[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 กันยายน 2556 14:00:05



หัวข้อ: ธรรมเนียมการรับประทานโดยใช้ "ตะเกียบ"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 กันยายน 2556 14:00:05
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSSiZVZBuxzgFdV2vb8WZKK0zj3HDOjgFFQz_my2YDfwueIAgzKgQ)
ภาพจาก : เว็บไซต์ "มติชนออนไลน์"

ในสมัยราชวงศ์ถัง นักการศึกษาชื่อ ขงอิ่งต๋า ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตำราคัมภีร์ขงจื๊อ มีชีวิตอยู่เมื่อปี ค.ศ. ๕๗๔-๖๔๘ สนองรับคำสั่งของพระเจ้าถังไท้จง เรียบเรียง "อู่จิงเจิ้งอี้" (Wujing Zhengyi- An Exact Implication of the Five Classics) สำหรับเป็นบรรทัดฐานในการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ

ขงอิ่งต๋าพูดถึงธรรมเนียมและมารยาทในการกินข้าวของคนจีนในสมัยนั้นว่า "มารยาทการกินข้าวของคนโบราณจะไม่ใช้ตะเกียบ แต่ใช้มือ เมื่อกินข้าวร่วมกับคนอื่นควรชำระมือให้สะอาดหมดจด อย่าให้ถึงเวลากินข้าวแล้วเอามือถูใบสน หยิบข้าวกิน เกรงจะเป็นที่ติฉินของคนอื่นว่าสกปรก"

คนโบราณที่ขงอิ่งต๋ากล่าวถึงคือคนในยุคขงจื๊อ จึงมีความเชื่อกันว่า คนจีนน่าจะรู้จักใช้ตะเกียบกันมาเป็นเวลานานมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี ตะเกียบใช้สำหรับคีบผักต้มจากหม้อน้ำแกงมาไว้ในชามข้าว จากนั้นจึงเอามือหยิบข้าวกิน ถ้ามีใครใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวเข้าปากถือเป็นการเสียมารยาทมาก สิ่งใดที่บรรพบุรุษสร้างหรือกำหนดไว้จะไม่มีผู้ใดกล้าฝ่าฝืน คนจีนจึงรักษาธรรมเนียมการกินด้วยมืออยู่เป็นเวลานานหลายร้อยปี

จีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง แต่ยอมรับกันว่าคนจีนใช้ตะเกียบกินข้าวกันอย่างแพร่หลายหลัง ยุคราชวงศ์ฮั่น ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๓

สมัยนั้นเรียกตะเกียบ ว่า "จู้" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ไขว้จื่อ" เหตุเพราะชาวเรือถือคำว่า จู้ ที่ไปพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า หยุด ว่าไม่เป็นมงคลต่อการเดินเรือ

การที่คนจีนใช้ตะเกียบกินอาหารมาเป็นเวลานับพันปีจึงมีคำสอนไว้มากมาย กระทั่งกลายมาเป็นวัฒนธรรมตะเกียบ ซึ่งมีตั้งแต่การจับตะเกียบจนถึงข้อห้ามต่างๆ ดังนี้

ห้ามวางตะเกียบเปะปะ จะต้องวางให้เป็นระเบียบเสมอกัน ทั้งคู่ คนจีนถือคำว่า "ชางฉางเหลียงต่วน" ความหมายตามตัวอักษรหมายถึง สามยาวสองสั้น โดยนัยหมายถึงความตาย หรือความวิบัติฉิบหาย

ดังนั้น การวางตะเกียบที่ทำให้เหมือนมีแท่งไม้สั้นๆ ยาวๆ จึงไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด

ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น หรือถือไว้ในลักษณะที่ให้นิ้วชี้ชี้คนอื่นที่อยู่ร่วมโต๊ะ ห้ามอม ดูดหรือเลียตะเกียบ

ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม เพราะมีแต่ขอทานเท่านั้นที่จะเคาะถ้วยชาม ปากก็ร้องขอความเมตตาให้บริจาคทาน

ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาบนโต๊ะอาหาร ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารที่ต้องการนั้นทันที

ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหาร การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนพวกโจรสลัดขุดสุสานเพื่อหาสมบัติ เป็นกิริยาที่น่ารังเกียจ

ห้ามคีบอาหารให้น้ำหยดใส่อาหารจานอื่น เมื่อคีบอาหารได้แล้วจะต้องให้สะเด็ดน้ำสักนิด เพื่อไม่ให้น้ำหยด และอย่าทำอาหารที่คีบอยู่หล่นใส่โต๊ะหรืออาหารจานอื่น

ห้ามถือตะเกียบกลับข้าง คือถือปลายตะเกียบขึ้นใช้ช่วงบนคีบอาหาร กิริยานี้น่าดูแคลนที่สุด ถือว่าไม่ไว้หน้าตนเอง เหมือนหิวจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวเสียบแทงลงในอาหาร เป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว เพราะดูเหมือนปักธูปในกระถางไหว้คนตาย โดยเฉพาะข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบไว้ในชามข้าวส่งให้ ถือเป็นการสาปแช่ง

ห้ามวางตะเกียบไขว้กัน ถือว่าไม่ให้เกียรติทั้งตนเองและเพื่อนร่วมโต๊ะ

ห้ามทำตะเกียบตกพื้น จะทำให้วิญญาณที่หลับสงบอยู่ใต้พิภพตื่นตกใจ ถือว่าอกตัญญู ต้องรีบเก็บตะเกียบมาวาดเครื่องหมายกากบาทบนจุดที่ตกทันที พร้อมกล่าวคำขอโทษ

วิธีถือตะเกียบที่ถูกต้อง จะต้องถือตะเกียบไว้ตรงง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ให้อีกสามนิ้วที่เหลือคอยประคองตัวตะเกียบไว้ และต้องถือให้เสมอกัน เมื่ออิ่มแล้วต้องวางตะเกียบขวางไว้กลางชามข้าวเสมอ


(http://www.sookjaipic.com/images/8532506492_SAM_7035.JPG)

ข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



จีนขาดแคลนตะเกียบ
จีนขาดแคลนตะเกียบ ต้องนำเข้าจากสหรัฐ และการขาดแคลนดังกล่าวทำให้บริษัทสหรัฐบางรายสบโอกาสหารายได้จากการส่งออก "ไม้ตะเกียบ" ไปยังจีน โดยปัจจุบันบริษัท "Georgia Chopsticks" ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐจอร์เจีย สามารถผลิตไม้ตะเกียบได้ ๒ ล้านคู่ และได้ส่งออกไปให้จีนภายใต้แบรนด์"เมด อิน ยูเอสเอ"
 
รายงานระบุว่า บริษัทแห่งนี้ ใช้เวลาผลิตตะเกียบตลอด ๒๔ ชม.และหวังว่าจะสามารถเพิ่มยอดการผลิตให้ได้ ๑๐ ล้านคู่ต่อวันก่อนสิ้นปีนี้ โดยไม้ตะเกียบแต่ละคู่ล้วนมีเครื่องหมาย "เมด อิน ยูเอสเอ" และท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนไม้ Poplar และ Sweet gum ที่ใช้ผลิตตะเกียบ รัฐจอร์เจียถือเป็นเมืองเต็มไปด้วยไม้สองประเภทนี้ ซึ่งกลายเป็นเมืองในฝันที่จะผลิตไม้ตะเกียบส่งออกให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่โดยปริยาย
 
ด้านนายแจ ลี ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท"Georgia Chopsticks"กล่าวว่า ตอนแรกที่เขาเริ่มธุรกิจนี้ เพื่อน ๆ และครอบครัวต่างมีปฎิกิริยาถามว่า เขาบ้าไปแล้วหรือเปล่า ส่วนลูกจ้างรายหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นปรากฎการณ์น่าทึ่งและแปลกประหลาดที่สินค้าภายใต้แบรนด์ "เมด อิน ยูเอสเอ" สามารถเข้าไปปรากฎในเมืองจีนได้ โดยที่ผ่านมา ชาวจีนได้ผลิตไม้ตะเกียบเป็นจำนวน ๖๓,๐๐๐ ล้านคู่ในแต่ละปี แต่ผู้เชี่ยวชาญประจำสภาพัฒนาเศรษฐกิจสหรัฐระบุว่า ขณะนี้ ภูมิภาคแปซิฟิค โดยเฉพาะจีนและญี่่ปุ่น กำลังเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนไม้
... จาก เว็บไซต์ "มติชนออนไลน์"