[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2556 16:31:41



หัวข้อ: แสงสว่างบัลลังก์กรุงศรีฯ เริ่มริบหรี่ เมื่อสิ้น "พระสุริโยทัย"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2556 16:31:41
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70578624308109_1.JPG)
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัย ณ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา

แสงสว่างบัลลังก์กรุงศรีฯ เริ่มริบหรี่
เมื่อสิ้น "พระสุริโยทัย"
 

เมื่อพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์นั้น ปรากฏความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

“ศักราช ๙๐๕ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๐๙๑) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ เวลาอุษาโยค สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีก็ทรงเครื่องสิริราชปิลันธนาลังการาภรณ์ บวรมหาสังวาลเนาวรัตนสะพักพระอังสาอลงกตอังคาพยพอย่างอัครราชรามัญวิสัย  สำหรับมหาพิชัยรณรงค์เสร็จ  เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลปราบทวีปเป็นราชพาหนะ ประดับเครื่องคเชนทราลังการาภรณ์บวรมหาสารวิภูสิต พร้อมด้วยเสนางคนิกรพิริยโยธาหาญ  ดำเนินธงคลาพยุหโยธาทัพ พร้อมพลสามสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อย ม้าสามพัน ให้พระมหาอุปราชเป็นกองหน้า  พระเจ้าแปรเป็นเกียกกาย  พระยาพสิมเป็นกองหลัง   จากกรุงหงสาวดี รอนแรมมาเจ็ดเวน ข้ามแม่น้ำเมาะตะมะ โดยทางสมี

ขณะนั้น มีหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีเข้ามาว่า ชาวด่านไปถีบด่านถึงตำบลจอยยะได้เนื้อความว่า สมเด็จพระเจ้าหงสาวดียกพลมา ข้ามเมืองเมาะตะมะถึง ๗ วันจึงสิ้น

สมเด็จพระมหาจักพรรดิราชาธิราช ตรัสให้เทครัวเมืองตรีจัตวาและแขวงจังหวัดเข้าพระนคร และมีพระราชกำหนดขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลกว่า ถ้าศึกหงสาวดีเข้ามาติดพระนครศรีอยุธยาเมื่อใด ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาเอาทัพเมืองหน้าทั้งปวงยกมาเป็นทัพกระหนาบ  แล้วตรัสให้พระยาจักรีออกตั้งค่ายตำบลลุมพลี ถือพลห้าหมื่น ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง  

ฝ่ายพระมหานาคอยู่ วัดภูเขาทองสึกออกมารับอาสาตั้งค่ายกันทัพเรือ  ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู  พรรคพวกสมกำลังญาติโยมทาสชายทาสหญิงของมหานาค ช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ  จึงเรียกว่า "คลองมหานาค"

เจ้าพระยามหาเสนา ถือพลหมื่นหนึ่งออกตั้งค่าย ณ บ้านดอกไม้ ป้อมท้องนาหันตรา พลใส่เสื้อเขียวหมวกเขียว พระยาพระคลังถือพลหมื่นหนึ่งตั้งค่ายป้อมท้ายคู  พลใส่เสื้อเหลืองหมวกเหลือง

พระสุนทรสงคราม เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ถือพลหมื่นหนึ่งตั้งค่ายป้อมจำปา พลใส่เสื้อดำหมวกดำ และบรรดาการพระนครนั้นก็ตกแต่งป้องกันเป็นสามารถ

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ยกทัพข้ามกาญจบุรีมาถึงพระนครศรีอยุธยา ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔  ตั้งค่ายทัพหลวงตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชตั้งค่ายตำบลเพนียด  ทัพพระเจ้าแปรตั้งค่ายตำบลบ้านใหม่มะขามหย่อง  ทัพพระยาพสิมตั้งค่ายตำบลทุ่งวัดวรเชษฐ

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชเจ้าจะเสด็จยกพยุหะโยธาหวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธเสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้วเป็นพระคชาธาร  ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมั่น  มีกลางช้างและควาญ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95713991340663_2.JPG)

พระสุริโยทัย ผู้เป็นอัครราชมเหสี ประดับพระองค์เป็นพระยามหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์สูงหกศอกเป็นพระราชคชาธารประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จ มีกลางช้างและควาญ

พระราเมศวร ทรงเครื่องสิริราชปิลันธนาวราภรณ์สำหรับพิชัยยุทธสงครามเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬสูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จ มีกลางช้างและควาญ  

พระมหินทราธิราช ทรงราชวิภูษนาลังการาภรณ์ สำหรับพระมหาพิชัยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิสูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับกุญชรอลงกตเครื่องมั่น มีกลางช้างและควาญ

ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดฤถี พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธารข้ามฟากไป พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์โดยเสด็จ มีทหารประจำการขี่กรกุมปืนปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นกรรกงโดยขนัด  หมู่พยุหแสนยากรโยธาหาญเดินเท้า ถือดาบดั้งเสโลห์โตมรหอกใหญ่หอกคู่ ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาหน้าหลัง โดยกระบวนคชพยุหสงคราม

เสียงเท้าพลและเท้าช้างสะเทื้อนดังพสุธาจะทรุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชเจ้าเสด็จยืนพระคชาธาร ประมวลพลและคชพยุห โดยกระบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา  

ฝ่ายกองตระเวนรามัญเห็นดังนั้น ก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าชะรอยจะเป็นทัพพระมหาจักรพรรดิยกออกมาจะกระทำคชพยุหสงครามกับเรา พระองค์ตรัสให้ยกพลหลวงออกจากค่ายตั้งกระบวน

สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทรงเกราะเครื่องพิชัยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลปราบทวีปสูงเจ็ดศอกเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีกลางช้างและควาญ เครื่องสูงสำหรับราชณรงค์แห่โดยขนาด มีหมู่ทหารถือดาบดั้งหมื่นหนึ่งล้อมพระคชาธาร

พระเจ้าแปรทรงอลังการเครื่องพิชัยยุทธ ทรงช้างต้นพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้วเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญและกลางช้างยกเป็นกองหน้า มีทหารดาบสองมือพันห้าร้อยล้อมพระคชาธาร  และช้างท้าวพระยารามัญคับคั่ง  

เหล่าพยุหโยธาเดินเท้าถือสรรพศัสตราดารดาษโดยกระบวน

สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีก็ยกพยุหโยธาทวยหาญออกตั้งยังท้องทุ่งตรงหน้าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ห่างกันประมาณร้อยเส้น เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ์

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทอดพระเนตรดูบนอากาศ เห็นพระอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอก แล้วมีคิชฌราชบินนำหน้าทัพ  ครั้นเห็นศุภนิมิตราชฤกษ์ดังนั้น ก็ให้ลั่นฆ้องชัยอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน  ก็ตรัสให้ขับพลเข้าโจมทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิดำรัสให้แยกพลเป็นปีกกา พลโยธาหาญทั้งสองฝ่ายบ้างโห่เห่เป็นโกลาหล  เข้าปะทะประจันตีฟันแทงแย้งยุทธยิงปืน ระดมศัสตราธุมาการตระหลบไปทั้งอากาศ  พลทั้งสองฝ่ายบ้างตายบ้างลำบากกลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่ง



สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ขับพระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่  พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดังนั้น ก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ

พระสุริโยทัยเห็นพระราชสวามีเสียทีไม่พ้น สะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด  พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาพระสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ  

พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชมารดาไม่ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้  โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก  

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จึงให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้ตำบลสวนหลวง...

การศึกครั้งนั้น แม้ว่าจะสูญเสียพระสุริโยทัย แต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะได้กองทัพจากพระมหาธรรมราชา แห่งเมืองพิษณุโลก มาช่วยเหลือ

อย่างไรก็ดี...แสงสว่างเหนือบัลลังก์กรุงศรีฯ เริ่มริบหรี่ เมื่อสิ้นพระสุริโยทัย...


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24813137782944_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71954920349849_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36576491263177_4.JPG)
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง พระนครศรีอยุธยา  

พระราชานุสาวรีย์นี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระสุริโยทัย
พระมหาวีรกระษัตรีของชาติไทย ผู้ทรงองอาจกล้าหาญ สละพระชนมชีพถวายเป็นราชพลี
ปกป้องจอมไผทไทย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระปิยบรมราชสวามี
รอดพ้นภยันตรายในสงครามยุทธหัตถี ณ สมรภูมิทุ่งมะขามหย่อง
เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก พุทธศักราช ๒๐๙๑
มหาวีรกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ธำรงรักษาอธิปไตยของชาติไว้สืบเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47041637160711_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27486652425593_6.JPG)


เจดีย์พระศรีสุริโยทัย
อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพร ะนครศรีอยุธยา

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย เป็นเจดีย์สูงใหญ่สี่เหลี่ยม ทรงย่อไม้มุมสิบสอง ภายในบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย  ตั้งอยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก ติดกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๓ (บริเวณกรมทหารเก่า)ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้จัดพระราชพิธี ทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระอัครมเหสี พระสุริโยทัย ที่ในสวนหลวง ภายในวัดสบสวรรค์ แล้วโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีเจดีย์สูงใหญ่สี่เหลี่ยม ทรงย่อไม้มุมสิบสอง บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย พระอารามที่โปรดให้สร้างขึ้นที่สวนหลวง กับวัดสบสวรรค์ จึงรวมเรียกว่า "วัดสวนหลวงสบสวรรค์"  ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีสภาพพื้นดินว่างเปล่า  ปัจจุบันยังมีพระสถูปเจดีย์องค์ใหญ่เป็นสำคัญ เรียกว่า เจดีย์พระศรีสุริโยทัย

ศาลสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สร้างไว้ข้างเจดีย์พระศรีสุริโยทัย