[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ร้อยภูติ พันวิญญาณ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2557 18:27:12



หัวข้อ: อาถรรพ์เพชร "โฮป" (Hope Diamond)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2557 18:27:12
.

(http://2.bp.blogspot.com/-7thmWcBK8eM/UEDdslfiepI/AAAAAAAAAJM/qPYoVtEvo0k/s1600/1345014046.jpg)

อาถรรพ์เพชร "โฮป"

ความจริงเรื่องเพชร เป็นเรื่องที่เขียนได้ไม่รู้จบ เป็นเรื่องสำหรับเล่าสู่กันฟังได้เสมอ จะเล่าประวัติเพชรที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนพร้อมกับอาถรรพ์ซึ่งเต็มไปด้วยความหายนะของผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้ที่เคยสวมใส่ เพชรเม็ดนี้ชื่อ โฮป (Hope Diamond)

บางท่านคงจะเคยได้ทราบหรือเห็นของจริงมาบ้างแล้ว โฮปเป็นเพชรที่มีสีฟ้าเข้มหรือสีน้ำเงิน น้ำหนัก ๔๕.๕๒ กะรัต ปัจจุบันเป็นสมบัติของรัฐบาลอเมริกัน โดยเก็บรักษาไว้ที่สถาบัน สมิธโซเนียน กรุงวอชิงตันดีซี  สหรัฐอเมริกา ตามประวัติเพชรเม็ดนี้ ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นมาอย่างไร นักค้นคว้าหลายๆ คนได้คาดการณ์ว่าเป็นเพชรที่ได้มาจากประเทศอินเดียตอนใต้

ในปี ๑๖๔๒ นายจอง ทาแวร์ นิเอร์ นักผจญภัยและพ่อค้าเพชรพลอยชาวฝรั่งเศสได้นำกลับมายังทวีปยุโรป ซึ่งเป็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน คาดว่าน้ำหนักประมาณ ๑๑๒ กะรัต นัยว่าได้โจรกรรมมาจากดวงตาของเทวรูปในอินเดีย ซึ่งได้สาปแช่งผู้นำมาเป็นสมบัติอย่างมากมาย นายทาแวร์นิเอร์ ได้นำเพชรเม็ดนี้กลับมาฝรั่งเศส โดยเจียระไนเป็นรูปหัวใจ น้ำหนัก ๖๙.๐๓ กะรัต และขายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทาแวนิเอร์ ขายได้ราคาอย่างงาม แต่ปรากฏว่าลูกชายนายทาแวนิเอร์ ได้ผลาญเงินเหล่านี้จนหมดสิ้น ตามเรื่องที่เล่าต่อมา นายทาแวร์นิเอร์ ได้เดินกลับไปอินเดีย เพื่อที่จะแสวงหาทางค้าขายเพชรอีก เหตุการณ์อันสยดสยองได้เกิดขึ้นกับนายทาแวนิเอร์ เขาถูกฝูงหมารุมกันทึ้งจนตายที่อินเดียนั่นเอง ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น หลังจากทรงเพียงครั้งเดียว ก็เป็นไข้ทรพิษสวรรคตไป

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ กษัตริย์องค์ต่อมา ก็ไม่เคยได้ทรงเลยสักครั้งเดียว ถึงแม้จะเป็นผู้ครอบครองเพชรสีน้ำเงินเม็ดนี้ พระองค์ได้ประทานยืมแก่นางสนมคนหนึ่ง คือ เคาน์เทส ดูบารี ใส่ครั้งหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานจากนั้น เคาส์เทสก็ถูกสำเร็จโทษ โดยการตัดหัวระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อนพระนางมารี อังตัวแนตต์ คือ เจ้าหญิงเดอร์ลัมบาลล์ ได้ทรงครั้งหนึ่ง ก็ถูกกบฏจับฆ่าตายในการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน


(http://0.static-atcloud.com/files/comments/57/575224/images/1_display.jpg)

ในปี ๑๗๙๒ เพชรเม็ดนี้ถูกมือดีขโมยจากคลังกลาง ของประเทศฝรั่งเศสและถูกเจียระไนให้เหลือเพียง ๔๕.๕๒ กะรัตออกลูกไข่เพื่อลบล้างร่องรอยจากของเดิม เพื่อกันการถูกอ้างว่าเป็นของขโมยมา เพชรเม็ดนี้ได้ปรากฏที่ประเทศอังกฤษในปี ๑๘๓๐ นายธนาคารชื่อเฮนรี่ ฟิลิปโฮป ได้เห็นแล้ว ต้องตาต้องใจซื้อไปในราคา ๑๘,๐๐๐ ปอนด์ หรือ ๙๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นายโฮปซื้อเพชรเม็ดนี้ไปได้ไม่นานก็ตายตามไปอีกคน  และเฮนรี่ โทมัสโฮป หลานชายเป็นผู้ได้รับมรดกไป ในปี ๑๘๓๙ ตามพินัยกรรมปรากฏว่า หากจะรับเพชรสีน้ำเงินเม็ดนี้ต้องให้ชื่อว่าโฮป หลังจากนั้น ก็เป็นที่รู้กันในนามของโฮป

ระหว่างที่เพชรอยู่ในครอบครองของตระกูลโฮป ก็ไม่ได้มีปรากฏการณ์แสดงให้เห็นถึงอาถรรพ์ต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งปี ๑๘๙๔ ลอร์ดโฮปเจ้าของเพชรโฮปปัจจุบัน ได้แต่งงานกับนักแสดงชาวอเมริกัน ชื่อเมย์ โยเฮ่  ความอยากใส่อวดประชน เมย์ได้ทำรูปจำลองของเพชรเม็ดนี้จากแก้ว เพื่อจะใส่ในการปรากฏตัวในการแสดงครั้งใหม่ ปรากฏว่าการแสดงพังอย่างไม่เป็นท่า

ต่อมาไม่นานภาวะผันแปรทำให้ลอดร์โฮปกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนเมย์ โยเฮ ก็ทิ้งลอร์ดโฮปไปยังชายอื่น เมย์เองได้ถึงแก่กรรม เมื่อปี ๑๙๔๐ ที่เมืองบอสตัน กล่าวกันว่ารายได้ของเมย์ก่อนตาย ได้เพียงอาทิตย์ละ ๑๖.๕๐ เหรียญสหรัฐเท่านั้น เมย์ได้กล่าวโทษว่าเคราะห์กรรมทั้งหลายในชีวิตและความหายนะนั้นเกิดจากเพชรเม็ดนี้

ในปี ๑๙๐๖ ลอร์ดโฮป ถูกบังคับให้ขายเพชร หรือชดใช้หนี้

เจ้าของคนต่อมาคือ เจ้าชายในประเทศยุโรปตะวันออก ได้ให้เพชรนี้แก่นักแสดงเปลื้องผ้าไป ในที่สุดนางระบำคนนี้ก็ถูกเจ้าชายยิงตาย  

สุลต่าน อับดุล ฮามัด ที่ ๑๒ ของประเทศตุรกีก็ได้เป็นเจ้าของคนต่อมา โดยซื้อมาจากนักค้าเพชรพลอยหลังจากคนขายเพชรพลอยขายเพชรนี้ได้ไม่นานทั้งครอบครัวก็ประสบอุบัติเหตุรถตกหน้าผาตายหมด สุลต่านเองก็ได้ให้นางสนมเอกไปใส่ ทรงนึกอย่างไรไม่ทราบเกิดไม่พอพระราชหฤทัยขึ้นมาก็ได้ให้จับนางสนมสำเร็จโทษเสีย หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา สุลต่านก็โดนโค่นบัลลังก์โดยกลุ่มทหารหนุ่ม

ในที่สุดร้านเพชรคาร์ทิเอร์ ได้ซื้อมาและขายให้กับ เอวาลิน วอลซ์ ลูกสาวเจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสท์ แม้ทางร้านคาร์ทิเอร์ จะได้เล่าเรื่องอาถรรพ์และความหายนะในอดีตกับเจ้าของผู้ครอบครองเพชรโฮปแก่ เอวาลิน วอลซ์ แล้วก็ตามเธอก็ยินดีซื้อไปพร้อมทั้งหัวเราะใส่ต่อเรื่องราวที่เล่าลือทั้งหลาย

เอวาลินมีความพึงพอใจอย่างยิ่งที่เป็นเจ้าของเพชรโฮป โดยไม่สนใจต่อเรื่องราวในอดีต ไม่นานนัก เหตุการณ์ร้ายก็ปรากฏกับครอบครัวของเอวาลิน ลูกชายวัย ๙ ขวบของเธอตายจากอุบัติเหตุรถชนตาย น้องชายก็ประสบเคราะห์กรรมตายอย่างสยดสยองอีก ไม่ช้าไม่นานบิดาของเธอก็ตาย เท่านั้นยังไม่พอ สามีของเอวาลินก็มีชู้และพยายามจะขอหย่าขาดจากเธอ พร้อมกับติดเหล้าอย่างรุนแรง ในที่สุดเป็นโรคประสาทและจบชีวิตลงในโรงพยาบาลประสาท ลูกสาวคนเดียวของเอวาลินก็กินยานอนหลับเกินขนาด และเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๒๕ ปี ด้วยความเสียใจและไม่ระวังรักษาตัว เอวาลินก็จบชีวิตลงด้วยโรคปอดบวมในปีต่อมา

ในปี ๑๙๔๙ แฮรี วินสตัน เจ้าของร้านเพชรอันมีชื่อเสียงในนิวยอร์ค เป็นผู้ซื้อเพชรเม็ดนี้ไป หลังจากที่เก็บอยู่ที่เขานานถึง ๑๐ ปี ได้ตกลงใจมอบให้เป็นสมบัติของรัฐบาลอเมริกาไว้แสดงที่สถาบันสมิธ โซเนียน ในห้องอัญมณี

หลังจากที่ แฮรี่ วินสตัน ซื้อเพชรโฮปมา ปรากฏว่าเป็นรู้กันโดยทั่วไป ว่าอาถรรพ์เพชรนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ จึงขอเล่าเรื่องการเดินทางกลับจากต่างประเทศของครอบครัววินสตันเพิ่มเติมเล็กน้อย

ตามธรรมดาแล้วในการเดินทางกลับจากต่างประเทศของครอบครัว แฮรี่ วินสตัน ภรรยาและลูกจะแยกเดินทางกันกับแฮรี่ ครั้งนี้จะเดินทางกลับนิวยอร์ค ระหว่างการเดินทางในสมัยนั้น เครื่องบินโดยสารต้องแวะเติมน้ำมันบ่อยๆ ได้เกิดปัญหาเครื่องขัดข้อง และซ่อมระหว่างทาง  ระหว่างรอการซ่อมเครื่อง ผู้โดยสารได้คุยกันและได้ทราบว่าภรรยาและลูกของแฮรี่วินสตัน ได้เดินทางมาพร้อมกับเครื่องบินลำนี้ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารท่านหนึ่งกลัวตายจากการเดินทางร่วมกับภรรยาเจ้าของเพชรที่เล่าลือว่าอาถรรพ์ จึงได้ยกเลิกการเดินทางในเครื่องบินเที่ยวนี้

ในวันรุ่งขึ้น แฮรี่ วินสตันได้รับโทรเลขจากภรรยาว่าเดินทางมาถึงเรียบร้อยแล้ว ก็เก็บโทรเลขไว้ในกระเป๋าเสื้อ ระหว่างทาง เครื่องบินได้หยุดแวะเติมน้ำมัน ที่นั่งข้างๆ แฮรี่วินสตันที่เคยว่างเปล่าก็ปรากฏว่ามีผู้โดยสารขึ้นมานั่ง  ผู้โดยสารคนนี้ได้เริ่มต้นคุยเป็นเสียงบ่นพึมพำว่า เขาได้ยกเลิกการเดินทางในเที่ยวบินเมื่อวันก่อนหลังจากทราบข่าวว่าได้เดินทางร่วมกับภรรยาเจ้าของเพชรโฮป อันมีประวัติอาถรรพ์ต่างๆ จึงได้เปลี่ยนเที่ยวบินมาเดินทางในวันนี้ เขากล่าวด้วยความโล่งอกว่า คราวนี้เขาต้องปลอดภัยจากอาถรรพ์แน่ๆ หลังจากบ่นต่อไปสักพัก ผู้โดยสารคนนั้นได้เอ่ยขึ้นมาลอยๆ ว่า อยากรู้จริงน่ะว่าเรือบินลำที่ภรรยาของแฮรี่ วินสตัน โดยสารถึงเรียบร้อยโดยสวัสดิภาพหรือไม่

แฮรี่ อดรนทนไม่ไหว จึงได้หยิบโทรเลขฉบับนั้นส่งให้ผู้โดยสารที่อยากรู้ โดยมิได้กล่าวอะไรเพิ่มเติม หลังจากชายผู้นั้นอ่านโทรเลขเสร็จก็อ้าปากค้างพร้อมกับหยุดพูดจนถึงที่หมาย

เรื่องเพชรที่ชื่อ “โฮป” มีอันจบลงเพียงเท่านี้


ข้อมูล : “การเดินทางอันยาวนานของอัญมณี” วารสารนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขอขอบคุณ สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อนุเคราะห์ข้อมูล มา ณ โอกาสนี้