[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 ธันวาคม 2555 14:06:19



หัวข้อ: ตำนานพระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และตำนานสิงห์ล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 ธันวาคม 2555 14:06:19
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/55382293669713_9.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77789860798252_2.jpg)

ตำนานพระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ตามตำนานมูลศาสนาชินกาลมาลินี  กล่าวว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองพาราณสี เพลาเช้าพระองค์ทรงจับบาตรแลจีวร  เสด็จลำพังแต่ผู้เดียวโดยนภากาศ (เหาะ)  เที่ยวโคจรบิณฑบาตไปในอัฏวีคามแห่งหนึ่ง   ฝูงชนชาวบ้าน ณ แห่งนั้นมีศรัทธาเลื่อมใส   ถวายโภชนาหารแก่พระพุทธองค์    พระพุทธองค์ทรงดำรัสธรรมเทศนาแก่ชาวบ้านเหล่านั้น ให้ดำรงตนตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมและศีลห้า   แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินโดยอากาศมาจากที่นั้น    เสด็จลงในที่แห่งหนึ่ง  ทรงตั้งบาตรลงไว้เหนือแผ่นศิลา  กระทำซึ่งภัตกิจ (ฉันอาหาร)  เสร็จแล้วจึ่งมีพระพุทธพยากรณ์ไว้ว่า  เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว  นานไปเบื้องหน้า ณ ที่แห่งนี้จักเป็นพระมหานครอันใหญ่  พญาอาทิจราช (อาทิตยราช)  จักได้เสวยพระราชสมบัติในพระนคร   ที่อันนี้ตรงนี้ จะเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระตถาคต     พญากาเผือกได้ยินเช่นนั้น จึงได้บอกกล่าวข่าวนี้แก่ลูกหลานของตนว่า ให้ช่วยกันเฝ้ารักษาสถานที่แห่งนี้สืบต่อไป

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15866047392288_1.jpg)

ครั้นจุลศักราช ๔๐๙ ปี   พญาอาทิจราช ได้ราชาภิเษกครองเมืองหริภุญไชย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทกลางพระนครนั้น  

วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปสู่เวจศาลา (ส้วม)  กากะปักษี (อีกา) ตัวหนึ่งถ่ายมูลคูธตกลงเหนือเศียรเกล้าแห่งพระองค์  พระองค์แลขึ้นไปพลางตรัสให้เสนาอำมาตย์จับตัวกาให้ได้เร็วๆ  กาตัวนั้นก็ถ่ายมูลคูธให้ตกลงในพระโอษฐ์อีก  พระองค์ทรงพิโรธนักหนา รับสั่งราชบุรุษทั้งหลายให้ตามจับกาให้จงได้ เมื่อได้กามาถวายแล้ว ทรงจะฆ่ากานั้นเสีย อมัจ์เจ ปุจ์ฉิ ยุต์ ตรูโป  นวายํ  พระองค์ตรัสถามอำมาตย์ว่า เราควรจะฆ่ากาตัวนี้ควรหรือมิควรประการใด  อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่าอย่าเพิ่งฆ่า ควรถามผู้รู้ซึ่งเหตุเบื้องหน้าก่อน โหรัญ์ญุโน  ปุจ์ฉก โหรทั้งหลายทูลถวายพยากรณ์ว่า ให้เลี้ยงกานั้นไว้  อันความสวัสดีจักมีแก่พระองค์  พญาอาทิตยราชจึงให้ทำกรงใส่กานั้นเลี้ยงไว้   ครั้นราตรี ก็ทรงพระสุบินว่า มีเทพยดาองค์หนึ่งมาทูลแก่พระองค์ว่า แม้นพระองค์ใคร่จะรู้ซึ่งเหตุนั้น ให้นำทารกอันเกิดได้ ๗ วัน มาเลี้ยงไว้และให้นอนใกล้กรงกา  พระองค์จะสามารถรู้ซึ่งเหตุนั้นได้
 

สมเด็จพระบรมกษัตริย์ก็ทรงทำตามพระสุบินนิมิตทุกประการ  ครั้นทารกนั้นอายุได้ ๗ ปี  ก็รู้ซึ่งภาษาของกาและมนุษย์ พระองค์จึงถามถึงเหตุนั้นแก่ทารก ทารกก็สนทนาพูดจากับกา  กาก็เล่าให้ทารกนั้นฟังว่า ปู่ของเราเป็นพญากาเผือก บัดนี้อยู่ป่าหิมพานต์ แก่หง่อมแล้ว  พญากาปู่เรานั้นบังคับเราว่า ที่นี้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุแห่งพระชินสีห์เจ้า เจ้าจงอยู่เฝ้ารักษาที่แห่งนี้ ท่านสอนเราเท่านี้ ทารกได้ฟังคำแห่งพญากา จึงทูลเหตุทั้งปวงนั้นแก่พญาอาทิจราช  

พญาอาทิจราชได้ฟังแล้ว จึงมีรับสั่งให้รื้อเวจศาลา ทำพื้นที่ให้ราบเรียบเสมอกัน รมด้วยเครื่องหอมทั้งปวงให้สถานที่สะอาดบริสุทธิ์ แล้วให้ตีกลองป่าวชาวพระนคร ส่วนพระองค์ทรงเครื่องอลังการแห่งกษัตริย์ เสด็จพระราชดำเนินไปในที่นั้น อันเป็นที่ประชุมชนชาวพระนครและภิกษุ ทรงประทับเป็นองค์ประธาน ยกอัญชลีน้อมนมัสการบูชาสถานที่แล้วตั้งสัตยาธิษฐานให้พระบรมธาตุสำแดงพระปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่มหาชนคนทั้งปวงบัดนี้เถิด  

สธาตุโก สุวัณ์ณกรัณ์ฑโก เมื่อจบคำอธิษฐานแห่งพระมหากษัตริย์  ด้วยเทวานุภาพผอบทองพระบรมธาตุอันพระเจ้าอโสกราชบพิตร์ทำไว้ด้วยเทวานุภาพก็เลื่อนลอยขึ้นไปประมาณ ๓ ศอก เปล่งฉัพพรรณรังสีอยู่ในที่นั้น ประชุมชนชาวพระนครทั้งหลายมีพระเจ้าอาทิจราชเป็นประธานเห็นเหตุมหัศจรรย์ก็ยิ่งโสมนัส สรรเสริญสาธุการด้วยบุบผามาลาธูปเทียน  

ขณะนั้น พระเจ้าอาทิจราชมีพระทัยปรารถนาจะนำผอบพระบรมธาตุไปไว้ยังที่แห่งอื่น ธาตุรัณ์ฑโก ผอบพระบรมธาตุแห่งสมเด็จพระชินสีห์ ก็บันดาลแทรกทรุดหายลงไปในพื้นพสุธา    

เหตุดังนั้น พญาอาทิจราชจึงกระทำอาราธนาด้วยเครื่องสักการบูชาต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง  ผอบทองพระบรมธาตุก็เสด็จผ่อนผันขึ้นมาพ้นเหนือพื้นปฐพีสูงประมาณ ๓ ศอกฉัพ์พัณ์ณรํ  สิโย  สิสัช์เชสิ เปล่งฉัพพรรณรังษีพระรัศมีหกประการแล้วก็ประดิษฐานเลื่อนลอยอยู่ ณ ที่นั้น   ฝ่ายพญาอาทิจราชจึ่งเอาพระหัตถ์ทั้งสอง ค่อยๆ ประคองรองรับซึ่งผอบพระบรมธาตุ  วางลงเหนือพื้นแผ่นศิลาอันหนึ่ง อันสะอาดบริสุทธิ์  แล้วมีพระราชโองการสั่งให้สร้าง ปาสารทถูปํ ปราสาทสถูปพระองค์หนึ่ง  สูง ๑๒ ศอก มีพระทวารบานประตูเข้าออกทั้งสี่ทิศ  เสา ๔ เสา ขึ้นไว้บนแผ่นศิลานั้น เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ในสกลชมพูทวีปทั้งปวง   อันพระมหาธาตุก็บังเกิดมีในเมืองหริภุญไชย  ในกาลเมื่อพญาอาทิจราชราชาภิเศกได้ ๑๖ ปี  เป็นปีที่พระพุทธศาสนาล่วงได้ ๑๓๘๓ พระวรรษา ถ้าจะนับถอยหลังลงไปตั้งแต่ปีที่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานมานั้น ก็นับได้ ๑๖๐๐ พระวรรษา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73555179643962_12.jpg)

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นโบราณสถานที่สำคัญของวัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร พระเจ้าอาทิตยราช เป็นผู้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  อันมีธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อย เต็มบาตรหนึ่ง ตามพุทธทำนาย  

เมื่อพญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทรวดทรงขององค์พระธาตุฯ จากทรงปราสาทเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา  ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๗๒๒ พระเจ้าสัพพสิทธิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้สร้างโกศทองเสริมต่อขึ้นไปอีกหนึ่งศอก รวมเป็นสูงสี่ศอก และสร้างพระมณฑปสูงต่อขึ้นอีก ๒ วา รวมเป็นห้าวา พร้อมทั้งสร้างทองจังโก (แผ่นทองแดงปนนาก) หุ้มตลอดองค์พระเจดีย์ จำนวน ๑๕,๐๐๐ แผ่น  ในปี พ.ศ. ๒๐๐๐ พระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้สร้างสันติบัญชร (ระเบียงหอก) จำนวน ๕๐๐ เล่ม ล้อมเป็นรั้วไว้ ณ ฐานล่างสองชั้น ต่อมาในสมัยพระยาอุปโย เจ้านครเชียงใหม่  พระราชโมลีมหาพรหม และพระสังฆราชา ได้ชักชวนชาวเมืองทำสันติบัญชรต่อเพิ่มเติมอีก ๗๐๐ เล่ม จนแล้วเสร็จสมบูรณ์  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81510294187400_8.jpg)
อาทิจ์จัส์ส รัญ์โญ ปน อัค์คมเหสี ปทุมวดีนาม เทวี  
พระนางปทุมวดี  พระราชเทวีแห่งสมเด็จพระเจ้าอาทิจวงษ์  
ทรงมีพระราชศรัทธาให้สร้างพระสุวรรณเจดีย์อีกองค์หนึ่งไว้ในพระศาสนา
เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่เทพยดาและเหล่ามนุษย์ทั้งปวง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60429994223846_10.jpg)
สัพ์พาสิท์ธิราชา
พระเจ้าสรรพสิทธิราช ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระมหาธาตุปราสาทเจดีย์
ที่สมเด็จพระไอยกา (พญาอาทิจราช) ทรงสร้างไว้แต่กาลก่อน

------------------------------------------------


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/45479404429594_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61820073011848_4.jpg)
ตำนานสิงห์ แห่งวัดล้านนา
เกี่ยวกับสิงห์แห่งวัดล้านนา อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักวิชาการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีผลงานดีเด่นการอนุรักษ์ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา อรรถาธิบายไว้ว่า รูปอนุสรณ์สัตว์ชนิดหนึ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปในเขตล้านนา โดยเฉพาะประตูวัด ได้แก่รูปสิงห์ ซึ่งรูปอนุสรณ์ดังกล่าวอาจมีมานานแล้ว

ในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งเป็นโคลงเก่าแก่อายุราว ๕๐๐ ปี มีกล่าวถึงรูปสิงห์ ๒ ตัวที่ประตูวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ในบทที่ ๑๑ ว่า "ลาเถิงปราสาทสร้อย สิงห์สอง" อย่างไรก็ตาม ความเป็นมาของรูปสิงห์ยังไม่มีการศึกษาโดยละเอียด แต่เชื่อกันว่าเป็นความนิยมที่รับจากพม่า โดยมีเรื่องเล่าว่า

นานมาแล้ว ณ นครแห่งหนึ่ง พระราชามีพระธิดาที่ทรงแต่งงานกับเจ้าชายหนุ่มและมีพระโอรสกับพระธิดา ๒ องค์ กาลนั้นมีราชสีห์ตัวหนึ่งมีความพึงพอใจในตัวเจ้าหญิง รวมถึงพระโอรสและพระธิดา จึงเข้าลักพาทั้งสามพระองค์ไปเลี้ยงดูอย่างดีในป่า ราชสีห์รักพระโอรสและพระธิดาเสมือนลูก เมื่อทั้งคู่เจริญวัยราชสีห์ได้สอนสรรพวิชาโดยเฉพาะเวทมนตร์และวิชาการใช้ธนูที่เรียกว่า ธนูสิงห์ แก่พระโอรสจนมีความสามารถแก่กล้า
 
แต่ตลอดมา ๒ พระองค์มีความสงสัยว่า ทำไมตนและพระมารดามาอยู่กับสัตว์ พระบิดาเป็นใคร เมื่อทูลถามพระมารดา เจ้าหญิงก็ทรงเล่าความจริงให้ฟัง พระโอรสจึงพยายามเดินสำรวจป่าอยู่หลายวัน จนทราบเส้นทางดี วันหนึ่งขณะที่ราชสีห์ออกไปหากิน พระโอรสก็ทรงพาพระมารดาและพระขนิษฐาหนีออกจากป่าจนถึงบ้านเมือง เมื่อไปถึงพระราชวังปรากฏว่าพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าชายสวามีได้เป็นพระราชาสืบราชสมบัติแทน ทั้งสี่พระองค์ดีพระทัยมากที่ได้พบกันอีกครั้ง

กล่าวถึงราชสีห์ เมื่อกลับมาไม่พบเจ้าหญิง พระโอรสและพระธิดา จึงออกตามหาด้วยความแค้นเคืองใจเป็นกำลัง มันเข้าไปในเมืองด้วยความบ้าคลั่ง พบเจอมนุษย์ตรงไหนก็คำรามแผดสีหนาทซึ่งเป็นเสียงมรณะใส่มนุษย์นั้น
 
กล่าวกันว่าเสียงคำรามของราชสีห์ใครได้ยินจะสิ้นใจในพริบตา ราชสีห์ฆ่ามนุษย์มาตามทาง ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว พระราชาจึงทรงสั่งให้ปราบทันที แต่ไม่มีใครทำอะไรได้เพราะราชสีห์มีฤทธิ์มาก พระโอรสทรงรำพึงว่าที่ผู้คนล้มตายเพราะตนเป็นต้นเหตุจึงอาสาไปปราบ

พระโอรสออกไปประจันหน้ากับราชสีห์ เตรียมประหัตประหารกัน แต่เหล่าเทวดาไม่อยากให้พระโอรสฆ่าผู้มีพระคุณ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ราชสีห์ฆ่าพระโอรสที่จะสืบราชสมบัติ จึงบันดาลให้ทั้งสองฝ่ายใจอ่อน ทั้งสองจึงต่อสู้กันธรรมดา แต่การต่อสู้กันนั้นเนิ่นนานไม่มีใครแพ้ชนะ ที่สุดราชสีห์ระงับอารมณ์ไม่อยู่จึงอ้าปากเพื่อจะแผดสีหนาท พระโอรสเห็นจึงยิงธนูสิงห์เข้าไปในปาก ราชสีห์ก็ล้มลงสิ้นใจตายทันที

ชาวเมืองเซ็งแซ่สรรเสริญพระปรีชาสามารถ ตั้งแต่นั้นมาบ้านเมืองก็สงบสุข และเมื่อพระราชาสวรรคตพระโอรสได้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ประชวรมีพระอาการปวดพระเศียรเสมอ แพทย์หลวงก็มิอาจรักษาได้ ทรงทุกขเวทนามาก (บางตำราว่าบ้านเมืองเกิดอาเพศด้วย)

กระทั่งมีปุโรหิตาจารย์ทูลว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะบาปกรรมที่ทรงฆ่าผู้มีพระคุณที่เคยเลี้ยงดูมา ทางแก้คือต้องสร้างรูปสิงห์ไว้บูชา แต่ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์มนุษย์จะสร้างรูปสัตว์ไว้บูชาย่อมไม่สมควรกระทำ แต่เพื่อให้หายจากโรคร้ายจึงทรงเลี่ยงไปสร้างรูปราชสีห์ไว้ตามประตูวัดแทน

เรื่องไม่ได้เล่าต่อว่าพระราชาทรงหายปวดพระเศียรหรือไม่ แต่ก็เกิดธรรมเนียมการสร้างรูปราชสีห์หรือรูปสิงห์เป็นสิงห์คู่ปรากฏอยู่ตามวัดทั่วไป ในเขตล้านนาอย่างที่พบเห็น

ทั้งนี้โบราณาจารย์ล้านนามีความเชื่อเป็นข้อห้ามสืบต่อกันว่า ห้ามมีรูปสัตว์ ๕ ประเภทอยู่ในบ้าน หนึ่งในนั้นคือรูปสิงห์ ดังที่ปรากฏในตำราสัพพะขึด ว่า "รูปอันบ่ดีอยู่ในบ้านมี ๕ ประการ คือว่ารูปช้าง นาค เสือ ราชสีห์และรูปราหู หลอนมีไว้ดั่งอั้น ก็ขึดนักแล" ถ้าเชื่อตามนี้รูปสิงห์ควรอยู่ในวัดเท่านั้น
ที่มา : เหนังสือพิมพ์ข่าวสด


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57711410853597_6.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39306277988685_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77852944491638_5.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31275205852256_11.jpg)