[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 21:15:58



หัวข้อ: " ดาไลลาะมะ: พระ ที่อยู่นอกเหนือคำนิยาม
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 21:15:58
" ดาไลลาะมะ: พระ ที่อยู่นอกเหนือคำนิยาม "
 
(http://www.budpage.com/forum/picture/4695.gif)




ภาพจากหนังสือ Tibetan Buddhist Life, Don Farber, DK Publishing, 2003.
 
ภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ทำให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักพระรูปนี้ และแผ่นดินเกิดของท่านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “ประเทศ” เวลาล่วงเลยผ่านเข้าปีที่ ๕๐ ของการพลัดพรากจากแผ่นดินของพระองค์และของประชาชนชาวทิเบต หากแต่ชะตากรรมใช่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของบทเรียนอันเลวร้ายเสมอไป ชะตากรรมยังสร้างวีรบุรุษอีกเช่นกัน
 
ลางเลือนเต็มทีกับที่มาที่ไปที่ทำให้เดินเข้าใกล้เรื่องราวของชนชาตินี้ จำได้ว่าต่อเนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet ก็ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันอีกเรื่อง Little Buddha ตามมาด้วยหนังสือที่จุดประกายให้เข้าไปค้นหาตัวตนที่แท้จริงของทิเบต เขียนโดยชาวตะวันตกที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนทิเบตน้อย (ลาดัค) ทางตอนเหนือของอินเดีย หนังสือที่มีชื่อว่า “อนาคตอันเก่าแก่: บทเรียนจากวิถีชีวิตธรรมชาติแห่งดินแดนธิเบตน้อย” พจนา จันทรสันติ แปลมาจากเรื่อง “Ancient Futures: Learning from Ladakh” เขียนโดย เฮเลนา นอร์เบอร์ก – ฮอดซ์ สะท้อนมุมมองของชาวตะวันตกที่มีโอกาสใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในดินแดนอพยพของชาวทิเบต จากนั้นหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชนชาติที่มีศาสนา วัฒนธรรม อันเก่าแก่ ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพและดินแดนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และศรัทธา ของชาวพุทธที่นับถือ “พระสงฆ์” ผู้เปรียบเสมือนตัวแทนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน อาจมีความต่างกันบ้างในด้านจารีต และขนบประเพณี แต่สิ่งที่น่าค้นหากลับเป็น แก่นแท้ของศาสนาพุทธ
 
พุทธนิกายวัชรยาน, ตรันตระ, เถรวาท, เซน มีความเหมือนและความต่างกันอยู่ไม่น้อย องค์ดาไลลามะ เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ และเป็นที่มาแห่งความสนใจในศาสนาของชาวตะวันตก การได้รับรางวัลโนเบล ของท่านมีส่วนไม่น้อยในการเปิดประตู้ต้อนรับชาวโลกสู่พุทธศาสนา หากแต่ส่วนหนึ่งคงมาจากวัตรปฏิบัติของท่านที่ เรียบ ง่าย ธรรมดา แต่สะท้อนวิถีของพุทธ แบบจับต้องได้ เสน่ห์ขององค์ดาไลลามะ อยู่ที่ท่านบอกเล่าเรื่องราว ที่ได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองจากโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ท่านและชาวทิเบตได้รับ ร่วมกัน การสูญเสียดินแดนให้กับประเทศจีนซึ่งในสายตาของชาวโลกอาจมองว่า ชาวจีนเป็น “ศัตรู” ของชาวทิเบต แต่ในสายตาของชาวทิเบตอาจไม่ใช่ หรือหากใช่ ชาวทิเบตก็มีวิถีปฏิบัติต่อศัตรูที่แตกต่างออกไป จำได้ว่าเคยอ่านพบวิถีแห่งพุทธทิเบตที่สอนให้ “อภัย” และเมตตากรุณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ “ศัตรู” มีลามะรูปหนึ่งที่ถูกจับและจองจำอยู่ในคุกสมัยถูกจับไปเป็นตัวประกันในจีน เมื่อท่านเป็นอิสระท่านได้บันทึกไว้ว่า สิ่งที่ท่านกลัวที่สุดไม่ใช่ความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมาน แต่กลับเป็นท่านกลัวที่ จะ “สูญเสียความเมตตาที่ท่านมีต่อศัตรู” ในแต่ละวันท่านได้ปฏิบัติภาวนาเพื่อการให้อภัย ไม่โกรธเกลียด และเคียดแค้นศัตรู ด้วยสิ่งเหล่านี้ที่บ่งบอกถึงความเป็นพุทธแบบชาวทิเบตได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอ้างคัมภีร์ใดๆ หากจะลองเทียบเคียงกับพุทธแบบเถรวาทของเรา ก็คงมีหลักคิดที่ไม่แตกต่างกัน แต่จะมีชาวพุทธแบบเราๆสักกี่คนกันที่เข้าถึงธรรมข้อนี้ได้อย่าว่าแต่สาธุชนผู้ปฏิบัติเลย แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าไม่น้อยก็ยังเวียนว่ายหลุดพ้นไม่ได้เพียงแค่เรื่องของการ “อภัย”
 
เคยรู้สึกแปลกๆเมื่อมีโอกาสได้ทราบวัตรปฏิบัติของพระองค์ท่าน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเติบโตมากับพระในศาสนาพุทธแบบเถรวาท ภาพของพระในความทรงจำจึงมีแบบแผนชัดเจน และมักจะเป็นภาพในอุดมคติมากกว่าความจริงที่เป็นอยู่ (มาถึงตรงนี้อยากเสนอให้ใครก็ตามที่กำลังศึกษาในระดับที่สามารถทำวิจัยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ให้ลองทำใจกล้าวิจัยเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่คาดหวัง หรือภาพพจน์อันพึงประสงค์ของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธในทัศนคติขิงชาวพุทธไทย ดูบ้าง.....เผื่อว่าจะช่วยเป็นกระจกสะท้อนอะไรบางอย่างต่อวงการศาสนาของไทย และอาจส่งผลถึงทิศทางการอยู่รอดของศาสนาพุทธแบบไทยๆในอนาคต) พระองค์เคร่งครัดในการปฏิบัติต่อตนเอง แต่ยื่นหยุ่นเสมอสำหรับผู้อื่น มีความเมตตากรุณาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์ ที่สื่อออกมาผ่านสีหน้า อิริยาบถ และคำพูด จึงไม่แปลกเลยที่แนวคิดของพระองค์ที่ดูเสมือนจะธรรมดาและเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่กลับทรงอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ที่สนใจในศาสนา และทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาไม่ใช่เรื่องของผู้วิเศษ ผู้แสวงหา หากแต่เป็นเรื่องที่สามัญชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ โดยประยุกต์ใช้กับเรื่องราว วิธีคิด และวิถีชีวิต ประจำวัน
 
ถึงวันนี้พระองค์มีอายุมากแล้ว ชาวทิเบตก็ไม่มีท่าทีว่าจะได้เอกราชคืน หากวัดกันที่สัมฤทธิผลของเป้าหมายที่ควรจะเป็น การต่อสู้ของพระองค์ท่านดูเหมือนจะไร้ผล แต่วันนี้ประชาชนชาวโลกรู้จักทิเบต ที่ถึงแม้จะไม่ได้ปรากฏนามในแผนที่โลกในฐานะของประเทศ หากเป็นเพียงดินแดนในซอกหลืบเล็กๆภายใต้การปกครองของจีน และด้วยพระองค์ท่านเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จักศาสนาพุทธและจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจศาสนาพุทธ นี่อาจเป็นภาระกิจที่แท้จริงของพระองค์ท่านก็เป็นได้ ......สมเด็จพระเท็นซิน เกียโซ ดาไลลามะ องค์ที่ ๑๔ แห่งทิเบต
 
หนังสือน่าอ่าน; เรื่องราวของชาวทิเบต ดินแดนเล็กๆบนแผนที่โลก
1. อนาคตอันเก่าแก่ : บทเรียนจากวิถีชีวิตธรรมชาติแห่งดินแดนธิเบตน้อย Ancient Futures: Learning from Ladakh เฮเลนา นอร์เบอร์ก – ฮอดซ์ เขียน พจนา จันทรสันติ แปล, โครงการจัดพิมพ์ คบไฟ, ๒๕๓๗.
2. อัตชีวประวัติขององค์ทะไลลามะ: อิสรภาพในการลี้ภัย พระราชนิพนธ์ของทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ แห่งทิเบต ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๔, สำนักพิมพ์ สามสี, ๒๕๔๒.
3. หิมาลัยในความทรงจำ: บันทึกการเรียนรู้แห่งปรีชาญาณ ผ่านผู้คน เส้นทาง จากต้นน้ำคงคา ธิเบตน้อย..สิกขิม และชุมนบรรพกาล, ธารา ริศานต์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, ๒๕๔๗.
4. ปัญญาญาณ แห่งการให้อภัย (The Wisdom of the Forgiveness): บทสนทนาและการเดินทางเปี่ยมมิตรภาพ, ทะไลลามะ และวิกเตอร์ ชาน เขียน, สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล, สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา,๒๕๕๑.
5. พระราชวังกลางสายรุ้ง (The Rainbow Palace): บันทึกการต่อสู้แห่งจิตวิญญาณของอดีตหมอหลวงทะไลลามะ . เท็นซินโชดรัค เขียน, ธารา รินศานต์ แปล, สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา, ๒๕๔๕.
6. คิดด้วยจิตด้านบวก กับองค์ทะไลลามะ : หนทางสู่ศานติสุข สุภาพร พงศ์พฤกษ์ แปล, สำนักพิมพ์สามสี, ๒๕๔๕.
7. ประทีปส่องโพธิมรรค โดย สมเด็จพระเท็นซิน เกียโซ ดาไลลามะ องค์ที่ ๑๔ แห่งทิเบต สำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา
8. กล้าฝัน เพื่อมวลมนุษยชาติ (Imagine All the People), บทสนทนากับ ทะไลลามะ ว่าด้วยเรื่องเงิน การเมือง และชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น, เฟเบียน โอเอกิ สัมภาษณ์, วิศิษฐ์ วังวิญญู และ ณัฐฬส วังวิญญู แปล, สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา ๒๕๔๕.
9. Tibetan Buddhist Life, Don Farber, DK Publishing, 2003.
 
 
หมายเหตุ: จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบได้ ที่วันนี้มีโอกาสได้พบกับ CD ภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet ที่ตลาดนัดของมือสอง เลยได้โอกาสซื้อมาเก็บเข้า Tibet’s collection
 
 
http://www.budpage.com/forum/view.php?id=4696 (http://www.budpage.com/forum/view.php?id=4696)