[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 27 ตุลาคม 2553 10:36:55



หัวข้อ: การเห็นธรรม โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 27 ตุลาคม 2553 10:36:55

(http://www.wanramtang.com/images/photo_1270216375/1270217577.jpg)

การเห็นธรรม
คัดลอกมาบางส่วน จากหนังสือ การเห็นธรรม
โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๑๐ ธค ๒๙)

การที่เรามาอยู่ด้วยกัน มาฝึกฝนอบรม หรือเรียกว่าจะ
มาเจริญวิปัสนานั้น คำว่า " วิปัสสนา " ก็เป็นแค่เพียง
คำพูดคำขานเท่านั้นเอง เป็นภาษาบาลี หรือว่าภาษา
ธรรมะ ถ้าจะว่าตามภาษาบ้านเราแล้ว คำว่าวิปัสสนานั้น

แปลว่า การเห็นแจ้ง เมื่อเห็นแจ้งแล้ว ก็ต้องต่างก้าว
ล่วงภาวะเดิม เห็นแจ้งอันใด-ว่างั้น วิปัสสนานี่ เห็นแจ้ง
ตัวเรา กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นแจ้งอันนี้ ต่างเก่าว่างั้น
แต่ก่อนไม่เห็น ไม่เข้าใจว่าจะเป็นอย่างนี้ ล่วงภาวะเดิม ว่างั้น
ก็เลิกละจากสิ่งชั่วร้ายเพราะความหลงผิดนี้ได้

คำว่า เลิกละ นี้ก็เช่น แต่ก่อนนั้นเคยไหว้ผี เคยไหว้
เทวดา เคยเล่นการพนัน เคยกินเหล้า เคยดูดฝิ่นกินกัญชา
เคี้ยวหมากดูดยา เคยเที่ยวดูหนังดูละครดูลิเก ฯลฯ เหล่านี้นะ
เคยทำอย่างนั้นแหละ เมื่อเห็นว่า โอ! สิ่งที่มันอยากนั้น
มันเป็นกิเลสน้า! ว่างั้น แต่ตัวจิตใจเราจริง ๆ นั้น
มันอยู่เป็นปกติ มันไม่ได้ไปอยากอะไร มันสะอาด มันสว่าง มันสงบ
อยู่อย่างนี้ โอ! ที่มันเกิดขึ้นมานั้นวูบเดียวเท่านั้น เราไปแล้ว
เพราะเราไม่ทันได้เห็น

อันนี้นี่เองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"กิเลสครอบงำจิตใจ" หรือพูดภาษาบ้านเราก็ว่ากิเลสมันตบ
หน้าเอา" เมื่อกิเลสตบหน้าแล้ว คนนั้นก็ต้องหันไปตามกิเลส
เพราะว่าเอาชนะกิเลสไม่ได้ ให้กิเลสเป็นนาย ฉนั้นเราต้อง
เป็นนายกิเลส เป็นผู้มีอำนาจเหนือ
กิเลสให้ได้ด้วยสติปัญญา
ด้วยการเจริญวิปัสสนา ด้วยการเห็นแจ้ง ฯลฯ เมื่อเราเห็น
อย่างนี้แหละ กิเลสมันไม่เข้ามาได้ มันไม่เข้ามาจริง ๆ
เพราะเราเห็นกิเลสอยู่อย่างนี้เสียแล้ว

จะทำให้เห็นอย่างนี้ได้นั้น เราต้องทำให้ถูกวิธีของ
มัน ให้รู้จักสมุฏฐานของมัน อุปมาเหมือนเราต้องการ
ความสว่างแต่เราไม่เคยใช้ไฟฟ้า ก็เลยไม่รู้จักวิธีใช้ไฟฟ้า
ไม่รู้จักสมุฏฐานที่จะทำให้ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมา แต่เคยเห็น
ความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้า ทีนี้พอจะให้มันสว่าง มันก็
จะไปจับที่หลอดไฟพลิกหมุนอยู่อย่างนั้น ถึงทำไปจนตาย
มันก็ไม่สว่างขึ้นมาได้ เพราะไปทำไม่ถูกจุดของมัน
ไม่รู้จักต้นเหตุสมุฎฐานของมัน

ส่วนคนที่ฉลาดคนที่รู้จักสมุฏฐาน
ที่ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมาสว่างขึ้นมา เขาจะไม่ต้องไปจับที่หลอด
โน่นเลย! เขาจะมาจับที่สวิตช์นี่ ปั๊บ! แล้วมันจะไปทำความ
สว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้านู่น การปฏิบัติวิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน
ถ้าหากเราฉลาด เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจตามแบบ
ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะรู้จักว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลงนั้น
ความทุกข์ประเภทนั้น จริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีอยู่ที่เรา

เมื่อเราไม่รู้จักวิธี เราต้องการจัดการกับความทุกข์ประเภทนี้
ต้องการจัดการกับความโกรธ ความโลภ ความหลง อยากไล่
มันออกไป เราก็เลยไปเจริญกรรมฐาน หรือวิปัสสนา ไปนั่ง
หรือนอนหลับตาภาวนา อยากให้มันสงบ อันนั้น มันก็สงบให้เราอยู่

แต่ว่าความสงบแบบนั้น ไม่ใช่การเห็นแจ้ง
มันเป็นความสงบแบบอยู่ในถ้ำในขณะที่เราอยู่ในถ้ำนั้น
เราจะว่าเราเห็นถ้ำได้ไหม มันก็เห็นอยู่ในถ้ำนะสิ อันนั้นน่ะ
แต่มันไม่ได้เห็นตัวถ้ำ เมื่อเราจุดไฟขึ้น ความมืดหายไปก็จริง
แต่เราก็ยังอยู่ในความมืดนั่นแหละ พอไฟมันมอดไปปั๊บ
ความมืดก็เข้ามาทันที

บัดนี้ เราออกจากถ้ำมา ไม่ต้องการจุดไฟก็ได้
มาอยู่นอกถ้ำนี่ เห็นในถ้ำเห็นนอกถ้ำ เห็นหมดทุกแง่ทุกมุม
ความสงบแบบนี้ มันไม่ใช่ความสงบแบบนั้น มันไม่ใช่
ความสงบแบบอยู่ในถ้ำ อันนี้ มันเป็นความเห็นแจ้ง
เมื่อเห็นแจ้งแล้ว มันจึงสงบ


ความสงบนั้น จึงว่ามีอยู่ ๒ อย่าง ความสงบ
แบบบอยู่ในถ้ำนั้น เป็นความสงบแบบหนึ่ง เป็นความ
สงบแบบไม่เห็น แบบไม่รู้จักถ้ำ ส่วนความสงบแบบ
นอกถ้ำนี้ มันไม่ใช่ความสงบแบบนั้น มันเป็นความ
สงบแบบเห็นแจ้ง คำว่า "เห็นแจ้ง" นี้
มันเป็นความสงบอันหนึ่ง

สงบเพราะเห็นแจ้งนี้สงบอันใด ว่าอย่างนั้น
สงบจากโทสะ โมหะ โลภะ สงบจากความหลงผิด อันนี้แหละ
"สงบเพราะการเห็นแจ้ง"
เมื่อแจ้งแล้ว มันก็สงบ อันนี้
จะเรียกว่าไม่ใช่ความสงบก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นความสงบ
ก็ได้ เพราะคำว่า "สงบ" นั้นก็เป็นเพียงคำสมมุติพูด

สงบแบบนี้ไม่มีกิเลสเพราะเห็นกิเลสอยู่เสมอ พระพุทธเจ้า
ท่านสอนมาแบบนี้ อย่างไรก็ตามเราก็ต้องการอยู่ดีละ
ต้องการความสงบ เพียงแต่เราไม่รู้วิธีที่จะไปจับสวิตช์
ไฟฟ้าเท่านั้นเอง เมื่อใดเรารู้วิธีจับสวิตช์ไฟฟ้าแล้ว
 
ถึงเวลามา เราต้องไปจับที่สวิตช์มัน กดปั๊บ มันจะไปทำ
ความสว่างอยู่ที่หลอดโน่นเลย อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเรา
เจริญวิปัสสนาแบบถูกต้องแล้ว ว่าแต่มีคนพูดขึ้นมา
ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม สติปัญญานี้ของเรามันจะไวที่สุด
มันจะทำหน้าที่ของมัน

ความไวของสติปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนานี้
เปรียบอีกอย่างก็ว่า เหมือนอย่างแมวกับหนู
หนูมันจะไว
ขนาดไหนก็ตาม แมวมันจะคอยจ้องอยู่แล้ว พอดีหนู
กระโดดมา แมวตะครุบจับ ปั๊บ! เลย พอแมวจับปั๊บ
หนูมัน"สลุดใจ"(ช็อค) คล้าย ๆ กับคนใจขาดนี่แหละ"
ตาย-คืน"ก็ว่าได้ แมวจับ ปั๊บ! ใจขาด ปุ๊บ! เลย

หนู เลือดไม่วิ่งเลยเพราะตกใจสุดขีดที่ไม่เคยถูกแมวจับ
แมวกินหนูจึงไม่มีเลือดเลย
อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเราคอยดูอยู่อย่างนี้ พอดีมันคิด ปั๊บ!
ความคิดจะถูกหยุดทันทีเพราะเราเห็นแจ้ง รู้จริง
รู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ รู้จักเอาชนะมันได้ จิตใจเรา
ก็เลยไม่ได้ถูกปรุงแต่งไป ไม่มีกิเลส นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนแบบนี้

ดังนั้น การเห็นแจ้งอย่างนี้แหละ มันเป็นบุญมันเป็นกุศล
อย่างสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่ง
ก็เรียกว่า เห็นธรรมก็ว่าได้ เห็นธรรมอย่างไรว่างั้น
เห็นธรรมส่วนนอก คือ เห็นรูป เห็นนาม หรือเห็นกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด
อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง เห็นจิตใจกำลังนึกคิดขึ้นมานั้น เป็นการเห็นธรรมอีกส่วนหนึ่ง
เพราะจิตใจนั้นมันไม่เป็นตนเป็นตัว มองไม่เห็นด้วยตา
 
ต้องเห็นด้วยสติ-ปัญญา ท่านว่า"อินทรีย์แหลมคม"ท่านว่าอย่างนั้น
จักษุอินทรีย์ อินทรีย์แหลมคม รู้เท่า-รู้ทัน-รู้กัน-รู้แก้ รู้จักเอาชนะมันได้
อันนี้ท่านว่า เห็นธรรมะส่วนลึก ธรรมะส่วนนี้คนทุกคน
เกิดมาก็มีอยู่แล้ว มันมีในคนทุกคนไม่ยกเว้น

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ธรรมะนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว" จะเปรียบก็ว่า
คนเราเกิดมามันก็มีสิ่งนี้อยู่ เพียงแต่มันคว่ำหน้าอยู่เท่านั้น
คล้าย ๆ กับของที่มันคว่ำอยู่ แล้วไม่มีผู้ใดจะมาหงายหน้ามันขึ้นมาได้
จึงไม่เห็น หรือว่าของที่ปิด ไม่มีผู้ใดมาไขได้

บัดนี้ พระพุทธเจ้าของเรานี่แหละมาเปิดหน้ามันขึ้นมา มาหงายออก
ให้คนมองเห็นได้ทันที หรือว่ามันมีเกลียวรับกันอยู่ ท่านก็
มาคลายเกลียวมันออก ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศน์
ไปแสดงธรรมที่ใดนั้น ผู้ใดได้ตั้งใจฟังแล้ว ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรม
หรือได้ "กระแสพระนิพพาน" ท่านว่าอย่างนั้น

ท่านยังอุปมาการเห็นธรรมไว้อีกหลายอย่าง ดอกไม้
ทุกประเภทจะเป็นดอกสีดำสีแดงสีขาว หรือสีแสดสีม่วง
อย่างใดก็ตาม ท่านเปรียบไว้เหมือนดอกบัว ย่อมพร้อมแล้ว
ที่จะบานได้ เมื่อแสงแดดหรือแสงตะวันหรือแสงอาทิตย์ส่องออกมาต้อง
วิธีที่จะมาเจริญวิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน

ถ้าหากเราชี้จุดลงไป จุดเดียวเท่านั้น เราจะมาทำจุดเดียวเท่านั้น
ย่อมพร้อมแล้วที่จะทำทุกคน เพราะมันมีอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราไม่ได้ชี้จุดสำคัญของมันออกมา เราก็งมกัน
อยู่อย่างนั้นแหละ เลยไม่รู้จัก ความจริง

เราทุกคนต้องการความไม่มีทุกข์ เพียงแต่
เรายังไม่รู้วิธีดับทุกข์เท่านั้นเอง เราก็เลยอยากได้แต่ดี
แต่เราไม่รู้จักความชั่ว เมื่อไม่รู้จักความชั่ว เราก็เลยไปเข้าใจ
เอาว่าของชั่วนั้นเป็นของดีซะ

เมื่อเราไม่เข้าใจว่าของนั้นมันชั่วเสียแล้ว ก็คล้าย ๆ เหมือนกับเรา
เดินไปตามถนนหนทาง เราก็ไม่อยากเหยียบขี้ไก่ หากเราเดินไป
เราไม่ได้ดูเท้าดูตีนเรา แล้วเราไปเหยียบเอากองขี้ไก่ขี้เป็ดขี้หมาเข้า
มันก็เหม็น เมื่อมันเหม็น เราก็ว่าเราไม่ได้ต้องการของเหม็นอย่างนั้น
แต่มันก็ยังติดตีนเราไปได้ แล้วเราก็ไปล้าง ถึงจะไปล้างออก
แล้วบางทีกลิ่นมันก็ยังติดอยู่

เพราะเมื่อเราไปเหยียบนั้นมันก็แทรกซึมเข้าไปภายในเนื้อหนังของเรา
อันนี้ก็เหมือนกัน คนเราไม่ได้ต้องการความชั่ว เพียงแต่ว่าเรา
ไม่ได้รู้จักว่าของชั่วนั้นมันอยู่ที่ใดเท่านั้น ความชั่วนั้น คือความหลงผิด
คือหลงตัวเรา
นี้เอง หลงไม่เห็นชีวิตจิตใจของเรานี้เอง
ไม่เห็นในขณะที่จิตใจเรามันนึกมันคิดนี่แหละ

เมื่อเราเห็นจิตใจเรามันกำลังนึกกำลังคิดอยู่นี้ อันนี้แหละท่านว่าเห็นธรรม
การเห็นธรรม : เห็นธรรมส่วนหยาบ
เห็นธรรมส่วนกลาง เห็นธรรมส่วนละเอียด ว่างั้น

ท่านว่าเอาไว้อีกบทหนึ่งว่า ศีล เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง
ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ว่างั้น
เราเคยพูดกันแต่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านก็เคยพูดให้ฟังอย่างนี้



ขอบพระคุณที่มา :
ลานธรรม กระดานสนทนา ห้องสมุดธรรมะ

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3439.new.html#new (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3439.new.html#new)
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ


หัวข้อ: Re: การเห็นธรรม โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: 時々๛कभी कभी๛ ที่ 27 ตุลาคม 2553 11:51:04
(http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;topic=10182.0;attach=701;image)


(:LOVE:) (:LOVE:) (:LOVE:)


(:LOVE:)ขอบคุณ พี่ แป๋ม (:LOVE:)หายดีแล้วเหรอ ? (:LOVE:)