารำ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ฉุยฉาย ยังปรากฏเป็นเพลงอยู่ในบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มีการบรรจุเพลงฉุยฉายอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ ดังมีตัวอย่างความว่า “ชมตลาด เป็นมานพน้อยทรงลักษณ์ ผิวพักตร์พริ้มเพริศเฉิดฉาย ส่งศรีประเสริฐเลิศชาย กรายกรเข้าถ้ำคีรี ฯ ฯ ๒ คำ ฯ ฉุยฉาย” (บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม ๓) นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับคำกล่าวของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ เรื่องลักษณะแห่งนาฏศิลป์ของไทย มีใจความว่า “ฉุยฉาย เป็นเพลงหน้าพาทย์ในหมวดหมู่สำหรับความสนุกสนานเบิกบานใจ ใช้แสดงความหมายสำหรับความภาคภูมิใจ เมื่อได้แต่งตัวใหม่หรือเมื่อได้แปลงตัวให้งดงามกว่าเดิม” จากหลักฐานที่ปรากฏ สรุปได้ว่าเพลงฉุยฉาย เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงต่อจากบทร้องเช่นเดียวกับเพลงหน้าพาทย์อื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนาน เบิกบาน อีกทั้งยังเป็นการโอ้อวด หรือภาคภูมิใจที่สามารถแปลงกายหรือแต่งตัวได้อย่างสมบูรณ์งดงาม นอกจากนี้เพลงฉุยฉายยังแสดงให้เห็นถึงการใช้จริตและลีลาท่าทางในการเยื้องย่างกรีดกรายอย่างสง่างามของตัวละคร เสริมอรรถรสในการแสดงละครมากยิ่งขึ้น ภายหลังจึงมีหลักฐานการบรรจุบทร้องเข้าไปในเพลงฉุยฉาย ปรากฏอยู่ในบทมโหรีเรื่องกากีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีการนำเพลงฉุยฉายและเพลงแม่ศรีมาบรรจุบทร้อง แต่หลังจากนั้นรำฉุยฉายมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร รวมถึงมีการนำเพลงแม่ศรีเข้ามาบรรเลงเป็นเพลงต่อจากเพลงฉุยฉายได้อย่างไร จนกระทั่งเพลงรำฉุยฉายมีรูปแบบการบรรเลงและขับร้องอย่างในปัจจุบันนั้น ไม่มีหลักฐานการเปลี่ยนแปลงปรากฏแน่ชัด ทำให้เพลงฉุยฉายในรูปแบบเพลงหน้าพาทย์ไม่นิยมนำมาใช้อีก โครงสร้างการบรรจุเพลงของการแสดง “รำฉุยฉาย” การบรรจุเพลงของการแสดงรำฉุยฉาย สามารถแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้ ๑. เพลงรำออก เป็นเพลงที่ใช้สำหรับให้นักแสดงรำออก โดยส่วนใหญ่แล้วเพลงรำฉุยฉายมักจะใช้ เพลงรัว เป็นเพลงรำออก เนื่องจากเป็นเพลงที่สื่อความหมายถึงการแสดงอิทธิฤทธิ์ในการแปลงกาย หรือใช้เพลงฉุยฉายเป็นเพลงรำออก นอกจากเพลงรัวและเพลงฉุยฉายแล้วยังสามารถบรรจุเพลงรำออกด้วยเพลงอื่นๆ ตามความสอดคล้องของตัวละคร เช่น เพลงรัวพม่า สำหรับตัวละครเชื้อชาติพม่า เป็นต้น ๒. เพลงฉุยฉาย มีบทร้อง ๒ บท มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “ฉุยฉายเอย” หรือใช้คำที่บ่งบอกลักษณะหรือชื่นชมความงามของตัวละครนั้นๆ เช่น สุดสวยเอย วายุบุตรเอย หลังจบแต่ละบาท ปี่ในจะเป่ารับ โดยเป่าเลียนเสียงตามคำร้องทุกคำ และเมื่อจบ ๑ บท วงปี่พาทย์จะบรรเลงรับด้วยเพลงฉุยฉายก่อนจะขึ้นร้องเพลงฉุยฉายหรือเพลงแม่ศรีในท่อนถัดไป ๓. เพลงแม่ศรี มีบทร้อง ๒ บท มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “แม่ศรีเอย” หรือคำที่ใช้ชื่นชมความงามของตัวละครนั้น ๆ เช่น อรชรเอย น่ารักเอย หลังจบแต่ละบาท จะมีปี่ในเป่ารับเลียนเสียงตามคำร้อง และเมื่อจบ ๑ บท วงปี่พาทย์จะบรรเลงรับเพลงแม่ศรี ๔. เพลงรำเข้า เป็นเพลงที่ใช้สำหรับให้นักแสดงรำเข้า โดยส่วนมากจะใช้เพลงเร็ว-ลา เป็นเพลงรำเข้า หรือสามารถบรรจุเพลงอื่น ๆ ตามเชื้อชาติของตัวละครได้ เช่น เพลงเสมอพม่า เป็นต้น จากโครงสร้างการบรรเลงเพลงรำฉุยฉายที่กล่าวมานั้น เป็นลักษณะของการรำฉุยฉายแบบเต็ม นอกจากนี้ยังมีลักษณะการรำฉุยฉายที่แตกต่างกันออกไปอีกคือ รำฉุยฉายแบบตัด และรำฉุยฉายพวง ซึ่งทั้ง ๓ ลักษณะจะมีรูปแบบการบรรเลงและขับร้องที่คล้ายกัน แต่รำฉุยฉายแบบตัด จะตัดบทร้องเพลงฉุยฉายและเพลงแม่ศรีเหลือเพียงเพลงละ ๑ บทเท่านั้น ในขณะที่รำฉุยฉายพวง จะตัดการเป่าปี่รับออก เนื่องจากรำฉุยฉายพวงปรากฏอยู่ในการแสดงละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งไม่มีการเป่าปี่ประกอบการแสดง จึงคงไว้แต่เพียงปี่พาทย์บรรเลงรับในแต่ละบทเท่านั้น รูปแบบการรำฉุยฉาย จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า รำฉุยฉาย เป็นการรำอวดฝีมือของตัวละครที่ต้องการชื่นชมความงามของตน จึงมักปรากฏเป็นการแสดงรำเดี่ยวที่มุ่งเน้นถึงตัวละครนั้นๆ แต่นอกจากจะเป็นการแสดงรำเดี่ยวแล้ว รำฉุยฉายยังสามารถจัดแสดงได้มากกว่า ๑ คนขึ้นไป ตามความสอดคล้องของบทบาทตัวละครและบทประพันธ์ ซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้ ๑. รำฉุยฉายแบบเดี่ยว มักจะถูกบรรจุอยู่ในบทการแสดงโขนหรือละครเป็นชุดเป็นตอน หรือแสดงเป็นชุดเอกเทศได้ บทประพันธ์จะกล่าวถึงตัวละครใดตัวละครหนึ่ง มีเนื้อความในการชื่นชมความงามหลังจากแปลงกายหรือการแต่งตัว อีกทั้งยังบอกเล่าวัตถุประสงค์ในการแปลงกายหรือการแต่งตัว หรือกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของตัวละครนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจตัวละครมากขึ้น เช่น ฉุยฉายพราหมณ์ ฉุยฉายวันทอง ฉุยฉายอินทรชิตแปลง ฉุยฉายบุเรงนอง ฉุยฉายสมิงพระราม เป็นต้น ๒. รำฉุยฉายแบบคู่ หากเป็นฉุยฉายที่บรรจุอยู่ในบทการแสดงโขนหรือละคร ก็มักจะเป็นการกล่าวถึงความงามของตัวละครที่มีบทบาทปรากฏเป็นคู่กัน เช่น ฉุยฉายหลวิชัย-คาวี หรือหากไม่ได้เป็นการกล่าวถึงความงามของตัวละครใด ก็มักจะมีเนื้อหากล่าวถึงความงามและลักษณะเด่นของละครรำประเภทต่าง ๆ หรือเป็นการรำเบิกโรงก่อนที่จะเริ่มการแสดงละครในชุดต่อไป เช่น ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง เป็นต้น ๓. รำฉุยฉายแบบหมู่ เป็นการรำฉุยฉายที่มีผู้แสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป นิยมแสดงเป็นชุดเอกเทศ หากเป็นการกล่าวถึงลักษณะของตัวละคร ก็มักจะกล่าวถึงความงามหรือลักษณะเด่นของตัวละครแต่ละตัว เช่น รำชุมนุมฉุยฉาย ที่จะมีการกล่าวถึงความงามของตัวละครทั้ง พระ นาง ยักษ์ ลิง และพราหมณ์ หรือรำฉุยฉายละครนอก ที่กล่าวถึงลักษณะเด่นของละครนอก นอกจากนี้ยังสามารถจัดแสดงในรูปแบบการรำฉุยฉายอวยพร ที่มีบทประพันธ์กล่าวถึงการอวยพรให้เกิดความสิริมงคล โดยใช้รูปแบการบรรเลงและขับร้องแบบรำฉุยฉาย ที่มา (ข้อมูล/ภาพ) : สำนักการสังคีต กรมศิลปากร |