หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๓๐ อาทิจจุปัฏฐานชาดก : ลิงไหว้พระอาทิตย์ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 กรกฎาคม 2568 18:53:42 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg) พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๓๐ อาทิจจุปัฏฐานชาดก ลิงไว้พระอาทิตย์ ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์แคว้นกาสี ครั้นเจริญวัยศึกษาศิลปะในเมืองตักกสิลา บวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาสมาบัติให้เกิดมีบริวารมาก เป็นครูประจำคณะ อาศัยอยูป่าหิมพานต์ พระฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์นั้นเป็นเวลานานจึงลงจากภูเขาเพื่อเสพของเค็มและของเปรี้ยว อาศัยบ้านหนึ่งในชายแดนพักอยู่ที่ศาลาที่เขาสร้างไว้ให้ ขณะนั้นมีลิงโลนตัวหนึ่ง เมื่อคณะฤๅษีไปเที่ยวภิกขาจาร มันก็แอบมายังอาศรมบท ถอนหญ้า เทน้ำในหม้อน้ำทิ้ง ทุบคนโทน้ำ ถ่ายอุจจาระไว้ที่โรงไฟ จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด ฤๅษีทั้งหลายอยู่จำพรรษาแล้วก็ดำริว่า “บัดนี้ป่าหิมพานต์บริบูรณ์ด้วยดอกไม้และผลไม้น่ารื่นรมย์ ถึงเวลาที่เราจะกลับป่าหิมพานต์แล้ว” จึงบอกลาชาวบ้านชายแดน พวกชาวบ้านกล่าวว่า “พระคุณเจ้าฉันอาหารแล้วจึงค่อยไปเถิด” ในวันที่สองต่างก็นำของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากไปถวายอีก ลิงโลนเห็นดังนั้นจึงคิดว่าพวกชาวบ้านเลื่อมใสเราบ้าง จะได้นำอาหารมาให้เรากิน แล้วมันก็ทำเป็นเหมือนบำเพ็ญตบะและเหมือนจำศีล ยืนนอบน้อมพระอาทิตย์ในที่ไม่ห่างจากดาบส พวกชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงพากันกล่าวว่า ผู้อยู่ใกล้ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้มีศีล แล้วกล่าวว่า “ในบรรดาสัตว์ทั้งปวง สัตว์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลมีอยู่ ท่านจงดูลิงชั่วช้าตัวนี้ ยืนไหว้พระอาทิตย์อยู่เถิด” พระโพธิสัตว์เห็นพวกชาวบ้านสรรเสริญคุณของลิงนั้น จึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้จักปกติของมัน เพราะไม่รู้จักจึงพากันสรรเสริญ ลิงตัวนี้มันเผาโรงไฟแล้ว และทุบต่อยคนโทน้ำเสียสองใบด้วย” พวกชาวบ้านครั้นรู้ว่าเป็นลิงหลอกลวง จึงคว้าก้อนดินและไม้ขว้างไล่ให้มันหนีไป แล้วถวายอาหารแก่หมู่ฤๅษีตามเดิม ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “คนไม่ดี จะทำตัวแบบไหนก็รู้ว่าเป็นคนไม่ดี” พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า นาจฺจนฺตํ นิกติปฺปญฺโญ นิกตฺยา สุขเมธติ ฯ ผู้ที่ใช้ปัญญาหลอกคนอื่นไว้ ย่อมไม่ได้รับความสุขใจตลอดกาล (๒๗/๓๘) คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสถาบันบันลือธรรม |