[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 พฤษภาคม 2555 11:19:03



หัวข้อ: สามแพร่ง กับความเชื่อโบราณว่าเป็นทางผีผ่าน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 พฤษภาคม 2555 11:19:03
(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQxvbo2EEbPqn_j6PgYTLvG2Bf5RyjyDc2VrrLwoLToynI26bMcMSBONvo)  ถ้อยคำ - สำนวน
     กิมเล้ง ณ สุขใจ



สามแพร่ง กับความเชื่อโบราณว่าเป็นทางผีผ่าน

เมื่อกล่าวถึง  “สามแพร่ง”   หลายคนได้ยินแล้วกลัว เนื่องจากสามแพร่งเป็นเรื่องของโหราศาสตร์หรือฮวงจุ้ยที่บ่งบอกถึงทำเลต้องห้ามต้องหลบหลีก  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  อธิบาย “สามแพร่ง”   ไว้ว่า เป็นทางที่แยกเป็น ๓ สาย  เกิดจากทางสายหนึ่งมาบรรจบเป็นมุมฉากกับทางอีกสายหนึ่ง  โบราณถือว่าเป็นทางผีผ่าน  ไม่เป็นมงคล  เช่น ไปทำพิธีเซ่นวักเสียกบาลที่ทางสามแพร่ง  แต่อีกหลายคนก็จะนึกถึงย่านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีสถาปัตยกรรมงดงาม ทรงคุณค่า เป็นแหล่งอาหารอันเลื่องชื่อที่สืบทอดกันมาหลายสิบปี  ได้แก่ แพร่งสรรพศาสตร์  แพร่งนรา  และแพร่งภูธร  ซึ่งทั้งสามแพร่งนี้เป็นชื่อของถนนในกรุงเทพมหานคร

พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน  สะพาน ป้อม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ให้คำอธิบายคำว่า แพร่งสรรพศาสตร์    ว่าเป็นถนนที่ตัดผ่านวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ  บริเวณริมถนนบ้านตะนาว    ส่วน แพร่งนรา    เป็นถนนที่ตัดผ่านวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  และแพร่งภูธร    เป็นถนนที่ตัดผ่านบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

ด้านธรณีวิทยา คำว่า สามแพร่ง  คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยานำไปใช้ในการบัญญัติศัพท์คำว่า triple junction โดยบัญญัติว่า  ทางสามแพร่ง  หมายถึงจุดบรรจบของแผ่นธรณีภาค ๓ แผ่น  เกิดจากความร้อนพุ่งขึ้นจากชั้นเนื้อโลก  ทำให้แผ่นธรณีทวีปเดิมแตกหักแล้วแยกออกเป็นแผ่นธรณีภาคใหม่ ๓ แผ่น  มักทำมุมกันประมาณ ๑๒๐ องศา  โดยทั่วไปมี ๓ แบบ คือ แบบสัน  แบบร่องลึก  และแบบรอยเลื่อนแนวระนาบ 



ที่มา  :  "องค์ความรู้ภาษาไทย"  โดย ราชบัณฑิตยสถาน   น. ๒๒  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


หัวข้อ: Re: สามแพร่ง กับความเชื่อโบราณว่าเป็นทางผีผ่าน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 พฤษภาคม 2555 11:37:04
(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQxvbo2EEbPqn_j6PgYTLvG2Bf5RyjyDc2VrrLwoLToynI26bMcMSBONvo)  ถ้อยคำ - สำนวน
     กิมเล้ง ณ สุขใจ


ประสบการณ์ทางผีผ่าน

“ทองอินทร์” เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกจากเส้นทางวิญญาณ (ทางสามแพร่ง)


เล่าสืบกันมาว่า “ชาวพวน” อพยพจากเมืองลาว  มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี  ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา  ปรากฏหลักฐานจากการก่อตั้งวัดหินปักใหญ่ในปี ๒๓๐๖  โดยชาวพวนเป็นผู้สร้าง  ส่วนวัดวังใต้นั้นชาวไทยเวียงที่อพยพตามหลังมา สร้างไว้ในปี ๒๓๐๗  ต่อมากลายเป็นชุมชนใหญ่เมื่อครั้งปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓  

ชาวพวนนับถือศาสนาพุทธและนับถือผีปู่ตากับผีบรรพบุรุษ  โดยจะแยกหิ้งพระไว้คนละส่วน  ในหมู่บ้านก็มีศาลผีปู่ตาทุกแห่ง  นิยมสร้างไว้ตามเนินสูง เช่นตามโคกหรือจอมปลวกใหญ่ ๆ สะดุดตา   บางแห่งเรียกว่า “หอบ้าน”     ทุก ๆ ปี จะมีพิธีกรรมเลี้ยงผี   โดยหมอผีวัยชรา หรือเรียกว่า “เจ้าจ้ำ” เป็นผู้นำชาวบ้านทำพิธีกรรมต่าง ๆ  และเชื่อว่าถ้า “เซ่นไหว้ดี-ทำพลีถูกต้อง  ผีปู่ตาจะคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข"

นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรม “เลี้ยงผี”    โดยการทำบุญสารทหรือเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ ซึ่งเทศกาลดังกล่าวของชาวพวนจะตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙  ส่วนสารทลาวถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐  แต่สารทไทยช้ากว่าเพื่อน คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐


เหตุการณ์ชวนขนหัวลุก

หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์การทำบุญสารทที่วัดใกล้บ้านคราวหนึ่ง   ชาวบ้านต่างล้อมวงกินอาหาร  เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้ว ก็ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงภูตผีปีศาจ รวมทั้งสัมภเวสี ผีเร่ร่อน ให้ได้รับส่วนบุญด้วย  ซึ่งชาวบ้านนิยมทำเป็นประเพณี  โดยห่อข้าว  อาหารคาวหวาน  หมากพลู  บุหรี่  ห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วนำไปวางตรงทางสามแพร่ง  เพราะเชื่อว่าเป็นทางผีผ่าน   ซึ่งไม่ว่าไทยหรือพวนก็เชื่อเรื่องทางสามแพร่งตรงกัน คือเชื่อว่าเป็นทำเลอัปมงคล  สิ่งชั่วร้ายหรือภูตผีจะมาสิงสู่อยู่กันที่นั่น  จึงได้หลีกเลี่ยงการปลูกบ้านในทำเลเช่นนั้น  ยกเว้นแต่จะจนปัญญาจริง ๆ เพราะหาที่ทางไม่ได้แล้ว      และที่เชื่อตรงกันอีกอย่างก็คือภูตผีย่อมมีความหิวโหยเหมือนผู้คนทั้งหลาย  จึงได้มีการเอาอาหารเซ่นผีตั้งแต่ยังไม่ได้เผา  หลังจากนั้นก็ยังทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผี  รวมทั้งผีไม่มีญาติอีกด้วย

วันนั้น หลังจากจัดการแจกข้าวให้ผีแล้วก็พากันกลับ  น้องชายของ  “ทองอินทร์”  อายุราว ๗-๘ ขวบ  เดินไป  พลางหันไปมองข้างหลังบ่อย ๆ  จนแม่ของเด็กถามว่ามองอะไรหรือ?  คำตอบของเด็กเล่นเอาผู้ใหญ่ต้องหยุดกึกไปตาม ๆ กัน

“ใครไม่รู้  มาแย่งกันกินข้าวห่อกันใหญ่เลย....”   น้องชายไม่ได้พูดเฉย ๆ  แต่ชี้มือให้ดู   ทุกคนหันขวับไปมอง   นอกจากเสียงลมพัดคร่ำครวญ  เมฆหนาบดบังแสงแดดจนร่มครึ้มแล้ว  เราก็ไม่เห็นอะไรเลย  แต่ทำไมขนหัวลุกก็ไม่รู้ ?!
 

ที่มา  : - ย่อ-สรุปความโดยกิมเล้ง   จากคอลัมภ์ “ขนหัวลุก”  โดยใบหนาด  หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


หัวข้อ: Re: สามแพร่ง กับความเชื่อโบราณว่าเป็นทางผีผ่าน
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 พฤษภาคม 2555 23:58:56
พูดถึงทางสามแพร่ง และการเอาอาหารมาเซ่นผี
เคยได้อ่าน และศึกษามาจากหลาย ๆ แห่ง
ท่านว่าถ้าเทพเทวา จะสามารถบันดาลอาหารที่เป็นทิพย์ หรืออิ่มอยู่ในสภาวะทิพย์ได้
แต่ในทางกลับกันวิญญาณชั้นที่ต่ำลงมา หรือบรรดาสัมภเวสีผีเร่ร่อนต่าง ๆ
จะไม่สามารถรับอาหารที่เป็นทิพย์ได้ หรือบางพวกก็ไม่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศลได้
ดังนั้นการที่เราจำต้องใช้อาหารที่มีรูปก็เปรียบได้ดั่งการอาศัยสภาวะทิพย์จากอาหารที่ประกอบด้วยธาตุ 4
หรือพูดอีกอย่างคือใช้รูปนำร่อง เพื่อให้เขาได้กินอาหารได้
เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ 5 และ ธาตุ 4 เหมือนเรา

และถ้าจำไม่ผิดถ้าจะกินในสภาวะที่ไม่เป็นทิพย์ คือกินของได้โดยไม่ต้องเป็นทิพย์
ก็มีจำพวกเปรต เพราะเคยอ่านเจอว่ามีเปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
บ้างก็กินอุจจาระเป็นอาหาร ดังนั้นความเข้าใจของน้าแม๊ค คือถ้าเป็นพวกสัมภเวสี
จะไม่สามารถกินของที่เป็นรูปขันธ์ได้ น่าจะเป็นในลักษณะของทิพย์ที่ยืมรูปมาใช้

ที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวจากที่ได้อ่านและศึกษาผ่าน ๆ มาบ้าง
น้าแม๊คความรู้ยังน้อยแค่หางอึ่ง ผิดถูกประการใดต้องขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วย