[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => กระบวนการ NEW AGE => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 13 มิถุนายน 2553 14:31:09



หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 13 มิถุนายน 2553 14:31:09
(http://nacer.org/ButterflyEffect.jpg)




น่าแปลกใจว่ามันต้องมีอะไรที่ดลใจทำให้ ฟรานซิส ทอมป์สัน กวีขี้ยาชาวอังกฤษแต่งโคลงที่ไพเราะ และมีกลิ่นอายของความเร้นลับขึ้นมาในปี 1893 โคลงที่บอกเล่าถึงการหมดทางหลีกหนีกฎของสวรรค์ ที่ไม่ว่าอย่างไรผู้ที่กระทำบาปก็ต้องได้รับการลงโทษอยู่วันยังค่ำ นั่นคือโคลงที่รวบรวมไว้ในบทกวีที่ชื่อว่า หมาไล่เนื้อของสวรรค์ (The Hound of Heaven) ที่บอกเราว่า "คุณไม่สามารถเด็ดดอกไม้ (บนโลก) ได้โดยไม่รบกวนถึงดาว" ท่านผู้อ่านหลายคนคงรู้สึกคุ้นๆ กับกวีที่ยกมาเป็นหัวข้อของบทความวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในยุคสมัยของฟรานซิส ทอมป์สัน และแม้ในวันนี้เวลานี้ เราหลายคนก็ยังคิดว่าแม้จะเป็นข้อคิดที่สวยงามน่าสนใจ แต่ว่าข้อเท็จจริง-ตามหลักวิทยาศาสตร์แบบที่เราเรียนมา ซึ่งล้าสมัยสำหรับนักฟิสิกส์ยุคใหม่ชาวตะวันตก-ของทุกวันนี้ มันไม่เพียงเป็นไปไม่ได้เท่านั้น แต่มันเป็นความจริงแท้ที่พิสูจน์ทั้งในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์และในทางคณิตศาสตร์ได้หมดสิ้นจริงๆ ไม่ว่าที่ใดและเมื่อไหร่? นั่นคือความจริงที่แท้จริงขององค์รวมซ้อนองค์รวม ซ้อนๆ องค์รวมที่ใหญ่กว่า ซ้อนๆๆ องค์รวมที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอีก...แอดอินฟินิตัม...และแท้จริงแล้ว พุทธศาสนาได้บอกเราสอนเราอย่างนั้นมาตั้งเป็นพันๆ ปีแล้วว่า ทั้งหมดคือหนึ่ง หนึ่งคือทั้งหมด (อวตามสกสูตร) เช่น แหมณีของพระอินทร์ซึ่งคนโบราณเชื่อ คนสมัยใหม่ไม่เชื่อว่ามีพระอินทร์ แต่ตอนนี้คนหลังสมัยใหม่ (postmodernist) กลับมาเชื่อใหม่ (ยกเว้นพระอินทร์ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่มี) ว่าไปแล้วนั่นเป็นความจริงที่แท้จริงของควอนตัมเมกานิกส์ จริงๆ แล้วนั่นคือหนึ่งในแปดข้อของความจริงทางควอนตัม (Copenhagen Interpretation of quantum reality) ที่ทุกวันนี้นักฟิสิกส์ยุคใหม่ทุกๆ คนรู้และยอมรับเป็นเอกฉันท์
 
นั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในด้านวิชาการ ที่แม้แต่วันนี้พวกนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จริงๆ โดยเฉพาะนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาใหม่ รวมทั้งในบ้านเราพากันไม่เชื่อ หรือไม่ก็อยู่เฉยๆ เพราะว่าไม่ได้เรียนมา และที่สำคัญกว่าคือมันไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เหตุผลที่เราไม่เคยเอามาคิด เพราะมันติดอยู่กับสามัญสำนึกด้วยความเคยชินของเราว่าเราเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราทำอะไรย่อมถูกทั้งหมด ยกเว้นการกระทำอะไรๆ ของเรานั้นเรากระทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง เราถึงได้เรียกร้องแต่กับสิทธิมนุษยชน ส่วนชีวิตอื่นเผ่าพันธุ์อื่นๆ ช่างหัวมันปะไร

(http://farm4.static.flickr.com/3462/3761192215_9426a59a98.jpg)
 
ความจริงที่เรามีทุกวันนี้จึงได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่าวันนี้มันยังไม่สมบูรณ์ดี แต่เท่าที่เรารู้แล้วมันเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงจริงๆ ชนิดที่นักฟิสิกส์เองก็ยังไม่เชื่อ-หลายคนที่ค้นพบฟิสิกส์ใหม่ รวมทั้งไอน์สไตน์เองก็ไม่เชื่อจนวันที่ตัวเองตาย-เพราะว่าความรู้ที่เราภูมิใจนักหนาที่รู้และเรียนกันมาว่า มันคือความจริงถึง 400 กว่าปี คือรู้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่เป็นความจริงที่แท้จริงอีกต่อไปเสียแล้ว นั่น-ได้สร้างความตื่นตกใจและรับไม่ได้ เพราะว่ามันไปเหมือนกับมายากลหรือเหมือนผีหลอก ที่คนขนาดไอน์สไตน์ยังบอกว่า ที่เขาไม่เชื่อเพราะมันไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า "พระเจ้า (ผู้ทรงศีลอันบริสุทธิ์) จะเล่นการพนัน (ทอดลูกเต๋า) ได้อย่างไร?" และเพราะคนขนาดนั้น รวมทั้งยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลกส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อหรือยังคลางแคลงใจ นักวิทยาศาสตร์มากหลายทั่วทั้งโลก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ในบ้านเราจึงพากันไม่เชื่อ หรือพลอยคลางแคลงใจตามไปด้วย อย่างน้อยในตอนแรกๆ นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันตลอดมาว่า อย่างน้อยในตอนแรกๆ นั้นเป็นเมื่อไหร่กันแน่? บางคนคิดว่าน่าจะเป็นปี 1905-เมื่อไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษว่า พลังงานก็คือสสารที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วยกกำลังสอง (E=MC) และยังบอกว่าความเร็วสูงสุดในจักรวาลนี้คือความเร็วของแสง และแสงเดินทางได้ราวๆ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที-บางคนว่าเป็นปี 1927-ปีที่สรุปการค้นพบควอนตัมเมกานิกส์ พร้อมๆ กับที่มีการแปลความจริงทางควอนตัมขึ้นมา-แต่บ้างก็ว่าเป็นปี 1982-เมื่อทางรัฐบาลของสหรัฐโดยสภาคองเกรสรับรองว่า ฟิสิกส์ใหม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ให้ความจริงที่แท้จริงอย่างที่สุด ส่วนความรู้เหนือธรรมชาติ (ESP) ไม่เป็นวิทยาศาสตร์-แต่นั่นเป็นเสียงข้างมากที่สูสีกัน โดยเสียงข้างน้อยเชื่อว่าอีเอสพีเป็นวิทยาศาสตร์
 
ที่สำคัญกว่าสิ่งใดก็คือ ความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างพุทธศาสนากับฟิสิกส์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับควอนตัมเมกานิกส์ อย่างที่เคยเขียนมาเคยอ้างอิงมาตลอดเวลา นั่นคือสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงของจักรวาล เมื่อเราไล่ไปจนละเอียดสุดละเอียดแล้ว มันล้วนแล้วแต่พัวพันกันอย่างอีนุงตุงนัง (ที่ชโรดิงเกอร์เรียกว่า entanglement) ว่าไปแล้วนั่นคือความจริง ที่ทำให้ศาสนากับวิทยาศาสตร์ไม่พูดกันเลยมาตั้งหลายร้อยปี อยู่ๆ ก็เกิดมาละม้ายคล้ายคลึงกันได้อย่างไร? ตรงนี้มีคำถามที่เราหรือนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกไม่เข้าใจ หรือตอบไม่ได้อยู่ถึงสามประการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อเราหรือมนุษยชาติอย่างยิ่งยวด สามประการนั้นคือ หนึ่ง-วิธีการที่ได้มาหรือเข้าถึงความจริงนั้น สอง-เวลาที่เราค้นพบและเข้าใจซึ่งเวลานั้น ทำไม? ถึงต้องเป็นในเวลานี้ ที่มนุษยชาติและโลกของเรากำลังอยู่ในภาวะที่เลวร้ายทางศีลธรรมจริยธรรม หรือเรื่องของจิตใจที่หนักหนาสาหัสไปแทบทั้งหมดทั่วทั้งโลก และสาม-ดังที่ได้ตั้งเป็นหัวข้อของเรื่องในวันนี้ ว่าทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับเด็ดดอกไม้บนโลกจะกระเทือนถึงดาวบนฟ้าได้อย่างไร? เพราะว่ามันอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน
 
ประเด็นแรกน่าคิดมากๆ เพราะว่าวินัยทั้งสองมีวิธีการ (methodology) ที่เข้าถึงความจริงแท้แตกต่างกัน พุทธศาสนาใช้ประสบการณ์ตรงส่วนตัว ซึ่งรับรู้ด้วยบุคคลที่หนึ่งหรือจิตของตัวเอง แต่วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ใช้การทดลองซึ่งเป็นบุคคลที่สามรับรู้ได้เหมือนๆ กัน แต่ก็ต้องใช้จิตที่อยู่ภายในของตัวเอง หรือบุคคลที่หนึ่งนั่นแหละรับรู้หรือสังเกตก่อน (เพื่อให้สภาพที่เป็นทั้งคลื่นทั้งอนุภาคพร้อมๆ กันได้สลายความเป็นคลื่นไป wave-function collapse) นั่น-แตกต่างไปจากฟิสิกส์คลาสสิกโบราณ ที่ใช้ตาเห็นหรืออวัยวะรับรู้ของมนุษย์คนไหนก็ได้ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเห็นหรือรับรู้เหมือนกัน น่าแปลกที่นักวิทยาศาสตร์โบราณเหล่านั้นใช้วิธีการนั้นที่มนุษย์เท่านั้นเห็นหรือรับรู้
 
"สิ่งที่ตั้งอยู่ข้างนอกนั่น" หรือสิ่งนั้นชีวิตอื่นๆ ที่มากมายหลายเผ่าพันธุ์นั้น ต่างถูกบังคับว่าต้องเห็นและรับรู้เหมือนกับมนุษย์ด้วย ซึ่งเราก็รู้ว่าชีวิตอื่นๆ ใดๆ ต่างก็ล้วนเห็นหรือรับรู้ไม่เหมือนกัน เพราะต่างก็เรียนรู้รอดเพื่ออยู่ในโลกให้ได้ หรือรับผิดชอบชีวิตของตนแตกต่างกัน ทุกๆ ชีวิตจึงเห็นและรับรู้ไม่เหมือนกัน เช่น อาหารไม่เหมือนกัน หรือมีศัตรูคนละอย่างกัน ประการที่สอง-เรื่องของเวลา ทำไม? ถึงต้องเป็นเวลานี้? แต่คำถามนั้นก็ต้องถามต่อไปว่า ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วให้เป็นตอนไหน? เราต้องคิดว่าธรรมชาตินั้น เท่าที่เรารู้และสังเกตมาตลอดเวลา มันมีลักษณะเฉพาะที่จำเป็นอยู่สามประการ-ที่น่าแปลกใจตรงที่พุทธศาสนาสอนเรากับที่ฟิสิกส์ใหม่บอกเรานั้นตรงกันเหลือเกิน - คือหนึ่ง-ความเป็นองค์รวมที่ทางศาสนากับควอนตัมฟิสิกส์เหมือนกันเป๊ะดังได้กล่าวมาแล้ว สอง-การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า อิทัปปัจจยตา และทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า ระบบการจัดองค์กรให้กับตัวเอง (self-organizing system) สาม-ทั้งสองประการนั้นทำให้ธรรมชาติ "ไหลเลื่อนเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาโดยเชื่อมโยงกันและกันกับทั้งหมด" ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกสั้นๆ ว่า อนิจจังหรืออนัตตา นั่นคือลักษณะหรือคุณสมบัติของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไม่ได้โดยเด็ดขาด-หากว่าธรรมชาติโลกและจักรวาลรู้ตัว-โลกและจักรวาลที่นักวิทยาศาสตร์ เช่น ดเวน เอลยิน, ปีเตอร์ รัสเซล, เจมส์ ลัฟล็อก ฯลฯ บอกว่าเป็นประหนึ่งสิ่งที่มีชีวิต นั่นคือระบบนิเวศน์วิทยา (ecology) ที่เป็นศัตรูกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มนุษย์และสังคมเป็นผู้คิดขึ้น (economy) หรือเป็นวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่มักตั้งบนอวิชชาที่ไม่ตั้งใจ โหมกระหน่ำด้วยกิเลสและตัณหาของ โลภะ โทสะ โมหะ จนกระทั่งธรรมชาติรู้ตัวว่ากำลังล่มสลายแล้ว (ทรัพยากรธรรมชาติติดลบแล้วร่วมสิบเปอร์เซ็นต์)
 
ด้วยความไม่รู้และโอหัง แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งความเชื่อ แบ่งชาติกำเนิด งมงายอยู่กับอวิชชาและกามโลกีย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มากๆ เหล่านี้มักจะละเลยคุณธรรมจริยธรรมอย่างหนักหน่วงและเพิ่มทวียิ่งขึ้นทุกวัน กลับกลายเป็นนอร์มใหม่ของสังคมไปโดยไม่เกรงกลัวฟ้าดิน แม้ว่าตอนนี้จะมีบางคนที่รู้สึกตัวบ้างแล้ว แต่ก็สายเกินไปที่จะหยุดยั้งกรรมร่วมโดยรวม (collective karma) ไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ ประการที่สาม-เรื่องของความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกันขององค์รวมซ้อนองค์รวม ซ้อนๆ องค์รวม ฯลฯ แอดอินฟินิตัม ซึ่งอาร์เธอร์ คอสเลอร์ เรียกว่า "องค์รวมกับส่วนขององค์รวมที่ใหญ่กว่า" ซ้อนๆ องค์รวมกับส่วนขององค์รวมที่ใหญ่กว่านั้นอีกไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ (holon= whole and part) นั่นคือธรรมชาติของโลกและจักรวาล ไม่ว่าจะมีจักรวาลเดียวหรือหลายๆ จักรวาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสำหรับผู้เขียนเชื่อว่าโลกและจักรวาล-ไม่ว่าจะมีจักรวาลเดียวหรือซ้อนๆ กันหลายๆ จักรวาล ดังที่ได้เขียนมาตลอดโดยเฉพาะเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว-คือสิ่งที่มีชีวิต เช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์โลกทั้งผอง เพราะว่าผู้เขียนเชื่อว่าอะไรก็ตามที่มีจิตอยู่ข้างในร่าง สิ่งนั้นคือชีวิตหรือมีชีวิต พูดง่ายๆ จิตกับชีวิตคือสิ่งเดียวกัน โดยเฉพาะสัตว์โลก (sentience) จะมีเวทนาความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องผลของการบริหารจิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึก หรือจิตตื่นรู้ในแต่ละตัว (คน) (unconsciousness to consciousness and a conscious mind) เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งสรรพปรากฏการณ์ต่างล้วนแล้วมีที่มีจิตกันทั้งนั้น ดังที่ราษฎร์ กฤษนันท์ ว่า "จิตหลับในก้อนหิน ตื่นแต่ไม่รู้ในพืชพันธุ์ไม้ ตื่นและมีกิริยา (active) ในสัตว์ ตื่นรู้ในคน" ดังนั้น ทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในจักรวาลจึงมีชีวิตทั้งสิ้นรวมทั้งตัวจักรวาลเอง "จักรวาลก็เป็นเช่นเดียวกับจิต เหมือนความคิดมาก กว่าจะเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ดังที่นักวัตถุนิยมคิด.....หรือเป็นดังที่นักฟิสิกส์ผู้ค้นพบฟิสิกส์แห่งยุคใหม่แต่ละคนเลยคิดและเชื่อ จักรวาลนั้นอธิบายให้เราเข้าใจไม่ได้ เพราะเป็นมายากลที่ต้องเอาจิตวิญญาณไปรวมด้วย" (Ken Wilber: The Eye of Spirit, 1998) เด็ดดอกไม้จึงกระเทือนถึงดาวและจักรวาลจริงๆ.
 
 
---------
(http://www.thaipost.net/sites/default/themes/x-cite/images/logo.png) (http://www.thaipost.net/)
เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ | ไทยโพสต์ (http://"http://www.thaipost.net/sunday/020809/8640")