[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 10:16:38



หัวข้อ: การสร้างพระ : พระบูชา พระเนื้อผง โลหะ หรือเหรียญ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 10:16:38
.
(http://www.sookjaipic.com/images/9359158844_luangpor_derm_1_.jpg)
วัตถุมงคลสร้างจากเงินฉลุลายลงยา (ของเก่า ๖๐ ปีเศษ)
เป็นเข็มกลัดย่ามพระที่ หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร
วัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์
มอบแด่พระลูกศิษย์ใกล้ชิด ไว้สำหรับกลัดติดย่าม
 
การสร้างพระ
พระบูชา พระเนื้อผง โลหะ หรือเหรียญ

กรรมวิธีการสร้างพระ จำแนกตามลักษณะของวัตถุดิบในการจัดสร้างเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทพระเครื่อง และประเภทเครื่องราง รายละเอียดดังนี้

๑. ประเภทพระเครื่อง แบ่งออกเป็น
๑.๑ พระเนื้อดิน เป็นพระที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด มีดินเป็นมวลสารหลักยึดประสานมวลสารต่างๆ ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นนำส่วนผสมไปกดลงในแม่พิมพ์ที่แกะเค้าโครงรูปร่างของพระเครื่องที่ต้องการ นำพระที่กดลงในแม่พิมพ์ออกจากพิมพ์แล้วนำพระมาเรียง ผ่านกรรมวิธีทำให้แห้ง ซึ่งทำได้ ๒ วิธี คือ เผา หรือตากแดด

พระที่ผ่านการเผา เป็นการสลายความชื้นและคงรูปวัตถุ ทำให้เกิดมวลสารของพระเครื่องเป็นแบบดินสุก หรือดินสีหม้อใหม่ หากแต่ในสมัยโบราณ การเผาพระไม่มีเครื่องมือตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนให้คงที่และสม่ำเสมอ ทำให้พระที่ผ่านการเผาออกมามีสีต่างกันตามระดับอุณหภูมิความร้อน ส่วนพระที่ผ่านการตากแดดให้แห้ง เรียกว่า พระดินดิบ หมายถึง มวลสารถูกแยกน้ำออกด้วยวิธีการตากแดดให้แห้ง ความแข็งแกร่งคงทนจะน้อยกว่าพระที่ผ่านการเผา เพราะดินจะละลายตัวหากแช่น้ำ

๑.๒ พระเนื้อชิน เป็นพระเนื้อโลหะที่เกิดจากการผสมผสานของ ดีบุกกับตะกั่ว เกิดเป็นโลหะเจือชนิดใหม่เรียกว่า เนื้อชิน โดยดีบุกซึ่งเป็นธาตุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำที่อุณหภูมิ ๒๓๑.๙ องศา แปรรูปง่าย เกิดโลหะเจือกับโลหะได้หลายชนิด ทำให้คุณสมบัติของโลหะใหม่มีอานุภาพป้องกันการผุกร่อนได้ นอกจากนี้ยังนำไฟฟ้าต่ำ ส่วนตะกั่วเป็นธาตุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำที่อุณหภูมิ ๓๒๗ องศา นับเป็นโลหะอ่อน มีแรงตึงหรือแรงรองรับต่ำ ทั้งนี้ ความอ่อนตัวของตะกั่วทำให้โลหะผสมขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น แม้รูปทรงจะบางเรียบแบน และมีความอ่อนนิ่มที่สามารถจับรายละเอียดแม้เพียงบางเบาเล็กน้อยของแม่พิมพ์ได้ นอกจากนี้ ยังนำไฟฟ้าต่ำทำให้ปลอดภัยเมื่อพกติดตัว

พระเนื้อชินมี ๓ ประเภท คือ
    ๑ .พระเนื้อชินเงิน มีส่วนผสมของดีบุกมาก
    ๒. พระเนื้อชินสนิมแดง มีส่วนผสมของตะกั่วมาก ลักษณะคล้ายพระชินเงินแต่มีไขสนิมแซมตามซอกพระ
    ๓. พระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีส่วนผสมของตะกั่วมากที่สุดถึง ๙๐% จึงมีสีแดงของสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็นสีแดงที่เรียกว่า "แดงลูกหว้า"

๑.๓ พระเนื้อผง เป็นหนึ่งในศาสตร์ศิลปะแขนงวิชาการปั้นปูน มวลสารมีส่วนผสมของปูนเป็นหลัก ประสานเนื้อด้วยยางไม้ กาวหนัง น้ำอ้อยหรือขี้ผึ้งชั้นดี

๑.๔ พระเนื้อโลหะ มีการสร้าง ๓ ประเภท คือ พระหล่อ พระปั๊ม พระฉีด พระเครื่องเนื้อโลหะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในวงการพระ ประกอบด้วย ๑. พระเนื้อทองคำ ๒. พระเนื้อเงิน ๓. พระเนื้อทองแดง ๔. พระโลหะผสม สำหรับพระ ๓ ประเภทแรก ส่วนผสมหลักคือทองคำ เงิน ทองแดง ส่วนพระโลหะผสม มีมากมายหลายเนื้อมวลสาร โลหะที่ได้รับความนิยมในการสร้างพระเครื่องได้แก่ ๑. นวโลหะ ๒. สัตตโลหะ ๓. เบญจโลหะ ๔. ทองเหลือง ๕. บรอนซ์ ๖. เมฆพัด ๗. เมฆสิทธิ์ ๘. สัมฤทธิ์ ๙. ขันลงหิน

๑.๕ พระเนื้อว่าน "ว่าน" เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อดินและเนื้อผงมาแต่โบราณ โดยนำว่านวิเศษต่างๆ มาบดละเอียด โดยใช้ครกหินตำ สำหรับส่วนผสมของพระเนื้อว่าน มีอาทิ ว่าน ๑๐๘ ชนิด ปูนขาว กล้วยป่า ผงขี้ธูป แร่ ดินกากยายักษ์ ดอกไม้แห้ง น้ำพระพุทธมนต์ ฯลฯ

๒. การสร้างเครื่องราง พระคณาจารย์ผู้มากด้วยพระเวทวิทยาคมจะนิยมสร้างเครื่องรางของขลังไว้ให้แก่ผู้ใกล้ชิด เป็นวัตถุมงคลที่ไม่ตายตัว แต่มีเอกลักษณ์คือไม่มีพิมพ์ ไม่จำกัดรูปร่าง แต่เค้าโครงแนวทางการสร้างกำเนิดมาจากผู้สร้างผู้ใด จะคงความเป็นตัวตน มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่บ่งบอกว่าฝีมือใคร ใครสร้าง สร้างจากวัสดุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้สร้าง และวัสดุทุกชนิดนั้นก็นำมาเป็นเครื่องรางของขลังได้
....หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

http://www.sookjai.com/index.php?topic=33717.msg58527#msg58527 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=33717.msg58527#msg58527)
เกจิชื่อดัง: หลวงพ่อเดิมและวัตถุมงคลหายาก  


หัวข้อ: Re: การสร้างพระ : พระบูชา พระเนื้อผง โลหะ หรือเหรียญ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 ตุลาคม 2557 18:37:47
.
(http://www.sookjaipic.com/images/7149407880_view_resizing_images_2_.jpg)

พระพุทธรูป
๑. มูลเหตุการสร้างพระพุทธรูป

พระพุทธรูป หมายถึงรูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา อาจใช้การแกะสลักจากวัสดุต่างๆ เช่น ศิลา งา ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจใช้การปั้นหรือหล่อด้วยโลหะ

เดิมพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด แม้มีการสร้างปูชนียสถานปูชนียวัตถุไว้เป็นที่บูชาสักการะหรือเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์บ้าง แต่ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา และแม้หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระพุทธรูป

แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา อยากจะมีสิ่งที่จะทำให้รำลึกถึงหรือเป็นสัญลักษณ์ขององค์ศาสดา เพื่อที่จะบอกกล่าวเล่าขานเรื่องราวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงศึกษาค้นคว้าหาทางดับทุกข์ และทรงชี้แนะสอนสั่งผู้คนถึงการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นอยู่ที่ก่อให้เกิดความผาสุกในหมู่มวลมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก

คราวแรกนั้นชาวพุทธได้แต่นำเอาสิ่งของอันได้แก่ ดิน น้ำ และกิ่ง ก้าน ใบโพธิ์ จากบริเวณสังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน), ตรัสรู้ (พุทธคยา), ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) มาไว้เป็นที่ระลึกบูชาคุณพระพุทธเจ้า

ล่วงถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง เมื่อ ๒,๒๐๐ ปีก่อน หรือหลังจากการดับขันธ์ของพระพุทธเจ้ามา ๓๐๐ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งสมณทูต จำนวน ๕๐๐ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ (จึงมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองที่ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกทางพระพุทธศาสนา) แต่ก็ยังไม่มีรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปคน


(http://www.sookjaipic.com/images/2383800306_view_resizing_images_1_.jpg)   นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า พุทธศาสนิกชนในยุคหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อต้องการจะสร้างวัตถุเป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธเจ้า นิยมสร้างรูปต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ สร้างรูปม้ามีฉัตรกางกั้น เป็นสัญลักษณ์แทนการเสด็จออกบวช สร้างรูปบัลลังก์และต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์แทนการตรัสรู้ สร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบ เป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงปฐมเทศนา และสร้างรูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์แทนการปรินิพพาน

ในตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์ มีพรรณนาถึงพระพุทธรูปองค์แรกว่า ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาเพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก จึงโปรดให้ช่างหาไม้แก่นจันทน์หอมที่ดีที่สุดมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปอันงดงาม มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธองค์ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระราชมณเฑียร

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับจากดาวดึงส์ และเสด็จมายังเมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลอาราธนาให้เสด็จทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ครั้นพระพุทธองค์เสด็จไปถึง พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ได้ขยับองค์จากพระแท่นที่ประดิษฐาน เพื่อถวายความเคารพพระศาสดา ครานั้นพระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้าม พระไม้แก่นจันทน์จึงกลับไปประทับยังพระแท่นที่เดิม พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธา แต่ตำนานนั้นถือว่ายังไม่สามารถหาหลักฐานได้



(http://www.sookjaipic.com/images/8110435075_view_resizing_images_1_.jpg)

๒. กำเนิดพระพุทธรูปองค์แรก
การสร้างพระพุทธรูปจริงๆ นั้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อชาวกรีก หรือที่ชาวชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) ใช้ศัพท์เรียกคนต่างแดนว่า โยนา หรือโยนก โดยพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ หรือพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธาราฐ (คันธาระ) (ปัจจุบันเป็นดินแดนของอัฟกานิสถาน) พระองค์แผ่อาณาเขตไปทั่วบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป และสร้างเมืองหลวงเป็นที่ประทับ ณ เมืองสากล ต่อมาทรงพบพระสงฆ์นาม นาคเสน ทรงตั้งคำถามต่อพระนาคเสน (คำถามคำตอบปุจฉาวิสัชนาครั้งนั้นบันทึกเป็นหนังสือชื่อ มิลินทปัญหา) ที่สุดพระเจ้า มิลินท์เกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นำสู่การสร้างสถาปัตยกรรมและประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธาราฐ โดยพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นมีลักษณะต่างๆ ตามพุทธประวัติ หรือปางพระพุทธรูป

กล่าวได้ว่า พระพุทธรูปรูปแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ามิลินท์ ผู้นำชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธาราฐ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ หรือ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว เรียกพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรกนี้ว่า แบบคันธาราฐ โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่กรีกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง พระพุทธรูปแบบคันธาราฐจึงมีใบหน้าเหมือนฝรั่งชาวกรีก จีวรเป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก และต่อมาในภายหลัง ราวก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีคตินิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นขนาดเล็กๆ (พระเครื่อง) บรรจุไว้ในพุทธเจดีย์

ศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีพระพุทธรูปคนสำคัญ เคยแสดงทรรศนะเชิงวิจารณ์ไว้ว่า เป็นเพียงความเชื่อของเราที่ว่าพระพุทธรูปเกิดมีขึ้นแต่ครั้งพุทธกาล และเป็นพระบรมพุทธานุญาต แต่จากที่ได้ตรวจสอบหลักฐานหมดแล้วทั่วอินเดีย ในครั้งพุทธกาลไม่เคยมีพระพุทธรูป แม้ล่วงมาประมาณ พ.ศ.๓๕๐ ก็ไม่มีพระพุทธรูป จนถึงประมาณระหว่าง พ.ศ.๓๖๕-๓๘๓ สมัยพระยามิลินท์ปกครองแคว้นคันธาระและปัญจาบ ได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน เกิดความเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยยึดประเพณีการสร้างปูชนียวัตถุของชาวมัชฌิมประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช


(http://www.sookjaipic.com/images/5222691016_view_resizing_images_2_.jpg)

ความจริง เรื่องการสร้างพระพุทธรูปนี้เป็นความประสงค์ของพุทธบริษัทในอินเดียโดยตรง ก่อนที่ชาวกรีก (โยนก) จะเข้ามาในอินเดีย แต่ที่ไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก่อนหน้านั้น สันนิษฐานว่าเพราะสาเหตุดังนี้
๑. ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างพระพุทธรูป แต่มีการสร้างปูชนียวัตถุอย่างอื่นในทางพระพุทธศาสนา
๒. หลังสมัยพุทธกาล คือเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แม้จะผ่านไป ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์มีความสามารถเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธายังมีอยู่มาก พุทธบริษัทมีความมั่นใจเหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างพระพุทธรูป

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุ ๒ ประการนี้มีเหตุผลพอสมควร จะเห็นได้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี เริ่มมีการสร้างปูชนียวัตถุที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้ามากขึ้น เช่น พระแท่นวัชรอาสน์ ธรรมจักร พระนางสิริมหามายาประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ ต่อมาเมื่อชาวกรีกนำประเพณีการสร้างเทวรูปเข้ามาในอินเดีย พุทธบริษัทในอินเดีย หรือแม้พุทธบริษัทที่เป็นชาวกรีก (พระยามิลินท์) ก็สร้างพระพุทธรูปตามประเพณีของกรีก.


ที่มา (ภาพและข้อมูล) : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด