หัวข้อ: ร.2 เสด็จสวรรคต สู่สถานการณ์คุกรุ่น เมื่อ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เสวยราชย์ เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 12 กรกฎาคม 2568 18:03:01 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45602376966012_Cover_8_Copy_.jpg) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) จิตรกรรมฝาผนังศาลาทรงยุโรป หลังพระสมุทรเจดีย์ สมุทปราการ (ภาพจาก : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิากยน 2555) ร.2 เสด็จสวรรคต สู่สถานการณ์คุกรุ่น เมื่อ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เสวยราชย์ ผู้เขียน กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2568 การเปลี่ยนรัชกาลตลอดประวัติศาตร์ 200 กว่าปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีเหตุนองเลือดเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่การผลัดแผ่นดินรัชกาลที่ 2 สู่รัชกาลที่ 3 เรียกว่าไม่ได้ราบรื่น 100% ทั้งมีลำดับเหตุการณ์ก่อนเสด็จสวรรคตที่น่าสนใจทีเดียว ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเกิดลางร้ายตามคติคนโบราณหลายอย่างก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จะทรงมีพระอาการประชวรแล้ว ยังเป็นการเสด็จสวรรคตอย่างรวดเร็วหลังทรงมีพระอาการเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ไทม์ไลน์ต่าง ๆ เป็นดังนี้ เดือนกว่า ๆ ก่อนการเสด็จสวรรคต ช้างสำคัญในรัชกาลที่ 2 ล้ม (ตาย) ในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ช้าง คือ พระยาเศวตคชลักษณ์ และพระยาเศวตไอยรา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจสอบชำระจากฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ระบุข้อความว่า “พระยาเศวตคชลักษณ์ล้มอีกช้างหนึ่ง เหตุที่พระยาช้างเผือกอันเป็นศรีพระนคร นับว่าเป็นคู่พระบารมีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ล้มไปในคราวเดียวกันถึง 2 ช้างเช่นนั้น เป็นเหตุให้เกิดรู้สึกกันทั่วไปว่า เป็นอุปัทวเหตุอันสำคัญมีขึ้น จนถึงไม่สบายพระทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 2 ทรงทราบดีว่าเป็นเรื่องไม่มงคล ทำให้ทรงรู้สึกไม่สบายพระราชหฤทัย ส่งผลกระทบต่องานสำคัญที่กำลังจะจัด คือ พระราชพิธีทรงพระผนวชของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) จึงทรงลดทอนพระราชพิธีในช่วงแห่ ไม่ให้ยิ่งใหญ่เกินไป 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ทรงพระผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงได้รับพระฉายาทางธรรมว่า “วชิรญาณภิกขุ” รัชกาลที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายเครื่องบริขารและไตรจีวรแก่เจ้าฟ้ามงกุฎด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นก็ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 หรือ 7 วันหลังพระราชพิธีทรงพระผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บอกว่า ทรงมีพระอาการประชวรมึนเมื่อยพระองค์ เสวยยาแล้วก็ไม่หาย ดังความว่า “ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อ จารในเพชร ข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง เรียก ทิพยโอสถ มาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งไร” 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่ารัชกาลที่ 2 เสด็จฯ ไปทรงประดับตกแต่งเขามอ ในพื้นที่สวนขวา ภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงเริ่มมีพระอาการประชวรในวันนี้ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 บันทึกฉบับเดียวกันบอกว่า เกิดเหตุลางร้ายหลังรัชกาลที่ 2 เสด็จฯ ออกถวายประเคน คือ พระยาช้างร้องเสียงดังสนั่น และพระยาม้ากับพระยาโคสังวาสกัน ระบุข้อความว่า “เสด็จออกถวายทรงประเคน เสด็จขึ้น วันนั้นพระยาปราบไตรจักรกอดเสาเบญพาดร้องก้องสนั่นไม่จับหญ้า ยกงวงฟาดงาน้ำตาไหล ทั้งพระยาสินธพชาติกับโคอุศุภราชสโมสรสังวาสกัน ที่ศาลาสารบาญชี คนดูอื้ออึงเสียงแซ่” ทั้งนี้ จดหมายเหตุโหร ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการว่ามีความแม่นยำเรื่องวันและเวลามาก ระบุว่า เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม นี่แหละ ที่พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต ณ หมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าจะเริ่มมีพระอาการประชวรในวันไหน ระหว่าง 14-17 กรกฎาคม การสวรรคตในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นและกะทันหันมาก เพราะอยู่ในระยะเวลาเพียง 5-8 วันเท่านั้น ตามกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีจะทรงมีฐานะเป็น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” มีพระอิสริยยศสูงสุดในตำแหน่งรัชทายาท ซึ่งจะทรงขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป แต่ในทางปฏิบัติ กฎดังกล่าวมิได้มีการยึดถืออย่างเคร่งครัด เพราะในยุคอยุธยาก็มีการชิงราชบัลลังก์กันตลอด กล่าวคือ เจ้านายพระองค์ใดมีอำนาจมากก็มีสิทธิขึ้นครองราชย์ได้เหมือนกัน เนื่องจากรัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวรหนัก ถึงขั้นไม่สามารถจะทรงมีพระราชดำรัสใด ๆ ได้ จึงไม่มีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะทรงมอบราชสมบัติให้เจ้านายพระองค์ใด เกิดเป็นปัญหาว่า ใครจะได้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป ? ตอนนั้นมีเจ้านาย 2 พระองค์สำคัญที่มีสิทธิครองราชย์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งตอนนั้นยังทรงพระผนวชเป็นภิกษุ กับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 3) สุดท้ายปัญหาดังกล่าวไม่ได้ยืดเยื้ออะไร เพราะบรรดาเจ้านายและขุนนางปรึกษาหารือกันแล้วเห็นพ้องว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เหมาะสมที่สุด เป็นที่มาของบรรยากาศการผลัดแผ่นดินสุดคุกรุ่นภายในราชสำนักสยาม อันมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากมายที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ไทยหลังจากนั้น เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เจาะลึกได้ใน “สับประวัติศาสตร์ ZAB HISTORY ผลัดแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า รัชกาลที่ 2 บรรยากาศราชสำนักคุกรุ่น” ... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_155452 |