[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 06 กรกฎาคม 2568 17:50:26



หัวข้อ: ตามรอยยายหอม วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 กรกฎาคม 2568 17:50:26

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25579255157046_1_Copy_.jpg)
พระประโทณเจดีย์

วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร
ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม


วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร จุดเด่นของวัดคือ พระประโทณเจดีย์ เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี มีรูปแบบเดิมเป็นทรงโอคว่ำ มีการขุดพบวัตถุโบราณจำนวนมากที่วัดแห่งนี้ เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสันนิษฐานว่าสร้างวัดขึ้นราว พ.ศ.๒๓๒๔ วัดตั้งอยู่เหนือองค์พระประโทณเจดีย์ประมาณ ๒๐ เมตร สันนิษฐานว่าย้ายมาจากที่เดิมเมื่อ ๒๐๐ ปีเศษ เนื่องจากพบจารึกตัวหนังสือและตัวเลขด้วยปูนบอกว่าซ่อมเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ บริเวณกุฏิ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ จากตำนานพญากง พญาพาน พญาพานสร้างพระประโทนเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ได้ฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูมา ทั้งพระปฐมเจดีย์และพระประโทนถูกทอดทิ้งไว้ในป่าหลายร้อยปี จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ได้ธุดงค์ไปพบเข้า จึงกราบทูลรัชกาลที่ ๓ แต่พระองค์ไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไรหากจะปฏิสังขรณ์ขึ้นมา จนพระองค์ครองราชย์จึงได้บูรณะ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65813082332412_8_Copy_.jpg)

พระประโทณเจดีย์

การก่อสร้างวัดพระประโทณเจดีย์ยังไม่มีหลักฐานเอกสารที่ยืนยันแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา คือ ตำนานพระประโทณเจดีย์ ฉบับนายอ่อง ไวกำลัง และตำนานพระปฐมเจดีย์และพระประโทณเจดีย์ ฉบับพระยามหาอรรคนิกรและฉบับนายทองคำ กล่าวความไว้คล้ายกัน คือบริเวณที่ตั้งพระประโทณเจดีย์นั้น แต่เดิมเป็นตำบลบ้านพราหมณ์ เรียกว่า “บ้านโทณพราหมณ์” ซึ่งได้นำ “ทะนานทอง” ที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเรือนหิน เมื่อ พ.ศ.๑๑๓๓ ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ มาสร้างเมืองนครไชยศรีขึ้นเป็นเมืองใหม่ ได้ขอทะนานทองจากพราหมณ์เพื่อจะนำไปแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุจากเจ้าเมืองลังกา แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้รู้สึกขัดเคืองพระทัย จึงยกรี้พลออกไปตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า “ปาวัน” และให้สร้างพระปฐมไสยาสน์องค์หนึ่งใหญ่ยาวมหึมา หลังจากนั้น จึงยกรี้พลมาแย่งทะนานทองไปให้เจ้าเมืองลังกาเพื่อบรรจุไว้ในสุวรรณเจดีย์  ต่อมาเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๑๙๙ พรรษา พระเจ้ากากะวรรณดิศราชแห่งเมืองละโว้ ได้มาก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนศิลาที่เคยบรรจุทะนานทองไว้แล้วให้นามว่า “พระประโทณเจดีย์”

นอกจากนี้แล้วยังมีนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากงและพระยาพาน เล่าสืบต่อกันมาจนติดปากชาวบ้านว่าพระยาพานเป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดา และสร้างพระประโทณเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ฆ่ายายหอมผู้มีพระคุณ  ที่มาของเรื่องพระยากงและพระยาพานนี้ ปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยาราชสัมภารากร และฉบับตาปะขาวรอด และในพงศาวดารเหนือ แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด

เรื่องมีอยู่ว่า ท้าวสิกราชครองเมืองศรีวิไชย คือ เมืองนครไชยศรี มีบุตรชื่อพระยากง ต่อมาพระยากงได้ครองเมืองศรีวิไชยต่อจากบิดา และพระมเหสีได้ประสูติพระกุมาร โหรทำนายว่า พระกุมารเป็นผู้มีบุญญาธิการมากแต่จะกระทำปิตุฆาต พระยากงจึงได้รับสั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งเสีย ทหารได้นำพระกุมารไปทิ้งไว้ที่ชายป่าไผ่ริมบ้านยายพรหม เมื่อยายพรหมมาพบจึงเก็บไปเลี้ยงไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นบุตรของผู้ใด แต่ยายพรหมเป็นคนมีลูกหลานมาก จึงยกพระกุมารให้กับยายหอมไปเลี้ยงไว้แทน ต่อมาเจ้าเมืองราชบุรีได้รับพระกุมารไว้เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อพระกุมารเติบใหญ่ได้ทราบว่าเมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิไชย ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการทุกปี จึงคิดแข็งเมือง ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่เมืองนครไชยศรี พระยากงจึงได้ยกทัพมาปราบ และกระทำการยุทธหัตถีกับพระกุมาร พระยากงเสียทีถูกพระกุมารฟันด้วยของ้าวคอขาด สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พระกุมารจึงยกรี้พลเข้ายึดเมืองศรีวิไชย  พระยาราชบุรีจึงแต่งตั้งให้อุปราชพานทองเป็น “พระยาพานทอง” ขึ้นครองเมืองนครไชยศรี  คืนหนึ่งพระยาพานทองเข้าห้องบรรทมพระอัครมเหสีของพระยากงเพื่อเอาทำเมียตามธรรมเนียมผู้ชนะศึก แต่เทพยดาได้แสดงนิมิต จนในที่สุดก็ทราบว่าเป็นแม่ลูกกัน จึงโกรธยายหอมที่ไม่ยอมเล่าความจริงให้ตนทราบ ทำให้ต้องปิตุฆาต จึงไปที่บ้านยายหอมและจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั่วไปจึงเรียกพระกุมารว่า “พระยาพาล” ด้วยเหตุที่ฆ่าพ่อและยายหอม ผู้มีพระคุณ เมื่อพระยาพาลได้ครองเมืองนครไชยศรีรู้สึกสำนึกในบาปที่ตนได้กระทำไป จึงคิดไถ่บาปจึงให้อำมาตย์ไปนิมนต์พระสงฆ์และสมณพราหมณ์มาประชุมที่ธรรมศาลาเพื่อหารือและได้รับคำแนะนำว่าให้สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิร จึงสั่งการให้ก่อรากพระเจดีย์สวมแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม นำฆ้องใหญ่ซึ่งตีสามโหม่งดังกระหึ่มไปจนถึงค่ำ มาหนุนไว้ใต้แท่นพระบรรทม เจดีย์ที่สร้างเป็นทรงล้อมฟาง สูงชั่วนกเขาเหิร ไม่มีลานประทักษิณ ภายในบรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง แล้วให้มีการฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน ต่อมาพระเจ้าหงษาผู้เป็นใหญ่ในเมืองมอญ ต้องการได้ฆ้องใหญ่ จึงยกรี้พลมาขุดเอาฆ้องแต่เมื่อขุดฆ้องก็ยิ่งจมลงไปทำให้เจดีย์ทรุดพังจึงบูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยก่อเป็นองค์ปรางค์ตั้งบนหลังองค์ระฆังของเจดีย์เดิมที่พังลง มีลานประทักษิณรายรอบก็ยังไม่สูงเท่าเก่า จึงสร้างพระเจดีย์รอบวิหารกับทั้งอุโบสถเพิ่มเติมลงอีก ความสำคัญในตำนานมีเพียงนี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/59909054719739_2_Copy_.jpg)
หลวงพ่อโตในพระวิหาร วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21978394273254_5_Copy_.jpg)
รอยพระพุทธบาท วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13927413316236_9_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84342388105061_10_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47674120300345_494248228_2141734376342231_867.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87405440087119_5_Copy_.jpg)
ทะนานทองที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26465059237347_4_Copy_.jpg)


















               อนุสาวรีย์ยายหอมอุ้มพระยาพาน สร้างในราว พ.ศ.๒๔๗๐  ปั้นโดยนายช่างนามเดิม ประดิษฐานทางด้าน
               ทิศตะวันออกของพระประโทนเจดีย์  ต่อมาได้รับการบูรณะและย้ายมาตั้งใหม่ให้ห่างจากเดิมประมาณ ๒๐
               เมตร เรียกที่นี่ว่า “ศาลยายหอม”   ศาลยายหอมจะมีผู้คนที่ศรัทธานำตุ๊กตารูปปั้นเป็นมาถวายจำนวนมาก
               สาเหตุที่นิยมนำเป็นมาเป็นของถวายไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่าในตำนานที่ว่า “ยายหอมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด”
               ทั้งนี้ก็เพื่อความศรัทธาและนำมาแก้บนสำหรับผู้ที่มาขอกับยายหอม  อย่างไรก็ตาม ศาลยายหอมยังมีอีก
               ที่หนึ่งคือที่ “เนินพระ” ตำบลดอนยายหอม  อำเภอเมืองนครปฐม ที่ห่างจากกันประมาณ ๘-๙ กิโลเมตร
               ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโคกยายหอม” ที่เชื่อกันว่ายายหอมผู้เลี้ยงพระยาพานตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้
               ตามตำนาน และที่แห่งนี้ก็เป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง