[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 17:42:35



หัวข้อ: พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 17:42:35
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96474269198046_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50210105338030_2..JPG)

พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี
SOMDET PHRA NARAI NATIONAL MUSEUM
Lopburi Province

เมืองลพบุรี เดิมมีชื่อว่า “ลวปุระ” หรือ “ละโว้”  เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย  มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ในสมัย “ทวารวดี”  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖  ต่อมาได้มีการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรขอม  ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เรียกว่า “สมัยลพบุรี”  เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๙๓  เมืองลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา  จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) พระองค์โปรดฯ ให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียนร่วมกันออกแบบก่อสร้างพระราชวังเมืองลพบุรี  พร้อมกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๐๙ เพื่อทรงใช้ประทับเป็นที่แปรพระราชฐานว่าราชการงานเมือง  ต้อนรับแขกเมือง พักผ่อน และล่าสัตว์ เสมือนเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา


แผนผังของพระราชวังแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งหันเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี มีกำแพงก่ออิฐถือปูนและใบเสมาล้อมรอบ มีป้อมปืน ๓ ป้อม ประตูใหญ่รูปโค้งแหลม ๑๑ ประตู ที่ผนังประตูเจาะรูปโค้งแหลมจำนวนมากสำหรับวางตะเกียงสร้างความสว่างไสวให้แก่พระราชวังในยามค่ำคืน  ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันอย่างมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75136098762353_1.png) สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑)  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังแห่งนี้ เป็นที่ประทับ พร้อมกับโปรดฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ กับหมู่ตึกพระประเทียบขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๙๙

พระราชวังมีพื้นที่ ๔๑ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา  ทรงกำหนดเขตพระราชฐานเป็น ๓ เขต  คือเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ตามแบบแผนของราชสำนักที่ปรากฏในพระบรมมหาราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งจันทรพิศาลตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ บันทึกว่า “....หลวงจตุรงควิไชยทำพระที่นั่งจันทรพิศาลได้วางไม้ทับหลังพระแกล พระทวาร...ก่อผนังหลัง เช็ดหน้าทั้ง ๓ ด้าน....พระยาสีหราชฤทธิไกร ทำพระที่นั่งจันทรพิศาล ก่อผนังถึง (กรอบ) เช็ดหน้าทั้ง ๑๑ ห้อง...พระยานครอิน หลวงจัตุรงควิไชย หลวงรามเดชะ  ลวงโจมจัตุรง นายด้านได้แต่งตัวไม้เครื่องบนเข้าตับไว้ ๑๒ ตับ...”  นอกจากนี้ทรงพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

 

ปี พ.ศ.๒๒๓๐ ราวเดือนพฤศจิกายน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรและทรุดโทรมลงมาก ถึงแม้พระชันษาจะเพียง ๕๕  แต่ก็ดูกลายเป็นผู้ทรงพระชราอย่างยิ่ง จนกระทั่งมีข่าวลือว่าพระองค์ถูกวางยาพิษอย่างช้าๆ ถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก จนไม่สามารถว่าราชการแผ่นดินได้ และเสด็จสวรรคต  ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  ตั้งอยู่ภายในพระราชวังแห่งนี้  เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๒๓๑ พระชันษา ๕๕  หลังจากนั้นมาพระราชวังแห่งนี้ก็ทรุดโทรมกลายเป็นที่รกร้าง และลดความสำคัญลง  

(http://haab.catholic.or.th/churchbkk/3AD1OAOA3i1.jpg)
ภาพวาดแสดงเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เสด็จออกรับท่านเดอ โชมองต์  ราชฑูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
จะสังเกตเห็นบาทหลวงเดอชัวซีย์  ยืนอยู่ข้างราชฑูตฝรั่งเศส
และเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หมอบอยู่หน้าที่ประทับ
ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

พระราชพงศาวดารบันทึกว่า ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะเสด็จสวรรคต ได้ถวายพระราชวังให้เป็นวิสุงคามสีมา (ที่วัด)  ดังนั้น ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ต้องทรงกระกระทำพิธีการผาติกรรม ไถ่ถอนจากการเป็นที่วัดให้คืนมาเป็นที่พระราชวังตามเดิมเสียก่อน โดยพระราชทานทรัพย์ให้จัดซื้อที่นา ที่สวน อุทิศถวายให้เป็นที่ของวัด เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินพระราชวัง ทรงบริจาคเงิน ๖๐๐ ชั่ง ชดเชยเป็นค่าสำหรับการสร้างพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ ด้วย  และให้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดจำนวน ๓ วัด ได้แก่ วัดชุมพลนิกายาราม  บางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดขวิด (วัดกวิศราม) จังหวัดลพบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/16519192357857_5.JPG)
กล่าวกันว่าเป็นเพราะคำแนะนำของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (Constant  Folcon)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงโปรดฯ ให้ก่อพระที่นั่งในเมืองลพบุรีด้วยอิฐ  
เพราะแม้พระที่นั่งและตำหนักในราชธานีอยุธยาก็ยังสร้างด้วยไม้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อพระชันษา ๒๕ ทรงดำเนินตามพระราชบิดา คือ ทรงเป็นพระราชาพ่อค้า ทรงควบคุมการค้าขายของชาวต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกตะวันตกอย่างใกล้ชิด พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ชาวฝรั่งรู้จักมากที่สุด  และกล่าวกันว่าเรื่องราวที่แปลกประหลาดที่สุดในรัชกาลของพระนารายณ์คือ ในตอนปลายรัชกาลทรงโปรดใช้ฝรั่งคนหนึ่งเป็นพิเศษ ฝรั่งผู้นี้มีกำเนิดเป็นชาวกรีกมีนามว่า คอนสตันต์ เกราคีส หรือเจราคีส (Constant Gerakis or Jarakis) หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า คอนสตันต์ ฟอลคอน (Constant Folcon : เหยี่ยวนกเขา) สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานคนผู้นี้มาก ทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง (เสนาบดีที่ปรึกษา การต่างประเทศ) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์โดยรวดเร็ว ขึ้นเป็นถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์  ทำให้ฟอลคอนมีฐานะร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น   เมื่อฟอลคอนเป็นคนโปรดของพระนารายณ์ ย่อมจะก่อให้เกิดการอิจฉาริษยาและรังเกียจขึ้น ไม่แต่ในหมู่ฝรั่งเท่านั้น แม้แต่เสนาบดีและข้าราชการก็อิจฉาริษยาและรังเกียจด้วย จนในที่สุดพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนัก ราว ๒ เดือนก่อนเสด็จสวรรคต ฟอลคอนถูกหลอกให้ออกไปจากบ้านวิชาเยนทร์* ถูกจับส่งตัวไปยังบ้านหลวงสรศักด์ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าเสือ) และถูกคุมขังไว้ราว ๑ เดือน จึงถูกประหารชีวิตโดยตัดศีรษะที่ฝั่งทะเลชุบศร  อันเป็นทะเลสาบย่อมๆ ของเมืองลพบุรี ...* บ้านวิชาเยนทร์ (บ้านหลวงรับราชฑูต) เป็นตึกแข็งแรง ก่อด้วยอิฐใหญ่โต สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างพระราชทานให้แก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์...ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐาน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/78598407821522_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48831196170714_4.JPG)

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ (PHIMAN MONGKUT HALL)[/center]
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่พระที่นั่งประกอบด้วย พระที่นั่งอักษรศาสตราคม พระที่นั่งไชยศาสตรากร เดิมคงเป็นที่เก็บศาสตราวุธ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย  ใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการแผ่นดิน  ส่วนที่เรียกว่าพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง ๓ ชั้น  ชั้น ๓ เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชั้นกลางเป็นห้องเสวยพระกระยาหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18435113670097_3.png)  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหมู่พระที่นั่งองค์นี้ เป็นแบบตะวันตก หลังคาพระที่นั่ง แต่เดิมมุงด้วยกระเบื้องมีลอนคล้ายเก๋งจีน  แล้วมุงด้วยกระเบื้องธรรมดาในภายหลัง พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นที่จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัตศาสตร์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะชั้นที่ ๓ เป็นห้องที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42797363756431_2.png)
ทิมดาบ (THIM DAB HALL) สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙  เพื่อเป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ถวายความปลอดภัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในขณะประทับอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ที่พักมี ๒ หลัง  ตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงทางเข้าประตูด้านละ ๑ หลัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44216308701369_6.JPG)
ประตูเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นใน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59810549269119_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97947952648003_3.JPG)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93109604840477_10.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86949903724922_11.JPG)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66139853828483_2.png)
เครื่องเงิน : เชิงเทียน ถ้วยใส่เหล้าองุ่น ฯลฯ สมัยอยุธยา
ซึ่งนอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุ อีกจำนวนมากที่ควรค่าแก่การศึกษา
เก็บรักษาไว้ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68895040742225_1.png)
เสลี่ยง ๘ คนหาม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ทำจากไม้เนื้อแข็งแกะลวดลายฉลุ ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้น
ได้จากวัดตองปุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
(วัดตองปุ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96393686160445_1.png)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51249708525008_1.png)
ท่อดินเผา สำหรับจ่ายน้ำ จากอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก ซึ่งอยู่ในหุบเขาจังหวัดลพบุรี
ให้เข้าสู่ตึกและหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ภายในพระราชวัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/78910459660821_1.png)
อ่างเก็บน้ำ สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.๒๒๐๙
โดยฝีมือบาทหลวงชาวฝรั่งเศสและอิตาลี สำหรับเป็นที่กักเก็บน้ำใช้และจ่ายไปตามท่อดินเผา
เข้าสู่ตึกและพระที่นั่งต่างๆ ภายในพระราชวัง  น้ำเหล่านี้ไหลมาตามท่อดินเผาจากอ่างซับเหล็ก
ซึ่งอยู่กลางหุบเขานอกเมืองลพบุรี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74843022061718_3.png)
SOMDET PHRA NARAI NATIONAL MUSEUM
Lopburi Province
เปิดวันพุธ – อาทิตย์  เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.
ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม ๓๐ บาท/ท่าน (ชาวไทย)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63106697176893_1.png)
เทวสถานปรางค์แขก-PRANG KHEAK  
(ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์– ฮินดู)
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (พ.ศ.๑๔๒๕ - ๑๔๓๖)
ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านวิชาเยนทร์
ก่อนการบูรณะ ก่อสร้างด้วยอิฐ  ระหว่างอิฐแต่ละก้อนจะสอเชื่อมด้วยยางไม้