[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 เมษายน 2557 12:29:54



หัวข้อ: ชมพูทวีป
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 เมษายน 2557 12:29:54
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRLd_ENLp_ZPfmG4dlWGM0eW1p-f7gnrH0SONTIZmJkBEkTL9g0Zw)
ภาพจาก : encrypted-tbn1.gstatic.com

ชมพูทวีป

ชื่อ "ชมพูทวีป" คนไทยคุ้นหูคุ้นเคยอยู่ แต่สำหรับอินเดีย ชมพูทวีปกลับรู้จักในหมู่นักการศึกษาเท่านั้น ชมพูทวีปเป็นชื่อที่คนทั่วไปในสมัยโบราณรวมทั้งสมัยพุทธกาลเรียกประเทศอินเดีย อันมีความหมายถึงทวีปต้นหว้า หรือทวีปที่มีสัณฐานดั่งต้นหว้า ในปัจจุบันได้แก่ประเทศทั้ง ๔ คือ ประเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล และ บังกลาเทศ นอกจากนั้นบางช่วงที่กษัตริย์อินเดียเรืองอำนาจอัฟกานิสถานก็ถูกผนวกเข้ามาด้วย ดังเช่นรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้ากนิษกะ พระเจ้าหรรษวรรธนะ เป็นต้น

ทั้งนี้ คำเรียกชื่ออินเดียยังมีหลายชื่อ นอกจากชมพูทวีปและภารตะแล้ว ยังมี ฮินดูสถาน สินธุสถาน และคำว่า "อินเดีย" ก็เพี้ยนมาจากคำว่า สินธุ อันเป็นชื่อแม่น้ำสำคัญทางภาคเหนือของอินเดีย แต่ชาวเปอร์เซียพูดเพี้ยนเป็นอินดู ขณะที่ฮอลันดาเรียกอินดัส และอังกฤษเรียกอินเดียตามลำดับ

สำหรับคำว่า "ชมพู" ในที่นี้มาจากคำในภาษาบาลีว่า "ชมฺพู" อ่านว่า ชัม-พู แปลว่า ต้นหว้า หรือ ต้นชมพู่ (พืชสองชนิดนี้อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน)

คำว่า ชมพูทวีปจึงเป็นคำที่ชาวพุทธใช้ หมายถึงดินแดนอินเดียโบราณ ขณะที่ฝ่ายพราหมณ์-ฮินดูเรียกอินเดียว่า "ภรตวรรษ" อ่านว่า ภะ-ระ-ตะ-วรรษ เป็นชื่อที่มาจากท้าวภารตะปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ปาณฑปจากเรื่องมหาภารตะ

ที่มาของชื่อชมพูทวีป ปราชญ์สันนิษฐานว่ามี ๒ เหตุ คือ ๑. อาจเป็นเพราะทวีปนี้หรือประเทศนี้มีต้นชัมพู (ต้นหว้า) อยู่ดาษดื่น และ ๒. อาจเป็นเพราะจากตำนาน ทวีปนี้สามารถมองเห็นต้นชัมพู (ต้นหว้า) ซึ่งอยู่บนเขาพระสุเมรุได้ชัด ไม่ว่าจะอยู่ ณ ตำแหน่งใดของทวีปนี้ นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของทวีป จึงเรียกชื่อชมพูทวีป ซึ่งเป็นคนละความหมายของคำว่าชมพู ซึ่งหมายถึงสีแดงอ่อน หรือสีแดงเจือขาว

ราชบัณฑิต ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล อธิบายถึงชมพูทวีปว่า นิยมแปลตามประเพณีว่า "ดินแดนแห่งไม้หว้า" ดินแดนนี้เป็นศูนย์กลางอารยธรรมมามากกว่า ๔,๐๐๐ ปี นับแต่อารยธรรมเมืองโบราณดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของชาวอารยันที่อพยพเข้ามาในสมัยหลัง ชาวพื้นเมืองลุ่มแม่น้ำสินธุได้ทำสงครามกับชาวอารยัน อารยันเป็นฝ่ายชนะจึงกำหนดให้ชนพื้นเมืองอยู่ในวรรณะศูทรซึ่งเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุด

ชาวอารยันได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคงในชมพูทวีป เดิมทีอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ จากนั้นแผ่ขยายมาที่ลุ่มแม่น้ำคงคา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะ ภาษา และวรรณคดีของชาวอารยันได้แพร่ขยายออกไปนอกชมพูทวีป ครอบคลุมดินแดนทางตอนเหนือ ตะวันออก และทางตอนใต้ ได้แก่ ทิเบต จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา

ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลประกอบด้วยอาณาจักรใหญ่น้อยมากมาย ที่ปรากฏชื่อเป็นหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ วังสะ กุรุ ปัญจาละ ปัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อังคะอวันตี คันธาระ กัมโพชะ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ แคว้นต่างๆ เหล่านี้มีมหาราชาปกครองบ้าง มีพระราชาปกครองบ้าง มีอำนาจสิทธิ์ขาดบ้าง ตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นบ้าง

แคว้นทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเขตใหญ่ ๒ เขต คือ มัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศเขตหนึ่ง กับปัจจันตชนบทอีกเขตหนึ่ง มัชฌิมชนบทเป็นเขตภายในทวีป เป็นเขตที่พวกอารยันปกครองอยู่ ส่วนที่เรียกว่าปัจจันตชนบท คือเขตที่อยู่นอกเขตพวกอารยัน เป็นเขตแดนที่อยู่ของพวกมิลักขะหรือทราวิท ซึ่งเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากอารยันมาก
....นสพ.ข่าวสด